ความประมาทเป็นความเห็นผิดหรือไม่
ความประมาทเป็นความเห็นผิดหรือไม่
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ก่อนอื่นก็ต้องเข้าใจคำว่าประมาท และไม่ประมาท ให้ถูกต้องว่าคืออะไร ก่อนครับ ความประมาท คือ ขณะที่ไม่มีสติ ซึ่งสติเป็นสภาพธรรมฝ่ายดี ขณะที่ไม่มีสติ ที่ชื่อว่า ความประมาท หมายถึง ขณะที่เป็นอกุศล ดังนั้น ขณะใดก็ตามที่เป็นอกุศลจิต ไม่ว่าจะมากหรือน้อย ชื่อว่าประมาทแล้วในขณะนั้นครับ
ความไม่ประมาท หมายถึง ขณะที่มีสติ เป็นกุศลจิต ดังนั้น ขณะใดที่เป็นกุศลจิต ไม่ว่าจะเป็นกุศลจิตขั้นใด ไม่ว่าจะเป็นกุศลขั้นทาน ศีล ภาวนา ขณะนั้นชื่อว่า ไม่ประมาท เพราะมีสติ อยู่โดยไม่ปราศจากสติในขณะนั้น ดังนั้น ความประมาท จึงไม่ใช่ความหมายทางโลก ที่ทำอะไรด้วยความประมาท ข้ามถนน ไม่ดู ก็กล่าวว่าประมาท นั่นไม่ใช่ความหมายของความประมาทที่ถูกต้อง ครับ
ดังนั้น ความประมาท แสดงถึงโดยนัยว่า การไม่ทำกิจการงานให้เหมาะสม ไม่ทำหน้าที่ให้สมควร เช่น พระราชา ไม่ทำหน้าที่ให้สมควร บุตร ไม่ทำหน้าที่อันสมควร ก็ชื่อว่าประมาท ประมาท เพราะ มีอกุศลจิตเป็นมูล ถ้าไม่มีอกุศล ก็จะไม่ทำหน้าที่ที่ไม่ดี แต่ถ้ากุศลเกิด ไม่ประมาทย่อมมีสติ ย่อมรู้สิ่งที่ควรทำ และกระทำสิ่งที่สมควร เพราะฉะนั้น แม้กิจการงานทางโลก การทำหน้าที่ต่างๆ การทำไม่สมควร ก็ชื่อว่าประมาท เพราะมีอกุศลจิตเกิดขึ้นนั่นเองครับ อกุศลเกิดเมื่อใดประมาทเมื่อนั้น และย่อมทำสิ่งที่ไม่สมควร อันมีความประมาทเป็นปัจจัย หรืออกุศลจิตเป็นปัจจัย เมื่อประมาท ย่อมเป็นทางแห่งความเสื่อม
ดังข้อความในพระไตรปิฎกที่ว่า
เพราะมัวเมาจึงเกิดความประมาท เพราะประมาทจึงเกิดความเสื่อม และ เพราะความเสื่อมจึงเกิดโทษ ดูก่อนท่านผู้มีภาระครอบครองรัฐ อย่าประมาทเลย เพราะกษัตริย์เป็นอันมาก หากมีความประมาทต้องเสื่อมประโยชน์ของแว่นแคว้น เสื่อมทั้งแว่นแคว้น
อนึ่ง ชาวบ้านประมาท ก็เสื่อมจากบ้าน บรรพชิตประมาท ก็เสื่อมจากอนาคาริยวิสัย อีกนัยหนึ่ง ความประมาทเป็นทางแห่งความตาย ในที่นี้มุ่งหมายถึง ผู้ที่ไม่ได้อบรมปัญญา ย่อมประมาท คือไม่มีกุศล ที่เป็นไปในการเจริญวิปัสสนา ย่อมไม่สามารถดับกิเลสได้เลย จึงต้องเกิดและตายบ่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด การตายบ่อยๆ จึงชื่อว่าเป็นทางแห่งความตาย จึงไม่ใช่ความหมายทางโลก ที่ทำอะไรไม่ระวัง จะเป็นทางแห่งความตาย คนประมาท เป็นเหมือนคนตายแล้วคือ คนที่ประมาท ประมาทในกุศลธรรมคือ ไม่ทำความดีประการต่างๆ ก็เหมือนคนที่ตายแล้วคือ คนตายก็ไม่สามารถทำความดีอะไรได้เช่นกัน จึงไม่ต่างกันเลย ไม่ว่าอยู่หรือตาย สำหรับคนที่ประมาท ไม่ทำควมดี อบรมปัญญา และมาถึงคำว่า ความประมาทเป็นทางแห่งความเสื่อม ความไม่ประมาท ก็มีหลายระดับคือ กุศลธรรมมีหลายระดับ ขณะใดที่กุศลจิตเกิดชื่อว่าไม่ประมาท ความไม่ประมาทที่ประเสริฐที่สุด คือ กุศลธรรมที่ทำให้ถึงความไม่เกิดคือ ถึงการดับกิเลส คือขณะที่สติปฏฐานเกิด รู้ความจริงของสภาพธรรมในขณะนี้ ชื่อว่าไม่ประมาท ถึงการไม่เกิดอีกครับ ซึ่งก็เริ่มจากความไม่ประมาทในชีวิตประจำวันคือ การเจริญกุศลทุกประการ อบรมปัญญา ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม แม้ชีวิตยัง ประมาทอยู่คือ อกุศลเกิดบ่อยๆ แต่เพราะอาศัยการอบรมความไม่ประมาท ทีละน้อย ย่อมถึงความไม่ประมาทที่สมบูรณ์ และดับเหตุที่ทำให้ประมาท คือ กิเลสประการต่างๆ ได้หมดสิ้น ครับ ซึ่งก็ต้องอาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ที่เป็นเหตุให้ความไม่ประมาทเจริญขึ้น นั่นเอง
ส่วนความเห็นผิด เป็นสภาพธรรมที่ไม่ดี ที่เป็น ทิฏฐิเจตสิก ขณะใด ที่เกิดความเห็นผิด ตามความเป็นจริง เช่น เห็นผิดว่ามีสัตว์ บุคคล เห็นผิด ว่าเที่ยง เป็นสุข เห็นผิดว่ากรรมไม่มี ผลของกรรมไม่มี เห็นผิดว่าตายแล้วไม่เกิดอีก เป็นต้น เหล่านี้ก็เป็นความเห็นผิดที่เกิดขึ้น ซึ่งขณะที่เห็นผิด เป็นเจตสิก คือ ทิฏฐิเจตสิก จะต้องเกิดร่วมกับอกุศลจิตคือ เกิดกับโลภมูลจิต ขณะนั้นก็ชื่อว่าประมาทด้วย เพราะความประมาท หมายถึง อกุศลจิตทุกๆ ประเภท ครับ เพราะฉะนั้นขณะที่เห็นผิด ชื่อว่าประมาท เพราะเป็นอกุศลจิต แต่ความประมาท กว้างกว่าความเห็นผิด เพราะ ความประมาทเป็นอกุศลจิตทุกประเภท ขณะที่โกรธ ชื่อว่าประมาท แต่ไม่ได้เห็นผิด ขณะที่ติดข้องพอใจในรูป รส เป็นต้น เช่น พอใจในอาหาร ขณะนั้นชื่อว่าประมาท เพราะ ไม่มีสติ แต่ไม่ได้มีความเห็นผิด ครับ เพราะฉะนั้น ความเห็นผิด จึงเป็นส่วนหนึ่งของความประมาท ครับ แต่ความประมาททั้งหมด ไม่ใช่ความเห็นผิด ครับ ขอนุโมทนา
ข้อความบางตอนจากคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ มีดังนี้
"การอบรมเจริญปัญญาในชีวิตประจำวัน เป็นเรื่องที่ต้องเป็นผู้ที่ไม่ประมาทจริงๆ เพราะถ้าลดโอกาสของกุศลลง ก็จะเป็นการเพิ่มโอกาสให้อกุศลเกิดขึ้นอีก และอกุศลที่มีกำลังอยู่แล้ว ก็จะมีกำลังเพิ่มขึ้นอีก ทุกๆ วันนี้ อกุศลสะสมไป ที่จะมีกำลังเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้น เมื่อทราบว่า ยังไม่สามารถที่จะชนะกิเลสได้ ก็ขอเพียงฟังพระธรรม อย่าขาดการฟังพระธรรม แต่ถ้ารู้ตัวเองว่า แม้แต่เพียงการฟัง ก็ยังจะไม่สนใจ หรือว่าไม่มีกำลังศรัทธาพอที่จะฟังขณะนั้น ก็แสดงให้เห็นกำลังของการคบหาสมาสมาคมกับอกุศล ซึ่งมีกำลังเพิ่มขึ้นมหาศาลขึ้นอีกเรื่อยๆ
ถ้าทุกคนจะมีชื่ออีกชื่อหนึ่ง ก็คงจะชื่อว่า "คุณประมาท" เพราะว่าตามความเป็นจริงแล้ว ถ้าไม่ระวังจริงๆ กุศลที่เคยมีเคยเป็นปกติ แล้วเสื่อมไป ขณะนั้นก็เห็นชัดว่า เป็นผู้ที่ประมาทแล้ว และบางคนก็ประมาทมาก เพราะฉะนั้นจึงควรเตือนตัวเองว่า อีกชื่อหนึ่งของทุกคน ไม่ว่าจะชื่ออะไรกันก็ตามแต่ แต่อีกชื่อหนึ่งคือ "คุณประมาท" บางคนก็มีความประมาทในการเข้าใจพระธรรม หรือว่าในกุศลที่สะสมมา คิดว่ามั่นคงแล้ว จนกระทั่งถึงกับอยากจะทดลองกำลังของกิเลส นี่ก็เป็นผู้ที่ประมาทเพิ่มขึ้นไปอีก คือ ไม่รู้เลยว่า อวิชชา และโลภะ มีกำลังมากแค่ไหน ไม่ควรเลยที่ใครจะไปทดลองกำลังของอวิชชาและโลภะ เพราะว่า อวิชชาและโลภะ มีกำลังอยู่ตลอดเวลาที่สติปัฏฐานไม่เกิด ไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม
ถ้าจะอุปมาภพภูมิข้างหน้าเป็นอบายภูมิ พระธรรมและกุศลทั้งหลายในชาตินี้ เหมือนเชือกที่ทุกคนกำลังจับอยู่ ที่จะไม่ปล่อยให้ตัวเองตกลงไปสู่อบายภูมิ แต่ถ้ากำลังที่จับนั้นอ่อนลง จนกระทั่งปล่อยมือจากพระธรรม ก็เป็นที่แน่นอนว่าไม่มีทางที่รู้แจ้งอริยสัจจธรรม และอกุศลธรรมที่ได้กระทำแล้ว ก็มีโอกาสที่จะกระทำให้ตกไปสู่อบายภูมิได้โดยเฉพาะ ตกไปสู่เหวของอวิชชาซึ่งยากแสนยากที่จะขึ้นมาได้ เพราะว่าเป็นเหวลึก เพราะฉะนั้นทางที่ดีทางหนึ่ง ก็อย่าลืมอีกชื่อหนึ่งของทุกคนคือ คุณประมาท ถ้าจะถามว่ามีใครไม่ได้ชื่อนี้บ้าง คำตอบคือ ตราบใดที่ยังมีกิเลสอยู ก็ยังเป็นผู้ประมาท แต่ถ้าเตือนตัวเองอย่างนี้บ่อยๆ ก็มีประโยชน์ ตราบใดที่ปัญญายังไม่ได้อบรมเจริญจนกระทั่งถึงขั้นที่จะดับกิเลสได้โดยเด็ดขาด จะเป็นผู้ที่ประมาทกำลังของอกุศลไม่ได้เลย บุคคลผู้ที่มีปัญญา ท่านจะเป็นผู้ไม่ประมาทในการอบรมเจริญปัญญา ไม่ประมาทในการขัดเกลากิเลส ชาตินี้มีกิเลสมาก ก็ยิ่งที่จะต้องเป็นผู้ขัดเกลาให้เบาบาง ด้วยความเข้าใจถูกเห็นถูก ชาตินี้ปัญญายังน้อย ก็ยิ่งจะต้องเป็นผู้มีความมั่นคง และจริงใจในการที่จะศึกษาธรรม ฟังธรรม เพื่อสะสมความเข้าใจถูก เห็นถูก ในลักษณะของสภาพธรรม ตามความเป็นจริงให้ยิ่งๆ ขึ้นไป"
ขอเชิญคลิกฟังคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ เพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ
ขออนุโมทนา
เรียน อาจารย์ ทั้งสองท่าน
กุศลจิตและอกุศลจิต เมื่อพิจารณาการเกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน อกุศลจิตเกิดมากกว่าอย่างเทียบไม่ได้ กระผมยังไม่เข้าใจว่า การอบรมเจริญปัญญา จะทันในภพไหน และการเจริญกุศลก็มี ทาน ศีล และภาวนา หรือว่าการตรึกถึงกุศลที่เคยทำมา และการตรึกถึงธรรมที่พอจะเข้าใจครับ ขอความอนุเคราะห์อาจารย์ ช่วยกรุณาให้ปัญญา ด้วยครับ
ขออนุโมทนาครับ
เรียนความเห็นที่ 2 ครับ
กิเลส แม้จะสะสมมามากแค่ไหน แต่ถ้ามีการสะสมปัญญาไปเรื่อยๆ ปัญญาเมื่อมีกำลังมากถึงมรรคจิต ย่อมดับกิเลสต่างๆ ได้หมดสิ้น แม้จะมีกิเลส ที่สะสมมามาก อย่างไรก็ตาม ครับ
ขออนุโมทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขณะที่ความเห็นผิด ตลอดจนถึงอกุศลธรรมทั้งหลาย เกิดขึ้นเป็นไปนั้นคือ ความประมาท
เป็นความจริงที่ว่า บุคคลผู้ที่ยังไม่ได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม บรรลุถึงความเป็นพระอริยบุคคลขั้นพระโสดาบัน โอกาสที่จะมีความเห็นผิด (มิจฉาทิฏฐิ) ก็ย่อมสามารถที่จะเกิดขึ้นได้ แล้วแต่ว่าจะมีมากหรือมีน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นเรา เป็นตัวตน เป็นสัตว์บุคคล ความเห็นผิดนี้อันตรายมาก เป็นเหตุนำมาซึ่งอกุศลธรรมอย่างมากมาย เพราะเหตุว่า เมื่อมีความเห็นผิดแล้ว อะไรๆ ก็ผิดตามไปด้วย กล่าวคือ ความประพฤติทั้งทางกาย ทางวาจา และ ทางใจ ก็ผิดไปด้วย ตามความเห็นที่ผิดนั่นเอง ผลที่ตามมาคือ เป็นผู้มีอบายเป็นที่ไปในเบื้องหน้า จึงเป็นเรื่องที่น่ากลัว และจะประมาทไม่ได้เลยจริงๆ
ขณะที่ฟังพระธรรม เป็นการสะสมความเข้าใจถูก เริ่มที่จะมีความเห็นถูก จนกว่าจะมีความเข้าใจเพิ่มขึ้นๆ โดยที่ต้องอาศัยกาลเวลาอันยาวนานในการอบรมเจริญปัญญาอย่างแท้จริง การที่ค่อยๆ เข้าใจธรรมเพิ่มขึ้นๆ นั้น ดีกว่าที่จะไม่มีหนทางเลย ถ้าจะเปรียบเทียบให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ขณะที่เรายังวนเวียนอยู่ในสังสารวัฏฏ์ นั้น การที่เราไม่มีหนทาง ก็เหมือนกันการที่เราตกไปในเหวลึก ที่ไม่มีทางขึ้นและมืดสนิท เมื่อเราตกไปในเหวลึกแล้ว เราไม่ควรที่จะอยู่เฉยๆ โดยไม่ทำอะไรเลย แต่ควรอย่างยิ่งที่เราจะค่อยๆ ไต่ขึ้นมาทีละนิดทีละหน่อย ซึ่งก็เหมือนกับการที่เราเข้าใจธรรมเพิ่มขึ้นทีละเล็กทีละน้อย จากการฟัง การศึกษาในชีวิตประจำวันนั่นเอง จึงเป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาอย่างยิ่ง ประการที่สำคัญ เราไม่สามารถที่จะทราบได้เลยว่า โอกาสที่เราจะเข้าใจธรรมในภพนี้ชาตินี้ จะเหลืออีกเท่าใด เพราะฉะนั้นแล้ว เวลาที่เหลืออยู่นี้จึงเป็นเวลาที่มีค่าที่สุดในการที่จะให้ตนเอง มีความเข้าใจธรรมเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นหนทางเดียวที่จะเป็นไปเพื่อการดับกิเลส มีความเห็นผิด เป็นต้น ได้ในที่สุด เพราะขณะที่เข้าใจปัญญาเกิด ก็คุ้มครองไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดแล้ว และในขณะนั้นอกุศลก็เกิดไม่ได้ด้วย ครับ
ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ
ถึงแม้เราจะสะสมมกิเลสมาเยอะ ถ้าไม่ประมาท ศึกษาธรรม อบรมปัญญา เหตุปัจจัยพร้อม โลกุตตรปัญญาเกิดขึ้นก็ประหารกิเลสได้หมดสิ้น ค่ะ
เรียน อาจารย์ ทั้งสองท่าน
เวลาที่เหลือน้อยแล้วกับความเพียรที่จะอบรมเจริญปัญญา บางครั้งก็สู้อกุศลวิบากไม่ได้ กระผมบางครั้งก็โลภในทางอยากได้ความเข้าใจเร็วๆ โหมฟังทั้งพระอภิธรรมทั้งปกิณณก อ่านทั้งปรมัตถธรรมจนทั้งสุขภาพตา และหูแย่ลงๆ จนกระทั่งมาคิดได้บางครั้งจากการอ่านหนังสือ "บันทึกสุดท้ายของคุณบุษบง รำไพ" ว่าทุกอย่างเป็นไปตามเหตุปัจจัย ได้เท่าไรก็เท่านั้น จึงค่อยๆ ผ่อนการโหมลงซึ่งบางครั้งก็คิดว่า ธรรมเป็นอนัตตา แล้วก็ทำให้เริ่มค่อยฟังใหม่ เพราะถ้าศึกษามาก จนฟุ้งซ่านกลับมาเข้าใจแค่อนุบาลเหมือนเดิม จึงขอความคิดเห็นจากอาจารย์ทั้งสองท่านด้วย ครับ
ขออนุโมทนาครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
การศึกษาพระธรรม การฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงนั้น ไม่ใช่เพื่ออะไรอื่นทั้งสิ้น ไม่ใช่อยากรู้เยอะๆ แต่เพื่อเข้าใจในสิ่งที่ได้ยิน ได้ฟัง เท่านั้นจริงๆ การเห็นประโยชน์ว่า ชีวิตของเรานั้น ที่จะมีโอกาสได้ฟังพระธรรม ในภพนี้ชาตินี้ จะเหลืออยู่อีกเท่าใด แล้วไม่ละเลยโอกาสอันสำคัญ ที่จะทำให้ตนเองเข้าใจ จะด้วยการฟังบ้าง สนทนาบ้าง เป็นต้น ก็ย่อมเป็นสิ่งที่ดี และที่สำคัญพระธรรมก็เป็นเรื่องที่ละเอียดลึกซึ้งมาก ถ้าไม่ฟัง ไม่ศึกษา ด้วยความละเอียดรอบคอบ ก็ย่อมไม่สามารถที่จะเข้าใจตามความเป็นจริงได้ การมีโอกาสได้ฟัง ได้ศึกษา สะสมความเข้าใจไปทีละเล็กทีละน้อยนั้น ความรู้ความเข้าใจจะค่อยๆ เจริญขึ้นไป ตามลำดับ ครับ
ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ
ขออนุญาตสนทนากับคุณ papon ครับ ในประเด็นเรื่องการศึกษาธรรมะอย่างไร
ตามที่คุณ papon ได้ให้ความเห็นว่า ได้เพียรอย่างมาก จนกระทั่งสุขภาพไม่ดี แล้วจึงกลับมาตั้งต้นใหม่ในเรื่องนี้ ผมได้ฟังคำบรรยายจากท่านอาจารย์สุจินต์ได้กล่าวไว้ บ่อยครั้งมากครับ โดยท่านมักจะถามว่า "ศึกษาพระธรรมะเพื่ออะไร" ซึ่งผู้ศึกษาส่วนมากจะตอบกันไปว่า เพื่อให้มีความรู้มากขึ้นหรือเพื่อให้เห็นทุกข์ เพื่อให้หลุดพ้น เพื่อถึงนิพพานฯ แต่ส่วนใหญ่มักลืมไปว่า เป็นการศึกษาเพื่อตนเองทั้งนั้น ดังนั้น การมุ่งมั่น พากเพียรขวนขวายที่จะอ่าน จะฟัง จะศึกษา ก็เป็นไปเพื่อตนเอง ท่านอาจารย์จึงเน้นเสมอๆ ว่า ศึกษาธรรมะก็เพื่อละความไม่รู้เท่านั้น หากเป็นไปเพื่อประโยชน์ที่มีตัวตนเป็นที่ตั้ง ย่อมเป็นการศึกษาพระธรรมที่ไม่ถูกต้อง และทำให้ตนเองเดือดร้อน ด้วยความอยาก ความหวัง ความต้องการ ยิ่งทำให้เป็นเครื่องเนิ่นช้าเป็นคำเตือนที่มีประโยชน์มากๆ ครับ ซึ่งผู้ศึกษาธรรม ควรระลึกถึงคำเตือนนี้เสมอๆ เพราะความหวัง ความต้องการ ความเป็นตัวตน ยังมีอยู่ด้วยกันทั้งนั้น อีกข้อความหนึ่งที่ท่านอาจารย์สุจินต์ ท่านกล่าวเสมอๆ คือ ศึกษาธรรมะทีละคำ ท่านอธิบายว่า เข้าใจถ้อยคำทีละคำจนกระทั่งมีความเข้าใจที่มั่นคงมากขึ้นๆ ท่านอาจารย์สุจินต์ เคยสนทนากับสหายธรรมชาวเวียดนาม ที่เชื่อว่าต้องศึกษา ต้องอ่านตำรา คัมภีร์ ต้องฟังมากๆ จึงจะเข้าใจมากขึ้นไปเรื่อยๆ ท่านอาจารย์กล่าวว่า ต้องเข้าใจให้ถ่องแท้ในคำแต่ละคำ ทีละคำ เป็นลำดับไป เช่น คำว่า "เห็น" มีความเข้าใจเพียงใดผู้ศึกษาธรรมะส่วนใหญ่ เมื่อได้ฟังคำอธิบายคำนี้บ่อยๆ ก็คิดว่า เข้าใจดีแล้ว แล้วก็ไปสนใจ ไปศึกษา หรืออ่านคำอื่น หรือเรื่องราวอื่นที่ยากๆ แต่แท้ที่จริงแล้ว เขายังไม่เข้าใจคำว่า "เห็น" ได้อย่างถ่องแท้เลย ดังนั้น ความเข้าใจของเขาจึงเป็นเพียงจำคำได้เท่านั้น แต่หาได้เข้าใจคำแต่ละคำอย่างแท้จริงไม่เลย
คำสอนและคำเตือนของท่านอาจารย์ข้างต้น ชี้ให้เห็นหลักการของการศึกษาพระธรรมที่ถูกต้องและตรงอย่างมาก สอดคล้องกับที่ท่านกล่าวไว้ตอนแรกว่า ศึกษาพระธรรมก็เพื่อละความไม่รู้ เมื่อศึกษาพระธรรมทีละคำ บางคำยังไม่รู้ไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้เลย กลับไปสนใจคำอื่นๆ ไปอ่านพระธรรมส่วนอื่นๆ ที่ยากๆ จึงไม่เกิดประโยชน์เลย ถือได้ว่าเป็นโชคดีที่มีครูบาอาจารย์คอยสั่งสอนชี้แนะนะครับ ทำให้เป็นผู้ศึกษาพระธรรม ด้วยความเป็นผู้ที่ตรงต่อเหตุผล ตรงต่อพระธรรม มีความมั่นคงในการศึกษาพระธรรม เป็นลำดับไป และ เป็นการศึกษาที่ถูกต้อง เป็นกุศลที่เบาสบาย ไม่หนักหรือเดือดร้อนอะไรเลยครับ
กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
ขอบพระคุณและขออนุโมทนา อ.คำปั่น อ.ผเดิม และทุกๆ ท่าน ครับ