สภาพของนิพพาน ?

 
somsay
วันที่  15 ต.ค. 2556
หมายเลข  23862
อ่าน  1,472

จากการศึกษาเรื่องนิพพานจากพระอาจารย์หลายท่านบอกว่าทุกอย่างไม่ใช่ของเรา จิตและเจตสิตก็ไม่ไช่ของเรา หมายความว่า สภาพของนิพพานไม่มีอะไรเป็นของเราสักอย่างเลยหรือเปล่าครับ ถ้าเป็นอย่างนั้นก็เหมือนเราบอกว่า ตายแล้วสูญก็ได้สิอย่างนั้น


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
somsay
วันที่ 15 ต.ค. 2556

จิตและเจตสิตก้ไม่ไช่จิตเรา ทุกอย่างเกิดขึ้นเป็นขณะๆ ๆ ไป และก็ดับเป็นขณะๆ ๆ ไป ผมเข้าใจถูกหรือเปล่าครับ?

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 15 ต.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

จากคำถามที่ว่า

จากการศึกษาเรื่องนิพพานจากพระอาจารย์หลายท่านบอกว่าทุกอย่างไม่ใช่ของเรา จิตและเจตสิตก็ไม่ไช่ของเรา หมายความว่า สภาพของนิพพานไม่มีอะไรเป็นของเราสักอย่างเลยหรือเปล่าครับ ถ้าเป็นอย่างนั้นก็เหมือนเราบอกว่าตายแล้วสูญก็ได้สิอย่างนั้น

พระนิพพานเป็นสภาพธรรมที่มีจริง แน่นอนครับว่า นิพพานต้องเป็นพระนิพพาน ไม่เป็นอย่างอื่น คือ ไม่เป็น จิต เจตสิกและรูป แต่พระนิพพาน เป็นสภาพธรรมที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง คือ ไม่มี จิต เจตสกิและรูป จึงไม่เกิดขึ้นและดับไปเลย เป็นสภาพธรรมที่เที่ยง และเป็นสภาพธรรมที่เป็นสุขด้วย แต่ที่สำคัญ พระนิพพาน แม้จะเที่ยง เป็นสุข แต่พระนิพพานก็เป็นอนัตตาด้วย ไม่ใช่อัตตา เพราะพระนิพพาน เป็นสภาพธรรมที่สูญ สูญในที่นี้ไม่ไ่ด้หมายความว่าไม่มีอะไรเลย แต่สูญ จากความเป็นสัตว์ บุคคล คือ ไม่มีเรา ไม่มีสัตว์บุคคลให้ยึดถือในพระนิพพาน พระนิพพานจึงไม่ใช่สัตว์ บุคคล แต่เป็นสภาพธรรมที่มีจริง และที่สำคัญ บังคับบัญชาไม่ได้ด้วยครับจึงเป็นอนัตตา ตามที่กล่าวมา ไม่ใช่อัตตา ดังนั้น เรียกพระนิพพานว่าพระนิพพานได้ และพระนิพพานก็เป็นอนัตตาด้วยครับ ซึ่งขอแสดงข้อความในพระไตรปิฎก ที่แสดงว่า ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตาและพระนิพพานก็เป็นอนัตตาด้วยครับ

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้าที่ 305
บทว่า สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ความว่า ธรรมทั้งหลายที่เป็นไป ในภูมิ ๔ ทั้งหมด เป็นอนัตตา

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค เล่ม ๗ ภาค ๑ - หน้าที่ 172
อัสสาสะปัสสาสะ - ลมหายใจเข้าออก ย่อมตกแต่งกาย ฉะนั้นจึงชื่อว่า กายสังขาร สัญญาด้วย เวทนาด้วย ย่อมตกแต่งจิต ฉะนั้น จึงชื่อว่า จิตตสังขาร แต่ในที่นี้ท่านประสงค์เอา สังขตสังขาร ชื่อว่า อนิจจา - ไม่เที่ยง เพราะอรรถว่า มีแล้วกลับไม่มี ชื่อว่า ทุกขา - เป็นทุกข์ เพราะอรรถว่า เบียดเบียน คำว่า สพฺเพ ธมฺมา - ธรรมทั้งปวง ท่านกล่าวรวมเอาพระ-นิพพานเข้าไว้ด้วย ชื่อว่า อนัตตา เพราะอรรถว่า ไม่เป็นไปในอำนาจ

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ พระนิพพาน

ธรรมชาติพระนิพพาน [ตติยนิพพานสูตร]

ส่วนคำถามที่ว่า เหมือนอย่างตายแล้วสูญ ใช่ไหม

- คำตอบ คือ ไม่ใช่อย่างนั้น เพราะ คำว่า ตาย แล้ว สูญ เป็นความเข้าใจผิดที่มีการยึดถือว่า มีเรา มีสัตว์ บุคคล มีสัตว์จริงๆ ที่ตายแล้วสูญ ครับ แต่ ในทางธรรม คือ มีแต่ธรรม ไม่มีสัตว์ บุคคล เพราะฉะนั้น สภาพธรรมเกิดขึ้นและดับไป เมื่อยังมีกิเลส มีปัจจัยก็ยังมีการเกิดของอะไร ของสภาพธรรมไม่ใช่สัตว์ และก็ดับไป และเมื่อหมดเหตุปัจจัย หมดกิเลส เช่น เป็นพระอรหันต์ และ ปรินิพพาน ก็ไม่มีการเกิดอีก ไม่มีการเกิดของอะไร ไม่มีการเกิดของสภาพธรรม ไม่ใช่ไม่มีการเกิดของสัตว์บุคคล ที่สำคััญด้วยความเห็นผิดว่า ตายแล้วสูญ แต่ เมื่อไม่มีเหตุให้เกิด จึงไม่เกิดสภาพธรรม พระนิพพาน เป็นสภาพธรรมที่ไม่เกิด และ ไม่ดับจึง สูญ สูญจากอะไร สูญจากความเป็นสัตว์ บุคคล เพราะเป็นธรรม ครับ

และคำถามที่ว่า

จิตและเจตสิตก็ไม่ไช่จิตเรา ทุกอย่างเกิดขึ้นเป็นขณะๆ ๆ ไป และก็ดับเป็นขณะๆ ๆ ไป ผมเข้าใจถูกหรือเปล่าครับ

จิต และ เจตสิก เป็นสภาพธรรมที่มีจริง

จิต มีลักษณะเพียงรู้แจ้งซึ่งอารมณ์เท่านั้น กระทำกิจหน้าที่ของตนๆ แล้วก็ดับไป จิตเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย จิตเป็นสังขารธรรมที่เกิดขึ้นเพราะปัจจัยปรุงแต่ง ไม่ได้เกิดขึ้นเองลอยๆ เมื่อจิตเกิดขึ้นก็ต้องมีเจตสิกประการต่างๆ เกิดร่วมด้วย และมีอารมณ์ตามควรแก่จิตประเภทนั้นๆ

เจตสิก หมายถึงสภาพธรรมที่เกิดร่วมกับจิต ดับพร้อมกับจิต รู้อารมณ์เดียวกันกับจิต และสำหรับในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ก็อาศัยที่เกิดที่เดียวกันกับจิต เจตสิกมีมากมายถึง ๕๒ ประเภทมีผัสสะ เวทนา สัญญา เป็นต้น เป็นจริงแต่ละหนึ่ง มีลักษณะเฉพาะของตนๆ เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ของตนๆ แล้วก็ดับไป เจตสิกย่อมเกิดขึ้นกับจิตตามสมควรแก่จิตประเภทนั้นๆ ดังนั้น ทั้งจิต และ เจตสิก ก็ไม่ใช่เรา เป็นแต่เพียงธรรม และ จิต เจตสิก เป็นสภาพธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่ง ก็ต้องเกิดขึ้นและดับไป ซึ่งผู้ถามมีความเข้าใจถูกต้องแล้ว ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 15 ต.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สิ่งที่มีจริงทั้งปวง เป็นธรรม ไม่พ้นไปจากขันธ์ ๕ ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เกิด เพราะเหตุปัจจัย แล้วก็ดับไปไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืนและไม่พ้นไปจากสิ่งที่มีจริง อีกอย่างหนึ่งที่ไม่เกิด ไม่ดับ คือ พระนิพพาน พระนิพพาน ไม่ใช่สภาพธรรมที่เกิดดับเป็นสภาพธรรมที่ดับทุกข์ดับกิเลส ตรงกันข้ามกับสภาพธรรมที่เกิดดับอย่างสิ้นเชิง

สิ่งที่มีจริงทุกอย่างทุกประการ เป็นธรรม เช่น เห็น เป็นธรรม ได้ยิน เป็นธรรม โกรธเป็นธรรม ติดข้องเป็นธรรม ความละอายเป็นธรรม ความเข้าใจเป็นธรรม สีเป็นธรรม เสียงป็นธรรม เป็นต้น เพราะมีจริง เป็นสภาพธรรมที่ทรงไว้ซึ่งลักษณะของตนๆ ซึ่งไม่มีใครจะไปเปลี่ยนแปลงลักษณะของสภาพธรรม ไม่ว่าจะมีชื่อว่าอย่างไร ธรรม ย่อมไม่เปลี่ยนแปลงลักษณะ เมื่อกล่าวถึงธรรมแล้วก็เข้าใจว่า เป็นสิ่งที่มีจริง สำหรับสิ่งทีมีจริงนั้น ก็แยกเป็น ๒ ประเภทใหญ่ๆ คือ สภาพธรรมที่เป็นนามธรรม (จิต เจตสิกและพระนิพพาน) และรูปธรรม เมื่อว่าโดยความหมายแล้ว นามธรรม เป็นสภาพธรรมที่น้อมไปสู่อารมณ์ (อารมณ์ คือ สิ่งที่จิตรู้) เช่น เห็น เป็นนามธรรม เพราะเป็นสภาพรู้ ธาตุรู้ ในขณะนั้น มีจิตเห็น พร้อมทั้งเจตสิกเกิดขึ้น ตามเหตุตามปัจจัยแล้วดับไป เป็นต้น ซึ่งได้แก่ จิต (สภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์) และเจตสิก (สภาพธรรมที่เกิดพร้อมกับจิต ดับพร้อมกับจิต รู้อารมณ์เดียวกันกับจิตและในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ก็อาศัยที่เกิดที่เดียวกันกับจิต ตัวอย่างเจตสิก เช่น โลภะ โทสะ โมหะ ผัสสะ เวทนา เจตนา เป็นต้น) [นอกจากนั้น ก็ยังมีนามธรรม อีกประเภทหนึ่ง คือพระนิพพาน เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นนามธรรมที่ไม่รู้อารมณ์]

ส่วนรูปธรรม เป็นสภาพธรรมที่มีจริง แต่ไม่รู้อะไร ไม่รู้อารมณ์เหมือนอย่างนามธรรม รูปธรรม มีทั้งหมด ๒๘ รูป มีสี เสียง กลิ่น รส เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว เป็นต้น ธรรมซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริงนั้น ไม่ต้องไปหาที่ไหนเพราะมีจริงทุกขณะ ทุกขณะเป็นธรรม ไม่พ้นไปจากธรรม กล่าวคือ จิต เจตสิก และรูป แต่ละอย่างแต่ละประการ เป็นธรรมแต่ละหนึ่ง ไม่ปะปนกัน หาความเป็นสัตว์ เป็นบุคคลในสภาพธรรมเหล่านั้น ไม่ได้เลยจริงๆ ชีวิตที่ดำเนินไปในแต่ละวัน (ในแต่ละภพในแต่ละชาติ) ตั้งแต่ตื่นนอนจนกระทั่งหลับไป ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งถึงขณะที่จุติเกิดขึ้น ทำกิจเคลื่อนจากความเป็นบุคคลนี้นั้น มีแต่นามธรรมกับรูปธรรมเท่านั้น ถ้ายังไม่ได้ศึกษาก็ยังไม่รู้ไม่เข้าใจแต่เมื่อได้ศึกษาแล้ว ก็จะมีความเข้าใจว่า มีธรรมอยู่ตลอดเวลา ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ไม่พ้นหกทางนี้เลย ซึ่งจะต้องอาศัยการฟัง การศึกษาสะสมความเข้าใจถูกเห็นถูก ไปตามลำดับ เพื่อความเข้าใจถูก เห็นถูกในลักษณะสภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า เป็นเพียงสิ่งหนึ่งที่มีจริงและกำลังปรากฏ ซึ่งมีให้ศึกษาอยู่ทุกขณะจริงๆ ครับ

ขออนุโมนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
wannee.s
วันที่ 15 ต.ค. 2556

นิพพานเป็นสุข เที่ยง เช่น พระเถระ กล่าวว่า สุขอื่นยิ่งกว่านิพพาน ไม่มี ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
somsay
วันที่ 16 ต.ค. 2556

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
somsay
วันที่ 16 ต.ค. 2556

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ