---ชาติของจิต---
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ซึ่งเป็นผู้ไกลจากกิเลส ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง
ขออนุญาต เรียนถามเกี่ยวกับ “ชาติของจิต” นะคะ ชาติของจิต คืออะไร ได้แก่อะไรบ้าง แต่ละอย่างมีความละเอียดอย่างไรบ้างคะ จิตแต่ละประเภท มีชาติอะไรประจำตัวจิต เพราะเหตุหรือลักษณะเฉพาะใดคะ (อะไรที่ไม่ถูกต้องในข้อความเหล่านี้ ขอประทานอภัยให้ด้วยนะคะ)
ขอขอบพระคุณและขออนุโมทนาสำหรับคำตอบและกุศลทุกประการของทุกๆ ท่านค่ะค่ะ ด้วยความเคารพ จาก ธิดารัตน์ เดื่อมขันมณี (ใหญ่ราชบุรี) ราชบุรี)
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
จิตเป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นสภาพรู้ เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้ เมื่อจิตเกิดขึ้น ก็ต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย เจตสิกที่มี ๕๒ เจตสิก ประกอบกับจิตเกิดร่วมกับจิต ทำให้ จิตมีความแตกต่างกันไป ตามเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ครับ จิต จึงแบ่ง เป็นชาติ ๔ ชาติ ครับ ซึ่งก่อนอื่นก็เข้าใจคำว่า ชาติก่อน ครับ
ชาติ ไม่ได้หมายความว่าเป็นชาติต่างๆ เช่น ชาติไทย ชาติจีน ฯลฯ และ ไม่ใช่ ชน ชั้นวรรณะแต่เป็น "สภาพของจิต" ชาติ (ชา - ติ) จึงหมายถึงการเกิด คือ การเกิดขึ้น ของจิตและเจตสิกเกิดขึ้น ต้องเป็นชาติหนึ่ง ชาติใด คือ กุศลชาติ อกุศลชาติ วิบากชาติ กริยาชาติ จะไม่เป็นชาติหนึ่งชาติใดไม่ได้เลย ครับ
ชาติของจิต หรือ ประเภทของจิตที่มีการเกิดขึ้น มี ๔ ชาติ ดังนี้ ครับ
1. กุศลจิต หรือ กุศลชาติ
2. อกุศลจิต หรือ อกุศลชาติ
3. วิบากจิต หรือ วิบากชาติ
4. กิริยาจิต หรือ กิริยาชาติ
กุศลชาติ กุสล (กุศล) + ชาติ (การเกิด จำพวก หมู่ เหล่า ชนิด) คือ การเกิดที่เป็นกุศล จำพวกกุศล หมายถึง กุศลจิต ๒๑ ดวง และเจตสิกที่เกิด ร่วมด้วย เป็นชาติที่เป็นเหตุให้เกิดกุศลวิบาก เมื่อจิตเกิดขึ้น ๑ ขณะ มีเจตสิก เกิดร่วมด้วยหลายดวงทั้งจิตและเจตสิกจะต้องเป็นชาติเดียวกัน เช่น ขณะที่เมตตา เกิดขึ้น ขณะนั้น จิตเป็นกุศลจิต ประกอบด้วยเจตสิกที่ดี มี ศรัทธาเจตสิก เป็นต้น
อกุศลชาติ อกุสล (อกุศล) + ชาติ (การเกิด จำพวก หมู่ เหล่า ชนิด) คือการเกิดเป็นอกุศล จำพวกอกุศล หมายถึง อกุศลจิต ๑๒ ดวง และเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย เป็นชาติที่เป็นเหตุให้เกิดอกุศลวิบาก เช่น โลภมูลจิต จิตที่ติดข้อง โทสมูลจิต เป็นต้น
วิบากชาติ วิปาก (ความสุกวิเศษ ผล) ชาติ (การเกิด จำพวก) คือ การเกิดเป็น วิบาก จำพวกวิบาก หมายถึง วิบากจิต ๓๖ ดวง และเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย เป็น ชาติที่เป็นผลของกรรม คือ กุศลวิบากเป็นผลของกุศลกรรม อกุศลวิบากเป็นผลของ อกุศลกรรม เช่น ขณะที่เกิด ปฏิสนธิจิต เป็นผลของกรรม ขณะที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้กระทบสัมผัส เป็นต้น เป็นวิบากจิต ที่เป็นผลของกรรมในชีวิตประจำวัน
กิริยาชาติ กิริยา (สักว่ากระทำ) + ชาติ (การเกิด จำพวก หมู่ เหล่า ชนิด) การเกิดเป็นกิริยา จำพวกกิริยา หมายถึง กิริยาจิต ๒๐ ดวง และเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย เป็นชาติที่ไม่ใช่เหตุ และไม่ใช่ผล เพียงเกิดขึ้นกระทำกิจการงานแล้วก็ดับ ไปเท่านั้น เช่น จิตของพระอรหันต์ ขณะที่เกิดจิตที่ดี ของท่าน แต่เป็นกิริยาจิต เป็นต้น
การศึกษาเรื่องชาติของจิต หรือ ประเภทของจิต จึงเป็นไปเพื่อเข้าใจความจริง ของจิต ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ทำให้รู้จักตนเองตามความเป็นจริง เพราะตนหรือ เราก็คือ จิต เจตสิกที่เกิดขึ้นเป็นไป และเมื่อเข้าใจว่าเป็นแต่เพียงความเป็นไปของจิต แต่ละชาติ แต่ละประเภท ปัญญาที่เข้าใจดังนี้ ก็ค่อยๆ เป็นไปเพื่อไถ่ถอนความยึดถือ ว่ามีเรา มีสัตว์ บุคคล ละความเห็นผิด เป็นสำคัญ นี่คือ ประโยชน์ของการศึกษา เรื่องชาติของจิต คือ เข้าใจว่ามีแต่ธรรม ไม่ใช่เรา ครับ
ขออนุโมทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ตามหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนา พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงชาติ (ความเกิด) ของจิตว่า มี ๔ ชาติ ได้แก่ จิตเกิดขึ้นเป็นกุศล ๑ จิตเกิดขึ้นเป็นอกุศล ๑ จิตเกิดขึ้นเป็นวิบากคือผลของกรรม ๑ และ จิตเกิดขึ้นเป็นกิริยา คือ ไม่ใช่เหตุ ไม่ใช่ผล เป็นแต่เพียงเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ของตนแล้วก็ดับไปเท่านั้น ๑ ซึ่งจิตทั้ง ๔ ชาติ ก็เป็นธรรม ไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน และเมื่อกล่าวถึงความเกิดขึ้นแห่งจิตแล้ว ก็ต้องหมายรวมเจตสิกธรรมที่เกิดร่วมด้วย ถ้าจิตเป็นกุศล เจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ก็เป็นชาติกุศล ด้วย ถ้าจิตเกิดขึ้นเป็นอกุศลเจตสิกธรรมที่เกิดร่วมด้วยก็เป็นชาติอกุศล ด้วย ถ้าจิตเกิดขึ้นเป็นกิริยา เจตสิกธรรมที่เกิดร่วมด้วยก็เป็นชาติกิริยา และ ถ้าจิตเกิดขึ้นเป็นวิบาก เจตสิกธรรมที่เกิดร่วมด้วย ก็เป็นชาติวิบาก ด้วยเช่นกัน
จะเห็นได้ว่าในชีวิตปกติประจำวันของผู้ที่ยังมีกิเลสนั้น ย่อมมีจิตเกิดขึ้นเป็นไปใน ๔ ชาติ ดังกล่าว โดยเฉพาะอกุศล ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยและเกิดมากกว่ากุศล เพราะเหตุว่า เมื่อไม่กล่าวถึงขณะจิตที่เป็นกุศล ขณะจิตที่เป็นการได้รับผลของกรรม และขณะที่จิตเป็นกิริยาแล้ว นอกนั้นเป็นอกุศลทั้งหมด ยกตัวอย่าง เช่น ขณะที่ติดข้องยินดีพอใจ ขณะที่มีความเกลียดชังกัน โกรธขุ่นเคืองใจ ขณะที่ไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง เป็นต้น ขณะนั้น เป็นอกุศลทั้งหมด ไม่ใช่ผลของกรรม แต่เป็นการสะสมเหตุที่ไม่ดี และเมื่อสะสมมีกำลังมากขึ้นก็ล่วงเป็นทุจริตกรรมประการต่างๆ ได้
การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ก็เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อยจริงๆ และ ยิ่งจะทำให้มีความมั่นคงในคำที่ได้ยินได้ฟัง มั่นคงชัดเจน ยิ่งขึ้น เป็นการไม่ประมาทในพระธรรมที่ได้ยินได้ฟังอย่างแท้จริง ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
จิตมี ๔ ชาติ กุศล อกุศล วิบาก กิริยา ในขีวิตประจำวันเราควรเจริญ กุศลที่เป็นเหตุที่ดีโดยเฉพาะการฟังธรรม เป็นเหตุให้เกิดปัญญา ค่ะ