การเจริญสติปัฏฐานและการจดจ้อง

 
sikkha
วันที่  26 ต.ค. 2556
หมายเลข  23919
อ่าน  1,455

ผมอยากทำความเข้าใจเพิ่มเติมข้อความที่ว่า "การเจริญสติปัฏฐานไม่ใช่การทำอะไรด้วยความจดจ้อง "....." ไม่ใช่การทำอะไรด้วยความเป็นตัวตน"

1. ความจดจ้อง คืออย่างไร องค์ธรรมใด (เจตสิกธรรม) ทำกิจจดจ้อง

2. เมื่อจดจ้องจะก่อให้เกิดอะไรที่ผิด และกลายเป็นการปฏิบัติผิดไป

3. ถ้ามีความ"ตั้งใจ" ในการสังเกตระลึกรู้สภาพธรรม สามารถที่จะเป็นการเจริญสติปัฏฐาน ที่ถูกต้องได้หรือไม่

4. ตั้งใจคือ เจตสิกธรรมใด

กรุณาอธิบายด้วยครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 26 ต.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

1. ความจดจ้อง คืออย่างไร องค์ธรรมใด (เจตสิกธรรม) ทำกิจจดจ้อง

ขณะที่สภาพธรรมเกิด ก็มีความพยายามที่จดจ้อง อันหมายถึง มีความต้องการที่อยากจะรู้ในสภาพธรรมนั้น ก็จดจ้องในสภาพธรรม เพราะฉะนั้นองค์ธรรม ก็คือ โลภะ

เจตสิกที่จดจ้องในสภาพธรรมที่เพิ่งดับไป ครับ

2. เมื่อจดจ้องจะก่อให้เกิดอะไรที่ผิด และกลายเป็นการปฏิบัติผิดไป

ความจดจ้อง ก็เป็นเพระาอาศัยโลภะ ที่เป็นอกุศลธรรม อกุศล ย่อมไม่นำไปสู่การบรรลุ แต่เป็นข้อปฏิบัติผิด เป็นหนทางที่ผิด เพราะขณะที่เกิดโลภะ ก็มีโมหะ ความไม่รู้เกิดร่วมด้วย ก็สะสมกิเลส สะสมความไม่รู้ และทำให้เดินทางผิด ปฏิบัติผิด เพราะเป็นอกุศลธรรม ครับ

3. ถ้ามีความ"ตั้งใจ" ในการสังเกตระลึกรู้สภาพธรรม สามารถที่จะเป็นการเจริญสติปัฏฐาน ที่ถูกต้องได้หรือไม่

4. ตั้งใจคือ เจตสิกธรรมใด

ตอบ รวม ข้อ 3 และ 4 ครับ

- ความตั้งใจ คือ เจตนาเจตสิก ที่ ทำกิจ ตั้งใจ จงใจ แต่ หนทางการอบรมปัญญา ที่เป็นอริยมรรคมีองค์ 8 ไม่มี สัมมาเจตนา แต่ มีเจตนาทีเกิดร่วมด้วยกับปัญญา คือ มีสัมมาทิฏฐิ นำหน้าเป็นสำคัญ คือ มีปัญญา ความเข้าใจถูกเป็นสำคัญ เพราะฉะนั้น แม้จะมีความตั้งใจ จงใจมากเท่าไหร่ก็ตาม แต่ ไม่มีปัญญาเข้าใจหนทางที่ถูก ก็เป็นเจตนา ที่เกิดกับอกุศล เกิดกับโมหเจตสิก ที่จงใจ ที่ไม่ได้เกิดกับปัญญา ก็ทำให้ไม่สามารถถึงการบรรลุ แต่สะสมกิเลส สะสมความไม่รู้ต่อไป ครับ

ดังนั้น หนทางการเจริญ อบรมปัญญา จึงเป็นหนทางที่ไม่ใช่จะทำ จะพยายามแต่เป็นหนทางที่เข้าใจ เข้าใจความจริง อันเกิดจาการฟัง ศึกษาพระธรรม อาศัยการฟัง ศึกษา ปัญญาย่อมเกิดเอง และ เมื่อปัญญาถึงพร้อม สติและปัญญา ก็เกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม โดยไม่มีตัวตนไปจดจ้อง แต่เกิดระลึกเอง ตามเหตุปัจจัย ครับ

ขอเชิญอ่านคำบรรยายท่านอาจารย์สุจินต์ที่อธิบาย การจดจ้อง ครับ

ท่านอาจารย์ เป็นปกติ ตามธรรมชาติ หรือ เป็นการจ้อง การจดจ้อง ซึ่งเป็นการผิดปกติ ถ้าเป็นการผิดปกติ ก็จะรู้สึกได้นะคะ สัมปชัญญะ เป็นปกติ ไม่ผิดปกติ จึงจะเป็นสัมปชัญญะ เคยรู้สึกว่า เกร็งๆ บ้างไหมคะ..? ที่ จดๆ จ้องๆ นั้นล่ะค่ะ เป็นการจดจ้อง ซึ่งไม่เป็นธรรมชาติ ไม่เป็นปกติธรรมดา ถ้ารู้สึกว่า ชักจะเกร็ง หรือจดจ้อง แล้วรู้สึกตัวก็คลายความเกร็ง และ การจดจ้องในขณะนั้น และควรมีความรู้ ว่าขณะที่ไม่เกร็ง ไม่จดจ้องอย่างนั้น สภาพธรรม ก็ปรากฏตามปกติ ตามความเป็นจริงยิ่งขึ้น แต่พอไปจดจ้อง หรือ ไปเกร็ง สภาพธรรมก็ไม่เป็นไปตามปกติเพราะว่า ความเกร็ง หรือการจดจ้อง ทำให้ผิดปกติไป และควรทราบว่า ปัญญาจริงๆ ที่จะละคลายกิเลส ต้องรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นตามปกติ ตามเหตุปัจจัย ในขณะนี้ อย่าคิดที่จะไปตั้งสติขึ้นมา เพราะว่าขณะที่ตั้งสตินั้นล่ะค่ะ เริ่มจดจ้องแล้ว เพราะฉะนั้น ลักษณะของสัมมาสติ คือ ปกติธรรมดาอย่างนี้ ระลึกเมื่อไร นั่นคือ สติเกิดสำเหนียก พิจารณา ตามปกติ ตามธรรมชาติ แล้วรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ตามปกติจริงๆ อย่าเกร็ง อย่าผิดปกติ

ท่านผู้ฟัง จะเห็นนะคะ ว่า เรื่องของการที่จะดับกิเลสแม้ว่า จะเป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้จริงในสักวันหนึ่งแต่ว่าเป็นเรื่องที่ยากมาก และ เป็นเรื่องที่ละเอียดมาก เพราะฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องวันเดียว ๒ วัน ๗ วัน ๗ เดือนฯ เมื่อเหตุยังไม่สมควรแก่ผล ถ้าสติยังไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ปัญญาก็ยังไม่เจริญขึ้นพอที่จะสามารถรู้สภาพธรรม ตามความเป็นจริง ว่าไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล ไม่มีการที่จะเป็นวันนี้ วันพรุ่งนี้ ๗ วัน ๗ เดือน ๗ ปี ฯ ที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ เพราะว่า ยิ่งอบรมเจริญสติปัฏฐาน มากขึ้นเท่าไรก็ยิ่งเห็นกิเลส มากขึ้นเท่านั้น จริงหรือเปล่าคะนี่ หรือว่า ไม่จริง ถ้าไม่จริง ก็หมายความว่า ตัวท่านไม่มีกิเลสเพราะเหตุว่า ทุกท่านทราบว่า ท่านมีกิเลสมากเหลือเกินกิเลสแรงๆ ก็มาก กิเลสหยาบๆ ก็มาก กิเลสกลางก็เยอะ กิเลสก็ยังเต็มที่ สำหรับผู้ที่ยังไม่ได้ดับกิเลสเป็นสมุจเฉท ถ้าสติเกิดขึ้น ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามปกติ ตามความเป็นจริงย่อมเห็นกิเลสชัด ตามความเป็นจริงว่ากิเลสนั้นๆ ในขณะนั้นๆ ไม่ใช่ตัวตน แม้ว่ากิเลสทั้งหลายยังไม่ได้ดับไปเลย แต่เพราะมีปัจจัย จึงได้เกิดขึ้นเรื่อยๆ เป็นปกติ ในชีวิตประจำวัน แต่ ปัญญา จะเห็นกิเลสทั้งหลายเหล่านั้นตามความเป็นจริง ว่า กิเลสเหล่านั้น ไม่ใช่ตัวตนในขณะที่สติระลึกรู้ลักษณะของกิเลสที่กำลังปรากฏในขณะนั้น

เชิญคลิกฟังคำบรรยายท่านอาจารย์สุจินต์ได้ที่นี่ ครับ

สติปัฏฐาน กับ การจดจ้อง - บ้านธัมมะ

ไม่มีตัวตนไปจดจ้องให้สติเกิด - บ้านธัมมะ

ระลึกได้ตามปกติ ไม่ใช่มีความต้องการที่จะจดจ้อง * * * - บ้านธัมมะ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
thilda
วันที่ 26 ต.ค. 2556

ขอบพระคุณอย่างยิ่งที่ให้ความกระจ่าง และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 26 ต.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสััมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สิ่งที่มีจริงในขณะนี้ นั่นเอง ที่จะเป็นที่ตั้งให้สติเกิดขึ้นระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และปัญญารู้ตามความเป็นจริง (สติปัฏฐาน) เป็นไปตามเหตุตามปัจจัยจริงๆ ไม่ใช่เรื่องหวัง ไม่ใช่เรื่องต้องการ ไม่ใช่เรื่องของความจดจ้อง ไม่ใช่เรื่องของการไปกระทำอะไร ด้วยความเป็นตัวตน ด้วยความเห็นผิด และด้วยความไม่รู้ แต่เป็นเรื่องของการอบรมเจริญปัญญาไปตามลำดับ

ขณะที่จดจ้องต้องการ หรืออยากให้สติปัฏฐานเกิด นั่น ผิดแล้ว เป็นอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไป ไม่ใช่หนทางที่ถูกต้องเลย แสดงให้เห็นว่า ความไม่รู้ เป็นเหตุให้มีการกระทำอะไรที่ผิดๆ มากมาย ทำให้หลงทาง ออกห่างจากการที่จะได้เข้าใจความเป็นจริงของสภาพธรรม

เรื่องเจริญสติปัฏฐาน เป็นเรื่องของปัญญา ที่เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง สติเกิดขึ้นระลึกและปัญญารู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมในขณะนี้ การเจริญสติปัฏฐานไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แต่ว่าเป็นเรื่องที่จะต้องอาศัยการฟัง ในสิ่งที่มีจริงเนืองๆ บ่อยๆ พิจารณาเหตุ ผล แล้วก็เจริญเหตุให้สมควรแก่ผลด้วย ครับ

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
wannee.s
วันที่ 26 ต.ค. 2556

การจดจ้อง คือ การเพ่ง มีความตั้งใจที่จะทำ ที่จะดู สิ่งใดสิ่งหนึ่ง ถ้าเป็นตัวตนที่จะตั้งใจจะทำอย่างใด อย่างหนึ่งก็ไม่ใช่สติปัฏฐาน ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
sikkha
วันที่ 26 ต.ค. 2556

ขอบพระคุณอย่างสูงครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
เฉลิมพร
วันที่ 23 พ.ค. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ