อินทรีย์ หมายถึงอะไรคะ
อินทรีย์ หมายถึงอะไรคะ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ก่อนอื่นขอให้เรียนให้ทราบในเรื่องของความหมายของอินทรีย์ซึ่งมีหลายนัยก่อนครับ
อินทรีย์หมายถึงความเป็นใหญ่ในสภาพธรรมนั้น
อินทรีย์หมายถึงครอบงำซึ่งสภาพธรรมอื่น
อินทรีย์หมายถึงความเป็นใหญ่อันทำให้สภาพธรรมที่เกิดร่วมด้วยคล้อยตามไป
อินทรีย์หมายถึงอันผู้เป็นใหญ่คือพระพุทธเจ้าเสพแล้วด้วยความเป็นอารมณ์
อินทรีย์หมายถึงอันผู้เป็นใหญ่คือพระพุทธเจ้ารู้แจ้งแล้ว
อินทรีย์หมายถึงอันผู้เป็นใหญ่คือพระพุทธเจ้าทำให้เจริญแล้ว
[เล่มที่ 69] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค เล่ม ๗ ภาค ๒ - หน้าที่ 601
ชื่อว่า อินทรีย์ เพราะอรรถว่าเป็นใหญ่กล่าวคือครอบงำ เพราะครอบงำความไม่มีศรัทธา ความเกียจคร้าน ความประมาท ความฟุ้งซ่านและความหลง.
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
ดังนั้น อินทรีย์ หมายถึงสภาพธรรมที่เป็นใหญ่ ในกิจหน้าที่ของตนๆ และเป็นสภาพธรรมที่ครอบงำสภาพธรรมที่ตรงกันข้าม เมื่อว่าโดยสภาพธรรมแล้ว มีทั้งหมด ๒๒ อินทรีย์คือเป็นรูป ๗ รูป เป็นนาม ๑๔ (คือ สองเท่าของรูป) และอีก ๑ เป็นทั้งรูปทั้งนามคือ ชีวิตินทรีย์ (ชีวิตินทริยรูป, ชีวิตินทริยเจติก) รวมเป็น ๒๒
เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาจากประเด็นคำถาม ขออนุญาตแจกแจง อินทรีย์ ๒๒ ดังนี้
จักขุนทรีย์ โสตินทรีย์ ฆานินทรีย์ ชิวหินทรีย์ กายินทรีย์ อิตถินทรีย์ ปุริสินทรีย์ ชีวิตินทรีย์
สุขินทรีย์ ทุกขินทรีย์ โสมนัสสินทรีย์ โทมนัสสินทรีย์ อุเปกขินทรีย์
มนินทรีย์ สัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ ปัญญินทรีย์
อนัญญาตัญญัสสามีตินทรีย์ (ปัญญาที่เกิดร่วมกับโสตาปัตติมัคคจิต) อัญญินทรีย์ (ปัญญาที่เกิดร่วมกับโสตาปัตติผลจิต ถึง อรหัตตมัคคจิต) อัญญาตาวินทรีย์ (ปัญญาที่เกิดร่วมกับอรหัตตผลจิต)
ดังนั้น จักขุนทรีย์ ก็เป็นใหญ่ ในการกระทบกับ สี เท่านั้น สภาพธรรมอย่างอื่น เช่น โสตาปสาทรูป คือ หู จะมาเป็นใหญ่กว่า จักขุปสาทรูป ที่เป็น จักขุนทรีย์ไม่ได้ในการกระทบ กับ สี ครับ ดังนั้น อินทรีย์ จึงแสดงถึงความเป็นใหญ่ในสภาพธรรมนั้น ส่วนอินทรีย์สังวร นั้น คำว่า อินทรีย์สำรวม หรือ สังวรอินทรีย์ ในส่วนของ อินทรียสังวรศีล หรือ สำรวมอินทรีย์ อินทรีย์ในที่นี้ คือสภาพธรรมที่เป็นใหญ่ในธรรม คือ อินทรีย์ นั้น คือ ตา หู จมูก ลิ้น กายและใจเป็นอินทรีย์ 6 ประการ ที่เป็นใหญ่ 6 ประการ คือ เป็นใหญ่ ในการรู้กระทบสิ่งที่ปรากฏทางตา กระทบเสียง กระทบกลิ่น กระทบรส กระทบสิ่งที่กระทบสัมผัส และเป็นใหญ่ในการคิดนึก และรู้สิ่งต่างๆ ครับ นี่คือ อินทรีย์ 6 ประการ ตามนัยของอินทรียสังวรศีล
ส่วนการสังวร การสำรวมนั้น เป็นการสังวรด้วยกุศลธรรม คือ ด้วยสติ ขันติ ปัญญา วิริยะ เป็นต้น ดังนั้น การสำรวม การสังวร จึงไม่ใช่ด้วย การเดินดูภายนอกที่สำรวม จึงจะเป็นสังวร แต่การงดเว้นจากอกุศล คือ อกุศลไม่เกิด เมื่อได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส และกระทบสัมผัส คิดนึก ก็ไม่เป็นอกุศล เพราะกุศลธรรมเกิดขึ้น คือ สติและปัญญาเกิดขึ้นในขณะนั้น ชื่อว่า สังวร สำรวมในขณะนั้นครับ
อินทรียสังวร จึงเป็น การสำรวม ตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ ด้วยสติและปัญญาเกิดรู้ความจริงของสภาพธรรมที่มีในขณะนี้ ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ขณะที่เห็น อกุศลไม่เกิด กุศลเกิด เพราะรู้ความจริงว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ในสิ่งที่เห็น ขณะนั้น เป็นการสำรวมตา เป็นการสังวรทางตา ขณะที่ได้ยินเสียง ก็รู้ความจริงว่า เสียงเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา อกุศลไม่เกิด แต่กุศลที่ประกอบด้วยปัญญา เกิดเป็น การสังวร สำรวมทางหู ทางทวารอื่นๆ คือ จมูก ลิ้น กายและใจ ก็โดยนัยเดียวกันครับ
อินทรียสังวร จึงเป็นเรื่อง ของ สติและปัญญาที่รู้ความจริงของสภาพธรรม ที่ปรากฏทางทวาร ทั้ง 6 ที่ เป็นทาง ตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ ในชีวิตประจำวัน โดยไม่เป็นอกุศล แต่เป็นกุศลเกิดแทนเพราะรู้ความจริงในสิ่งที่ปรากฏทั้งทางทวารทั้ง 6 ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เราครับ
แต่เมื่อพูดถึง อินทรีย์ ที่เป็นไปในการบรรลุธรรม เป็นไปในฝักฝ่ายแห่งการตรัสรู้ ต้องไม่ใช่รูปธรรมแน่นอนครับ แต่ต้องเป็นนามธรรมที่เป็นเจตสิก 5 ประการ นั่นคือ อินทรีย 5 ประการ ในอินทรีย์ ทั้งหมดที่มี 22 ครับ
อินทรีย์ 5 ที่เป็นไปในการตรัสรู้ บรรลุธรรม เป็นดังนี้ครับ
๑. สัทธินทรีย์ ได้แก่ สัทธาเจตสิก เป็นใหญ่ในการมีศรัทธาที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ
๒. วิริยินทรีย์ ได้แก่ วิริยเจตสิก เป็นใหญ่ ไม่เกียจคร้าน ไม่ท้อถอยที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ
๓. สตินทรีย์ ได้แก่ สติเจตสิก เป็นใหญ่ในการไม่หลงลืม ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ
๔. สมาธินทรีย์ ได้แก่ เอกัคคตาเจตสิก เป็นใหญ่ในการตั้งมั่นในอารมณ์ที่ปรากฏ
๕. ปัญญินทรีย์ ได้แก่ ปัญญาเจตสิก เป็นใหญ่ในการไตร่ตรอง พิจารณาสังเกตศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ
ผู้ใดผู้หนึ่งที่จะตรัสรู้ธรรมไม่ว่า บุคคลใด ต้องอบรมเจริญ อินทรีย์ 5 ประการนี้ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าจะต้องแยกไปเจริญ แต่การเจริญสติปัฏฐาน ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนั้นว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ขณะนั้น ก็มีศรัทธา มีสติ วิริยะ สมาธิและปัญญาเกิดร่วมด้วย และก็เป็นการค่อยๆ อบรม อินทรีย์ 5 ประการอยู่ จนมีกำลังและทำให้ถึงการบรรลุธรรม ถึงความเป็นโพชฌงค์ คือ ถึงการตรัสรู้ได้ในที่สุดครับ
เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ ... ความหมายของอินทรีย์ [ปฐมวิภังคสูตร]
เชิญคลิกฟังที่นี่ครับ ... ตอบคำถามเกี่ยวกับอินทรีย์ ๕
จะเป็นไปได้ไหมที่จะรู้อินทรีย์ โดยสติปัฏฐานไม่เกิด
การเจริญอินทรีย์อันไม่มีวิธีอื่นยิ่งกว่าในวินัยของพระอริยะ
ขออนุโมทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
-อินทรีย์เป็นสภาพธรรมที่เป็นใหญ่ในกิจหน้าที่ของตน ว่าโดยสภาพธรรมแล้ว มีทั้งที่เป็นนามธรรม และรูปธรรม ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตน ก่อนอื่นต้องแปลคำว่า อินทรีย์ มีทั้งหมด ๒๒ คือ เป็นรูป ๗ รูป เป็นนาม ๑๔ (คือ สองเท่าของรูป) และ อีก ๑ เป็นทั้งรูปทั้งนาม คือ ชีวิตินทรีย์ (ชีวิตินทริยรูป, ชีวิตินทริยเจติก) รวมเป็น ๒๒ ขออนุญาตแจกแจง อินทรีย์ ๒๒ ดังนี้
จักขุนทรีย์ โสตินทรีย์ ฆานินทรีย์ ชิวหินทรีย์ กายินทรีย์ อิตถินทรีย์ (ความเป็นหญิง) ปริสินทรีย์ (ความเป็นชาย) ชีวิตินทรีย์ สุขินทรีย์ ทุกขินทรีย์ โสมนัสสินทรีย์ โทมนัสสินทรีย์ อุเปกขินทรีย์ มนินทรีย์ สัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ ปัญญินทรีย์ อนัญญาตัญญัสสามีตินทรีย์ (ปัญญาที่เกิดร่วมกับโสตาปัตติมัคคจิต) อัญญินทรีย์ (ปัญญาที่เกิดร่วมกับโสตาปัตติผลจิต ถึง อรหัตตมัคคจิต) อัญญาตาวินทรีย์ (ปัญญาที่เกิดร่วมกับอรหัตตผลจิต)
-อินทรีย์สังวร อินทรีย์ในที่นี้ หมายถึง ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ
ปกติในชีวิตประจำวัน เมื่อมีตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจจึงมีการรู้อารมณ์ต่างๆ ทางทวารต่างๆ มีจิตเกิดขึ้นเป็นกุศลบ้าง เป็นอกุศลบ้างตามการสะสม หลังเห็น หลังได้ยิน เป็นต้น และโดยภาวะของความเป็นปุถุชนแล้ว ไม่ว่าจะอยู่ในเพศใดก็ตาม อกุศลจิตย่อมเกิดขึ้นมากกว่ากุศล เมื่อเป็นเช่นนี้ ขณะที่ไม่สำรวม หรือขณะที่ไม่สังวร จึงมีมาก เพราะอกุศลเกิดมากทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และ ทางใจ แต่ที่จะเป็นอินทรีย์สังวร การสำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจได้นั้น ต้องเป็นกุศลที่ประกอบด้วยปัญญา ที่มีการระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ไม่ว่าจะประสบกับอารมณ์ใดๆ ทางทวารต่างๆ ใน ๖ทวาร ขณะนั้นสติและปัญญาเกิดขึ้นระลึกรู้ตามความเป็นจริง เป็นการปิดกั้นไม่ให้อกุศลเกิดขึ้น
ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ว่า อินทรีย์สังวร หมายถึง สำรวมทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ซึ่งก็คือสำรวม ด้วยสติที่ระลึกรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ตามปกติตามความเป็นจริง ไม่ใช่การจงใจที่จะไปยืนสำรวม ไปเดินสำรวม แต่ไม่ระลึกรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฎตามปกติตามความเป็นจริง อินทรีย์สังวร เป็นกุศลธรรม เป็นธรรมฝ่ายดีที่เกิดขึ้นเป็นไป ขณะนั้นมีความเป็นปกติที่เป็นกุศลระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง กุศลจิตเกิดขึ้นประกอบด้วยโสภณธรรมต่างๆ มีศรัทธา สติ หิริ โอตตัปปะ เป็นต้น รวมถึง ปัญญาด้วย เป็นกุศลแล้วในขณะนั้น เมื่อเกิดขึ้นอีกบ่อยๆ กุศลก็ยิ่งเพิ่มพูนขึ้น อินทรีย์สังวร จึงไม่ได้แยกไปจากกุศลต่างหาก แต่ในขณะนั้นเป็นกุศลแล้ว และยังเป็นเครื่องอุปการะเกื้อกูลให้กุศลธรรมประการต่างๆ เจริญยิ่งขึ้นในชีวิตประจำวัน เพราะมีปัญญาที่เข้าใจธรรมตามความเป็นจริง อันมีพื้นฐานความเข้าใจในเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริงจากการได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...