มิจฉาสมาธิ

 
sikkha
วันที่  24 ต.ค. 2556
หมายเลข  23908
อ่าน  8,804

มิจฉาสมาธิคืออะไร เกิดได้อย่างไร ระดับของมิจฉาสมาธิอาจเกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของบุคคลผู้ชำนาญในการเข้าสมาธิถึงขั้นอุปจารสมาธิหรืออัปนาสมาธิได้หรือไม่ มีตัวอย่างที่เห็นได้ชัดอย่างไรบ้าง เราจะหลีกเลี่ยงการเกิดมิจฉาสมาธิได้อย่างไร


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 25 ต.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สมาธิ เป็นความตั้งมั่น เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ทุกขณะที่จิตเกิดขึ้นจะต้องมีสมาธิเกิดร่วมด้วย

สมาธิ คือ เอกัคคตาเจตสิก เกิดกับจิตทุกดวง มีความเสมอกันกับจิตที่เกิดร่วมด้วย เป็นไปได้ทั้งกุศล อกุศล วิบาก และกิริยา ตามประเภทของจิตนั้นๆ

มิจฉาสมาธิ เป็นสภาพธรรมที่ตั้งมั่นผิด เกิดร่วมกับอกุศลจิต ขณะที่อกุศลจิตเกิดจะเป็นสิ่งที่ถูกต้องดีงามไม่ได้ ก็ต้องเป็นสภาพธรรมที่ไม่ดี

เหตุให้เกิดมิจฉาสมาธิ คือความไม่รู้และความเห็นผิด เพราะอาศัยความไม่รู้ ทำให้มีการทำที่ผิด ปฏิบัติที่ผิด ครับ

ส่วนระดับของมิจฉาสมาธิ ไม่มีทางที่จะถึงอุปจารสมาธิและอัปนาสมาธิ เพราะการจะถึงระดับทั้งสองนั้น จะต้องเป็นสัมมาสมาธิเท่านั้น เช่น การเจริญฌานต่างๆ ที่เป็นการเจริญสัมมาสมาธิ มีการเจริญพรหมวิหาร เป็นต้น ครับ

เชิญอ่านคำบรรยายท่านอาจารย์สุจินต์ที่นี่ ครับ

ท่านผู้ฟัง สมาธินั้น ... แค่ไหนจึงเป็นมิจฉาสมาธิ แค่ไหนจึงเป็นสัมมาสมาธิ

ท่านอาจารย์ เอกัคคตาเจตสิก มีสภาพที่มีอารมณ์เดียว ขณะที่เป็นสมาธิก็มีเอกัคคตาเจตสิก ที่มีอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งปรากฏ เอกัคคตาเจตสิกเกิดกับจิตทุกดวง เพราะเอกัคคตาเจตสิก เป็น "สัพพจิตตสาธารณเจตสิก"

ฉะนั้น ไม่ต้องห่วงเรื่องสมาธิ เพราะมีอยู่แล้วกับจิตที่เกิดทุกดวง เพียงแต่ว่าเวลาที่จิตเกิดนั้น (ปกติ) ... ลักษณะของเอกกัคคตาเจตสิกไม่ปรากฏ เพราะจิตที่เกิดก็สั้นมาก และสิ่งที่ปรากฏวาระหนึ่งๆ ก็สั้นมาก ฉะนั้น ลักษณะของเอกัคคตาเจตสิกไม่ปรากฏตั้งมั่นถึงระดับที่เราใช้คำว่า "สมาธิ" แต่ถ้าจิตจดจ่ออยู่ในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งนาน ลักษณะของสมาธิก็ปรากฏ เช่น ตั้งใจทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เดินให้ดี ไม่ให้ล้ม ข้ามสะพานไม่ให้ตก เป็นต้น เหล่านี้ ก็เป็นลักษณะของเอกัคคตาเจตสิก ขณะนั้น ... ไม่ใช่กุศลจิต ขณะใดที่เอกัคคตาเจตสิกไม่ได้เกิดร่วมกับกุศลจิต ขณะนั้นไม่ใช่กุศลจิต. ขณะใดที่เอกัคคตาเจตสิกไม่ได้เกิดร่วมกับกุศลจิต ขณะนั้นไม่ใช่ "สัมมาสมาธิ" แต่เป็น "อกุศลสมาธิ" หรือ "มิจฉาสมาธิ" ขณะที่เอกัคคตาเจตสิกเกิดร่วมกับกุศลจิต ขณะนั้นเป็น "สัมมาสมาธิ".

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 25 ต.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

มิจฉาสมาธิ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ตามความเป็นจริงแล้ว สมาธิ (เอกัคคตาเจตสิก) เกิดกับจิตทุกขณะ ไม่มีมีเว้น ดังนั้น สมาธิที่เป็นอกุศลก็มี สมาธิที่เป็นกุศลก็มี ถ้าหากว่าจิตในขณะนั้นเป็นอกุศล สมาธิก็เป็นอกุศลสมาธิหรือมิจฉาสมาธิ จะบอกว่า อกุศล ถูก อกุศล ดี ไม่ได้ เพราะความจริงเป็นความจริง

ถ้ามีการไปทำอะไรด้วยความไม่รู้ด้วยความเป็นตัวตนจดจ้องสิ่งหนึ่งสิ่งใด นั่นเป็นไปด้วยอำนาจของอกุศลจิต สมาธิในขณะนั้นเป็นมิจฉาสมาธิ เป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ขึ้นชื่อว่าอกุศลทุกประการแล้ว ไม่สามารถทำให้เข้าใจสภาพธรรมที่มีจริงๆ ในขณะนี้ ไม่ได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ใดๆ เลย ดังนั้น อกุศลสมาธิหรือมิจฉาสมาธิ จะเป็นเหตุให้ได้ถึงความสงบในระดับต่างๆ จึงเป็นไปไม่ได้ เพราะเรื่องของความสงบเป็นเรื่องของกุศลธรรม

เพราะฉะนั้น ก็ขอให้ตั้งต้นที่การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมในขณะนี้ เพราะเหตุว่าพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง มีความละเอียดลึกซึ้งมาก จะเข้าใจได้ ก็ต้องฟัง ต้องศึกษา ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย ครับ

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 25 ต.ค. 2556

มิจฉาสมาธิ คือ ความตั้งมั่นในสิ่งที่ผิดจากความจริง ไม่ใช่ทางให้พ้นทุกข์ ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
j.jim
วันที่ 25 ต.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
sikkha
วันที่ 25 ต.ค. 2556

ขอขอบพระคุณและขออนุโมทนาทุกท่าน

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
papon
วันที่ 26 ต.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
chatchai.k
วันที่ 3 พ.ค. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
Kalaya
วันที่ 4 พ.ย. 2564

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ