ผรุสวาจา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
[เล่มที่ 11] พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 196
เจตนาหยาบคายส่วนเดียวซึ่งให้เกิดกายประโยคและวจีประโยค อันเป็นเหตุตัดความรักของผู้อื่น ชื่อว่า ผรุสวาจา. เพื่อเข้าใจผรุสวาจานั้นอย่างแจ้งชัด พึงทราบเรื่องดังต่อไปนี้.
เรื่องวาจาหยาบ แต่ใจไม่หยาบ
ได้ยินว่า เด็กคนหนึ่งไม่เอื้อเฟื้อถ้อยคำของมารดาไปป่า มารดาไม่สามารถให้เด็กนั้นกลับได้ จึงได้ด่าว่า ขอให้แม่กระบือดุจงไล่มึง ทันใดนั้น แม่กระบือป่าได้ปรากฏแก่เด็กนั้น เหมือนอย่างมารดาว่าทีเดียว เด็กนั้นได้กระทำสัจจกิริยาว่า สิ่งที่มารดาของเราพูดด้วยปาก จงอย่ามี สิ่งที่มารดาคิดด้วยใจ จงมีเถิด แม่กระบือได้ยืนอยู่เหมือนถูกผูกไว้ในป่านั้นเอง. ประโยคแม้ตัดความรักอย่างนี้ ก็ไม่เป็นผรุสวาจา เพราะมีจิตอ่อนโยน. จริงอยู่ บางครั้งมารดาบิดาย่อมกล่าวกะลูกน้อยๆ ถึงอย่างนี้ว่า พวกโจรจงห้ำหั่นพวกเจ้าเป็นชิ้นๆ ดังนี้ แต่ก็ไม่ปรารถนาแม้ให้กลีบบัวตกเบื้องบนของลูกน้อยๆ เหล่านั้น อนึ่ง อาจารย์และอุปัชฌาย์ บางคราวก็กล่าวกะพวกศิษย์อย่างนี้ว่า พวกนี้ไม่มียางอาย ไม่เกรงกลัว คุยอะไรกัน จงไล่มันไปเสีย ก็แต่ว่า ย่อมปรารถนาให้ศิษย์เหล่านั้นสำเร็จการศึกษา และบรรลุมรรคผล. เหมือนอย่างว่า วาจาไม่เป็นผรุสวาจา เพราะคำอ่อนหวานก็หาไม่. ด้วยว่าผู้ต้องการจะฆ่า พูดว่า จงให้ผู้นี้นอนให้สบาย ดังนี้ จะไม่เป็นผรุสวาจาก็หาไม่. ก็วาจานี้เป็นผรุสวาจาทีเดียวเพราะมีจิตหยาบ. ผรุสวาจานั้น มีโทษน้อย เพราะผู้ที่ตนพูดหมายถึงนั้นมีคุณน้อย มีโทษมาก เพราะผู้นั้นมีคุณมาก.
ผรุสวาจานั้น มีองค์ ๓ คือ
๑. อกฺโกสิตพฺโพ ปโร คนอื่นที่ตนด่า
๒. กุปิตจิตฺตํ จิตโกรธ
๓. อกฺโกสนา การด่า
บทว่า เนลา ความว่า โทษเรียกว่า เอละ วาจาชื่อว่า เนลา เพราะไม่มีโทษ อธิบายว่า มีโทษออกแล้ว. เหมือนอย่าง เนลํ ไม่มีโทษที่พระองค์ตรัสไว้ในประโยคนี้ว่า รถคืออริยมรรคมีองค์ไม่มีโทษ มีหลังคาขาว ดังนี้.
บทว่า กณฺณสุขา ความว่า สบายหู เพราะมีพยัญชนะสละสลวย คือ ไม่ให้เกิดการเสียบหู เหมือนแทงด้วยเข็ม. วาจาชื่อว่า ชวนให้รัก เพราะไม่ให้เกิดความโกรธ ให้เกิดแต่ความรักในสรีระทั้งสิ้น เพราะมีเนื้อความสละสลวย. วาจาชื่อว่า จับใจ เพราะถึงใจ คือเข้าไปสู่จิตได้สะดวก ไม่กระทบกระทั่ง. วาจาชื่อว่า เป็นคำชาวเมือง เพราะอยู่ในเมือง โดยเหตุที่บริบูรณ์ด้วยคุณ. ชื่อว่าเป็นคำชาวเมือง แม้เพราะเป็นถ้อยคำอ่อนโยนเหมือนนารีที่เติบโตในเมือง. ชื่อว่า เป็นถ้อยคำชาวเมือง แม้เพราะวาจานี้เป็นของชาวเมือง อธิบายว่า เป็นถ้อยคำของชาวกรุง. จริงอยู่ ชาวกรุงย่อมเป็นผู้มีถ้อยคำเหมาะสม เรียกคนปูนพ่อว่าพ่อ เรียกคนปูนพี่ว่าพี่. วาจาชื่อว่า คนส่วนมากรักใคร่ เพราะถ้อยคำอย่างนี้เป็นถ้อยคำที่คนส่วนมากรักใคร่. วาจาชื่อว่า คนส่วนมากพอใจ เพราะเป็นที่พอใจ คือ ทำความเจริญใจแก่คนส่วนมาก โดยที่คนส่วนมากรักใคร่นั่นเอง