ระดับในการละความเป็นเรา

 
Nacha
วันที่  17 ต.ค. 2556
หมายเลข  23871
อ่าน  1,108

สวัสดีค่ะอาจารย์และกัลยาณมิตรทั้งหลาย

ขอถามว่า การฟังธรรมเนืองๆ ที่เป็นเหตุให้มีขณะที่เข้าใจว่าไม่ใช่เรา จากนั้น ก็มักเกิดติดข้องพอใจที่เข้าใจในปรมัตถธรรม ด้วยความที่ยังเป็นปุถุชนอยู่ ลักษณะนี้ ต้องเป็นคุณธรรมระดับใดคะ ถึงจะดับความติดข้องในปรมัตถธรรมได้ การที่ไม่ยึดถือว่าเป็นเรา มีบางท่านกล่าวว่า เป็นการยึดถืออย่างหนึ่ง ถ้าเป็นเช่นนั้น ระหว่างที่ยังเป็นปุถุชนอยู่ ควรจะมีการยึดถือสิ่งนี้ไว้ระดับใด

เพราะจะไม่ยึดถืออะไรเลยก็คงไม่ใช่ปุถุชนแน่


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 19 ต.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

การละความเป็นเรา ก็มีหลายระดับ ตามระดับของปัญญา ก่อนอื่นก็ต้องเข้าใจความเป็นเรา ก่อนว่าคืออะไร มีอะไรบ้าง ซึ่งเมื่อกล่าวถึงการมีเรานั้น ก็มีด้วย อำนาจสภาพธรรม 3 อย่าง คือ ตัณหา ที่เป็นโลภเจตสิก มานะ และทิฏฐิ ที่เป็นความเห็นผิด ตัณหา เป็นความติดข้องต้องการ (โลภเจตสิก) เป็นสภาพธรรมที่มีจริงเกิดขึ้นเป็นไปในชีวิตประจำวัน เป็นสภาพธรรมติดข้องในสิ่งหนึ่งสิ่งใด

มานะ เป็นความสำคัญตน เป็นความทะนงตน ถือตน มีการเปรียบเทียบกับผู้อื่นว่าดีกว่าเขา เสมอเขา หรือ เลวกว่าเขา

ทิฏฐิ (ความเห็นผิด) เป็นสภาพธรรมที่มีจริงที่เห็นคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ความเป็นไปของปุถุชนผู้ที่หนาแน่นไปด้วยกิเลสนั้น ย่อมยึดถือขันธ์ห้าว่าเป็นเรา ด้วยอำนาจตัณหา คือ โลภะบ้าง มานะความถือตัวบ้าง ทิฏฐิ ความเห็นผิดบ้าง เพราะยังไม่ได้เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังมีกำลังปรากฏว่า เป็นเพียงสภาพธรรมที่เกิด เพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป ไม่เที่ยงไม่ยั่งยืน ซึ่งขออธิบายความเป็นเรา 3 อย่าง ดังนี้ ครับ ความเป็นเราด้วยตัณหา หรือ โลภะ ยกตัวอย่างเช่น ขณะนี้เห็น เห็นบุคคลอื่นแล้วเกิด ความติดข้อง ขณะนั้น เป็นเรา หรือ เป็นเขาด้วยความติดข้องหรือ ขณะเห็นตนเองในกระจก เกิดความยินดีพอใจ ในรูปร่างกายของตนเอง ขณะนั้นมีเราแล้ว แต่มีเราด้วยความติดข้องในความเป็นเราในขณะนั้น และแม้อยากเกิดเป็นเทวดา เกิดในภพภูมิที่ดี ก็เป็นเราด้วยตัณหาแต่ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด เพราะเพียงยินดีพอใจในภพูมิ แต่ไม่ได้มีความเห็นผิดเกิดขึ้นมา ความเป็นเราด้วยมานะ คือ ขณะใดที่เปรียบเทียบ ว่าเราสูงกว่าเขา เสมอคนอื่น หรือด้อยกว่าคนอื่น จะเห็นนะครับว่า มานะ เป็นการเปรียบเทียบ แล้วอะไรจะเปรียบเทียบ นอกจากว่า จะต้องมีเราที่ไปเปรียบเทียบ มีเขา มีคนอื่นดังนั้น เพราะเป็นอกุศลที่คิดว่าเราสูงกว่า มีเราแล้ว แต่เป็นเราด้วยมานะที่เป็นการเปรียบเทียบครับ ความเป็นเราด้วยทิฏฐิ คือเป็นเราด้วยความสำคัญผิดที่เป็นความเห็นผิดคือ ขณะนั้นเป็นอกุศลที่เป็นโลภะที่ประกอบด้วยความเห็นผิด เช่น ยึดถือว่า ดอกไม้มีจริง เที่ยง ยั่งยืนและยึดถือว่ามีเราจริงๆ มีสัตว์ บุคคลจริงๆ ขณะนั้นมีเรา มีเขา มีสิ่งต่างๆ ด้วย ความเห็นผิด เพราะยึดถือด้วยความเห็นผิดว่าเที่ยง เป็นสุขและเป็นตัวตนจริงๆ ครับ เพราะฉะนั้น การละความเป็นเรา ด้วย ทิฏฐิ ความเห็นผิด พระอริยบุคคล ขั้นต่ำสุด คือ พระโสดาบัน ละได้แล้ว ปุถุชนยังละไม่ได้ ความเป็นเรา ด้วย โลภะ พระอรหันต์เท่านั้นที่ละได้ ความเป็นเราด้วยมานะ พระอรหันต์เท่านั้นที่ละได้ แต่อาศัยการฟัง การศึกษษพระธรรม ก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ปัญญาเจริญขึ้น ก็ค่อยๆ ละความเป็นเราไปทีละน้อย จนละได้หมดสิ้นไปตามลำดับที่กล่าวมา ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 19 ต.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ปุถุชนทั้งหลายย่อมยึดถือขันธ์ห้าว่าเป็นเราด้วยอำนาจ ตัณหา คือ โลภะบ้าง มานะความถือตัวบ้าง ทิฏฐิ ความเห็นผิดบ้าง กล่าวคือ ถ้าเพียงยินดีพอใจ ติดข้อง อย่างนี้ ชื่อว่า การยึดถือขันธ์ห้าด้วยความเป็นเรา (ไม่มีความเห็นผิด) ด้วยตัณหา และขณะใดที่สำคัญตัวเองว่าดีกว่าคนอื่น ต่ำกว่าคนอื่น เสมอกับคนอื่น ลักษณะนี้ชื่อว่า การยึดถือขันธ์ห้าว่าเป็นเราด้วยมานะ (ความถือตัว) และขณะใดที่สำคัญผิดว่า ขันธ์ห้าเป็นตัวตนของเราจริงๆ เป็นของเที่ยง อย่างนี้ชื่อว่า ยึดถือด้วยทิฏฐิ แต่ความเป็นเราย่อมไม่มีทุกขณะจิต เพราะขณะที่กุศลเกิดขึ้นไม่มีการยึดถือว่าเป็นเรา ที่จะมีความเข้าใจอย่างถูกต้อง ตรงตามพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงก็ต้องอาศัยเหตุที่สำคัญ คือ การฟัง การศึกษาพระธรรมด้วยความละเอียด รอบคอบและมีความจริงใจในการศึกษาจริงๆ ว่า เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก เพื่อละคลายความไม่รู้ ละคลายความเห็นผิด ไม่ใช่เพื่ออย่างอื่นที่เป็นลาภ ยศ สักการะ สรรเสริญ จะเห็นได้อย่างแท้จริงว่า ธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้และทรงแสดงนั้น เป็นสิ่งที่มีจริงทั้งหมด ไม่ว่าจะแสดงโดยนัยของขันธ์ ธาตุ อายตนะ ปรมัตถธรรม เป็นต้น ก็เพื่อแสดงให้เห็นถึงความเป็นจริงของสภาพธรรมว่าไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เรา และที่สำคัญ ธรรมไม่พ้นไปจากชีวิตประจำวัน มีธรรมอยู่ตลอดเวลา อยู่กับธรรมตลอดเวลา ตั้งแต่ตื่นนอนจนกระทั่งหลับไป ไม่ว่าจะเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส คิดนึก โกรธ ไม่พอใจ ขุ่นเคื่องใจ ติดข้องยินดี พอใจ ริษยา หรือ ขณะที่มีใจดี เกื้อกูลอนุเคราะห์บุคคลอื่น เป็นต้น ล้วนเป็นธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป เพียงชั่วขณะเท่านั้นเอง และไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร ไม่มีใครทำเห็นให้เกิดขึ้นได้

เมื่อไม่ได้ศึกษาพระธรรมตามที่พระองค์ทรงแสดง ย่อมไม่เข้าใจ จึงมีความยึดถือว่า เป็นเราที่เห็น เป็นเราที่ได้ยิน เป็นเราที่โกรธ เป็นเราที่ติดข้องยินดีพอใจ เป็นต้น ดังนั้น จึงต้องเริ่มด้วยความเข้าใจที่ถูกต้องว่า ธรรมเป็นธรรม ไม่ใช่เรา และฟัง ศึกษาบ่อยๆ เนืองๆ ความรู้ความเข้าใจ ก็จะค่อยๆ เจริญขึ้นไปตามลำดับ ครับ

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 18 ต.ค. 2556

พระโสดาบันละความเห็นผิดได้แล้ว แต่ปุถุชนยังละไม่ได้ แต่เจริญสัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูกได้ ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
papon
วันที่ 18 ต.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
papon
วันที่ 18 ต.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ธนฤทธิ์
วันที่ 19 ต.ค. 2556

ขอบคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
thilda
วันที่ 19 ต.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
kinder
วันที่ 20 ต.ค. 2556

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
isme404
วันที่ 22 ต.ค. 2556

ขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ