เย็นร้อน อ่อนแข็ง ตึงไหว

 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่  6 ต.ค. 2556
หมายเลข  23787
อ่าน  2,442

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ซึ่งเป็นผู้ไกลจากกิเลส ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง

ขออนุญาต เรียนถาม เกี่ยวกับ “เย็นร้อน อ่อนแข็ง ตึงไหว” นะคะ กรณีที่หยิบวัตถุหนึ่ง สภาพรู้ (กายวิญาณจิต) กับ สภาพรู้สึก (เวทนาเจตสิก) พร้อมทั้ง สัพพจิตตสาธารณเจตสิกทั้งหมด จำแนกหน้าที่สัมพันธ์กันอย่างไร จะมีความแข็ง หรืออ่อนนุ่มก็ตาม และมีความที่เย็นก็ไม่ใช่ ร้อนก็ไม่ใช่ คือ อุณหภูมิปานกลาง เป็นอารมณ์ของจิต เป็นลักษณะของมหาภูตรูป เวทนาเจตสิก ทุกข์สุข โทมนัสโสมนัส อุเบกขา เป็นตอนไหน ช่วยยกตัวอย่างอธิบายให้ด้วยค่ะ (อะไรที่ไม่ถูกต้องในข้อความเหล่านี้ ขอประทานอภัยให้ด้วยนะคะ)

ขอขอบพระคุณและขออนุโมทนาสำหรับคำตอบและกุศลทุกประการของทุกๆ ท่านค่ะค่ด้วยความเคารพ จาก ธิดารัตน์ เดื่อมขันมณี (ใหญ่ราชบุรี) รา


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 6 ต.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สภาพธรรมที่เป็นกายวิญญาณ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ที่ทำหน้าที่รู้กระทบสัมผัส ซึ่งสำหรับกายวิญญาณแล้ว สามารถเกิดเวทนาได้ ๒ อย่าง คือ สุขเวทนา และทุกขเวทนาเท่านั้น ซึ่งเวทนาความรู้สึกเหล่านี้ เกิดพร้อมกับจิต เพราะ เวทนาเจตสิกเกิดกับจิตทุกประเภท และเกิดพร้อมจิตในขณะนั้น ซึ่ง เวทนา ทำหน้าที่รู้สึก ซึ่งถ้าเป็นทางกายแล้วก็เป็นความรู้สึก ที่สุขกาย ที่เกิดจาก กุศลกรรมเป็นปัจจัย ทำให้เกิด กายวิญญาณกุศลวิบาก และสามารถเกิดความรู้สึกทุกข์กายได้ ที่เป็น กายวิญญาณ อกุศลวิบาก อันมีอกุศลกรรมในอดีตเป็นปัจจัย เพราะฉะนั้น ขณะที่กายวิญญาณเกิด ก็มีเวทนา ความรู้สึกแล้ว เพียงแต่จะเป็น สุข หรือทุกข์ เท่านั้น และก็มีเจตสิกอีกอื่นอย่างน้อย อีก ๖ ดวงเกิดร่วมด้วย ก็ทำหน้าที่แตกต่างกันไปตามสภาพธรรมที่ทำหน้าที่แต่ละอย่าง มีผัสสะ เป็นต้น ก็ไม่สามารถทำหน้าที่รู้สึก ที่เป็นเวทนาเจตสิกในขณะนั้น ครับ

ดังนั้น ขณะที่กระทบสัมผัส ขณะนั้น กำลังรู้อ่อน หรือรู้แข็งอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งพร้อมๆ กับความรู้สึกที่เกิดร่วมด้วย ที่จะสุขกาย หรือทุกข์กาย ในขณะนั้นไม่ได้ แยกไปอีกขณะหนึ่ง เพราะเหตุว่า เวทนาเจตสิกเกิดร่วมกับ กายวิญญาณในขณะนั้น แต่ในความละเอียดแล้ว ก็ยังรู้สึกทุกข์กายต่อไป หรือสุขกายต่อไป เพราะการรู้ทางกาย คือ กายวิญญาณเกิดต่อเนื่อง เกิดดับอย่างรวดเร็ว ทั้งๆ ที่เมื่อกายวิญญาณจิตดับไป สัมปฏิฉันนะเกิดต่อ สันตีรณะเกิดต่อ ขณะนั้น ก็ต้องไม่รู้สึกทางกาย ไม่เจ็บ เป็นต้น แต่ก็รู้สึกทุกข์กาย ต่อเนื่องได้ เพราะเหตุว่ามีการเกิดขึ้น และดับไปของสภาพธรรมนั้นอย่างรวดเร็ว ครับ

ส่วน สัพพจิตสาธารณะเจตสิก ก็ทำหน้าที่แยกกันไป เพียงแต่ว่า เจตสิกอะไร จะปรากฎมีกำลังในขณะนั้น หากว่า เวทนาเจตสิก มีกำลัง เช่น ทุกข์ทางกาย ที่กระทบร้อนมากๆ ก็ทำให้รู้สึกเจ็บกายมาก ก็เป็นทุกขกายวิญญาณ ที่มีเวทนาเจตสิกที่มีกำลัง และปรากฎกับทางกาย ในขณะนั้น ครับ หากแต่ว่า ผัสสเจตสิก แม้มีอยู่ก็ไม่ปรากฎก็ได้ ครับ และสัญญาก็ทำหน้าที่จำไป ในขณะนั้น ซึ่งการจะรู้เจตสิก แต่ละประเภทของสภาพธรรมก็จะต้องด้วยปัญญาที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริง ที่กำลังปรกาฎในขณะนั้น ด้วยปัญญาระดับสูงมาก ครับ

ส่วน ลักษณะของ แข็ง อ่อน เย็น ร้อน ก็แล้วแต่ว่า สภาพธรรมนั้น จะปรากฎสภาพธรรมอะไร มีกำลัง ถ้าร้อนมาก แม้จะมีลักษณะแข็งมีอยู่ ก็ปรากฎ เหมือนไม่ปรากฎ ยกตัวอย่างการจับถ่านไฟร้อน แม้จะมีลักษณะที่แข็ง แต่ ร้อนปรากฎมากตอนนั้น เพราะ ความที่สภาพธรรมที่เป็น กายวิญญาณ ที่เป็นความร้อนมีกำลังปรากฎชัด ครับ ซึ่ง ก็แล้ว แต่กายวิญญาณจะเป็นอย่างไร ที่เป็น กายวิญญาณกุศลวิบากที่มีกำลังมาก ก็รู้สึกอ่อนนุ่มมาก แม้จะมีแข็ง แต่ก็คือ แข็งน้อยมากนั่นเอง โดยนัยตรงกันข้าม หาก กายวิญญาณ อกุศลวิบากเกิดขึ้น ถ้ามีกำลัง ก็ปรากฎความแข็งมากกว่า ความร้อนก็ได้ เช่น อะไรมากระทบแรงๆ เป็นต้น แต่ไมได้รู้ร้อนมาก เพราะ ไม่ได้มีกำลัง ครับ

ส่วน เวทนาเจตสิก ถ้าเกิดทางกาย ก็เป็นสุขเวทนา หรือ ทุกขเวทนา ตาม สภาพธรรมที่เป็น วิบากจิต คือ จะเป็นกุศลวิบาก หรือ อกุศลวิบาก ทางกาย ไม่สามารถเกิด โทมนัสเวทนา หรือ โสมนัสเวทนาได้ แต่เมื่อรู้ทางกายแล้วแล้วเกิดชวนจิต ก็สามารถเกิด พอใจในการรู้ทางกายนั้นเกิด โสมนัสสเวทนาที่เกิดกับโลภมูลจิต หรืออาจจะไม่ชอบ เกิดโทมนัสเวทนา ในขณะที่เกิดกับ โทสมูลจิต ที่ไม่ชอบ ความรู้สึกทางกายที่หยาบ แข็ง เป็นต้น ครับ นี่คือ ความละเอียด แต่ละวิถี แต่ละสภาพธรรม ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 7 ต.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ความเป็นจริงของสภาพธรรมไม่เคยเปลี่ยน เป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น กายวิญญาณ เป็นผลของกรรม ขึ้นอยู่กับว่าจะเป็นผลของกรรมอะไร ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรม ก็ทำให้ได้รับกระทบกับสิ่งที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ไม่น่าพอใจ เวทนาที่เกิดร่วมด้วยในขณะนั้น ต้องเป็นทุกขเวทนา ในทางตรงกันข้าม ถ้าเป็นผลของกุศลกรรม ก็ทำให้ได้รับกระทบกับสิ่งที่น่าปรารถนาน่าใคร่น่าพอใจ เวทนาที่เกิดร่วมด้วย ก็คือ สุขเวทนาทางกาย นั่นเอง และในขณะที่กายวิญญาณเกิดขึ้นนั้น ไม่ได้มีเฉพาะเวทนาเท่านั้นเกิดร่วมด้วย

ยังมีผัสสะ ทำหน้าที่กระทบอารมณ์ เจตนา ความจงใจ ตั้งใจขวนขวายให้จิตและเจตสิกที่เกิดขึ้นในขณะนั้นทำกิจหน้าที่ สัญญา ความจำหมายในอารมณ์ เอกัคคตา ความตั้งมั่นในอารมณ์ ชีวิตินทริยะ เจตสิกธรรมที่ทรงชีวิตทำให้จิตและเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยดำรงอยู่จนกว่าจะดับไป และ มนสิการะ คือ ความใส่ใจในอารมณ์ โดยปกติแล้ว เมื่อได้รับกระทบสัมผัสแล้ว ต่อจากนั้น จะเป็นอกุศล จะเป็นกุศล (สำหรับผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่) ตามการสะสมของแต่ละบุคคล และเวทนาที่เกิดร่วมด้วยในขณะนั้น ก็แล้วแต่จะว่าเป็นจิตประเภทใด ก็ตามควรแก่จิตประเภทนั้นๆ ด้วย แต่สำหรับผู้ที่เป็นพระอรหันต์แล้ว ไม่มีความหวั่นไหวไปด้วยอำนาจของกิเลสใดๆ เลย ไม่ว่าจะประสบกับอารมณ์ประเภทใด ก็ตาม ครับ

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 7 ต.ค. 2556

สภาพธรรมที่แข็ง คือ กำลังกระทบสัมผัส แล้วแต่ว่า จะแข็งมาก แข็งน้อย ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
kinder
วันที่ 8 ต.ค. 2556

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
chatchai.k
วันที่ 27 ต.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ