อย่าอาลัยกับอดีตและอย่ากังวลกับสิ่งที่ยังมาไม่ถึง

 
papon
วันที่  19 ต.ค. 2556
หมายเลข  23876
อ่าน  7,027

เรียนอาจารย์ทั้งสองท่าน

พระพุทธองค์ทรงตรัส "อย่าอาลัยกับอดีตและอย่ากังวลกับสิ่งที่ยังมาไม่ถึง" ทรงหมายถึงสิ่งที่แก้ไขอะไรไม่ได้ และสิ่งที่บังคับบัญชาไม่ได้ และทรงให้มีชีวิตอยู่กับปัจจุบันใช่หรือไม่อย่างไรครับ ขอความ อนุเคราะห์ ด้วย ครับ ขออนุโมทนาครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 18 ต.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นเครื่องเกื้อกูลที่ดีเป็นอย่างยิ่ง ส่วนใหญ่แล้ว เวลาที่คิดถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้ว ก็มักจะเป็นไปด้วยอกุศล หรือแม้แต่ คิดถึงอนาคตซึ่งยังมาไม่ถึง ก็ยากที่จะพ้นไปจากอกุศล จึงไม่มีคำสอนที่ส่งเสริมให้เกิดอกุศล ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องใดๆ ก็ตาม แต่ธรรมก็ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น ห้ามไม่ได้ เป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย แต่ละคนสะสมมาแตกต่างกัน บางครั้งคิดถึงอดีต เป็นกุศลก็ได้ ปรารภถึงความไม่เที่ยงของสภาพธรรมที่เกิดแล้วดับไป ปรารภถึงกุศลที่ตนเองได้เคยกระทำไว้ เป็นต้น หรือ ถ้าคิดถึงอนาคต ด้วยกุศล ก็ได้เช่นเดียวกัน เช่น คิดถึงว่า ความตายจะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ก็ควรที่จะได้เป็นผู้ไม่ประมาทในชีวิต ด้วยการสะสมความดี และ ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ ทั้งหมดนั้น ล้วนเป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยทั้งสิ้น

พระธรรม ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกของผู้ที่ได้ฟังได้ศึกษาอย่างแท้จริง เป็นไปเพื่อประโยชน์โดยส่วนเดียว ไม่ว่าจะทรงแสดงพระสูตรใด ส่วนใดก็ตาม ไม่พ้นไปจากเพื่อให้เข้าใจสภาพธรรมที่มีจริงๆ ในขณะนี้ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา และ ธรรม ไม่สามารถบังคับบัญชาได้ เพราะเกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย พระธรรมจึงเป็นเครื่องเตือนทุกแง่มุม เพื่อความเจริญขึ้นของกุศลธรรม ขัดเกลากิเลสอกุศลธรรม สำคัญที่ความเข้าใจถูกเห็นถูกจริงๆ เมื่อกล่าวถึงปัจจุบันแล้วก็คือ ขณะนี้ ขณะนี้ มีสภาพธรรมเกิดปรากฏ มีให้ศึกษาอยู่ตลอด ไม่ต้องไปแสวงหาที่ไหน ความเป็นผู้อยู่ด้วยความเข้าใจธรรม อยู่ด้วยกุศลธรรม จึงเป็นสิ่งที่สมควรที่สุด ครับ

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 19 ต.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

บุคคลไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว ไม่ควรมุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึง สิ่งใดล่วงไปแล้ว สิ่งนั้นก็เป็นอันละไปแล้ว และ สิ่งที่ยังไม่มาถึงก็เป็นอันยังไม่ถึง ก็บุคคลใดเห็นแจ้งธรรมปัจจุบันไม่ง่อนแง่น ไม่คลอนแคลนในธรรมนั้นๆ ได้ บุคคลนั้นพึงเจริญธรรมนั้นเนืองๆ ให้ปรุโปร่งเถิด….

พระธรรมของพระพุทธเจ้า ละเอียดลึกซึ้ง ตั้งแต่โดยนัย สมมติ เรื่องราว และ จนถึงการรู้ความจริงของสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถ์ ที่มีลักษณะที่เป็นสภาพธรรมที่กำลังเกิดมีในปัจจุบันในขณะนี้ ครับ

บุคคลไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้ว ด้วยอำนาจของกิเลส อกุศล เพราะ การคิดนั้นไม่เป็นประโยชน์แต่นำมาซึ่งโทษ แต่การคิดที่เป็นเรื่องราวที่เป็นการคิดด้วยกุศลจิต สิ่งนั้น ก็ควรคิด คือ เป็นความคิดถูกในขั้นเรื่องราว

ไม่ควรมุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึง .... คือ การคิดถึง อนาคต ที่มุ่งหวัง ด้วยอำนาจกิเลสด้วยความติดข้อง ต้องการ ในสิ่งที่ยังมาไม่ถึง ก็ไม่ได้เกิดประโยชน์อะไร เพราะ ยังไม่มีสภาพธรรมอะไรเกิดขึ้น

สิ่งใด ล่วงไปแล้ว ก็เป็นอันล่วงไปแล้ว .... แสดงถึงความละเอียดของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นและดับไป ไม่สามารถนำกลับมาได้ เพราะ เมื่อดับไปแล้ว จะกลับมาได้อย่างไร ดังนั้น การคิดในสิ่งที่กลับมาไม่ได้ ด้วยความติดข้อง หรือ อกุศล ย่อมไม่เกิดประโยชน์

สิ่งใดยังมาไม่ถึง ก็เป็นอันมาไม่ถึง..... แสดงถึง สภาพธรรมที่เกิดขึ้น จะต้องมีเหตุปัจจัย เมื่อยังไม่มีเหตุปัจจัยให้เกิด จะทำด้วยความเป็นตัวตน หรือ คิดให้เป็นไปดั่งใจก็ไม่มีประโยชน์ ก็ควรเข้าใจว่า เมื่อสภาพธรรมนั้นยังไม่เกิด ก็ทำอะไรไม่ได้

ก็บุคคลใดเห็นแจ้งธรรมปัจจุบันไม่ง่อนแง่น ไม่คลอนแคลนในธรรมนั้นๆ ได้ บุคคลนั้น พึงเจริญธรรมนั้นเนืองๆ ให้ปรุโปร่งเถิ

- แสดงถึง ปัญญาอีกระดับหนึ่ง ที่ละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่ง ที่ให้เข้าใจถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ คือ รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังเกิดในขณะนี้ ตามความเป็นจริง ซึ่งก็คือ ขณะปัจจุบันขณะ ขณะนั้นรู้ความจริงด้วยปัญญา ว่าเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา ขณะนั้น ละกิเลส ละอวิชชา เพราะ รู้ตามความเป็นจริง และ ไม่ได้คิดนึกเป็นไปกับเรื่องราวในอดีต ในอนาคต ที่จะทำให้ไม่รู้ลักษณะ ดั่งคำที่เรียกว่า สมมติปิดบังปรมัตถ์

ไม่ง่อนแง่น ไม่คลอนแคลน เพราะ ปัญญากำลังรู้ความจริง ไม่ง่อนแง่นไปในอกุศลและ ไม่คลอนแคลนไปในอกุศล และ ไม่ง่อนแง่นไปในเรื่องราวที่คิดนึก ในอดีต และ ในอนาคต ครับ

จะเห็นนะครับว่า โดยมาก เราเข้าใจว่า การอยู่กับปัจจุบัน คือ ไม่ให้คิดในเรื่องอดีต หรืออนาคต ให้อยู่กับปัจจุบัน แล้วอะไรที่จะทำให้อยู่กับปัจจุบันได้ ไม่ใช่ตัวเราแน่นอน แต่เป็นปัญญาขั้นสูง ที่เป็นการเจริญสติปัฏฐาน ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ว่าเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา ขณะนั้น ชื่อว่าอยู่กับปัจจุบันอย่างแท้จริง และ ไม่ได้คำนึงถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้วด้วย เพราะ ไม่ได้คิดนึกเป็นเรื่องราวในอดีต และ ไม่ได้มุ่งหวังสิ่งที่ยังมาไม่ถึง เพราะ กำลังรู้ลักษณะของสภาพธรรมในปัจจุบัน ครับ

บุคคลนั้น พึงเจริญธรรมนั้นเนืองๆ ให้ปรุโปร่งเถิด... คือ พึงมีสติ เจริญสติปัฏฐานระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงเป็นปกติ ทั่วทั้ง 6 ทวาร จนปัญญาเกิดละกิเลสได้ในที่สุดครับ

นี่คือ ความละเอียด ของ พระคาถา โดยเฉพาะ กับคำว่า อยู่กับปัจจุบัน ครับ ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
papon
วันที่ 19 ต.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
peem
วันที่ 20 ต.ค. 2556

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ch.
วันที่ 20 ต.ค. 2556

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
orawan.c
วันที่ 21 ต.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
isme404
วันที่ 22 ต.ค. 2556

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
j.jim
วันที่ 24 ต.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
รักบุญ
วันที่ 31 มี.ค. 2562

สาธุๆ ๆ ค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ