สงสัยเกี่ยวกับ วิจิกิจฉา ครับ

 
ทรงศักดิ์
วันที่  11 ต.ค. 2556
หมายเลข  23833
อ่าน  2,127

ความสงสัย ในคุณพระพุทธ เป็นต้น เป็นวิจิกิจฉา

ผมขอเรียนถามว่า วิจิกิจฉา จะครอบคลุมความสงสัยในเรื่องใดบ้าง และความสงสัยในเรื่องใดที่ไม่จัดว่าเป็น วิจิกิจฉา ยกตัวอย่างเช่น หัวข้อคำถามนี้ โลกกลมจริงหรือ สิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่ามีจริงหรือ ฯลฯ จะจัดเป็นวิจิกิจฉา หรือไม่ครับ

ขอบคุณครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 11 ต.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

วิจิกิจฉา เป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ เป็นอกุศลเจตสิก มีลักษณะที่สงสัย ลังเลใจ ตัดสินใจไม่ได้ในเรื่องของสภาพธรรม วิจิกิจฉา โดยทั่วไป จึงมุ่งหมายถึง ความลังเลสงสัย ในพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ในสิกขา สงสัยในเรื่องขันธ์ สงสัยในปฏิจจสมุปบาท แต่ถ้าสงสัยในเรื่องทั่วๆ ไปเช่น เรื่องราวทางโลก ที่ไม่เกี่ยวกับสภาพธรรม เหมือนอย่างในประเด็นคำถามนั้น ไม่ใช่วิจิกิจฉา

ตราบใดที่ยังไม่ได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงความเป็นพระอริยบุคคล ความลังเลสงสัยในสภาพธรรม ก็ยังมีอยู่ ความลังเลสงสัย เป็นกิเลสที่กางกั้นไม่ให้กุศลจิตเกิด เพราะในขณะที่กิเลสเกิดขึ้นนั้น กุศล เกิดไม่ได้เลย และหนทางที่จะเป็นไปเพื่อละคลายความสงสัยรวมไปถึงกิเลสอกุศลธรรมประการต่างๆ ด้วย นั้น คือ การอบรมเจริญปัญญา เพราะขณะที่ฟังพระธรรมเข้าใจ ขณะนั้น ก็ละคลายความสงสัย ละคลายความไม่รู้ แล้ว จนกว่าจะดับได้อย่างหมดสิ้น เมื่อถึงความเป็นพระอริยบุคคล การเป็นพระอริยบุคคลได้นั้น ก็ต้องดำเนินตามทางที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงไว้ คือ การอบรมเจริญปัญญา จะขาดปัญญา ไม่ได้เลย ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 11 ต.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

วิจิกิจฉา มีลักษณะที่สงสัย ลังเลใจ ตัดสินใจไม่ได้ในเรื่องของสภาพธรรม มีความคิดเห็นเป็น ๒ อย่าง อุปมาเหมือนทาง ๒ แพร่ง เช่น พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มีคุณจริงหรือไม่ นรก สวรรค์ ชาติหน้ามีจริงหรือไม่ บาปบุญมีจริงหรือไม่ และผลของบาปบุญให้ผลได้จริงหรือไม่ วิจิกิจฉาเจตสิกเกิดกับอกุศลจิตประเภทโมหมูลจิตวิจิกิจฉาสัมปยุตต์เพียงดวงเดียวเท่านั้น

วิจิกิจฉา โดยทั่วไป จึงมุ่งหมายถึง ความลังเลสงสัย ในพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ในสิกขา สงสัยในขันธ์ที่เป็นอดีต สงสัยในขันธ์ที่เป็นอนาคต สงสัยในขันธ์ที่เป็นอดีตและอนาคต สงสัยในปฏิจจสมุปบาท ดังนั้นจึงมุ่งหมายถึง ความลังเลสงสัยในเรื่องสภาพธรรมด้วยเป็นสำคัญ แต่ถ้าสงสัยในเรื่องทั่วๆ ไป เช่น เรื่องราวทางโลก ที่ไม่เกี่ยวกับสภาพธรรม เช่น สงสัยว่า 4 บวก 5 เป็นเท่าไหร่ ความสงสัยนี้ไม่ใช่วิจิกิจฉาครับ

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ ...

วิจิกิจฉา ๘ อย่าง

ซึ่งผู้ที่จะละ ความลังเลสงสัยจนหมดสิ้น คือ พระโสดาบัน แต่ก่อนจะถึงความเป็นพระโสดาบัน ก็อาศัย พระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง และปัญญาที่เจริญขึ้น ก็ค่อยๆ ละ ความลังเล สงสัยได้ ทีละเล็กละน้อย

พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงพระธรรมที่จะค่อยๆ ละความลังเลสงสัย ด้วยธรรม 6 ประการดังนี้

[เล่มที่ 14] พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้าที่ 325

ธรรมสำหรับละวิจิกิจฉา

อีกอย่างหนึ่ง ธรรม ๖ ประการ ย่อมเป็นไปเพื่อละวิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย) คือ

๑. ความสดับมาก

๒. การสอบถาม

๓. ความชำนาญในวินัย

๔. ความมากด้วยความน้อมใจเชื่อ

๕. ความมีกัลยาณมิตร

๖. การเจรจาแต่เรื่องที่เป็นที่สบาย

ความสดับมาก เพราะเป็นผู้ฟังพระธรรมมากด้วยความเข้าใจในพระธรรม เมื่อมีความเข้าใจพระธรรมมากขึ้น เข้าใจว่าทุกอย่างเป็นธรรม เป็นธรรมดาย่อมค่อยๆ ละคลายความไม่เชื่อ ความสงสัยในพระพุทธเจ้า พระธรรมได้ เพราะฉะนั้นการฟังพระธรรมจึงเป็นเหตุปัจจัยหนึ่งที่จะละคลายความสงสัยเสียได้

การสอบถาม เมื่อไม่เข้าใจ ก็สอบถามและเมื่อได้เข้าใจในคำตอบ ปัญญาเจริญขึ้น จึงละคลายความสงสัยในสิ่งที่ถามและในพระธรรมของพระพุทธเจ้าได้

ความชำนาญในวินัย เพราะเข้าใจถึงเหตุและผลของพระพุทธองค์ ที่ทรงแสดง ตามความเป็นจริงในส่วนอื่นๆ ย่อมละคลายความสงสัยเสียได้

ความน้อมใจเชื่อ หมายถึงน้อมใจด้วยศรัทธาในพระพุทธเจ้า พระธรรม เมื่อมีศรัทธา ย่อมละคลายความสงสัยเสียได้

ความมีกัลยาณมิตร เพราะอาศัยผู้ที่ความรู้ ความเข้าใจพระธรรมและที่สำคัญคือเป็นผู้มีคุณธรรมย่อมสามารถเกื้อกูลบุคคลนั้นได้ ทำให้ละคลายความสงสัยได้

การเจรจาแต่เรื่องที่เป็นที่สบาย การสนทนาพูดคุยถึงพระธรรมของพระพุทธเจ้า สนทนาในคุณพระรัตนตรัยย่อมทำให้เกิดศรัทธา เกิดความเข้าใจในพระธรรมย่อมละคลายความสงสัยในพระรัตนตรัยได้ครับ

ขออนุโมทนา ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ทรงศักดิ์
วันที่ 12 ต.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
bsomsuda
วันที่ 12 ต.ค. 2556

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
j.jim
วันที่ 14 ต.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ