สติเกิดจากอะไร

 
Vareesa
วันที่  1 พ.ย. 2556
หมายเลข  23953
อ่าน  3,926

สติเกิดจากอะไร


Tag  สติ  
  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 2 พ.ย. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกโดยตลอด เป็นการแสดงถึงสภาพธรรมที่มีจริง เมื่อเป็นธรรมก็ไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น ไม่มีใครบังคับบัญชาให้ธรรมเกิดขึ้นได้ ทุกอย่างล้วนเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยทั้งสิ้น รวมทั้งสติ ด้วย สติเป็นสภาพธรรมฝ่ายดีเกิดร่วมกับจิตที่ดีงามทุกประเภท จะไม่เกิดร่วมกับอกุศลจิตเลย

สติเป็นสภาพธรรมที่ระลึกเป็นไปในกุศลประการต่างๆ เป็นไปในทาน เป็นไปในศีลเป็นไปในการอบรมความสงบของจิตและเป็นไปในการอบรมเจริญปัญญา ขณะใดก็ตามที่ไม่ได้เป็นไปในทาน ไม่ได้เป็นไปในศีล ไม่ได้เป็นไปในการฟังพระธรรมอบรมเจริญปัญญาแล้ว ก็ย่อมเป็นอกุศลทั้งหมด แสดงให้เห็นตามความเป็นจริงว่า อกุศลเกิดขึ้นเป็นไปมากทีเดียวในชีวิตประจำวัน และที่จะเป็นกุศลได้ ก็เพราะสติเกิดขึ้นเป็นไป

สติเป็นธรรมที่มีจริง เมื่อเป็นธรรมแล้ว ใครๆ ก็บังคับบัญชาให้เกิดขึ้นไม่ได้ ก็ต้องเกิดเพราะเหตุปัจจัย เหตุปัจจัยกว้าขวางมาก เพราะเป็นผู้เห็นประโยชน์ของความดี มีการคบบุคคลผู้มีปัญญา มีการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา ล้วนเป็นเหตุปัจจัยให้สติ ซึ่งเป็นสภาพธรรมฝ่ายดีนี้ เกิดขึ้นเป็นไปพร้อมกับสภาพธรรมฝ่ายดีอื่นๆ ที่เกิดร่วมด้วย ครับ

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 2 พ.ย. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สติเป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นเจตสิกฝ่ายดี ทำหน้าที่ระลึก ดังนั้น สติเกิดกับกุศลจิตทุกประเภท ส่วนคำถามที่ถามหมายถึง สติที่เป็นสติปัฏฐาน อันเป็นสติขั้นวิปัสสนาภาวนา ซึ่งธรรมทั้งหลายมีเหตุจึงเกิดขึ้น สติที่เป็นสติปัฏฐานก็มีเหตุให้เกิดขึ้นเช่นกันการฟังพระธรรม ให้เข้าใจในเรื่องของสภาพธรรม จนมั่นคง ย่อมเป็นปัจจัยให้สติปัฏฐานเกิด ซึ่งไม่ใช่แค่สติเท่านั้นที่เกิดขึ้น รวมทั้งปัญญาด้วยที่เกิดพร้อมสติ ดังนั้น สติและปัญญาจะเกิดรู้ความจริงของสภาพธรรมที่มีในขณะนี้ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ที่เป็นสติปัฏฐาน ก็ต้องเริ่มจากเบื้องต้น คือ การฟังพระธรรมให้เข้าใจในเรื่องสภาพธรรม เพราะต้องการู้ความจริงของธรรม แต่ถ้ายังไม่เข้าใจว่าธรรมคืออะไร ก็ไม่มีทางที่สติจะไปรู้ตัวธรรมได้เลยครับ เพราะไม่มีความเข้าใจเบื้องต้น ซึ่งในพระไตรปิฎกแสดงเหตุให้เกิดสติ คือ สัญญาที่มั่นคง ความจำที่มั่นคง ซึ่งหมายถึง ความจำในเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ อันอาศัยการฟังพระธรรม แค่จำชื่อใช่ไหม ไม่ใช่ครับ เพราะสภาพธรรมแต่ละอย่างเมื่อเกิดขึ้นจะต้องมีเจตสิกอื่นๆ เกิดร่วมด้วยครับ ดังนั้น ไม่ใช่เพียงจำที่เป็นสัญญาเท่านั้น ต้องมีปัญญาเกิดร่วมด้วยในขณะนั้น จึงกล่าวได้ว่า สัญญาที่มั่นคง หรือความจำที่มั่นคงพร้อมๆ กับความเข้าใจที่เกิดขึ้นด้วยครับ จึงเป็นเหตุให้สติปัฏฐานเกิดครับ ขณะที่ฟังพระธรรมเข้าใจ ในเรื่องสภาพธรรม ขณะนั้นจำพร้อมความเข้าใจธรรม แต่ต้องฟังบ่อยๆ จำและเข้าใจบ่อยๆ จนในที่สุดก็จะเป็นเหตุให้เกิดสติปัฏฐาน ครับ

ธรรมทั้งปวง เป็นอนัตตา ไม่ใช่สัตว์ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เมื่อมีความเข้าใจที่มั่นคงในความเป็นจริงของสภาพธรรม ก็จะรู้ได้ว่า ไม่มีตัวตัวตนที่เจริญสติ ไม่มีตัวเราทำสติให้เกิด แต่สตินั่นเองเกิดขึ้น หรือเจริญขึ้น ซึ่งจะเห็นได้ว่า สติก็เป็นอนัตตาเกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัยแล้วก็ดับไป ถ้าไม่อาศัยการฟังเรื่องของสภาพธรรมซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริงเป็นปกติ บ่อยๆ เนืองๆ จนมีความเข้าใจเพิ่มขึ้นไปตามลำดับแล้ว ย่อมไม่ได้เหตุได้ปัจจัยให้สติเกิดขึ้นหรือเจริญขึ้นได้ เพราะเหตุว่าที่ตั้งให้สติระลึกและปัญญารู้ตามความเป็นจริง คือ สภาพธรรมที่มีในขณะนี้นั่นเอง ซึ่งไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเกิดขึ้นเป็นไปในชีวิตประจำวัน ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายและทางใจ เพราะฉะนั้น จึงต้องอาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม พิจารณาพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง ให้มีความเข้าใจที่ถูกต้อง เพื่อเป็นเครื่องปรุงแต่งให้สติและปัญญาเกิดขึ้น ระลึกรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ซึ่งจะเป็นไปเพื่อการละคลายความยึดถือในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนได้ ครับ

การเกิดของสติ ก็มีตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง ดังนี้ ครับ

[เล่มที่ 38] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ หน้าที่ ๒๐๓

การคบสัปบุรุษที่บริบูรณ์ย่อมยังการฟังสัทธรรมให้บริบูรณ์ การฟังสัทธรรมที่บริบูรณ์ ย่อมยังศรัทธาให้บริบูรณ์ ศรัทธาที่บริบูรณ์ ย่อมยังการทำไว้ในใจโดยแยบคายให้บริบูรณ์ การทำไว้ในใจโดยแยบคายที่บริบูรณ์ ย่อมยังสติสัมปชัญญะให้บริบูรณ์ สติสัมปชัญญะที่บริบูรณ์ฯ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ธนฤทธิ์
วันที่ 3 พ.ย. 2556

ขอบคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
Suth.
วันที่ 7 พ.ย. 2556

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
thilda
วันที่ 9 พ.ย. 2556

ขอบพระคุณอย่างยิ่ง และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
สิริพรรณ
วันที่ 31 ต.ค. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ