จิตนึกคิด

 
ผู้มาใหม่
วันที่  25 ต.ค. 2556
หมายเลข  23912
อ่าน  1,730

1. ปัญจวิญญาณ เช่น จิตเห็น (จักขุวิญญาณ) ทำกิจเห็นที่จักขุปสาทรูป แต่สั่งสมสันดานโดยชวนวิถี ซึ่งเกิดที่หทยรูปไช่ไหมครับ

2. ปัญจวิญญาณ เป็นวิบากจิต นั่นหมายถึง อารมณ์ที่มากระทบทาง 5 ทางนั้น เกิดจากวิบาก แล้วอารมณ์ที่มากระทบทางมโนทวารไม่ได้เป็นวิบากไช่ไหมครับ

3. ถ้าเราได้ยินเสียงโดยไม่ได้ตั้งใจเป็นวิบาก แล้วถ้าเราคิดว่าจะไปฟังเพลงก็สาวเท้าไปฟัง ขณะที่ได้ยินเสียงเพลงเป็นวิบากหรือไม่ครับ

กราบขอบพระคุณมากครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 25 ต.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

1. ปัญจวิญญาณ เช่น จิตเห็น (จักขุวิญญาณ) ทำกิจเห็นที่จักขุปสาสรูป แต่สั่งสมสันดานโดยชวนวิถีซึ่งเกิดที่หทยรูปไช่ไหมครับ

จิต เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นสภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ เป็นสภาพธรรมที่สั้นแสนสั้น มีอายุเพียงแค่ขณะที่เกิดขึ้นขณะที่ตั้งอยู่และขณะที่ดับไปเท่านั้น เมื่อจิตขณะหนึ่งเกิดแล้วดับไปก็เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดสืบต่อ เมื่อกล่าวถึงจิตแล้ว ไม่ใช่ว่าจะต้องมีเฉพาะจิตเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ยังมีสภาพธรรมอีกประเภทที่เกิดร่วมกับจิตนั้นด้วย เมื่อเกิดร่วมกับจิต ก็ต้องรู้อารมณ์เดียวกันกับจิต ดับพร้อมกับจิต และในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ก็ต้องอาศัยที่เกิดที่เดียวกันกับจิตด้วย สภาพธรรมที่กล่าวนั้น คือ เจตสิก จิตและเจตสิก ไม่ได้สถิตย์อยู่ที่ไหน เพราะเกิดแล้วดับแล้ว และในขณะที่เกิดนั้นก็จะต้องมีที่อาศัยเกิดของจิตและเจตสิก ด้วย ที่เกิดของจิตและเจตสิก เรียกว่า วัตถุรูป ไม่ได้มีเฉพาะหทยวัตถุเท่านั้น ที่เป็นที่เกิดของจิต ยังมีอีก ๕ วัตถุรูปอันเป็นที่เกิดของจิตและเจตสิก ได้แก่ จักขุวัตถุ เป็นที่เกิดของจักขุวิญญาณ (และเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย) โสตวัตถุ เป็นที่เกิดของโสต-วิญญาณ (และเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย) ฆานวัตถุเป็นที่เกิดของฆานวิญญาณ (และเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย) ชิวหาวัตถุ เป็นที่เกิดของชิวหาวิญญาณ (และเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย) และกายวัตถุ เป็นที่เกิดของกายวิญญาณ (และเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย) จิตที่เหลือทั้งหมดนอกจากที่กล่าวมาแล้ว เกิดที่หทยวัตถุทั้งหมด จิตและเจตสิกจะเกิดที่อื่นไม่ได้ นอกจากเกิดที่วัตถุรูป ๖ รูป ตามสมควรแก่จิตประเภทนั้นๆ [ถ้าเป็นในอรูปพรหมภูมิไม่มีรูปธรรม มีเฉพาะนามธรรม จิตและเจตสิก อาศัยกันและกันเกิดขึ้น]

ซึ่งหลังจากที่เห็นแล้ว ที่เป็นจิตเห็นเกิดขึ้น ที่เกิดที่จักขุปสาทรูป และจิตอื่นๆ ก็เกิดต่อ และถึง ชวนจิต ที่จะเป็นกุศลจิต หรือ อกุศลจิต 7 ขณะ ก็เกิดที่หทยรูป ซึ่งผู้ถามมีความเข้าใจถูกต้องแล้ว ครับ

2. ปัญจวิญญาณ เป็นวิบากจิต นั่นหมายถึง อารมณ์ที่มากระทบทาง 5 ทางนั้น เกิดจากวิบาก แล้วอารมณ์ที่มากระทบทางมโนทวารไม่ได้เป็นวิบากไช่ไหมครับ

ทวิปัญจวิญญาณจิต 10 ดวง เป็น จิตที่เป็นวิบากจิต แต่อารมณ์ที่เป็นอารมณ์ของทวิปัญจวิญญาณ ที่เป็น สี เสียง กลิ่น รส สิ่งที่กระทบสัมผัส ที่เป็นรูปธรรม รูปธรรม ไม่ใช่วิบาก และ รูปธรรมเหล่านี้ก็ไม่จำเป็นจะต้องเกิดจากวิบาก คือ เกิดจากกรรม เพราะ รูปเหล่านี้ สามารถเกิดได้หลายสมุฏฐาน คือ เกิดจากอุตุก็ได้ เช่น ดิน กายวิญญาณ กระทบกาย ไปกระทบแข็ง ที่เป็นธาตุดิน จากต้นไม้ ซึ่งแข็งนั้นเกิดจากอุตุเป็นปัจจัย ไม่ใช่เกิดจากกรรมเป็นปัจจัย คือ ไม่ได้เกิด เป็นผลจากกรรมที่เป็นวิบากก็ได้ ครับ โดยนัยเดียวกัน ทางมโนทวารวิถี ก็ไม่จำเป็นว่า มีรูปเป็นอารมณ์ รูปนั้นจะต้องเป็นผลมาจากกรรม รูปนั้นเกิดจากอุตุก็ได้ แต่ว่ามาเป็นอารมณ์ของจิตได้ ครับ

3. ถ้าเราได้ยินเสียงโดยไม่ได้ตั้งใจเป็นวิบาก แล้วถ้าเราคิดว่าจะไปฟังเพลงก็สาวเท้าไปฟัง ขณะที่ได้ยินเสียงเพลงเป็นวิบากหรือไม่ครับ

ไม่ว่าจะได้ยินเสียงอะไร ขณะที่ได้ยินเสียงเท่านั้นเป็นวิบาก ทางหู แต่ หลังจากนั้นก็คิดนึก แปลความหมายของเนื้อเพลง เป็นต้น ก็ไม่ใช่วิบากแล้ว แต่เป็นจิตที่เป็นกุศล หรือ อกุศลที่คิดนึกไป ซึ่งเกิดขึ้นทำชวนกิจ

ขออนุโมทนา ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 25 ต.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ก็ต้องเข้าใจตั้งแต่ต้นจริงๆ ว่า ปัญจวิญญาณ คือ จิตเห็น จิตได้ยิน จิตได้กลิ่น จิตลิ้มรส จิตรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เป็นผลของกุศลกรรม และเป็นผลของอกุศลกรรมจึงเป็น ๑๐ ประเภท จิต ๑๐ ประเภทนี้ เพียงเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ของตนๆ เท่านั้น แล้วก็ดับไป ไม่ได้สั่งสมสันดาน เพราะขณะที่สะสม ต้องเป็นขณะที่เป็นกุศล หรืออกุศล แต่สิ่งที่เคยสะสมมาก็ไม่สูญหายไปไหน สะสมสืบต่ออยู่ในจิตทุกขณะ จิต ๑๐ ประเภทนี้ ไม่ได้เกิดที่หทยวัตถุ เพราะเหตุว่า จิตเห็นเกิดที่ตา จิตได้ยินเกิดที่หู จิตได้กลิ่นเกิดที่จมูก จิตลิ้มรสเกิดที่ลิ้น จิตรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เกิดที่กาย จิตที่เหลือจากนี้ทั้งนั้น เกิดที่หทยวัตถุ

วิบากเป็นเรื่องของนามธรรม คือ จิตและเจตสิกที่เป็นผลของกรรมเช่น เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เป็นต้น วิบากจิตไม่ได้มีเฉพาะทาง ๕ ทวารเท่านั้น แต่ถ้าศึกษาต่อไปจะเข้าใจได้ว่า วิบากที่เกิดทางใจ คือ ทางมโนทวาร ก็คือ ตทาลัมพณจิตที่เกิดขึ้นรับรู้อารมณ์ ต่อจากชวนจิตทางมโนทวาร และวิบากจิตที่ไม่ได้อาศัยทวารใดๆ เลยก็มี คือ ภวังคจิต เป็นจิตที่เกิดขึ้นโดยไม่อาศัยทวารใดๆ เลย

จิตเกิดดับสลับกันอย่างรวดเร็ว ขณะที่อยาก ขณะที่ต้องการเป็นอกุศลจิตที่มีโลภะเกิดร่วมด้วย ขณะที่ได้ยิน เป็นวิบาก เป็นผลของกรรม เมื่อได้ยินแล้ว ชอบหรือไม่ชอบ ก็ไม่พ้นไปจากอกุศลจิตอีก แสดงให้เห็นว่าจิตเกิดดับสืบต่อกันอยู่ตลอด ไม่ขาดสายเลย ครับ

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 25 ต.ค. 2556

กุศลหรือ อกุศล วิบาก กิริยา เกิดที่ชวนจิต โดยวัตถุ เป็นหทยรูป ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ผู้มาใหม่
วันที่ 25 ต.ค. 2556

กราบขอบพระคุณมากครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
orawan.c
วันที่ 30 ต.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
papon
วันที่ 30 ต.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ