อยากทราบความเห็นจากทุกท่าน
อยาทราบว่าผู้ที่สนใจศึกษาธรรมะ จะฟังวิทยุ หรือดูทีวี ตามปกติไม่ได้หรือ ทุกวันนี้ดิฉันก็เป็นคนหนึ่งที่สนใจฝักใฝ่ในธรรมมาตั้งแต่เป็นเด็ก และมีน้องสาวก็ชอบ และศึกษาธรรมะเหมือนกัน น้องสาวก็พยายามที่จะไม่ให้ดิฉันดูทีวี บอกว่าเป็นเครื่องเนินช้า น้องเขาหวังดีดิฉันก็เข้าใจ แต่ก็ยังละไม่ได้เหมือนเขา ทำให้เรามีเรื่องโต้เถียงกันตลอด ดิฉันไม่เข้าใจว่า คนที่ศึกษาธรรมะเข้าใจแล้ว ทำไมต้องบังคับให้คนอื่นทำตามด้วย ในเมื่อคนเราสะสมมาไม่เหมือนกัน ดิฉันผิดมากไหม
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
การศึกษาธรม ก็ต้องรู้จักธรรมว่าคืออะไร และต้องเข้าใจถูกว่า การปฏิบัติธรรมที่จะเป็นการรู้ธรรมนั้นคือ อย่างไรก็จะเข้าใจหนทางที่ถูกในการอบรมปัญญาที่ถูกต้องครับว่า คืออย่างไร การจะปฏิบัติธรรมก็ต้องเริ่มจากความเข้าใจพระธรรมเบื้องต้นก่อนครับ โดยเริ่มจากการฟังพระธรรมให้เข้าใจ เมื่อเราพูดถึงปฏิบัติธรรม ดังนั้นก็ต้องเข้าใจความจริงขั้นการฟังว่า ที่ไปหาธรรม ไปปฏิบัติธรรม ก็ต้องเข้าใจคำว่าธรรมคืออะไร เป็นเบื้องต้นก่อนครับ เพราะหากไม่เข้าใจคำว่าธรรม ก็จะทำให้ไปแสวงหา ไปปฏิบัติผิดได้
ธรรมคือ สิ่งที่มีจริง เพราะมีลักษณะ ดังนั้น ธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงที่เป็นสัจจะ จึงไม่ได้หมายถึง ทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นธรรมชาติ แม่น้ำ ภูเขา ทุกอย่างเป็นธรรม อันนี้ไม่ใช่ธรรมที่พระองค์ทรงตรัสรู้ แต่สิ่งที่พระองค์ตรัสรู้ ธรรม คือ สภาพธรรมที่มีจริงที่มีลักษณะคือ นามธรรมและรูปธรรม นั่นก็คือ จิต เจตสิกและรูป เช่น การเห็นมีจริงครับ มีลักษณะ แต่เป็นจิตที่เห็น การได้ยิน เป็นจิตที่ได้ยิน เป็นจิต เป็นธรรม การคิดนึก เป็นจิตที่คิด ดังนั้น จิตที่คิดมีจริงเป็นธรรม เรื่องที่คิด ไม่มีจริงเพราะไม่มีลักษณะให้รู้ จึงไม่ใช่ธรรม จิตที่เป็นโลภะ เป็นธรรม จิตที่เป็นโทสะเป็นธรรม เป็นต้น เสียง สี กลิ่น รส สิ่งที่กระทบสัมผัสมีจริง มีลักษณะให้รู้เป็นธรรม ดังนั้นธรรมก็คือ สิ่งที่มีจริง ที่มีลักษณะเป็นนามธรรมและรูปธรรมที่เป็น จิต เจตสิก รูป ครับ ซึ่งจะเห็นว่า จากตัวอย่างที่ยกมาว่าธรรมมีอะไรบ้างนั้น มีในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว เช่น สี (สิ่งที่เห็น) เสียง ได้ยิน คิดนึก โกรธ โลภ มีอยู่ในชีวิตประจำวัน เมื่อเราเข้าใจถูกว่าธรรมคือ สิ่งที่มีจริงในชีวิตประจำวัน ที่เป็น จิต เจตสิก รูป แล้ว ก็ไม่ต้องไปแสวงหาธรรมที่อื่นอีก ไม่ต้องแสวงหาที่เงียบ ที่สงบปลีกวิเวกเพื่อหาธรรม (ปฏิบัติธรรม) ไม่ต้องแสวงหาห้องปฏิบัติเพื่อรู้ธรรม ไม่ต้องนั่งสมาธิเพื่อที่จะรู้ธรรม เพราะขณะนี้ เป็นปกติ ยืน ก็มีธรรม นอนก็มีธรรม เดินก็มีธรรม ขาดแต่เพียงปัญญาที่จะไปรู้ตัวธรรมที่มีในชีวิตประจำวัน ครับ ดังนั้น หนทางการอบรมปัญญาที่ถูกต้อง คือ เข้าใจความจริงของสภาพธรรมที่เกิดขึ้น ว่าเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา เพราะกิเลสที่จะต้องละอันดับแรก ไม่ใช่ โลภะ ความติดข้อง เช่น ติดข้อง ในการูทีวี เป็นต้น แต่กิเลสที่จะต้องละเป็นอันดับแรกคือ ความเห็นผิดที่ยึดถือว่าเป็นเรา เป็นสัตว์บุคคล จะเห็นนะครับว่า ถ้าเราไม่ศึกษาธรรม ก็คิดว่า จะต้องละโลภะ ไม่ให้โลภะเกิด ไม่ดูทีวี ไม่ทำอะไร ไม่เล่นสิ่งต่างๆ แท้ที่จริง แม้ไม่ดูทีวี ไม่เล่นสิ่งต่างๆ แต่ กิเลสก็เกิดแล้วในขณะนี้โดยไม่รู้ตัว เพียงแค่เห็นกิเลสก็เกิดแล้ว ดังนั้น กิเลสจะต้องละเป็นไปตามลำดับ นั่นคือ ละความเห็นผิดว่าเป็นเรา เป็นสัตว์ บุคคล ซึ่ง หนทางการเจริญอบรมปัญญา พระพุทธเจ้าทรงแสดงสติปัฏฐาน 4 คือ การรู้ความจริงของสภาพธรรมที่มีในขณะนี้ ที่มีจริง ว่าเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา ทั้ง กาย เวทนา จิต ธรรม คือ ทั้งสภาพธรรมที่เป็นรูปธรรม เช่น เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ว่าเป็นแต่เพียงธรรม เวทนา ความรู้สึก รวมทั้ง จิต ประเภทต่างๆ ซึ่งรวมทั้งกุศลจิต และอกุศลจิตด้วย ควรรู้ว่าเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา ดังนั้น ก็รู้ความจริง แม้อกุศลที่เกิดขึ้นว่า เป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เราคือ เป็นผู้มีปกติอบรมสติปัฏฐานคือ เป็นผู้มีปกติอบรมเจริญปัญญา เพราะ ธรรมมีอยู่แล้ว ควรรู้แม้อกุศลที่เกิดขึ้น แม้พระอริยะสาวก ก่อนบรรลุธรรม ท่านก็ใช้ชีวิตเป็นปกติ เพียงแต่ท่าน ฟังพระธรรม อบรมปัญญาในชีวิตประจำวัน ไม่ได้ไปนั่งสมาธิ ปลีกวิเวก ตามที่เข้าใจผิดกัน แม้เมื่อท่านทำอาหารในครัว เห็นน้ำแห้งในหม้อก็เกิดปัญญา บรรลุเป็นพระอนาคามี นี่แสดงให้เห็นถึงการอบรมปัญญาในชีวิตประจำวัน ขณะที่ดูทีวี ก็มีเห็น มีคิดนึก มีโลภะ เป็นแต่เพียงธรรมทั้งสิ้น ควรรู้ว่าเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา ซึ่ง โลภะ ที่ติดข้อง ในรูป รส เป็นต้น มีการดูทีวี ละได้เมื่อเป็นพระอนาคามี ดังนั้น จึงควรอบรมปัญญา ละกิเลสเป็นลำดับ หนทางที่ถูกคต้องคือ การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมต่อไป และก็ใช้ชีวิตที่เป็นปกติ ปัญญาเกิดเมื่อไหร่ ก็รู้ความจริงที่เป็นปกติในชีวิตประจำวัน ครับ เชิญสหายธรรมร่วมสนทนา ครับ
ขออนุโมทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ต้องเข้าใจให้ถูกต้อง แม้คำที่กล่าวถึงคือคำว่า ปฏิบัติธรรม คือ อะไร ปฏิบัติธรรมไม่ใช่การไปทำอะไรที่ผิดปกติ แต่ต้องเป็นการเข้าถึงสภาพธรรมที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏด้วยสติและปัญญาพร้อมกับโสภณธรรมอื่นๆ ที่เกิดร่วมด้วยในขณะนั้น ซึ่งเป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ถ้าหากว่าไม่มีพื้นฐานที่สำคัญตั้งแต่ขั้นของการฟังในเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ในขณะนี้ แล้ว ก็ไม่สามารถมีความเข้าใจถูกเห็นถูกในขั้นที่เป็นปฏิบัติธรรม ได้เลย สำคัญที่ความเข้าใจถูกเห็นถูกตั้งแต่ต้นจริงๆ โลภะจะเกิดเฉพาะตอนดูทีวี ฟังวิทยุหรือ แล้วขณะอื่นๆ นอกเหนือจากนี้ จิตเป็นอะไร เป็นส่วนใหญ่ ก็ไม่พ้นไปจากอกุศลเลย ตลอดระยะเวลาที่ไม่ได้เป็นไปในการให้ทาน รักษาศีล อบรมเจริญปัญญา อกุศล มีเป็นปกติประจำวัน ตั้งแต่ตื่นนอนมาแล้ว แล้วจะละได้อย่างไร ตราบใดที่ยังไม่ได้มีปัญญาถึงขั้นที่จะดับความยินดีพอใจในกาม ได้อย่างเด็ดขาดบรรลุถึงความเป็นพระอนาคามีบุคคล ความยินดีพอใจในสิ่งเหล่านี้ ย่อมเกิดขึ้นมีเป็นธรรมดา เป็นไปตามเหตุตามปัจจัยไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น
สภาพธรรม ไม่พ้นไปจากชีวิตประจำวันเลย ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดก็ตาม แม้ในขณะที่กำลังเชียร์กีฬา ก็มีสภาพธรรมเกิดขึ้นเป็นไป สภาพธรรมต่างๆ ก็มีพร้อมที่จะให้เราได้เข้าใจ พร้อมที่จะให้ได้รู้ชัด พร้อมที่จะให้ประจักษ์แจ้งได้ ที่สำคัญคือ ความเข้าใจถูก เห็นถูก อันเริ่มมาจากการฟัง การศึกษาพระธรรมเป็นปกติในชีวิตประจำวัน สะสมความเข้าใจไปตามลำดับ ไม่มีตัวตนที่จะไปบังคับให้ปัญญาเกิด ไม่มีตัวตนที่จะไปละกิเลส และประการที่สำคัญแต่ละบุคคลที่เป็นปุถุชนย่อมมากไปด้วยกิเลส สะสมมาอย่างมากมายในสังสารวัฏฏ์ ยากที่จะละให้หมดสิ้นไปในทันทีทันใด ต้องค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป ยังไม่สามารถละโลภะได้ จะต้องละความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลก่อนโดยอาศัยการอบรมเจริญปัญญา ซึ่งเป็นทางเดียวจริงๆ ที่จะค่อยๆ ละคลายกิเลสไปตามลำดับ แต่ละคนมีความประพฤติเป็นไปตามการสะสม สำหรับผู้ที่เห็นคุณค่าของการอบรมเจริญปัญญา เห็นว่าสิ่งใดก็ตามที่เสพคุ้นมากๆ จะทำให้เกิดอกุศลเพิ่มมากขึ้นท่านก็ไม่เข้าใกล้สิ่งเหล่านั้น จะให้เวลากับพระธรรม ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา ก็เป็นไปตามการสะสม ไม่มีการบังคับ ไม่มีกฏที่ตายตัว ประการที่สำคัญที่สุด ขอเพียงเป็นผู้เห็นประโยชน์ของพระธรรม ไม่ขาดการฟัง ความเข้าใจถูกเห็นถูก ก็จะค่อยๆ เจริญขึ้น มีปัญญาเป็นที่พึ่ง และเมื่อมีปัญญาเป็นที่พึ่งแล้ว ปัญญาก็ทำกิจของปัญญา ทุกที่ทุกสถานการณ์ ครับ
ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ
ศึกษาธรรม ก็ดูทีวีได้ เพราะขณะที่ดูทีวี ก็มีธรรมให้รู้ได้ พระสารีบุตร พระโมคคัลานะ ก็ดูมหรสพ ก็เกิดปัญญาขณะที่ดูได้ ค่ะ
ดิฉันคิดว่า ไม่ได้อยู่ที่ช่องทาง แต่อยู่ที่ว่าคุณกำลังเสพอะไรในช่องทางนั้น และตัวคุณมีภูมิต้านทานแค่ไหน (คือมีสติสัมปชัญญะแค่ไหน) ที่คุณได้ดูทีวีก็เพราะมีเหตุที่สร้างมาเอง จึงจะได้รับผล คือได้ดูทีวี ไม่มีใครบังคับได้เลย ที่มีคนห้ามดูก็เพราะมีเหตุที่ตนเองสร้างมาเอง จึงมีผลทำให้ขัดใจที่โดนบังคับ แต่จริงๆ ไม่มีใครบังคับใครได้เลย คำพูดที่บังคับจริงๆ ก็เป็นแค่การชักชวนอย่างหนึ่ง อยู่ที่ตนเองตัดสินใจจะทำตามคำชักชวนนั้นหรือไม่
ส่วนคนที่หวังดี ห้ามไม่ให้เราดูทีวี ถ้าคิดเสียว่า สังสารวัฏฏ์นั้นหาเบื้องต้นมิได้ เขาคงเคยเกิดเป็นพ่อแม่เรามาก่อน ก็เบาใจและเกิดความเมตตาปรารถนาดี ไม่ถือสา ไม่ถือประมาณในบุคคลอื่น ก็เป็นการประพฤติธรรมอย่างหนึ่ง คือ กุศลจิตที่เกิดขึ้น
เรียนอาจารย์ทั้งสองท่านและสหายธรรม
กระผมไม่กล้าแสดงความคิดเห็นมากนัก เพราะ ยัง ไม่มี ปัญญาพอ แต่ว่าเท่าที่อ่านในหนังสือของอาจารย์กาญจนา"มีชีวิตอยู่ด้วยปัญญา"มี ตอน หนึ่ง อาจารย์กาญจนาอ้างถึงคำบรรยายของท่านอาจารย์ข้อหนึ่งว่า อย่าใช้ชีวิตอยู่ใกล้กิเลสมากนัก ถ้าได้อ่านหนังสือเล่มนี้จะสามารถตอบกระทู้นี้ได้บ้าง (ถ้าผิดพลาดต้องขออภัยด้วยครับ)
ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ