สงสัยเกี่ยวกับรูปค่ะ

 
thilda
วันที่  3 พ.ย. 2556
หมายเลข  23964
อ่าน  1,080

เรียนขอคำอธิบายจากท่านอาจารย์ดังนี้ค่ะ

1) รูปกลาปหนึ่งจะมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ 17 ขณะ ขณะที่รูป (สี) เกิดขึ้นกระทบกับจักขุปสาทรูป ณ อตีตภวังค์ ไปจนกระทั่งครบ 17 ขณะเมื่อตทาลัมพนจิตดวงที่สองดับไป รูปก็ดับไปด้วย จึงสงสัยว่า ขณะที่จิตเกิดขึ้นเห็นรูปนั้นเห็นทีละหนึ่งกลาปหรือคะ

2) คำว่า อตีตภวังค์ นั้น ใช้เรียกภวังคจิตเฉพาะกรณีที่รูปเกิดขึ้นขณะที่กระทบปสาทรูปใช่ไหมคะ กรณีที่รูปเกิดขึ้นแล้วหลายขณะก่อนที่จะกระทบปสาทรูป ก็จะไม่ใช้คำเรียกภวังคจิตนั้นว่า อตีตภวังค์ (ไม่มีอตีตภวังค์) ใช่ไหมคะ

3) จากหนังสือ พระอภิธรรมในชีวิตประจำวัน หน้า 119 ที่ว่า

"ถ้ารูปซึ่งเป็นอารมณ์เกิดขึ้นกระทบอตีตภวังค์หลายขณะ รูปนั้นก็จะดับก่อน วิถีจิตหลังๆ จึงเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะเหตุว่ารูปมีอายุเท่ากับ 17 ขณะของจิตเท่านั้น เมื่อวิถึจิตเกิดขึ้นจนถึงโวฏฐัพพนจิต รูปก็ดับไป กุศลจิตหรืออกุศลจิตก็เกิดไม่ได้"

ที่ว่า "รูปซึ่งเป็นอารมณ์เกิดขึ้นกระทบอตีตภวังค์หลายขณะ รูปนั้นก็จะดับก่อน" หมายความว่า เมื่อรูปกระทบอตีตภวังค์แล้ว รูปนั้นไม่สามารถทำให้ภวังคจิตขณะถัดไปไหวหรือคะ เป็นกรณีไหนบ้างคะ

4) ในประโยคถัดมาว่า "บางวาระอตีตภังค์เกิดขึ้นแล้วดับไป ภวังคจลนะเกิดขึ้นแล้วดับไป แต่ภวังคุปัจเฉทะไม่เกิด เมื่อเป็นเช่นนั้นก็จะไม่่มีวิถีจิต เช่น เสียงกระทบโสตปสาท อตีตภวังค์เกิดขึ้นแล้วดับไป ภวังคจลนะเกิดสืบต่อ แต่ภวังคุปัจเฉทะไม่เกิด กระแสภวังค์ไม่ขาด โสตทวารวิถีไม่เกิด ฉะนั้นจึงไม่ได้ยินเสียง"

จะเป็นกรณีไหนบ้างคะ เช่น เสียงค่อยเกินไป หรือเปล่าคะ หรือถ้าเป็นรูปที่ปรากฏทางตาจะเป็นกรณีไหนคะ

กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์ทุกท่านอย่างยิ่งค่ะ _/_


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 4 พ.ย. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

1) รูปกลาปหนึ่งจะมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ 17 ขณะ ขณะที่รูป (สี) เกิดขึ้นกระทบกับจักขุปสาทรูป ณ อตีตภวังค์ ไปจนกระทั่งครบ 17 ขณะเมื่อตทาลัมพนจิตดวงที่สองดับไป รูปก็ดับไปด้วย จึงสงสัยว่า ขณะที่จิตเกิดขึ้นเห็นรูปนั้นเห็นทีละหนึ่งกลาปหรือคะ

ขณะที่จิตเห็นรูป เห็น เพียงสิ่งที่ปรากฎทางตา ในกลาปนั้นเท่านั้น ที่มี 8 รูป ประชุมรวมกัน เป็นอย่างน้อย ครับ ซึ่ง ขณะที่ เห็น รูป ที่เป็นสี ก็ต้องเห็น ทีละกลาป ครับ

2) คำว่า อตีตภวังค์ นั้น ใช้เรียก ภวังคจิต เฉพาะกรณีที่รูปเกิดขึ้นขณะที่กระทบปสาทรูปใช่ไหมคะ กรณีที่รูปเกิดขึ้นแล้วหลายขณะก่อนที่จะกระทบปสาทรูป ก็จะไม่ใช้คำเรียก ภวังคจิตนั้นว่า อตีตภวังค์ (ไม่มีอตีตภวังค์) ใช่ไหมคะ

- อตีตภวังค์ คือ ภวังค์ที่ล่วงแล้ว ภวังค์ที่ผ่านไป หมายถึง ภวังคจิตในขณะที่รูปเกิดขึ้นกระทบกับปสาทรูปทางทวารใดทวารหนึ่ง เช่น ทางตา เมื่อวิถีจิตยังไม่ได้เกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางทวาร ๖ ภวังคจิตก็เกิดดับสืบต่อกันไปเป็นกระแสภวังค์ แต่เมื่อมีวัณณรูป (สี) มาสู่คลองจักษุ คือเกิดขึ้นกระทบกับจักขุปสาท ภวังคจิตในขณะที่สีเกิดขึ้นกระทบกับจักขุปสาท ได้ชื่อว่า อตีตภวังค์ เป็นภวังคจิตที่ผ่านล่วงเลยไป เพราะยังไม่มีผลให้เกิดวิถีจิต และเป็นการตั้งชื่อเพื่อให้ทราบอายุของรูป เมื่อเทียบกับขณะจิตเพราะรูปเกิดขึ้นพร้อมกับภวังคจิตดวงนี้ (อตีตภวังค์) และดับพร้อมกับตทาลัมพณจิตดวงสุดท้ายอายุของรูปจึงเท่ากับ ๑๗ ขณะจิต

อตีตภวังค์ ภวังค์คจลนะ ภวังค์คุปัจเฉทะ เป็นวิบากจิตประเภทเดียวกัน มีเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยเท่ากัน และมีอารมณ์เดียวกันกับปฏิสนธิจิต จุติจิตในชาติเดียวกัน และทำกิจอย่างเดียวกันกับภวังค์ดวงอื่นๆ (เป็นเพียงชื่อที่ตั้งขึ้นเพื่อให้ทราบอายุของรูปเท่านั้น)

ดังนั้น อตีตภวังค์ จึงเป็นชื่อที่ใช้เรียก เมื่อรูป กระทบกับ ปสาทรูป) ครับ ถ้าไม่มีการกระทบ ก็ไม่ได้เรียกว่า อตีตภวังค์ ครับ

3) จากหนังสือ พระอภิธรรมในชีวิตประจำวัน หน้า 119 ที่ว่า

"ถ้ารูปซึ่งเป็นอารมณ์เกิดขึ้นกระทบอตีตภวังค์หลายขณะ รูปนั้นก็จะดับก่อนวิถีจิตหลังๆ จึงเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะเหตุว่ารูปมีอายุเท่ากับ 17 ขณะของจิตเท่านั้น เมื่อวิถีจิตเกิดขึ้นจนถึงโวฏฐัพพนจิต รูปก็ดับไป กุศลจิตหรืออกุศลจิตก็เกิดไม่ได้"

ที่ว่า "รูปซึ่งเป็นอารมณ์เกิดขึ้นกระทบอตีตภวังค์หลายขณะ รูปนั้นก็จะดับก่อน" หมายความว่า เมื่อรูปกระทบอตีตภวังค์แล้ว รูปนั้นไม่สามารถทำให้ภวังคจิตขณะถัดไปไหวหรือคะ เป็นกรณีไหนบ้างคะ

- ที่ไม่เกิด ชวนจิต ดับไปที่ โวฐัพพนะ จิต เพราะอารมณ์ คือ รูปนั้นมีกำลังอ่อน ซึ่ง รูป กระทบ อตีตภวังค์หลายขณะ ประมาณ 9 ขณะ และ ภวังคจิตอื่นๆ ก็เกิดต่อ จนสิ้นสุดที่ โวฏฐัพนะจิต เรียกว่า โวฏฐัพพนะวาระ ซึ่งวิถีจิตที่อารมณ์สิ้นสุดตรงโวฏฐัพพนวิถี เพราะเมื่อโคจรรูปกระทบกับปสาทรูปทางปัญจทวาร ด้วยเหตุปัจจัยที่บกพร่องบางประการ อตีตภวังค์จึงเกิดดับสืบต่อกัน ๔ - ๙ ขณะ ภวังคจลนะจึงไหว และภวังคุปัจเฉทะจึงตัดกระแสภวังค์ ปัญจทวาราวัชชนจิต เกิดขึ้นรำพึงถึงอารมณ์แล้ว ดับไป ทวิปัญจวิญญาณดวงใดดวงหนึ่งเกิดขึ้นแล้ว ดับไป สัมปฏิจฉันนจิตเกิดขึ้นรับอารมณ์ต่อ ดับไป สันตีรณจิตเกิดขึ้นไต่สวนอารมณ์ ดับไป โวฏฐัพพนจิตเกิดขึ้นตัดสินอารมณ์ แต่เพราะอารมณ์มีกำลังอ่อนเพราะใกล้จะดับแล้ว ชวนจิตจึงไม่เกิด เพราะถ้าเกิด จะต้องเกิดดับสืบต่อกันถึง ๗ ขณะ เพราะฉะนั้น โวฏฐัพพนจิตจึงเกิด ๒ - ๓ ขณะ และเป็นภวังคจิตต่อไป อารมณ์ที่เป็นไปตามวิถีจิตนี้เรียกว่า ปริตตารมณ์ (อารมณ์ที่เล็กน้อยมีกำลังอ่อน)

4) ในประโยคถัดมาว่า "บางวาระอตีตภังค์เกิดขึ้นแล้วดับไป ภวังคจลนะเกิดขึ้นแล้วดับไป แต่ภวังคุปัจเฉทะไม่เกิด เมื่อเป็นเช่นนั้นก็จะไม่มีวิถีจิต เช่น เสียงกระทบโสต

ปสาท อตีตภวังค์เกิดขึ้นแล้วดับไป ภวังคจลนะเกิดสืบต่อ แต่ภวังคุปัจเฉทะไม่เกิด กระแสภวังค์ไม่ขาด โสตทวารวิถีไม่เกิด ฉะนั้นจึงไม่ได้ยินเสียง" จะเป็นกรณีไหนบ้างคะ เช่น เสียงค่อยเกินไป หรือเปล่าคะ หรือถ้าเป็นรูปที่ปรากฏทางตาจะเป็นกรณีไหนคะ

- การที่ไม่เกิดวิถีจิตเลย เพราะเหตุว่า อารมณ์ ที่เป็นรูปนั้นเล็กน้อยมาก จนไม่มีกำลังให้เกิดวิถีจิต ซึ่งก็แล้วแต่ว่าเป็นอารมณ์อะไร เช่น เสียงที่เบามากๆ เป็นต้น การที่ไม่เกิดวิถีจิต เรียกว่า โมฆวาระ ครับ วิถีจิตซึ่งเกิดดับสืบต่อกันโดยรู้อารมณ์เดียวกัน และทางทวารเดียวกัน ซึ่งบางวาระวิถีจิตเกิดทั้ง ๗ วิถี บางวาระวิถีจิตเกิด ๖ วิถี บางวาระวิถีจิตเกิด ๕ วิถี บางวาระวิถีจิตไม่เกิดเลย มีแต่อตีตภวังค์ และภวังคจลนะเท่านั้น คือเมื่อรูปกระทบปสาท และกระทบอตีตภวังค์นั้น อตีตภวังค์ดับไปแล้ว ภวังคจลนะก็ยังไม่เกิด จึงเป็นอตีตภวังค์ เกิดดับอีกหลายขณะ แล้วภวังคจลนะจึงเกิดไหวขึ้นแล้วดับไปๆ หลายขณะ เมื่ออารมณ์ คือ รูปที่กระทบปสาทนั้นใกล้จะดับ จึงไม่เป็นปัจจัยให้วิถีจิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์นั้น เมื่อวิถีจิตไม่เกิดขึ้นรู้อารมณ์ที่กระทบปสาท จึงเป็น โมฆวาระ เช่น ขณะนอนหลับสนิทถูกปลุกเขย่าแล้วก็ยังไม่ตื่น เขย่าแรงๆ ก็ยังไม่ตื่นอีก ขณะนั้นเป็นโมฆวาระ เพราะอาวัชชนจิตไม่เกิด มีแต่อตีตภวังค์ และภวังคจลนะ เมื่อวิถีจิตไม่เกิดขึ้นรู้อารมณ์ที่กระทบจึงเป็น “ โมฆวาระ" และอารมณ์นั้นก็เป็นอติปริตตารมณ์ คือ เป็นอารมณ์ที่เล็กน้อยที่สุด เพราะเพียงกระทบปสาทรูป และภวังค์ แต่ไม่ทำให้วิถีเกิดได้เลย ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 4 พ.ย. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

รูป เกิดเป็นกลุ่ม ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงรูปเดียวเดียวๆ ในขณะที่สีเกิดขึ้น ก็ต้องมีรูปอื่นๆ เกิดด้วย แต่เฉพาะเพียงสี ในกลุ่มนั้นเท่านั้นที่เป็นอารมณ์ของจิตที่เกิดขึ้นโดยอาศัยจักขุทวาร ซึ่งยังไม่ดับไป

ภวังคจิต เป็นภวังคจิต เป็นจิตที่ดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนี้ไว้ แม้จะกล่าวถึง อตีตภวังค์ ภวังคจลนะ ภวังคุปัจเฉทะ ก็คือ ภวังคจิตนั่นเอง แต่ที่เรียกว่า อตีตภวังค์ นั้น เป็นการกล่าวถึงขณะที่ปสาทกระทบกับอารมณ์ เช่น ขณะที่จักขุปสาทกระทบกับรูปารมณ์ทางตา และรูปารมณ์ และจักขุปสาทรูปยังไม่ดับ ภวังคจิตเกิดขึ้นและดับไปด้วยไม่มีสภาพธรรมใดที่เกิดแล้วไม่ดับ เมื่ออตีตภวังคจิตดับไป การกระทบกันนั้นเป็นปัจจัยให้ภวังคจิตดวงต่อไปไหวเพื่อที่จะทิ้ง ละอารมณ์ที่เป็นอารมณ์ของภวังค์ เพื่อที่จะรู้อารมณ์ใหม่ที่กระทบกับจักขุปสาท เพราะฉะนั้นเมื่ออตีตภวังคจิตดับไปแล้วเป็นปัจจัยให้ภวังคจลนะเกิดขึ้น ดับไป และภวังคจิตที่เกิดต่อเป็นกระแสภวังค์ ดวงสุดท้าย คือภวังคุปัจเฉทะ เมื่อภวังคุปเฉทะดับไปแล้ว วิถีจิตต้องเกิดต่อ จะไม่มีภวังคุปัจเฉทะหลายๆ ขณะ เพราะเหตุว่าถ้ายังเป็นภวังค์อยู่เรื่อยๆ จะไม่ชื่อว่า ภวังคุปัจเฉทะ ก็จะเป็นภวังคจลนะๆ ๆ ๆ ไปเรื่อยๆ เพราะเหตุว่า วิถีจิตยังไม่เกิด แต่ถ้าขณะใดที่วิถีจิตจะเกิด กระแสภวังค์ต้องสิ้นสุด เป็นกระแสภวังค์ดวงสุดท้าย คือ ภวังคุปเฉทะเกิดแล้วดับไป เมื่อภวังคุปัจเฉทะดับแล้ว ภวังคจิตจะเกิดต่ออีกไม่ได้เลย วิถีจิตต้องเกิด

รูปธรรมเกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย เช่น สี เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ก็มีอายุที่สั้นแสนสั้นเพียงแค่ ๑๗ ขณะจิตเท่านั้น ครับ

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 4 พ.ย. 2556

รูป ทุกรูปเกิดดับ 17 ขณะ ทุกๆ กลาปก็ต้องเกิดดับ ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
thilda
วันที่ 4 พ.ย. 2556

เรียนท่านอาจารย์ค่ะ เข้าใจขึ้นมากค่ะ เป็นเรื่องที่ยิ่งศึกษาก็ยิ่งเห็นว่ามีความละเอียดมากๆ แต่ยังมีส่วนที่ไม่ค่อยเข้าใจดังนี้ค่ะ

1) รูปที่เกิดขึ้นกระทบปสาทะนั้น ต้องเป็นรูปที่เพิ่งเกิดขึ้นเสมอหรือเปล่าคะจึงจะกระทบได้ (เกิดพร้อมอตีตภวังค์) รูปที่เกิดขึ้นก่อนแล้ว เช่นเกิดแล้วนาน 1, 2, 3..., ถึง 16 ขณะ จึงค่อยกระทบปสาทะ ได้ไหมคะ

2) ความแตกต่างระหว่างอตีตภวังค์กับภวังคจลนะนั้น จะกล่าวอย่างนี้ถูกไหมคะ ถ้าไม่ถูกต้องหรือชัดเจน รบกวนอีกทีนะคะ

- เรียกภวังคจิตหนึ่งว่าเป็น อตีตภวังค์ เพราะรูปเกิดขึ้นกระทบปสาทะในขณะนั้น ถ้ารูปเดียวกันนั้นกระทบปสาทะหลายครั้ง ก็มีอตีตภวังค์เกิดดับหลายขณะตามจำนวนครั้งนั้น

- เรียกภวังคจิตหนึ่งว่าเป็น ภวังคจลนะ เพราะรูปไม่ได้เกิดขึ้นกระทบปสาทะในขณะนั้น แต่เป็นภวังคจิตที่เกิดต่อจากอตีตภวังค์ ถ้าไม่มีภวังคุปัจเฉทะ (เพราะไม่มีวิถีจิตเกิดต่อจากนั้น) ก็จะเรียกภวังคจิตขณะต่อไปว่า ภวังคจลนะ ไปเรื่อยๆ จนกว่ารูปจะดับไป (ที่เรียกว่า ภวังคจลนะ เกิดขึ้นไหว นั้น ไม่ได้ไหวจริงๆ เพียงแต่เป็นขณะก่อนที่ภวังคุปัจเฉทะจะเกิด จึงเรียกว่าไหว)

ขอบพระคุณท่านอาจารย์ทุกท่านมากค่ะ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
papon
วันที่ 6 พ.ย. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
prachern.s
วันที่ 8 พ.ย. 2556

เรียนความเห็นที่ ๔ ครับ

๑. รูปหรือรูปารมณ์เมื่อเกิดขึ้นมาสู่คลองของจักษุ ย่อมกระทบปสาททั้งหมด แต่รูปารมณ์ที่จะเป็นปัจจัยให้วิถีจิตเกิดขึ้นต้องมีอายุเท่ากับจักขุปสาทะ และเกิดพร้อมกับอตีตภวังค์ ดังนั้นรูปที่เกิดขึ้นก่อนหรือหลัง ก็กระทบกับปสาทะได้ เมื่อมาสู่คลองจักษุครับ

๒. ใช่ครับ ภวังค์ก็คือภวังค์ แต่มีการเรียกชื่อตามอายุของรูปที่มากระทบ และมีวิถีจิตเกิดขึ้น

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
thilda
วันที่ 9 พ.ย. 2556

ขอบพระคุณท่านอาจารย์มากๆ ค่ะ เข้าใจแล้วค่ะ ขออนุโมทนาในกุศลจิตของท่านอาจารย์ทุกท่านที่ขณะนี้อยู่ที่อินเดียแต่ยังมีความอุตสาหะและความเมตตาตอบความคิดเห็นกระทู้ต่างๆ ขอให้ท่านอาจารย์และผู้ร่วมเดินทางทุกท่านประสบความสำเร็จตามที่ตั้งวัตถุประสงค์ไว้ในครั้งนี้และเดินทางกลับบ้านโดยสวัสดิภาพทุกท่านค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ