ควรโยนิโสมนสิการอย่างไรในการเจริญสติ

 
Suth.
วันที่  2 พ.ย. 2556
หมายเลข  23956
อ่าน  1,674

"สติ จะต้องเป็นไปในทาน ศีล ภาวนา" ในเมื่อสติเป็นอนัตตา ไม่อาจสร้างขึ้นมาได้ แต่สามารถเจริญได้โดยเจริญสติปัฏฐาน (ภาวนา) อยากทราบว่าขณะที่ภาวนานั้น ควรโยนิโสมนสิการอย่างไร เพื่อเจริญสติอย่างถูกต้องประกอบด้วยปัญญา


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 2 พ.ย. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสััมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สติ เป็นธรรม ฝ่ายดี เกิดร่วมกับจิตที่ดีงามทุกประเภท จะไม่เกิดกับจิตประเภทอื่นเลย ในขณะที่มีการให้ทาน ก็ดี รักษาศีลก็ดี หรืออบรมเจริญปัญญา ก็ดี สติเกิดขึ้นเป็นไปแล้วในขณะนั้นพร้อมกับสภาพธรรมอื่นๆ ที่เกิดร่วมกันในขณะนั้น ไม่มีใครบังคับให้สภาพธรรมเกิดขึ้นได้

สิ่งสำคัญ คือ การมีโอกาสไดัฟังเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ในขณะนี้ซึ่งมีจริงๆ แต่ไม่เคยรู้มาก่อนว่าเป็นธรรม การสะสมความเข้าใจตั้งแต่ต้นจะเป็นรากฐานสำคัญนำไปสู่การปฏิบัติธรรมที่ถูกต้องได้ เพราะเรื่องของสติปัฏฐานนั้น เป็นปกติ ไม่ใช่เรื่องทำ แต่เป็นกิจหน้าที่ของธรรมฝ่ายดี มีสติและปัญญา เป็นต้น เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ระลึกรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริง

สิ่งที่มีจริงในขณะนี้ นั่นเอง ที่จะเป็นที่ตั้งให้สติเกิดขึ้นระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และปัญญารู้ตามความเป็นจริง (สติปัฏฐาน) เป็นไปตามเหตุตามปัจจัยจริงๆ ไม่ใช่เรื่องหวัง ไม่ใช่เรื่องต้องการ ไม่ใช่เรื่องของความจดจ้อง ไม่ใช่เรื่องของการไปกระทำอะไรด้วยความเป็นตัวตน ด้วยความเห็นผิด และด้วยความไม่รู้ แต่เป็นเรื่องของการอบรมเจริญปัญญาไปตามลำดับ และไม่ใช่เรื่องของการที่บอกว่าจะโยนิโสมนสิการอย่างไร เพราะแท้ที่จริงแล้ว โยนสิโสมนสิการ เป็นสภาพธรรมที่ใส่ใจอย่างถูกต้อง เป็นกุศล ไม่ใช่สิ่งที่จะบังคับบัญชาให้เกิดขึ้นได้ตามต้องการ เพราะเป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ขณะที่กุศลจิตเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในระดับใด นั่นก็คือ โยนิโสมนสิการ แม้ในขณะที่สติปัฏฐานเกิด ก็มีโยนิโสมนสิการ พร้อมกับสติปัญญาและโสภณธรรมอื่นๆ โดยที่ไม่ต้องไปทำโยนิโสฯ เลย เพราะเกิดขึ้นแล้วในขณะนั้น กุศลจะเกิดขึ้นไปได้ ก็เพราะใส่ใจด้วยดี ถูกต้อง ซึ่งจะตรงกันข้ามกับขณะที่เป็นอกุศลอย่างสิ้นเชิง เมื่อมีการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย ก็จะอุปการะเกื้อกูลให้ความดี เจริญขึ้น ทั้งทาน ศีล และ ภาวนา ซึ่งภาวนานั้น ไม่ใช่การท่องบ่น แต่เป็นการอบรมเจริญคุณความดีให้มีขึ้นเจริญขึ้น จากที่มีแล้วก็เจริญยิ่งขึ้น ซึ่งจะขาดปัญญา ความเข้าใจถูกเห็นถูกไม่ได้เลย สำคัญอยู่ที่ปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูกจริงๆ

เรื่องเจริญสติปัฏฐาน เป็นเรื่องของปัญญาที่เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง สติเกิดขึ้นระลึกและปัญญารู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมในขณะนี้ การเจริญสติปัฏฐานไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แต่ว่าเป็นเรื่องที่จะต้องอาศัยการฟังในสิ่งที่มีจริงเนืองๆ บ่อยๆ พิจารณาเหตุผลแล้วก็เจริญเหตุให้สมควรแก่ผลด้วย การที่จะไม่ผิด ก็คือ ตั้งต้นที่การฟังพระธรรมให้เข้าใจ

ธรรม คือ สิ่งที่มีจริง มีจริงในขณะนี้ หนทางที่จะเป็นไปเพื่อการรู้ธรรมตามความเป็นจริง ก็มีจริง แต่ต้องเป็นหนทางแห่งปัญญา เพราะฉะนั้นก็ต้องกลับมาที่ฟังพระธรรมให้เข้าใจจริงๆ ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม ไม่ได้ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ แม้ว่าจะมีสภาพธรรมที่มีจริง ก็ไม่สามารถเข้าใจตามความเป็นจริงได้เลย ย่อมไม่มีเหตุที่จะให้สติปัฏฐานเกิดขึ้นได้เลย ครับ

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 2 พ.ย. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสััมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ภาวนา หมายถึง การอบรมเจริญ การยังกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น ภาวนา จึงไม่ใช่เป็นการไปทำอะไรด้วยความไม่รู้ ไม่ใช่การท่องบ่น ไม่ใช่เป็นการต้องการที่จะกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดด้วยความไม่รู้ ด้วยความไม่เข้าใจ แต่เป็นการอบรมเจริญกุศลให้มีขึ้น ให้เจริญยิ่งขึ้น

ในทางพระพุทธศานา แสดงถึงภาวนา ๒ ที่เป็นสมถภาวนา และวิปัสสนาภาวนา สมถภาวนา เป็นการอบรมความสงบของจิตจนบรรลุฌานขั้นต่างๆ เมื่อฌานไม่เสื่อม ตายไปเกิดที่พรหมโลก วิปัสสนาภาวนาเป็นการอบรมปัญญา เมื่อปัญญาเจริญยิ่งขึ้น ย่อมรู้ความจริง คือ รู้แจ้งอริยสัจจธรรมทั้ง ๔ ละกิเลสได้ตามลำดับมรรค สูงสุดคือ บรรลุความเป็นพระอรหันต์ ดับภพชาติไม่ต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป ภาวนาทั้ง ๒ เป็นเรื่องของผู้มีปัญญา คือ ปฏิสนธิพร้อมด้วยปัญญา และมีปัญญาเห็นสิ่งทั้งปวงในโลกว่าไม่มีแก่นสารสาระ จึงหาหนทางเพื่อพ้นจากสิ่งเหล่านี้

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ ครับ

การภาวนา ส่วน โยนิโสมนสิการ ก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ซึ่งองค์ธรรม คือ มนสิการเจตสิก หากเป็นการใส่ใจด้วยดีที่เกิดกับจิตที่ดี ก็เป็นโยนิโสมนสิการ ส่วน การใส่ใจไม่ดี คือเกิดกับอกุศลจิตก็เป็นอโยนิโสมนสิการ ซึ่ง ขณะที่เป็นโยนิโสมนสิการ คือ ขณะที่จิตที่ดีเกิดขึ้น มีกุศลจิต เป็นต้น มีโยนิโสมนสิการแล้ว โดยไม่มีเราที่จะไปโยนิโส ไปทำโยนิโสมนสิการ แต่เมื่อใดกุศลจิตเกิด แสดงแล้วว่า มีโยนิโสมนสิการ หากไม่ใส่ใจด้วยดี กุศลจิตก็เกิดไม่ได้ โดยนัยตรงกันข้าม ขณะที่อกุศลจิตเกิด ไม่ได้คิดเลยว่า จะทำอโยนิโส แต่ อโยนิโสมนสิการก็เกิดแล้ว แสดงถึงการทำหน้าที่ของธรรมและเป็นอนัตตา ที่บังคับบัญชาไม่ได้เลย ครับ ซึ่งขณะที่สติปัฏฐานเกิด ก็มี สติ ด้วย หรือกล่าวได้ว่า ขณะที่ภาวนา ขณะนั้น ก็มีสติเจตสิกเกิดขึ้นร่วมด้วยอยู่แล้ว โดยไม่ต้องไปทำสติ และไม่ต้องไปทำโยนิโสมนสิการ เพราะ ในความละเอียดของโยนิโสมนสิการ คือ ขณะที่เกิดปัญญาความเห็นถูก ที่เป็นภาวนา ขณะนั้น ก็ชื่อว่า โยนิโสมนสิการแล้ว ครับ ดังนั้นหนทางที่ถูกต้อง คือ การไม่ทำ แต่ คือ การเข้าใจ เข้าใจว่า ไม่มีการทำอะไรให้เกิด เพราะ ไม่มีเรา มีแต่ธรรม เมื่อได้ยินคำว่า อนัตตา ย่อมครอบคลุมทุกอย่าง รวมทั้งการเจริญสติปํฏฐาน ที่จะเกิดเมื่อไหร่ก็ตามแต่เหตุปัจจัยพร้อมหรือไม่ โดยไม่มีเราที่จะพยายามโยนิโส แต่ธรรมต่างหากที่อบรมจากการฟัง ศึกษาพระธรรม จะทำหน้าที่โยนิโส และ เกิดปัญญาขั้นภาวนาเอง ครับ หน้าที่ที่สำคัญ คือ การฟัง ศึกษาพระธรรมต่อไป

ขออนุโมทนา ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
papon
วันที่ 2 พ.ย. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ธนฤทธิ์
วันที่ 3 พ.ย. 2556

ขอบคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
Suth.
วันที่ 3 พ.ย. 2556

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
orawan.c
วันที่ 4 พ.ย. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
nopwong
วันที่ 5 พ.ย. 2556

เป็นหัวข้อที่น่าสนใจ ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
urai4062
วันที่ 6 ก.พ. 2567

ขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ