การรู้อารมณ์แต่ละทวาร
เราสามารถรู้อารมณ์ที่ปรากฏทางทวารต่างๆ ตามความเป็นจริงได้ยากง่ายกว่ากันแตกต่างกันไปตามแต่ละทวารหรือไม่ เช่นทางตา ทางหู เมื่อเห็น เมื่อได้ยิน ก็จะเห็นเป็นสัตว์เป็นบุคคล แต่ทางกายสัมผัสเรารับรู้เย็นร้อนอ่อนแข็งได้ตรงตามความเป็นจริง สภาพเย็นก็รู้ว่าเย็น ร้อนก็รู้ว่าร้อน อ่อนแข็งก็เช่นเดียวกัน เราอาจสรุปว่ามีความยากง่ายแตกต่างกันไปแต่ละทวารได้หรือไม่
กรุณาให้ความกระจ่างด้วยครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
จริงๆ แล้ว ความยากง่าย ในแต่ละทวาร ยากง่าย อยู่ที่ปัญญาเป็นสำคัญ หากมีปัญญา เข้าใจความจริง ก็ไม่ยากในทวารนั้น ซึ่ง โดยทั่วไปแล้ว ทวารใดที่เป็นที่ยึดถือ และ สำคัญมาก ทวารนั้น ย่อม ยากที่จะละคลาย ซึ่งโดยมาก ก็จะเป็นทาง ตา และ ทาง หู ซึ่ง สัญญา ทรงจำ และ ให้ความสำคัญ และที่สำคัญ และ ยึดถือสัตว์โลก ด้วยความเป็นเรา เป็นสัตว์ บุคคลมาก ในทวารทั้งสอง เพราะฉะนั้น เมื่อใดยึดถือในทวารใดมาก ด้วยความเห็นผิด ด้วยโลภะความติดข้อง เป็นต้น ก็ย่อมจะทำให้รู้สภาพธรรมทางทวารนั้นได้ยากยิ่ง คือ ละคลายได้ยาก อย่างเช่น เห็นขณะนี้ ก็เป็นสัตว์ บุคคล และ ก็ยึดถือว่าเป็นเรา เป็นคนนั้นคนนี้ และ มีการได้ยินเสียง ก็ทรงจำว่าเป็นเสียงคนอื่น ทันที เพราะสะสม และยึดถือทั้งสองทวารโดยมาก ต่างจากทวารอื่นๆ เช่น ทางกาย ไม่ได้มีความยึดถือ ในความเป็นสัตว์ บุคคล มาก เพราะ โดยมากก็ไม่ได้กระทบสัมผัส กับสิ่งที่สมมติว่าเป็นสัตว์ บุคคล แต่ กระทบสัมผัสกับสิ่งที่เป็นรูปธรรม ซึ่ง การยึดถือในสิ่งที่สมมติว่าเป็น สัตว์ บุคคล มีกำลังมากกว่า ทั้ง ติดข้อง และ ยึดถือในความเห็นผิด ในความเป็นสัตว์ บุคคล เป็น คนที่เรารัก เป็นญาติพี่น้องมากกว่า วัตถุสิ่งของ ที่กระทบสัมผัส เพราะฉะนั้น ก็ยึดถือ ทางทวาร ตา และ หู มากกว่า ทางกาย เพราะยึดถือด้วยอำนาจกิเลส ด้วยโลภะ และ ทิฏฐิที่สะสมมาบ่อยมากกว่า ในชีวิตประจำวัน และ ในอดีตชาติ ครับ ซึ่ง การจะละคลายก็ต้องรู้ทั่วทั้ง ๖ ทวาร ไม่ใช่เพียง สองทวาร และ ที่สำคัญ การรู้แม้เพียงทางกาย ดูเหมือนจะง่ายแต่ไม่ง่ายเลย เพราะเป็นเรื่องของปัญญา เพราะแม้ทางกาย แม้จะรู้ว่าแข็ง แต่เป็นการรู้โดยกายวิญญาณ ไม่ใช่รู้ลักษณะ จริงๆ ว่า เป็นแต่เพียงธรรมในขณะนั้น เพียงแต่คิดนึกหลังจากสภาพธรรมที่แข็งนั้นดับไปแล้ว ก็ไม่ใช่ สติปัฏฐานที่เกิดขึ้น แต่เป็นสติที่คิดนึกถึงสาพธรรมทีเกิดขึ้น ครับ นี่คือความละเอียดของธรรม อาศัยการฟัง ศึกษาพระธรรม ปัญญาเจริญขึ้น ย่อมเกิดสติปํฏฐาน ระลึกลักษณะของสภาพธรรม ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แต่การจะละกิเลส ความไม่รู้ ความเห็นผิด ก็ต้องรู้ทั่วทั้ง ๖ ทวาร ทุกทาง จึงละกิเลสได้จริงๆ ครับ นี่คือความละเอียดของพระธรรม
ขออนุโมทนา ครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ธรรมมีความลึกซึ้งอย่างยิ่ง ยากที่จะเข้าใจ แสดงถึงสิ่งที่มีจริงทั้งหมด ถึงแม้จะยากแต่ก็ไม่เหลือวิสัยสำหรับผู้ที่ตั้งใจจะศึกษาเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริง ธรรมมีจริงในขณะนี้ ทุกๆ ขณะ ไม่เคยปราศจากธรรมเลย ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ แต่เพราะสะสมความไม่รู้มานาน อกุศลก็มาก จึงต้องค่อยๆ สะสมสิ่งที่จะขัดเกลาความไม่รู้ ได้แก่ สะสมปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูก ต่อไปเป็นอย่างมากเหมือนกัน ถ้าบอกว่า ธรรม ง่ายๆ รู้ได้ง่ายๆ ลืมไปหรือเปล่าว่า เราเป็นใคร เพราะธรรมไม่ง่าย แต่สามารถรู้ได้ ด้วยปัญญา
จุดประสงค์ของการศึกษาพระธรรม คือ เพื่อความเข้าใจอย่างเดียว ธรรมเป็นเรื่องของเหตุของผล ไม่ใช่เรื่องความอยาก ไม่ใช่เรื่องของความหวัง ไม่ใช่การรอคอยผลที่จะเกิดขึ้น เพราะเมื่อเหตุสุกงอมพร้อมที่จะให้ผลเมื่อไหร่ ใครก็ห้ามไว้ไม่อยู่ สิ่งสำคัญอยู่ที่การตั้งต้นฟังพระธรรมให้เข้าใจจริงๆ เพราะฉะนั้น ควรอย่างยิ่งที่จะศึกษาพระธรรมด้วยความอดทนจริงๆ มีความจริงใจ และมั่นคงที่จะศึกษา ที่จะฟังต่อไป เพราะพระธรรมเป็นสิ่งที่ละเอียด ลึกซึ้ง รู้ตามได้ยาก การเกิดเป็นมนุษย์และได้พบพระพุทธศาสนาเป็นสิ่งที่ประเสริฐสุดในอัตภาพนี้ จึงควรใช้โอกาสนี้ศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรม สะสมความเข้าใจไปเรื่อยๆ ทีละเล็กทีละน้อย ไม่ต้องรีบร้อนไปไหน สังสารวัฏฏ์นั้นยังอีกยาวไกลมาก
ดังนั้น การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม จึงต้องค่อยเป็นค่อยไป ไม่ใช่เรื่องรีบร้อน และมีความมั่นคงในหนทางที่ถูกต้อง นั่นก็คือ การอบรมเจริญปัญญา ถ้าไม่มีปัญญาแล้ว ก็ไม่สามารถเข้าใจในสภาพธรรมที่มีจริงๆ ในขณะนี้ได้เลย แล้วปัญญาจะมาจากไหน ถ้าไม่อาศัยการฟัง การสอบถาม การพิจารณาไตร่ตรองการคบกัลยาณมิตร สิ่งเหล่านี้จะเป็นเหตุให้ปัญญาเกิดขึ้น เจริญขึ้นไปตามลำดับอย่างแท้จริง ครับ
ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ
สติปัฏฐานเกิดยากมากไม่ว่าจะเป็นทางตา หรือ ทางกาย ก็ต้องฟังธรรมจนกว่าจะเข้าใจ และถ้าเหตุปัจจัยพร้อม สติปัฏฐานเกิดระลึก รู้ตรงไหนก็ได้เป็นนามธรรม รูปธรรม ค่ะ