อรูปฌาณ เป็นมิจฉาสมาธิหรือครับ

 
sikkha
วันที่  24 ต.ค. 2556
หมายเลข  23906
อ่าน  1,740

อ่านพบว่าอรูปฌาณ 4 มีอรูปาวจรเป็นอารมณ์ (มิจฉาสมาธิ) และขั้นเนวสัญญานาสัญญายตนะ เป็นอัปนาสมาธิ และเป็นมิจฉาสมาธิ ไม่ทราบเหตุผล เพราะไม่ได้เคยยิน ไม่ได้ศึกษามาเท่าที่ควร อยากทำความเข้าใจโดยเฉพาะอย่างยิ่งความหมายที่ว่า อรูปฌาณเป็นมิจฉาสมาธิ กรุณาอธิบายด้วยครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 25 ต.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สมาธิ คือ เอกัคคตาเจตสิก ที่ทำกิจหน้าที่ ตั้งมั่นในอารมณ์นั้น ซึ่งเอกัคคตาเจตสิก เกิดกับจิตทุกดวง ทุกประเภท เพราะฉะนั้น ขณะใดที่จิตเกิด จะต้องมีความตั้งมั่นของจิต เพียงชั่วขณะจิตหนึ่งในขณะนั้น ซึ่งขณะที่ตั้งมั่นในขณะจิตนั้น ถ้าเกิดกับจิตที่เป็นอกุศล ก็เป็นมิจฉาสมาธิ แต่ถ้าเกิดกับจิตที่เป็นกุศล ขณะนั้นเป็นความตั้งมั่นชอบก็เป็นสัมมาสมาธิ แต่เมื่อว่าโดยละเอียดลงไป สัมมาสมาธิ หมายถึง นัยทั้งที่เป็นสมถภาวนา และวิปัสสนาภาวนาด้วยครับ การเจริญสมถภาวนา มีการได้ฌานต่างๆ ขณะนั้น ก็มีความตั้งมั่นชอบ ที่เกิดพร้อมกับปัญญาในขณะนั้น เป็นสัมมาสมาธิ ที่ตั้งมั่นในอารมณ์ที่ทำให้เกิดกุศลติดต่อกันไป จนปรากฎในลักษณะของสมาธิ จนถึงได้ฌาน ก็เป็นสัมมาสมาธิในระดับสมถภาวนาที่ตั้งมั่นในอารมณ์นั้น มีลมหายใจเป็นต้น ครับ ส่วนในขณะที่เจริญวิปัสสนา ที่เป็นขณะที่สติปัฏฐานเกิด ขณะนั้นก็มี สมาธิ แต่เป็นขณิกสมาธิที่เกิดพร้อมกับปัญญาที่รู้ความจริงของสภาพธรรม ในขณะนั้น ก็มีสัมมาสมาธิ ตั้งมั่นชั่วขณะในอารมณ์ที่ปรากฎในขณะนั้น เช่น ขณะที่รู้ลักษณะของสีที่กำลังปรากฎ ขณะนั้นมีปัญญา และมีสมาธิคือ เอกัคคตาเจตสิกเกิดร่วมด้วย ที่ตั้งมั่นชั่วขณะ ในขณะที่มีรู้ความจริง จึงมีสัมมาสมาธิด้วยในขณะนั้นคือ มีทั้งสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ ครับ

ดังนั้น อรูปฌาน เป็นการเจริญสมถภาวนา มีปัญญาเกิดร่วมด้วย จึงไม่ใช่มิจฉาสมาธิ แต่เป็นสัมมาสมาธิ เพียงแต่ไม่ใช่สัมมาสมาธิที่จะทำให้ถึงการดับกิเลส เพราะเป็นการเจริญสมถภาวนา ไม่ใช่การเจริญวิปัสสนา ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 25 ต.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สมถภาวนา เป็นการอบรมเจริญกุศลที่สามารถทำให้นิวรณ์ซึ่งเป็นอกุศลธรรมทั้งปวงมีโลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้น นั้น สงบระงับ ซึ่งผู้อบรมนั้นจะต้องเป็นผู้มีปัญญาที่รู้ความต่างระหว่างอกุศล กับกุศล เห็นโทษของอกุศลธรรมประการต่างๆ จึงจะเจริญได้ และในขณะนั้นก็จะต้องมีอารมณ์ของสมถภาวนาที่จะทำให้จิตสงบจากอกุศลธรรม ซึ่งผู้เจริญจะต้องมีความเข้าใจในเรื่องดังกล่าวนี้ด้วย เมื่ออบรมเจริญกุศลประเภทนี้เพิ่มขึ้นๆ ก็จะเป็นเหตุให้อกุศลจิตไม่สามารถเกิดแทรกคั่นได้ เมื่ออบรมเจริญความสงบ เมื่อจิตสงบมั่นคงขึ้นแล้ว ก็จะสามารถบรรลุถึง อัปปนาสมาธิ ซึ่งเป็นฌานจิตขั้นต่างๆ ที่เป็นรูปฌาน อรูปฌาน แต่การบรรลุฌานจิตนั้นเป็นเรื่องที่ยากมาก แม้ในสมัยพุทธกาลผู้ที่บรรลุเป็นพระอริยบุคคลโดยที่ไม่ได้ฌาน มีมากกว่าผู้ที่ได้ฌาน ซึ่งเห็นได้ว่าการเจริญสมถภาวนาทำให้จิตสงบได้ ระงับอกุศลได้เพียงชั่วคราว แต่ละอนุสัยกิเลส อันเป็นพืชเชื้อของกิเลสไม่ได้เลย เมื่อใดฌานจิตไม่เกิด โลภะ โทสะ โมหะ ก็เกิดอีกได้ ผู้ที่เจริญสมถภาวนา (โดยที่ไม่ได้อบรมเจริญวิปัสสนา) ไม่สามารถจะละความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน สัตว์ บุคคลได้ และตราบใดที่ยังมีความเห็นผิดว่า มีตัวตนอยู่ ก็จะละกิเลสให้หมดสิ้นไปไม่ได้เลย ถึงแม้จะได้ฌานขั้นต่างๆ แต่ถ้าไม่ได้อบรมเจริญสติปัฏฐาน ก็ไม่สามารถที่รู้ฌานจิตและเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ตามความเป็นจริงได้เลย ซึ่งจะต่างจากผู้ที่ได้อบรมเจริญสติปัฏฐาน ดังนั้นการเจริญสมถภาวนา จนได้ถึงอรูปฌานของผู้ไม่ได้เจริญสติปัฏฐาน แม้ว่าจะเป็นสัมมาสมาธิ แต่ก็ไม่ใช่หนทางที่จะเป็นไปเพื่อการดับกิเลส จึงเป็นมิจฉาปฏิปทา การอบรมเจริญสติปัฏฐานหรือวิปัสสนาภาวนาเท่านั้น ที่จะเป็นไปเพื่อการดับกิเลสทั้งหลายทั้งปวงไม่เกิดอีกเลย ซึ่งเป็นทางเดียวที่ทำให้สัตว์ดำเนินไป ถึงซึ่งการพ้นจากทุกข์ได้จริง เป็นการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังมี กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ในขณะที่สติปัฏฐานเกิด ในชีวิตประจำวันนั้น มรรคมีองค์ ๕ ก็เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ของตน กล่าวคือ สัมมาทิฏฐิ (ปัญญาเจตสิก) ทำกิจหน้าที่เห็นตามความเป็นจริงในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ สัมมาสังกัปปะ (วิตักกเจตสิก) ก็เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ตรึกหรือจรดในอารมณ์ เพื่อสติจะได้ระลึกและปัญญารู้ตามความเป็นจริง สัมมาสติ (สติเจตสิก) ระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นรูปธรรม หรือนามธรรมที่กำลังปรากฏ สัมมาวายามะ (วิริยเจตสิก) เพียรระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง สัมมาสมาธิ (เอกัคคตาเจตสิก) ก็ตั้งมั่นในอารมณ์ที่กำลังปรากฏเพื่อปัญญาจะได้รู้ตามความเป็นจริง และถ้ามีวิรตีเจตสิกหนึ่งเจตสิกใด เกิดร่วมด้วย ก็เป็นมรรคมีองค์ ๖ และมรรคทั้งแปดองค์ ก็เกิดร่วมกันเมื่อเป็นโลกุตตระ ขณะที่มรรคจิต ผลจิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์เดียวกันคือ พระนิพพาน

ธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก ต้องเริ่มจากการสะสมปัญญา ความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อยจริงๆ ยังคงไม่ต้องกล่าวถึง สติปัฏฐานก็ได้ ขณะนี้มีธรรมอะไรบ้าง ที่ควรรู้ควรศึกษาให้เข้าใจ เมื่อฟังในเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริงบ่อยๆ เนืองๆ ก็จะเป็นเหตุให้สติเกิดขึ้นระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังมีกำลังปรากฏในขณะนั้นได้ ซึ่งเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น สิ่งสำคัญคือ ความเข้าใจถูกเห็นถูกตั้งแต่ต้น ครับ

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 25 ต.ค. 2556

คนที่ได้อรูปฌาน ไม่ใช่มิจฉาสมาธิ เป็นสัมมาสมาธิ ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
sikkha
วันที่ 25 ต.ค. 2556

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
orawan.c
วันที่ 27 ต.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ