อยากให้บ้านธัมมะ ย่อยธรรมะให้เข้าใจง่าย
ในสมัยพระพุทธเจ้าพุทธโคดม เหล่าคนฟังธรรมสร้างบารมีมามากและอินทรีย์แก่กล้าฟังธรรมแล้วบรรลุ แต่ยุคปลายพุทธภูมิ สาวกภูมิ คนส่วนมากจะเข้าใจยาก เพราะถ้าเข้าใจง่ายก็โสดาบันถึงอรหันต์กันหมด ท่านผู้รู้ในพระไตรปิฎก ขอให้ย่อยธรรม เหมือนอีกาย่อยอาหารให้ลูกกินได้ง่าย แล้วแต่ท่านๆ ทั้งหลายจะทำหรือไม่ทำเถิด อนุโมทนาสาธุครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ธรรม ไม่ง่าย ไม่ใช่สิ่งที่จะเข้าใจได้อย่างรวดเร็ว จึงต้องเป็นผู้เห็นประโยชน์จริงๆ มีความอดทน มีความเพียร มีความจริงใจที่จะฟัง ที่จะศึกษาพระธรรมด้วยความไม่ประมาท
พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นเรื่องที่ละเอียด ลึกซึ้ง แสดงถึงความเป็นจริงของสภาพธรรมแต่ละอย่างๆ ตามความเป็นจริง ไม่ว่าจะทรงแสดงในส่วนใดก็ตาม ย่อมไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ โดยโวหารโดยพยัญชนะต่างๆ ทั้งหมดทั้งปวงเพื่อให้เข้าใจสภาพธรรมที่มีจริง อันเป็นธรรมที่ละเอียดยิ่ง ที่หาความเป็นสัตว์เป็นบุคคล เป็นตัวตน ไม่ได้เลย สำคัญที่ความเข้าใจถูก เห็นถูกของผู้ที่ได้ฟัง ได้ศึกษาอย่างแท้จริง ถ้าเป็นผู้ที่มีความละเอียดรอบคอบ ไม่ประมาทพระธรรมว่าง่าย ศึกษาด้วยความตั้งใจความเข้าใจก็จะค่อยๆ เจริญขึ้นไปตามลำดับ พระธรรม แม้จะยาก แต่ก็ไม่เหลือวิสัยที่จะเข้าใจได้
สำคัญ คือ ไม่ขาดการฟัง ไม่ขาดการศึกษาพิจารณาไตร่ตรอง ไม่ว่างเว้นจากการฟังพระธรรม และมีจุดประสงค์ที่ถูกต้องในการศึกษาว่า เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง เรื่องการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม เป็นเรื่องที่ไกลมาก คงยังไม่ต้องพูดถึงในชาตินี้ แต่จะต้องอาศัยกาลเวลาที่ยาวนาน ในการสะสมความเข้าใจถูก เห็นถูกต่อไป เมื่อสะสมกุศลและอบรมเจริญปัญญาต่อไป เมื่อปัญญาเจริญขึ้นก็ย่อมจะเป็นเหตุให้ถึงการรู้แจ้งอริยสัจจธรรมดับกิเลสตามลำดับขั้นได้
เพราะฉะนั้น ในเมื่อพระธรรมละเอียดลึกซึ้ง ก็ยิ่งจะต้องมีความอดทนเป็นอย่างยิ่งที่จะค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูก เห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อยเป็นการศึกษาพระธรรมตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ไม่ใช่คิดเอาเอง และจุดประสงค์ในการศึกษาต้องตรง คือ เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกขัดเกลาความไม่รู้ ซึ่งมีมากเป็นอย่างยิ่ง ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน...
อนุโมทนาครับท่านคำปั่น แต่เหล่าสาวกทั้งหลายที่เกิดในพุทธภูมิ ท่านสร้างอินทรีย์ สดับรับฟังมาเป็นเวลานับไม่ถ้วน แต่พวกเราเกิดยุคสาวกภูมิ มาอยู่ปลายๆ สำเร็จอรหันต์ยังว่ายาก แล้วโสดาบันยังว่าน้อย แม้จดจำพระอภิธรรมได้หมด ก็ใช่ว่าจะผ่านด่านกิเลสได้
ภาษา คำศัพท์ ที่ใช้ในพระไตรปิฎกนั้น ล้ำลึกเหลือเกิน เหมือนคนจับตัวช้างจับหางก็ว่าช้าง จับตัวก็ว่าช้าง แต่จะจับทั้งหมดได้เหมือนพระพุทธเจ้านั้นยากยิ่ง พระพุทธเจ้าเหมือนรถสิบล้อ เราเหมือนรถกะบะ จะขนไปหมดเหมือนพระองค์ท่านนั้นแสนลำบาก
ผมขอยกตัวอย่างที่มีพระสงฆ์ท่านได้ย่อยธรรมะให้ฟังง่ายๆ เช่นเรื่องอรรถกถาไม่ใช่พุทธพจน์ ไม่ใช่พระในพุทธภูมิอธิบาย แต่ก็เปรียบเหมือนกิ่งก้านสาขาของต้นไม้ พอรวบๆ มาเข้า ก็เข้าถึงพุทธพจน์ พุทธอรหันต์ที่ได้แสดงไว้ในพุทธภูมิ
หรือคำว่า รักคือหลง หลงคือรัก หัวงูกับหางงู ก็เหมือนส่วนเดียวกัน จับลงไปไม่ระวังหัว จับแต่หาง มันก็แว้งกัดเรา
ขออนุญาตแสดงความเห็นนะคะ
บางทีการเผยแพร่พระธรรม อาจจะไม่ได้เรียกว่า การทำให้ง่าย มันอาจจะหมายถึง การช่วยให้เข้าใจความหมายของศัพท์ตรงกัน เพราะที่ผ่านมาดิฉันมองว่าปัญหาที่คนเบื่อหน่ายที่จะฟังเป็นเรื่องของคำศัพท์ที่ผู้ฟังอย่างดิฉันแปลความหมายผิดมาตลอดพอแปลความหมายผิด ก็เข้าใจผิด ฟังยังไงก็ไม่รู้เรื่องเลยสรุปเอาว่า ยากเกินจะเข้าใจ ยกตัวอย่างเช่น ดิฉันฟังธรรม ได้ยินคำบรรยายว่า "เป็นธรรม" ดิฉันไม่เข้าใจความหมายหรืออรรถ ของคำว่า ธรรม ในทางบาลี จึงนำความหมายแบบภาษาไทยที่คนปัจจุบันใช้กันมาแทนความหมายทันที ก็ไปนึกถึง ความยุติธรรมบ้าง หลักธรรมะบ้าง ดังนั้นจึงเกิดความไม่เข้าใจ หรือเข้าใจผิดไปเลย นี่คือจุดที่ผู้บรรยายต้องเข้าใจภาษาท้องถิ่นในยุคปัจจุบันที่ไม่ใช่ประเทศอินเดียอีกต่อไป การเผยแพร่พระธรรมที่มีศัพท์บาลีแฝงคำไทยต้องแปลความหมายขยายความศัพท์โดยละเอียด แม้เป็นเพียงคำๆ เดียว เพราะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้สื่อสารกันผิดพลาดมากที่สุด พอเราฟังภาษาใครไม่รู้เรื่องไม่เข้าใจ เหมือนคนคุยกันไม่รู้เรื่อง ก็ไม่อยากจะฟังหากการศึกษาพระธรรมต้องเป็นไปตามลำดับขั้นก็ควรเริ่มจากเข้าใจความหมายโดยองค์ธรรมของศัพท์ให้กระจ่างทีละคำก่อนค่ะ