อุเบกขาสัมโพชฌงค์

 
PEERAPAT65
วันที่  30 ต.ค. 2556
หมายเลข  23938
อ่าน  1,307

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

[เล่มที่ 33] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๒

ธรรม ๕ ประการ คือ

ความเป็นกลางในสัตว์ ๑

ความเป็นกลางในสังขาร ๑

ความเว้นบุคคลผู้ยึดถือสัตว์และสังขาร (ว่าเป็นของตน) ๑

เสพบุคคลผู้วางตนเป็นกลางในสัตว์และสังขาร ๑

ความเป็นผู้มีจิตน้อมไปในอุเบกขาสัมโพชฌงค์นั้น ๑

ย่อมเป็นไปเพื่อความเกิดขึ้นแห่ง อุเบกขาสัมโพชฌงค์ ในธรรม ๕ ประการนั้น บุคคลย่อมยังความเป็นกลางในสัตว์ ให้เกิดขึ้นด้วยอาการ ๒ อย่าง คือ ด้วยการพิจารณาความที่สัตว์มีกรรม เป็นของตนอย่างนี้ว่า ท่านมาด้วยกรรมของตน จักไปด้วยกรรมของตน แม้สัตว์นี้จักไปด้วยกรรมของตนเหมือนกัน ท่านจะยึดถือใครว่าเป็นของ ตน ดังนี้ และด้วยการพิจารณาถึงความไม่มีสัตว์อย่างนี้ว่า โดยปรมัตถ์ สัตว์ไม่มี ท่านนั้นจะยึดถือใครว่าเป็นของตน ดังนี้. บุคคลย่อมยังความเป็นกลางในสังขารให้เกิดขึ้นด้วยอาการ ๒ อย่าง คือ ด้วยการพิจารณา ถึงความเป็นของไม่มีเจ้าของอย่างนี้ว่า จีวรนี้ เข้าถึงความวิการ (ผันแปร) แห่งสีและความเก่าไปโดยลำดับ เป็นท่อนผ้าสำหรับเช็ดเท้า จักต้องเอา ปลายไม้เท้าเขี่ยทิ้งไป ก็ถ้าจีวรนั้นพึงมีเจ้าของ เขาจะต้องไม่ให้มัน ฉิบหายไปอย่างนี้ และด้วยการพิจารณาเป็นของชั่วคราวอย่างนี้ว่า จีวรนี้ เป็นของชั่วคราว ไม่คงทน ดังนี้. แม้ในบาตรเป็นต้น ก็พึงประกอบ ความเหมือนดังในจีวรนั่นแล.

ในบทว่า สตฺตสงฺขารเกลายนปุคฺคลปริวชฺชนตา นี้ พึงทราบ วินิจฉัยต่อไปนี้. บุคคลใดเป็นคฤหัสถ์ ยึดถือบุตรและธิดาเป็นต้นของตน ว่าเป็นของเรา หรือเป็นบรรพชิต ยึดถืออันเตวาสิกผู้ร่วมอุปัชฌาย์กัน เป็นต้นว่าเป็นของเรา กระทำการปลงผม โกนหนวด เย็บจีวร ซักจีวร และระบมบาตรเป็นต้น แก่อันเตวาสิกเหล่านั้นด้วยมือของตนเอง เมื่อไม่เห็นแม้สักครู่หนึ่ง ก็มองหาไปรอบๆ ว่า สามเณรโน้นไปไหน ภิกษุหนุ่มโน้นไปไหน ดังนี้ เหมือนเนื้อตื่นเหลียวมองทางโน้นทางนี้อยู่ ฉะนั้น แม้ผู้อื่นขอไปเพื่อประโยชน์แก่การปลงผมเป็นต้นว่า ขอท่าน จงส่งท่านรูปโน้นไปสักครู่ก่อนเถิด ก็ไม่ให้โดยพูดบ่ายเบี่ยงว่า แม้พวก เราก็ยังไม่ให้ท่านรูปนั้นทำการงานของตนพวกท่านพาเธอไปจักลำบาก นี้ชื่อว่า ยึดถือสัตว์เป็นของตน. ส่วนบุคคลใดยึดถือจีวร บาตร ภาชนะ และไม้เท้าเป็นต้นว่าเป็นของเรา แม้คนอื่นจะเอามือลูบคลำก็ไม่ (ยอม) ให้ (ทำ) เขายืมชั่วคราวก็พูดว่า แม้เราเป็นเจ้าของสิ่งนี้ก็ยังไม่ใช้เอง เราจะให้พวกท่านได้อย่างไร นี้ชื่อว่า ยึดถือสังขารว่าเป็นของตน

ส่วนบุคคลใดวางตนเป็นกลาง เป็นผู้วางเฉยในวัตถุแม้ทั้งสองเหล่า นั้น บุคคลนี้ชื่อว่า วางตนเป็นกลางในสัตว์และสังขาร. อุเบกขาสัมโพชฌงค์นี้ย่อมเกิดขึ้น แม้แก่ผู้เว้นห่างไกลบุคคลผู้ยึดถือสัตว์และสังขาร เห็นปานนี้ แม้แก่ผู้เสพบุคคลผู้วางตนเป็นกลางในสัตว์และสังขาร แม้แก่ ผู้มีจิตน้อมโน้มโอนไปเพื่อให้อุเบกขาสัมโพชฌงค์นั้นเกิดขึ้นในการยืนและ การนั่งเป็นต้น ด้วยประการดังนี้. เพราะฉะนั้น กุลบุตรผู้เริ่มบำเพ็ญ กรรมฐานทำอุเบกขาสัมโพชฌงค์ให้เกิดขึ้นด้วยเหตุ ๕ ประการเหล่านี้ กระทำอุเบกขาสัมโพชฌงค์นั้นนั่นแหละให้เป็นธุระ เริ่มตั้งความยึดมั่นไว้ ย่อมถือเอาพระอรหัตได้โดยลำดับ. กุลบุตรนั้น ชื่อว่าเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์จนถึงอรหัตตมรรค เมื่อบรรลุผลแล้ว ย่อมชื่อว่าได้เจริญแล้ว. สัมโพชฌงค์๗เหล่านี้ ตรัสคละกันทั้งโลกิยะและโลกุตระ ด้วยประการดังนี้


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ