กิเลสเช่นความโลภเป็นความคิดที่ปิดกั้นความรวยจริงหรือไม่

 
Suth.
วันที่  14 ต.ค. 2556
หมายเลข  23854
อ่าน  3,044

"ความอยากเป็นกิเลส เป็นสิ่งที่ไม่ดีใช่หรือไม่"

"ความโลภเช่นอยากรวยเป็นสิ่งที่ผิด"

จากข้อความที่ผมคัดลอกมาด้านล่างนี้ ตามความเข้าใจผมว่ากิเลสเช่นความโลภ เป็นอกุศลธรรมก็ต้องเป็นสิ่งไม่ดีแน่นอน อยากขอความกรุณาวิเคราะห์ข้อความด้านล่างว่า

1. เป็นความเห็นที่ถูกต้องหรือข้ัดแย้งกับหลักธรรมอย่างไรบ้าง

2. ความคิดดังกล่าวข้างล่างปิดกั้นความรวยจริงหรือไม่

3. เราควรทำธุรกิจอย่างไรเมื่อเรายังมีกิเลส เช่น ความโลภอยู่

@ความคิดที่ปิดกั้นความร่ำรวย @ บางคนมี "ความคิดที่ปิดกั้นความร่ำรวย" ของตัวเอง การคิดว่า "ความอยาก" เป็นสิ่งไม่ดี เป็นกิเลสจะทำให้สมองและจิตใต้สำนึกสับสนแล้วก็จะเหมารวมไปหมดว่า "ความอยาก" เป็นสิ่งไม่ดี "ความอยาก" ก็คือ "ความอยาก" ไม่มีอะไรที่ดี หรือไม่ดี กับการที่มี "ความอยาก" เราจะไปเที่ยวเชียงใหม่
เราต้อง "อยากไปเที่ยว" ก่อน เราถึงจะวางแผนเดินทางจริงไหม บางคน "อยากไปเที่ยว" ต่างประเทศ "อยากไป"ฮ่องกง "อยากไป" ฝรั่งเศส "อยากไป" อิตาลี มีอะไรผิดไหมกับการที่ "อยากไปเที่ยวไกลๆ " ซึ่งต้อง "ใช้เงินเยอะกว่า" การไปเที่ยวที่เชียงใหม่ "ไม่มีอะไรผิด" ใช่หรือเปล่า แล้วทำไมพอ "อยากมีเงิน" หรือ "อยากมีเงินเยอะๆ " กลับกลายเป็นสิ่งผิด กลับกลายเป็นความโลภ ใครจะ "อยากรวย" เท่าไร 1 ล้าน 10 ล้าน 100 ล้าน ก็แล้วแต่จะตั้งเป้าหมายเอาเหมือนการจะไปเที่ยวใกล้ๆ หรือเที่ยวไกลๆ ก็ไม่มีอะไรผิด จริงไหม หาก "สมอง" หรือ "จิตใต้สำนึก" ยังสับสน คิดว่า "ความอยาก" เป็นสิ่งไม่ดี โดยเฉพาะ "ความอยากรวย" เป็นสิ่งผิดคนผู้นั้นจะมี "ความคิดที่ปิดกั้นความร่ำรวย" และเขาก็จะ "ไม่รวย" ดังนั้น หาก "อยากรวย" ต้องมี "สมองเงินล้าน" ก่อนถึงจะ "รวย" ด้วยรักและปรารถนาดีจากใจโค้ชสิริลักษณ์ ตันศิริ

FB : Coach Siriluck Tansiri
กรุณาท่านผู้รู้ให้คำอธิบายตามคำถาม 3 ข้อ ข้างบนด้วยครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 14 ต.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

1. เป็นความเห็นที่ถูกต้องหรือข้ัดแย้งกับหลักธรรมอย่างไรบ้าง ปุถุชน ผู้ที่หนาด้วยกิเลส ก็ย่อมมีชีวิตที่เป็นไปกับกิเลสเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้นการคิดนึก ในเรื่องราวต่างๆ ก็เป้นไปกับกิเลส คือ ความติดข้อง ความ โกรธ ความหลง เพราะฉะนั้น ในชีวิตประจำวัน ก็เกิดอกุศล มีความติดข้อง ความอยาก เป็นปกติอยู่แล้ว เช่น รับประทานอาหาร เข้าห้องน้ำ ทำกิจการงาน ก็ด้วยความติดข้องและกิเลสประการต่างๆ โดยไม่รู้ตัวเลย และ ที่สำคัญ ก็ไม่รู้ว่า กิเลสเกิดขึ้น และไม่รู้ว่า กิเลสเป็นสภาพธรรมที่ไม่ดี ไม่ว่าจะเป็นโลภะ ความอยาก ติดข้อง จะมากหรือน้อยก็ชื่อว่า ไม่ดี นี่คือ ความเห็นของพระอริยเจ้า ผู้ที่ได้รู้ความจริง มีปัญญา แต่หากเป็นความเห็นของปุถุชน ก็เป็นธรรมดาที่สำคัญว่า กิเลสเป็นสิ่งทีดี เพราะคิดว่า ชีวิตจะอยู่ได้ด้วยความอยาก ความต้องการ หากแต่ว่า ชีวิตของผู้มีปัญญา เป็นชีวิตที่ประเสริฐ แม้ไม่มีกิเลส ความอยาก ความติดข้อง ก็เป็นอยู่ได้ เพราะมีความเข้าใจถูกในชีวิตประจำวัน ดังนั้น อกุศล ไม่ว่าประเภทใด อย่างไรก็ชื่อว่าไม่ดีแน่นอน ครับ

2. ความคิดดังกล่าวข้างล่างปิดกั้นความรวยจริงหรือไม่

ความมีทรัพย์มาก ไม่ได้อยู่ที่ความคิดเท่านั้น แต่อยู่ที่บุญกุศลที่ได้ทำมา ผู้ที่เป็นผู้ให้ทาน เมื่อกุศลกรรมนั้นให้ผล ก็ย่อมเป็นผู้มีทรัพย์มาก แม้จะอยากหรือไม่อยากก็ย่อมได้ทรัพย์ ดังนั้น ทรัพย์สมบัติที่ได้ ก็เพราะอาศัยกรรมในอดีตให้ผลด้วย แต่ปุถุชนผู้ที่ไม่รู้เหตุ ย่อมสำคัญว่า เพราะการจะได้ทรัพย์เพราะความอยาก ความติดข้องเท่านั้น ความอยาก อกุศล เป็นกิเลสที่เกิดขึ้นในจิตใจ ไม่ใช่ ตัวผลที่เป็นวิบาก แม้จะอยาก มากสักเท่าไหร่ อกุศล คือ ความอยาก จะให้ผลที่ดี คือ ได้ทรัพย์เป็นไปไม่ได้เลย เพราะเหตุไม่ตรงกับผล แต่จะมีทรัพย์ได้ ก็ด้วยกุศลกรรมในอดีตให้ผลเป็นสำคัญ ครับ ดังนั้น ความคิดที่จะไม่อยาก ไม่ติดข้อง หากเป็นความคิดที่เป็นกุศล เช่น ขณะที่คิดจะให้ และมีการให้ เป็นความคิดที่ดี เป็นความคิดที่ไม่ติดข้อง ความคิดที่ ไม่อยาก เพราะ ไม่มีโลภะเกิดร่วมด้วย ในกุศลจิต กุศลธรรมในขั้นทานนั้น การให้นั้นที่ไม่เป็นความคิดที่ไม่อยาก ก็นำมาซึ่งผลที่ดีคือ ความมีทรัพย์มากได้ ดังนั้น ความคิดที่ไม่อยาก คือ เกิดกุศลจิต ไม่เป็นเครื่องกั้นความรวย แต่กลับเป็นเหตุของความรวย ต่างจากผู้ที่อยากรวยมากๆ ก็ย่อมทำทุจริตต่างๆ ย่อมเป็นเหตุให้เสียทรัพย์ แม้จะได้ทรัพย์มาทีแรก จากกุศลกรรมในอดีตเป็นปัจจัย ไม่ใช่เพราะความอยาก แต่การทำอกุศลกรรม มีการคดโกง ย่อมทำให้สูญเสียทรัพย์ในที่สุด เพราะอกุศลกรรมให้ผล ดังนั้นความอยากจะทำให้รวยได้อย่างไร ในเมื่อเป็นเหตุที่ไมดี ครับ

3. เราควรทำธุรกิจอย่างไรเมื่อเรายังมีกิเลส เช่น ความโลภอยู่

ท่านอนาถะ นางวิสาขา เป็นพระโสดาบันแล้ว แต่ยังมีโลภะ อยู่ที่ติดข้องในสิ่งต่างๆ แต่ท่านก็ประกอบอาชีพของท่าน ยังแต่งตัวสวย ยังดูการละเล่น ยังทำงานด้วยโลภะ ด้วยความอยากมีทรัพย์ได้เป็นธรรมดา แต่ในชีวิตประจำวัน ท่านก็เข้าใจถูกว่า เป็นธรรมดาของชีวิต และเป็นอนัตตา ไม่สามารถบังคับบัญชาได้ ดังนั้น ท่านก็อยู่ด้วยความเข้าใจ แม้อกุศลที่เกิดกับท่าน ก็รู้ว่าเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา ดังนั้น ขณะที่ทำงาน ทำด้วยอกุศลจิตได้ ก็สามารถอบรมปัญญาได้ รู้ความจริงในขณะที่ทำงาน และ สามารถเกิดกุศลจิตบ้าง เช่น เมตตา ความหวังดี ความอดทน ก็อยู่กับกิเลสด้วยความเข้าใจ โดยแบ่งเวลาในการศึกษาพระธรรม ตามสมควร ก็เป็นการอบรมปัญญา ที่เป็นปกติในชีวิตประจำวัน เมื่อปัญญาเจริญขึ้น ก็ค่อยๆ ละกิเลสไป ตามลำดับ นี่คือ หนทางการอบรมปัญญาที่ถูกต้อง ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 14 ต.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ความอยาก ความติดข้องต้องการเป็นอกุศล จะบอกว่าอกุศล ดีนั้น ไม่ได้เลยเพราะความจริงเป็นอย่าไร ก็เป็นจริงอย่างนั้นไม่ใช่เฉพาะเพียงอยากจะมีเงินเท่านั้นที่เป็นโลภะ แม้ความอยากได้อย่างอื่น ก็ไม่พ้นไปจากโลภะเลย แสดงให้เห็นถึงความเป็นจริงว่า อกุศลมากมายทีเดียวไม่ใช่เฉพาะโลภะเท่านั้น โทสะก็มี โมหะก็มี ความตระหนี่ก็มี ความริษยาก็มี ความลังเลสงสัยก็มี เป็นต้น ไม่ว่าจะกล่าวถึงอกุศลประเภทใด ก็มีหมดเลย เพราะยังไม่ได้ดับจนหมดสิ้น เมื่อได้เหตุได้ปัจจัย ก็เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่

- ความจน ความรวย ไม่มีใครทำให้ แต่เป็นเพราะเหตุคือ กรรมที่ได้กระทำแล้วเป็นสำคัญ แต่ละคนที่เกิดมามีสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไป ว่าโดยสภาพธรรมแล้ว ก็เสมอเหมือนกันหมด คือ เป็นนามธรรมกับรูปธรรม แต่ที่แตกต่างกันก็คือ การสะสม กับการได้รับผลของกรรม ซึ่งแต่ละคนเป็นแต่ละหนึ่ง ไม่เหมือนกันเลย ซึ่งเมื่อได้เริ่มศึกษาพระธรรมสะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย ก็จะไม่สับสนปนกัน ระหว่าง เหตุกับผล เพราะเหตุดี ก็ต้องให้ผลที่ดีถ้าเป็นเหตุที่ไม่ดีแล้ว ก็ย่อมให้ผลที่ไม่ดี และผลที่เกิดขึ้นก็ต้องมาจากเหตุเท่านั้น

- ถ้าจะพิจารณาจริงๆ แล้ว ก็พอจะเข้าใจได้ว่า ระหว่างผู้ที่มีกิเลสอยู่ แต่เป็นผู้ที่เข้าใจพระธรรม มีความเห็นถูก รู้ว่าอะไรดีอะไรชั่ว เป็นผู้น้อมประพฤติตามพระธรรม เป็นปกติในชีวิตประจำวัน ก็ย่อมจะประกอบอาชีพสุจริต กระทำในสิ่งที่ควรทำ ละเว้นอาชีพที่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่น แต่ถ้าเป็นผู้ที่ไม่ได้เข้าใจอะไรเลย ไม่รู้ว่าอะไรดี อะไรชั่ว ไม่มีที่พึ่งในชีวิต ก็ย่อมจะแตกต่างกันกับบุคคลประเภทแรกอย่างสิ้นเชิง อาจจะกระทำทุจริตกรรมประการต่างๆ ได้โดยไม่คิดถึงที่จะเกิดขึ้นตามมาว่าจะเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้นแล้ว ก็ควรที่จะได้พิจารณาว่า การเดินทางในสังสารวัฏฏ์ยังอีกยาวไกลมาก การมีโอกาสได้สะสมความดีและฟังพระธรรมศึกษาพระธรรม ให้เข้าใจแล้ว น้อมประพฤติตามพระธรรม นี้แหละ คือสิ่งที่ประเสริฐสำหรับชีวิต ซึ่งก็ไม่พ้นไปจากทำดีและศึกษาพระธรรม ไม่ว่าจะเป็นใคร เพศไหน มีอาชีพอะไร ก็ตาม ครับ

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 14 ต.ค. 2556

โลภะ ความอยาก เป็นเหตุให้ขยันทำงาน ความขยันก็เป็นเหตุให้มีทรัพย์ ได้ทรัพย์มาส่วนหนี่งเก็บไว้ ส่วนหนึ่งทำกุศล ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
Suth.
วันที่ 15 ต.ค. 2556

ขอบคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
j.jim
วันที่ 15 ต.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ