ภวังคจิตไม่ได้เกิดเฉพาะตอนหลับเท่านั้นหรือ

 
สิริพรรณ
วันที่  4 พ.ย. 2556
หมายเลข  23966
อ่าน  1,030

พยายามศึกษาโดยอ่านปรมัตถธรรมสังเขป ร่วมกับการฟังพระธรรมแต่เดิมเข้าใจว่าภวังคจิตคือจิตที่ดำรงภาพชาติ มีเฉพาะตอนนอนหลับ แต่วันนี้ ได้อ่านว่า ระหว่างการรู้อารมณ์ทาง 5 ทวาร แล้ว จะไปที่มโนทวาร ต้องคั่นด้วยภวังคจิต

ขอเรียนถามว่า ตอนอาบน้ำ เมื่อน้ำเย็นกระทบกาย กายปสาททำหน้าที่รับรู้อะไรคะ ในเมื่อต้องเกิดภวังค์คั่น แล้วจึงรู้ว่าเย็นทางมโนทวาร หรือว่ากายปสาทรับรู้ว่า เย็น แล้วภวังค์คั่น จึงรู้ว่าสบายที่มโนทวาร ที่ผ่านมาเวลาน้ำกระทบกายจะเห็นชัดว่าเย็นสบายแล้วก็หายเย็น สลับกันไปมา แต่พอมีเรื่องภวังคจิตมาแทรก จะระลึกรู้อย่างไรดีคะ จึงเป็นการเจริญสติ เช่นเดียวกับการกินอาหาร ที่ผ่านมาก็จะระลึกรสชาดแต่ละช้อน เห็นรสที่เปลี่ยนไป แต่ละคำ และรสชาดหมดไปเมื่อกลืนอาหารลงคอ คราวนี้ภวังคจิตมาคั่นตอนไหนคะ ตอนลิ้นกระทบขนมหวาน รสหวานเกิดเพราะชิวหาปสาท แล้วมโนทวารคือชอบ หรือไม่ชอบ ใช่หรือไม่คะ

ขอความกรุณาท่าน อ.กรุณาให้ความกระจ่าง อยากทราบเพื่อเจริญสติได้ตรงลักษณะ


  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 4 พ.ย. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ในชีวิตประจำวัน วิบากจิต (จิตที่เป็นผลของกรรม) ที่เกิดขึ้นเป็นไปนั้น สำหรับผู้ที่เกิดมาเป็นมนุษย์ ไม่พิการตั้งแต่กำเนิด นอกจากจะมีวิบาก อันเป็นผลของกุศล ที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ เช่น ได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย ที่ดีที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ แล้ว ยังมี่วิบากจิตอีกประเภทหนึ่ง ที่เกิดขึ้นเป็นไปทำกิจหน้าที่ดำรงรักษาความเป็นบุคคลนี้ไว้ จนกว่าจะจุติ นั่นก็คือ ภวังคจิต ขณะนี้ก็มีภวังคจิตเกิดขึ้นเป็นไป จะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม ซึ่งเป็นธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย ส่วน สภาพธรรมที่เป็นรูปธรรม เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ที่เป็นสภาพธรรมที่ไม่รู้อะไรเลย ซึ่งในความละเอียดของสภาพธรรมที่เป็นรูปธรรมนั้น ก็มีความละเอียดของรูป แต่ละรูปที่แตกต่างกันไป
กายปสาทรูป หมายถึง รูปที่เกิดจากกรรม ที่มีความผ่องใส สามารถรับกระทบโผฏฐัพพารมณ์ มีสัณฐานเหมือนร่างแห ซึมซาบอยู่ทั่วร่างกาย เว้นปลายผม ขน เล็บ หนังที่หนา และส่วนที่ไม่มีความรู้สึก

ซึ่งขณะที่อาบน้ำ กายปสาทรูปก็กระทบลักษณะเย็นร้อน ในขณะนั้นและยังไม่รู้เย็น-ร้อนของน้ำเลย เพียงแต่ กระทบเท่านั้น ต่อเมื่อ กายวิญญาณเกิดขึ้น จึงรู้ว่าเป็นลักษณะที่เย็น หรือ ร้อนในขณะนั้นครับ แต่ยังไม่ได้รู้ว่าเป็นน้ำร้อน หรือ น้ำเย็นทางมโนทวาร เพียงแต่รู้เย็น ร้อนเท่านั้น และเมื่อวิถีจิตทางปัญจทวารดับไป หากเป็นวาระแรก ภวังคจิตก็เกิดคั่น และ มโนทวารวิถีก็เกิดต่อ แต่ยังไม่รู้ว่าเป็นอะไร เพราะยังมีปรมัตถ์เป็นอารมณ์ ต่อเมื่อวิถีจิตทางมโนทวารเกิดขึ้นในวาระต่อไป จึงจะมีบัญญัติเป็นอารมณ์ และรู้ได้ว่าเป็นน้ำร้อน น้ำเย็นโดยสมมติบัญญัติ แต่ภวังคจิตไม่ได้รู้กระทบแข็งในขณะนั้น

เพราะฉะนั้น กายปสาทรูป ไม่เปลี่ยนลักษณะเลย คือ ทำหน้าที่กระทบรูปที่เป็น ธาตุดิน ไฟ แต่ยังไม่รู้ลักษณะเย็น ร้อน ของน้ำต่อเมื่อ กายวิญญาณเกิด จึงจะรู้ได้ครับ

ส่วนขณะที่ลิ้มรส เกิดชวนจิต และ ตทาลัมพนะจิตเกิดดับไป ภวังคจิตก็เกิดขั้นและวิถีจิตทางมโนมวารก็เกิดต่อ ครับ ซึ่งรวดเร็วอย่างมาก ไม่สามารถรู้ได้ด้วยคิดเลยครับ เพราะสติและปัญญาจะต้งมีกำลังและคมกล้าจริงๆ ครับ

อย่างไรก็ดี การเจริญสติปัฏฐานที่ถูกต้อง จะต้องอบรมปัญญาเป็นลำดับ ครับ คือไม่สามารถทีจะรู้ความละเอียดของสภาพธรรมที่เป็นภวังคจิตได้ เพราะ ละเอียด ประณีตมาก สื่งที่ควรรู้คือ สภาพธรรมที่กำลังปรากฎที่เป็นส่วนหยาบ คือ เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้กระทบสัมผัส และ สี เสียง กลิ่น รส สิ่งที่กระทบทางกาย ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่หยาบที่พอจะรู้ได้ แต่ต้องอบรมปัญญา อย่างค่อยเป็นค่อยไป ด้วยการฟังศึกษาพระธรรม จึงจะเกิดปัญญาระดับสติปัฏฐานได้ในอนาคต ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 4 พ.ย. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

การศึกษาพระธรรม ก็ต้องค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย และประการที่สำคัญ จุดประสงค์ของการศึกษาพระธรรมก็เพื่อเข้าใจถูกเห็นถูกในสภาพธรรมที่มีจริงๆ ในชีวิตประจำวัน แต่ไม่เคยรู้ไม่เคยเข้าใจ แม้จะกล่าวถึง ภวังคจิต ก็ดี วิถีจิตก็ดี ก็คือ สภาพธรรมที่มีจริงๆ ซึ่งถ้าไม่ได้ฟัง ไม่ได้ศึกษาจะไม่สามารถเข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริงได้เลย

ทุกขณะของชีวิต ก็คือ การเกิดดับสืบต่อกันของจิตแต่ละขณะๆ เป็นไปอย่างไม่ขาดสาย จิต เมื่อจำแนก เป็นประเภทใหญ่ๆ แล้ว มี ๒ ประเภท คือ จิตที่เป็นวิถีจิต กับ จิตที่ไม่ใช่วิถีจิต ซึ่งก็ต้องกล่าวถึงความหมายของจิต ๒ ประเภทนี้ เป็นเบื้องต้นก่อนว่าวิถีจิต คือ จิตที่เกิดขึ้นโดยอาศัยทวารหนึ่งทวารใดใน ๖ ทวาร (ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ) ในการรู้แจ้งอารมณ์

จิตที่ไม่ใช่วิถีจิต คือ จิตที่เกิดขึ้นรู้แจ้งอารมณ์โดยไม่อาศัยทวารหนึ่งทวารใดใน ๖ ทวารเลย จิตที่ไม่ใช่วิถีจิต มี ๓ ประเภท คือ ปฏิสนธิจิต ภวังคจิต และจุติจิต จะเห็นได้ว่า ปฏิสนธิจิตเกิดแล้ว เป็นจิตขณะแรกในภพนี้ชาตินี้ จะไม่มีปฏิสนธิจิต ๒ ๓ ขณะในชาติเดียวกัน ส่วนจุติจิตยังไม่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น จิตที่ไม่ใช่วิถีจิตในชีวิตประจำวันนี้ ก็คือ ภวังคจิต นั่นเอง

จิตทุกขณะเมื่อเกิดขึ้นย่อมทำกิจหน้าที่ เช่น ภวังคจิต เกิดขึ้นก็ทำกิจหน้าที่ดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนี้ไว้ จิตเห็น (จักขุวิญญาณ) เกิดขึ้นก็ทำหน้าที่เห็น เป็นต้น ซึ่งล้วนเป็นธรรมที่มีจริงทั้งหมด ก็ต้องค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็ก ทีละน้อยจริงๆ

ธรรมคิดเอาเองไม่ได้ จึงต้องฟัง ต้องศึกษาด้วยความละเอียดรอบคอบจริงๆ เพราะแม้ไม่ใช่ในขณะที่หลับสนิทก็มีภวังคจิตเกิดขึ้น เพราะมื่วิถีจิตทางหนึ่งทางใดใน ๕ ทวารเกิดขึ้นแล้ว ก็มีภวังคจิตเกิดคั่น แล้วมีวิถีจิตทางใจเกิดสืบต่อ ซึ่งเกิดขึ้นเป็นไปอย่างรวดเร็ว เพราะจิตแต่ละขณะนั้นๆ นั้นมีอายุที่สั้นแสนสั้น คือ เพียงแค่ ๓ อนุขณะ (ขณะย่อย) คือ เกิดขึ้น ยังไม่ดับไปดำรงอยู่ และดับไปเท่านั้น จริงๆ

ทั้งหมดที่ได้ฟังได้ศึกษาก็เพื่อเข้าใจในความเป็นจริงของธรรมที่เป็นอนัตตา เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่มีเราแทรกอยู่ในสภาพธรรมเหล่านั้นเลย ครับ

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
wannee.s
วันที่ 4 พ.ย. 2556

ถ้าหลับสนิทเป็นภวังคจิต แต่ถ้าหลับๆ ตื่นๆ ก็เกิดสลับกับวิถีจิต ภวังคจิตเกิดคั่นระหว่างวิถีจิตทุกๆ วาระ ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
สิริพรรณ
วันที่ 5 พ.ย. 2556

กราบขอบพระคุณท่านวิทยากรทุกท่านเป็นอย่างสูง เข้าใจมากขึ้นในสิ่งที่เคยเข้าใจผิด ต้องฟังและศึกษาพระธรรมต่อไปอย่างแน่นอนค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
nopwong
วันที่ 9 พ.ย. 2556

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
chatchai.k
วันที่ 2 ก.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ