การไม่ศึกษาหรือไม่เข้าใจธรรมเป็นสีลัพพตปรามาสหรือไม่ครับ

 
papon
วันที่  12 พ.ย. 2556
หมายเลข  24014
อ่าน  836

เรียนอาจารย์ทั้งสองท่าน

การไม่ศึกษาหรือไม่เข้าใจธรรมเป็นสีลัพพตปรามาสหรือไม่ครับ ขอความอนุเคราะห์ด้วยครับ ขออนุโมทนาครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 13 พ.ย. 2556

สีลัพพตปรามาส คือ ความเห็นผิดในเรื่องข้อวัตรปฏิบัติที่ผิด โดยคิดว่าด้วยข้อปฏิบัตินี้จะทำให้บริสุทธิ์ เป็นทางที่จะดับกิเลส เช่น การประพฤติอย่างสุนัข ประพฤติอย่างโค เป็นต้น กล่าวโดยสรุป คือ ข้อปฏิบัติใดที่ไม่ตรงกับอริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นสีลัพพตปรามาส สีลัพพตปรามาส จะต้องเป็นความเข้าใจผิดในข้อปฏิบัติที่จะทำให้บริสุทธิ์เท่านั้น

สีลัพพตปรามาส คือ ความยึดถือ ด้วยข้อวัตรปฏิบัติที่ผิด ที่สำคัญว่า ข้อปฏิบัติ-วัตรนั้นจะทำให้ถึงความบริสุทธิ์ครับ

สีลัพพตปรามาส โดยองค์ธรรม ก็คือ ความเห็นผิดนั่นเอง คือ ทิฏฐิเจตสิก สีลัพพตปรามาส เป็นเป็นความเห็นผิด-ที่ยึดถือ-ลูบคลำในข้อวัตรปฏิบัติ เพราะฉะนั้น ขณะที่ไม่เข้าใจพระธรรม ขณะนั้น ก็ด้วยอกุศลจิต เช่น ความไม่รู้แต่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องยึดถือด้วยความเห็น ที่ยึดถือในข้อปฏิบัติผิดด้วยความเห็นผิด ครับ เพราะฉะนั้น การฟังพระธรรมไม่เข้าใจ จึงสามารถเป็นข้อวัตรปฏิบัติที่ผิดที่เป็น สีลัพพตปรามาส หรือ ไม่เป็นก็ได้ ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 13 พ.ย. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง มีความละเอียดลึกซึ้งเป็นอย่างยิ่งที่สำคัญจะต้องมีความเพียร มีความอดทน ที่จะฟัง ที่จะศึกษา เพื่อความเข้าใจอย่างถูกต้องตรงตามความเป็นจริง จะเห็นได้ว่า ผู้ศึกษาธรรม ถ้ามีจุดประสงค์ที่ถูกต้องศึกษาด้วยความละเอียดถี่ถ้วนจริงๆ ความเข้าใจอย่างถูกต้องก็ค่อยๆ เจริญขึ้นไปตามลำดับ แต่ถ้าไม่ละเอียดแล้ว ศึกษาเพียงผิวเผิน ทำให้เป็นผู้หลงเข้าใจผิดในสิ่งที่ตนเองยังไม่เข้าใจ ก็ย่อมจะไม่เป็นผลดีอย่างแน่นอน ถึงแม้ว่าจะได้ศึกษาแต่ไม่ได้ประโยชน์จากการศึกษาเลย

เมื่อกล่าวถึง ความเห็นแล้ว มี ๒ อย่าง คือ ความเห็นผิดกับความเห็นถูก ถ้าเป็นความเห็นผิดแล้ว เป็นมิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิดที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ทั้งหมด เป็นมิจฉาทิฏฐิ แต่ถ้าเป็นความเห็นอย่างถูกต้องตรงตามความเป็นจริงแล้ว ไม่ใช่มิจฉาทิฏฐิ แต่เป็นสัมมาทิฏฐิ (ปัญญาเจตสิก)

สำหรับ การยึดถือ หรือ ลูบคลำในข้อวัตรปฏิบัติที่ผิด นั้น เป็นความเห็นผิดประการหนึ่ง ที่เห็นว่า เป็นหนทางที่เป็นไปเพื่อความหมดจดบริสุทธิ์จากกิเลส ซึ่งแท้ที่จริงแล้ว ไม่ใช่หนทางเพื่อความหมดจดเลย มีแต่เพิ่มพูนกิเลสให้มีมากขึ้น ถ้ามีการไปกระทำอะไรด้วยความเห็นผิด ยึดถือในข้อวัตรปฏิบัติที่ผิดแล้ว ไม่มีทางที่จะเป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์หมดจดจากกิเลสได้เลย เพราะหนทางที่่เป็นไปเพื่อบริสุทธิ์หมดจดแห่งสัตว์ทั้งหลาย คือ การอบรมเจริญมรรค มีองค์ ๘ เท่านั้น ทางอื่นไม่มี เพราะฉะนั้นถ้าไม่ได้ศึกษาหรือศึกษาพระธรรม ไม่ละเอียด ความเห็นผิดในข้อวัตรปฏิบัติที่ผิดก็ย่อมจะเกิดขึ้นได้ ซึ่งจะเป็นผู้ประมาทไม่ได้เลยทีเดียว เพราะผู้ที่จะดับความเห็นผิดได้โดยประการทั้งปวง ต้องเป็นพระอริยบุคคล เท่านั้น

จากคำถามก็พิจารณาได้ว่าไม่ศึกษาพระธรรมและไม่เข้าใจ ไม่ใช่ว่าจะเป็นสีลัพพตปรามาสไปทั้งหมด เพราะอกุศลเกิดขึ้นเป็นไปมากในชีวิตประจำวัน มีโลภะ โทสะ โมหะเป็นต้น แต่จะเป็นสีลัพพตปรามาสก็ต่อเมื่อยึดถือในข้อวัตรปฏิบัติที่ผิดสำคัญว่าเป็นหนทางแห่งความหมดจด ครับ

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ธนัตถ์กานต์
วันที่ 13 พ.ย. 2556

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
papon
วันที่ 13 พ.ย. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
peem
วันที่ 13 พ.ย. 2556

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
wannee.s
วันที่ 16 พ.ย. 2556

คนที่ไม่ได้ศึกษาธรรมะ ไม่ได้ปฏิบัติธรรม ไม่ได้มีความเห็นผิดในข้อปฏิบัติก็ไม่เป็นเขาก็มีชีวิตปกติที่เป็นกุศลขั้นทาน ศีล ได้ แต่ก็ยังวนเวียนในสังสารวัฏฏ์ ไม่ได้แสวงปัญญาที่จะพ้นทุกข์ในวัฏฏะ ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
nopwong
วันที่ 17 พ.ย. 2556

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
papon
วันที่ 22 พ.ย. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
เสขะบุรุษ
วันที่ 14 ม.ค. 2557

เพื่อความเห็นแจ้ง

ศีลคือการอบรมตนเพื่อพรหมจรรย์หรือเพื่อความบริสุทธิ์แห่งจิต

สีลัพพตปรามาสคือยึดมั่นถือมั่นในศีลเพื่อแสวงหาอามิส เพื่อลาภ เพื่อยส เพื่อสรรเสริญ เพื่อบำรุงขันธ์ ไม่ใช่การละการ,การสลัดออก,การหลุดพ้น สักแต่ทำตามกันมาด้วยความงมงายไม่รู้ว่าทำไปเพื่ออะไรไม่ใช่ด้วยปัญญา

ศีลที่บริสุทธิ์ทำให้สามารถควบคุมจิตให้ตั้งมั่น (มีสมาธิ) เมื่อมีสมาธิก็เห็นสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริงได้ จึงจะรู้แจ้งเห็นปฎิจจสมุปบาท เมื่อเห็นดังนั้นก็เกิดความเกรงกลัววิบากกรรมทั้งที่เป็นอกุศลและกุศล จึงเบื่อหน่าย เมื่อเบื่อหน่ายจึงคลายกำหนัด เมื่อคลายกำหนัดจึงปล่อยวางสิ่งใดๆ ในโลกนี้ เพื่อความความหลุดพ้น

สาธุ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ