ควรแนะนำผู้อื่นอย่างไรเมื่อเห็นเขาปฏิบัติผิด
บางคนเมื่อทำบุญเสร็จก็กล่าวคำอธิษฐานออกเสียงได้ยินว่าขอให้รวยมากๆ ส่วนมากจะขอให้เกิดชาติหน้าแล้วรวยเป็นร้อยล้านพันล้าน เราควรสงเคราะห์เขาโดยการแนะนำอย่างไร เพื่อให้เขาปฏิบัติให้ถูกหลังจากทำบุญ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
สัตว์โลกก็สะสมอุปนิสัย สะสมมาแตกต่างกันไป ซึ่ง ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น ซึ่ง สิ่งที่จะทำให้ผู้อื่นและตนเอง คิดถูก เกิดปัญญา ความเข้าใจจากสิ่งที่ผิด เป็นสิ่งที่ถูก ก็คือ การทำให้มีปัญญา ด้วยการฟัง การศึกษาพระธรรมเป็นสำคัญ และปัญญาของใคร ก็ต้องของผู้นั้นเอง เพราะฉะนั้น ถ้าเขาไม่สนใจ ไม่ศึกษาพระธรรม ก็ไม่มีใครที่จะช่วยได้ แม้แต่พระพุทธเจ้า ก็ไม่สามารถที่จะไปเปลี่ยนบุคคลนั้นได้เลย เพราะบุคคลนั้น ไม่ได้สะสมศรัทธา ไม่ได้สะสมปัญญามา ครับ เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องเฉพาะตัว เพราะ พระธรรม ที่เป็นความเห็นถูก ไม่ได้สาธารณะกับทุกคน
พระธรรมที่ผู้ที่ได้ศึกษาดีแล้ว เกิดปัญญาของตนเอง ย่อมจะเปลี่ยนแปลง เพราะละ สละความไม่รู้ ความเข้าใจผิดของผู้นั้นออกไปจากจิตใจได้ แต่ ถ้าไม่มีน้ำ ที่ใสสะอาด ที่เป็นพระธรรม ก็ไม่สามารถ ชำระล้าง ความเข้าใจ ความไม่รู้ได้เลย ครับ ดังนั้น ก็ควรแนะนำเท่าที่ทำได้ ให้ผู้นั้น ศึกษาพระธรรม ตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง เมื่อผู้นั้น มีความเข้าใจถูก ความเข้าใจถูก จะทำให้คิดถูกว่า กุศล เจริญเพื่อละกิเลส ไม่ใช่เพื่อได้ สิ่งต่างๆ และ ชีวิต ไม่ใช่มีความสุขได้ เพราะความร่ำรวย แต่มีความสุขได้ด้วยปัญญา ครับ
ขออนุโมทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ต้องตั้งตั้นตั้งแต่คำว่า บุญ คือ อะไร? บุญ เป็นธรรม เป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ อยู่ที่จิต ย่อมหมายรวมถึง โสภณเจตสิก (สภาพธรรมฝ่ายดีที่เกิดร่วมกับจิต เช่น ศรัทธา สติ หิริ โอตตัปปะ เป็นต้น) ที่เกิดร่วมด้วย ถ้าหากไม่มีจิต และไม่มีโสภณเจตสิกแล้ว บุญก็เกิดไม่ได้ จิตเกิดขึ้นเป็นกุศลขณะใด ขณะนั้นเป็นบุญ เป็นการชำระจิตจากอกุศล การทำบุญ ก็ควรที่จะเป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลสของตนเองเท่านั้น ไม่ใช่เพื่อความอยากติดข้องต้องการ หวังผลของบุญ ที่ควรพิจารณา คือ การกระทำบุญ ไม่ใช่มีแต่เฉพาะทานเพียงอย่างเดียวเท่านั้น มีมากกว่าทาน รวมแล้ว ๑๐ ประการ ได้แก่
๑. ทาน การให้วัตถุสิ่งของเพื่อประโยชน์สุขแก่ผู้รับ
๒. ศีล ได้แก่ ความประพฤติทางกาย ทางวาจา ที่เป็นกุศล คือ ไม่เบียดเบียนบุคคลอื่นให้เดือดร้อน
๓. ภาวนา การอบรมจิตให้สงบ คือ สมถภาวนา ๑ และการอบรมให้เกิดปัญญา วิปัสสนาภาวนา ๑
๔. อปจายนะ การอ่อนน้อมต่อผู้ที่ควรอ่อนน้อม ก็เป็นบุญ เพราะว่าจิตใจในขณะนั้นไม่หยาบกระด้างด้วยความถือตัว
๕. เวยยาวัจจะ การสงเคราะห์แก่ผู้ที่ควรสงเคราะห์ ไม่เลือกสัตว์ บุคคล ผู้ใดที่อยู่ในสภาพที่ควรสงเคราะห์ช่วยเหลือให้ความสะดวก ให้ความสบาย ก็ควรจะสงเคราะห์แก่ผู้นั้น แม้เพียงเล็กน้อยในขณะนั้น ก็เป็นกุศลจิต เป็นบุญ
๖. ปัตติทาน การอุทิศส่วนกุศลให้บุคคลอื่นได้ร่วมอนุโมทนา ซึ่งจะเป็นเหตุให้กุศลจิตของบุคคลอื่นเกิดได้
๗. ปัตตานุโมทนา การอนุโมทนาแก่ผู้อื่นที่ได้กระทำกุศล เพราะเหตุว่า ถ้าเป็นคนพาล ไม่สามารถจะอนุโมทนาได้เลย เพราะฉะนั้น ขณะใดที่ได้ทราบการกระทำบุญกุศลของบุคคลอื่น ก็ควรเป็นผู้ที่มีจิตยินดี ชื่นชม อนุโมทนาในกุศลกรรมของบุคคลอื่นที่ตนได้ทราบนั้น ไม่ใช่เป็นผู้ที่ตระหนี่แม้แต่จะชื่นชมยินดีในบุญกุศลของบุคคลอื่น
๘. ธัมมเทศนา การแสดงธรรมแก่ผู้ต้องการฟัง ไม่ว่าเป็นญาติมิตรสหาย หรือบุคคลใดก็ตามซึ่งสามารถจะอนุเคราะห์ให้เขาได้เข้าใจเหตุผลในพระธรรมวินัย ก็ควรที่จะได้แสดงธรรมแก่บุคคลนั้น
๙. ธัมมัสสวนะ การฟังธรรมเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกในสภาพธรรมตรงตามความเป็นจริง ก็เป็นบุญ
๑๐. ทิฏฐุชุกัมม์ การกระทำความเห็นให้ตรงตามสภาพธรรมและเหตุผลของสภาพธรรมนั้นๆ ธรรมใดที่เป็นกุศล ก็ให้เข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริงว่า เป็นกุศลจริงๆ ธรรมใดที่เป็นอกุศล ก็ให้พิจารณากระทำความเห็นให้ตรงตามสภาพธรรมจริงๆ ว่า สภาพธรรมนั้นเป็นอกุศล ไม่ปะปนกุศลธรรมกับอกุศลธรรม เพราะฉะนั้น ตนเองต้องมีความเข้าใจถูกเห็นถูก ก่อนจึงจะสามารถเกื้อกูลผู้อื่นได้ แล้วความเข้าใจถูกเห็นถูกจะมาจากไหน ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ครับ
ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ