ขันติ และ อุเบกขา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขันติ และ อุเบกขา เป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย
ขันติ ขันติ ความอดทน เป็นสภาพธรรม ที่เป็นนามธรรม เป็นกุศลขันธ์ มีอโทสะเป็นประธาน ธรรมเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ก่อนอื่นต้องเริ่มที่ความเข้าใจว่า ขณะนี้เป็นธรรม ทุกขณะของชีวิตเป็นธรรม แต่ดูเหมือนจะไปหาว่า ขณะไหน เป็นความอดทน ขณะไหนมีความอดทน แต่ความอดทนมีแล้ว เกิดแล้ว เป็นไปแล้ว ซึ่งก็ไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่เป็นนามธรรม (เพราะรูปธรรม อดทนไม่ได้) เช่น อดทนที่จะไม่ว่าร้ายผู้อื่น อดทนที่จะไม่ทำร้ายผู้อื่น อดทนที่จะไม่กระทำทุจริตกรรมประการต่างๆ อดทนในการที่จะฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม สะสมปัญญาไปตามลำดับ เพราะพระธรรมเป็นเรื่องยาก ต้องมีความอดทน ในการฟัง ในการศึกษาต่อไป เป็นต้น ทั้งหมดนี้ คือ ความอดทนในชีวิตประจำวัน ละเอียดยิ่งไปกว่านั้น คือ อดทนทั้งต่ออกุศล อดทนต่อผลของอกุศล นอกจากนั้น ยังอดทนต่อผลของกุศล ด้วย กล่าวคือ เมื่อได้รับสิ่งที่ไม่น่าพอใจ อันเป็นผลของอกุศล และได้รับสิ่งที่น่าพอใจ อันเป็นผลของกุศล ก็อดทนที่จะไม่เป็นไปด้วยอำนาจของอกุศล ทั้งโทสะ และโลภะ ซึ่งจะเห็นได้ว่า ความอดทน เป็นธรรมเครื่องเผาบาปธรรม พร้อมทั้งเป็นธรรมที่ทำให้ถึงซึ่งฝั่ง คือ การดับกิเลส (บารมี) ที่ควรเจริญในชีวิตประจำวันเพื่อเกื้อกูลต่อการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ด้วย ซึ่งควรอย่างยิ่งที่ทุกคนจะได้เห็นคุณประโยชน์ของความอดทนในชีวิตประจำวัน พระธรรม ควรค่าแก่การศึกษาและน้อมประพฤติปฏิบัติตามเป็นอย่างยิ่ง และพระธรรมจะเป็นประโยชน์เกื้อกูลสำหรับผู้ศึกษาและน้อมประพฤติปฏิบัติตามเท่านั้นจริงๆ ครับ
อุเบกขา เมื่อได้ฟังได้ศึกษาพระธรรม สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ ก็จะมีความเข้าใจที่ถูกต้องยิ่งขึ้นว่า ไม่ว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะทรงแสดงพระธรรม โดยนัยใด เรื่องใด ก็ไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่มีจริง แม้แต่ในเรื่องของอุเบกขา ก็เช่นเดียวกันไม่ได้หมายถึงเพียงเวทนาที่เป็นความรู้สึกที่ไม่สุขไม่ทุกข์ คือ เฉยๆ เท่านั้น ยังมีความหมายอย่างอื่น มุ่งหมายถึงสภาพธรรมอย่างอื่นด้วย
ดังข้อความบางตอนที่ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ได้กล่าวไว้ในเรื่องของอุเบกขา ๑๐ ดังต่อไปนี้
"ฉฬังคุเปกขา ได้แก่ ตัตรมัชฌัตตตาเจตสิก ซึ่งเป็นสภาพที่วางเฉยในอารมณ์ ๖ ของพระอรหันต์ผู้ดับกิเลสหมดสิ้นแล้ว
พรหมวิหารุเปกขา ได้แก่ ตัตรมัชฌัตตตาเจตสิก ซึ่งวางเฉยเป็นกลางในสัตว์ทั้งหลาย
โพชฌังคุเปกขา ได้แก่ ตัตรมัชฌัตตตาเจตสิกที่เป็นองค์ คือ ส่วนประกอบที่ทำให้ตรัสรู้อริยสัจธรรม
วิริยุเปกขา ได้แก่ วิริยเจตสิกที่เป็นความเพียรถูก ซึ่งไม่ตึงนักไม่หย่อนนักในการเจริญภาวนา
สังขารุเปกขา ได้แก่ ปัญญาเจตสิกที่วางเฉยเมื่อประจักษ์ไตรลักษณะของสังขารธรรม
เวทนุเปกขา ได้แก่ เวทนาเจตสิกที่ไม่รู้สึกเป็นทุกข์หรือเป็นสุข
วิปัสสนูเปกขา ได้แก่ ปัญญาเจตสิกที่เป็นกลางในการพิจารณาอารมณ์ที่เกิดตามเหตุปัจจัย
ตัตรมัชฌัตตุเปกขา ได้แก่ ตัตรมัชฌัตตตาเจตสิกที่เป็นกลาง ไม่เอนเอียงด้วยอคติ
ฌานุเปกขา ได้แก่ ตัตรมัชฌัตตตาเจตสิกในฌาน ซึ่งคลายความฝักใฝ่ในธรรมอื่นที่ทำให้ไม่สงบมั่นคง โดยเฉพาะได้แก่ ตติยฌาน (โดยจตุกกนัย) ซึ่งคลายปีติแล้ว
ปาริสุทธุเปกขา ได้แก่ ตัตรมัชฌัตตตาเจตสิกในจตุตถฌาน (โดยจตุกกนัย) ซึ่งสงบหมดจดแล้วจากข้าศึกทั้งปวง ไม่ต้องทำกิจละองค์ฌานใดอีก" ทั้งหมดนั้น เป็นเจตสิกธรรมแต่ละประเภทๆ ตามความเป็นจริงของธรรม ถ้าจะมุ่งถึงเฉพาะอุเบกขาที่เป็นพรหมวิหารธรรม แล้ว ก็พิจารณาได้ว่า อุเบกขา เป็นความเป็นกลางในธรรมนั้นๆ คือ เป็นผู้วางตนเป็นกลาง มีความเป็นไปเสมอ โดยเว้นการยินดียินร้าย คือ ไม่ยินดียินร้าย ดุจตาชั่งที่จับไว้เสมอกัน เวลาที่เห็นใครกระทำผิด เบียดเบียนผู้อื่นให้ได้รับความเดือดร้อน ถ้าเป็นผู้ที่ได้อบรมเจริญอุเบกขา ก็จะมีความเป็นกลาง ไม่เอนเอียง จะมีความเข้าใจตามความเป็นจริงว่าผู้ที่กระทำในสิ่งที่ไม่ดี ผลที่ไม่ดีก็ย่อมจะเกิดขึ้นแก่บุคคลนั้นอย่างแน่นอน หรือแม้กระทั่งเวลาที่เขาได้รับในสิ่งที่ดีที่น่าพอใจ ก็จะไม่หวั่นไหว ไม่เอนเอียงไป ด้วยอำนาจของโลภะความติดข้องยินดีพอใจ อีกประการหนึ่งที่ควรพิจารณาคือ อุเบกขาพรหมวิหาร บางครั้งก็แปลว่า ความวางเฉย แต่ความวางเฉยที่เป็นอุเบกขาพรหมวิหารนั้น เกิดจากการที่เห็นสัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของของตน ไม่ได้หมายความว่าวางเฉย (อยู่เฉย) โดยไม่ให้ช่วยเหลือ แต่ควรช่วยเหลือเท่าที่จะช่วยได้ แต่เมื่อไม่สามารถช่วยเหลือได้มากกว่านี้ ก็มีปัญญาที่เข้าใจว่า สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของของตน เขามีกรรมที่จะต้องได้รับผลอย่างนั้น ดังนั้น กิจหน้าที่ของอุเบกขาพรมหวิหารคือความวางเฉย เป็นกลาง ไม่เอนเอียงไปในทางอกุศลทั้งโลภะ โทสะ เป็นต้น นั่นเอง ครับ
กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
และ ขออนุโมนทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขันติ คือ ความอดทน อดกลั้น ซึ่ง เจตสิก คือ อโทสเจตสิก ซึ่ง ขณะที่มีขันติ ความอดทน ไม่โกรธ ขณะนั้นเป็นจิตที่ดีงาม คือ เป็นกิริยาจิตของพระอรหันต์ หรือ กุศลจิตก็ได้ ที่เกิดกับอโทสเจตสิก และ เจตสิกที่ดี ประการอื่นๆ มีศรัทธา เป็นต้น
ขันติธรรม คือ สภาพธรรมที่อดทน อดกลั้น ด้วยกุศล ด้วยสภาพธรรมฝ่ายดี แต่ไม่ใช่ความอดทน ด้วยอกุศลจิตครับ
ขันติธรรม เป็นสภาพธรรม คือ อโทสเจตสิก ขันติธรรม มีหลายระดับ ทั้งความอดทน อดกลั้นด้วยกุศลจิต อดทนต่อ ความหนาว ความร้อน อดทนต่อความประทุษร้ายของผู้อื่น หรืออดทนต่อสิ่งต่างๆ ด้วยกุศลจิต และขันติโดยนัยสูงสุด ยังหมายถึง ปัญญา ที่เป็นวิปัสสนาญาณ ที่เป็นขันติญาณ อันเป็นการเห็นการเกิดดับของสภาพธรรม ที่เป็นแต่ละกลุ่มกลาปของสภาพธรรม ดังนั้นทั้งความอดทน อดกลั้นด้วยกุศลจิต รวมทั้งปัญญาย่อมเป็น ขันติธรรมทั้งสิ้น ขันติธรรมจึงมีหลายระดับตามที่กล่ามาครับ
ดังนั้น ขณะใดที่จิตกระสับกระส่าย ดิ้นรนต่อสู้ ขณะนั้น ไม่ชื่อว่าอดทน เพราะเป็นอกุศล จึงชื่อว่า กระสับกระส่าย มีโทสะ เป็นต้น แต่เมื่อขันติเกิด มีโสภณเจตสิก เกิดร่วมด้วย ขณะนั้นต้องเบา เพราะ เบาด้วยเจตสิกที่ดีเกิดร่วมด้วย และเป็นกุศลจิต ขณะนั้นจะไม่กระสับกระส่ายเลย ครับ
ขันติธรรมจะเกิดขึ้นได้ ก็ด้วยการศึกษาพระธรรม อบรมปัญญา เพราะเมื่อปัญญาเจริญขึ้น ขันติ ความอดทนด้วยกุศลจิตก็เพิ่มขึ้น และเมื่อปัญญาเจริญถึงระดับวิปัสสนาญาณ ก็ทำให้ถึงขันติธรรมที่เป็นปัญญาระดับสูงที่เป็น ขันติญาณได้ครับ ดังนั้นเพราะปัญญา ความเห็นถูก เจริญ เกิดขึ้น ก็ทำให้กุศลธรรมประการต่างๆ มีขันติ เป็นต้น เจริญ เกิดขึ้นตามไปด้วยครับ เพราะฉะนั้น อาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมเพื่อความเจริญขึ้นของปัญญา ขันติก็เจริญ เกิดขึ้นครับ เพราะปัญญา วิชชา เป็นหัวหน้าของกุศลธรรมทั้งหลายครับ
อุเบกขา หมายถึง สภาพธรรมที่วางเฉย ซึ่ง วางเฉย มีหลายลักษณะ ทั้งวางเฉย ด้วยกุศลธรรม และวางเฉยด้วยอกุศลธรรม และการวางเฉยด้วยกุศลธรรม ก็ยังมีหลากหลายนัย ทั้งวางเฉยด้วยปัญญา วางเฉยด้วยสภาพธรมที่เป็นกุศล และ การวางเฉยด้วยปัญญาก็มีหลายระดับ อุเบากขา จึงมีสิบประการดังนี้
อุเบกขามี ๑๐ อย่าง คือ
ฉฬังคูเบกขา (อุเบกขาของพระขีณาสพคือตัตรมัชฌัตตตา)
พรหมวิหารูเบกขา (อุเบกขาในพรหมวิหารคือตัตรมัชฌัตตตา)
โพชฌังคูเบกขา (อุเบกขาในสัมโพชฌงค์คือตัตรมัชฌัตตตา)
วิริยูเบกขา (อุเบกขาคือความเพียร)
สังขารูเบกขา (อุเบกขาในฌานและวิปัสสนาคือปัญญา)
เวทนูเบกขา (อุเบกขาเวทนา)
วิปัสสนูเบกขา (อุเบกขาในวิปัสสนาคือปัญญา)
ตัตรมัชฌัตตูเบกขา (ตัตรมัชฌัตตเจตสิก)
ฌานูเบกขา (อุเบกขาในฌานคือ ตัตรมัชฌัตตตา)
ปาริสุทธิอุเบกขา (อุเบกขาทำสติให้บริสุทธิ์คือตัตรมัชฌัตตตา)
ซึ่ง ขอกล่าวในความละเอียดของขันติ และอุเบากขา ว่าเกี่ยวข้องกันอย่างไร ขณะที่เกิดความรู้สึกเฉยๆ ซึ่งเกิดได้ทั้ง กุศล และอกุศล ขณะที่เกิดอกุศลจิต ที่มีความรู้สึกเฉยๆ ขณะนั้น ไม่มีขันติ ไม่มีความอดทนเกิดขึ้น เพราะไม่ได้อดทนด้วยกุศล แต่ขณะที่เกิดความรู้สึกเฉยๆ ด้วยกุศล ขณะนั้น มีทั้งอุเบกขา และมีทั้งความอดทน ที่เป็นขันติ เพราะสภาพธรรมที่เป็น ขันติ ที่เป็นอโทสเจตสิก เกิดกับจิตที่ดีงาม และเกิดกับ เวทนาเจตสิกที่เป็นอุเบกขาได้ นี่คือ นัยที่เกิดร่วมกันได้ ระหว่าง อุเบกขา ที่เป็นเวทนาเจตสิก กับขันติที่เป็นอโทสเจตสิก
อีกนัยหนึ่ง ที่เป็นความละเอียดลึกซึ้ง คือ ขันติญาณ ที่เป็น วิปัสสนาญาณ เป็นอุเบากขา ที่เป็นการวางเฉยด้วยปัญญาเพราะ เข้าใจความจริง เพราะฉะนั้น ขณะที่ วิปัสสนาญาณเกิด แทงตลอดสภาพธรรม ตามความเป็นจริง ขณะนั้น ก็วางเฉยด้วยปัญญา เป็น ขันติญาณ เป็นขันติด้วยปัญญา และ เป็นอุเบกขาด้วยครับ
ขออนุโมทนา
"เมื่อได้รับสิ่งที่ไม่น่าพอใจ อันเป็นผลของอกุศล และได้รับสิ่งที่น่าพอใจ อันเป็นผลของกุศล ก็อดทนที่จะไม่เป็นไปด้วยอำนาจของอกุศล ทั้งโทสะ และ โลภะ ซึ่งจะเห็นได้ว่า ความอดทน เป็นธรรมเครื่องเผาบาปธรรม"
"ขันติโดยนัยสูงสุด ยังหมายถึง ปัญญา ที่เป็นวิปัสสนาญาณที่เป็นขันติญาณ อันเป็นการเห็นการเกิดดับของสภาพธรรม ที่เป็นแต่ละกลุ่มกลาปของสภาพธรรม ดังนั้น ทั้งความอดทน อดกลั้นด้วยกุศลจิต รวมทั้งปัญญา ย่อมเป็นขันติธรรมทั้งสิ้น"
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของ อ.คำปั่น อ.ผเดิม และทุกท่านค่ะ