การดับ กับ การสะสมของจิต (เมื่อดับแล้วจะสะสมอย่างไร)
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
กราบเท้าอาจารย์ทุกท่านด้วยความเคารพอย่างสูง
มีข้อรบกวนเรื่องคำถาม ดังนี้ครับ
๑. คำว่า สันตานะ (สันดาน) กับ คำว่า วาสนา ความหมายเหมือนกันหรือไม่ครับ
๒. เมื่อคนตาย เราจะอธิบายอย่างนี้ได้ไหมครับ ว่า ขันธ์ทั้ง ๕ ดับ
กายดับ (รูป)
ความรู้สึกดับ (นาม) เจตสิก
ความจำดับ (นาม) เจตสิก
ความคิดนึกดับ (นาม) เจตสิก
จิตดับ (นาม)
ขันธ์ทั้ง ๕ ดับ ดับแล้วก็มีเพียงจิตที่ไปจุติใหม่ ตามภูมิที่จะไปรับผลของกรรม ผมเลยไม่ชัดเจนว่า ขันธ์ที่ ๑-๕ ดับแล้วแน่ๆ แสดงว่าไม่มีแล้ว จะมีจิตไปจุติใหม่เพียงจิตนั้น แล้วนิสัยคล้ายๆ เดิม ได้อย่างไร
ซึ่งเข้าใจครับว่า ทุกอย่างมีการเกิดดับตลอดเวลา แต่กรณีนี้อยากสอบถามเรื่อง การตายจากภพนี้ ซึ่งตั้งแต่เกิดมีการสะสมนิสัยต่างๆ มา เช่นมีจำ จำหน้าพ่อแม่เมื่อตาย ไปเกิดภพใหม่ ก็ไม่สามารถจำหน้าพ่อแม่ได้ ทั้งที่ สัญญาเจตสิกมีเกิดจำ และ เกิดกับจิต เมื่อเกิดใหม่ คำว่าการสะสมมีอยู่ ทำไมถึงจำไม่ได้ หรือว่า คำว่าสะสมคือสะสมนิสัย ไม่สะสมการจำ แต่ การสะสมเป็นลักษณะของสภาพธรรมใดครับ แต่จะว่าไปทุกสภาพธรรมก็ต้องดับ ผมเลยสับสนว่า ระหว่างคำว่า การสะสม กับคำว่า การดับ (มาณว่า ดับแล้วจะสะสมอย่างไรน่ะครับ)
๓. จิตที่สะสม เป็น สภาพธรรมใดครับ
ต้องกราบขออภัยอาจารย์ทุกท่านด้วยครับ เพราะ คำถามก็ดูจะถามแบบ งงๆ ผมรบกวนสอนละเอียดมากๆ ด้วยนะครับ
ขอแสดงความนับถืออย่างสูง
วาสนา คือ ความประพฤติทั้งทางที่ดีและไม่ดีสะสมอบรมมาแต่ชาติก่อนๆ หมายถึง การสะสมอุปนิสสัยซึ่งเป็นความเคยชินที่ได้ประพฤติมาแล้วในกาลก่อน จนไม่สามารถที่จะละได้ เช่น บางคนเป็นผู้ที่ทำอะไรเร็ว เดินเร็ว พูดเร็ว ทานอาหารเร็ว หรือบางท่านมีกิริยาอาการที่ไม่น่าเลื่อมใส ในพระไตรปิฎกมีตัวอย่างแสดงว่า ...
วัสสการพราหมณ์ซึ่งเป็นมหาอำมาตย์แห่งเมืองราชคฤห์ เห็นท่านพระมหา-กัจจายนเถระซึ่งเป็นพระอรหันต์เดินลงมาจากภูเขา ก็ได้กล่าวว่าท่านผู้นี้มีกิริยาอาการคล้ายลิง เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงทราบ จึงให้ขอขมาโทษต่อท่านพระมหากัจจายนเถระไม่เช่นนั้นเมื่อวัสสการ พราหมณ์สิ้นชีวิตแล้ว จะไปเกิดเป็นลิงในป่าไผ่ แต่ด้วยมานะกิเลสของวัสสการพราหมณ์ จึงไม่ยอมขอขมาโทษ และยังให้บริวารไปปลูกไม้ผลต่างๆ เพื่อที่เมื่อตนตายไปเกิดเป็นลิงแล้วจะได้มีผลไม้กิน ในที่สุดวัสสการพราหมณ์ก็ได้สิ้นชีวิตแล้วไปเกิดเป็นลิงจริงๆ
การสะสมอุปนิสัยของท่านพระมหากัจจายนเถระ ทำให้มีอาการบางอย่างที่ไม่น่าเลื่อมใสต่อผู้ที่พบเห็น ซึ่งอาการเหล่านี้เรียกว่า วาสนา แม้เป็นพระอรหันต์หรือพระปัจเจกพุทธเจ้าก็ละไม่ได้ นอกจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น ที่สะสมอบรมปัญญาบารมีมาเพื่อเกื้อกูลสัตว์โลก จึงต้องสมบูรณ์พร้อมทุกอย่าง แม้พระรูปกายและกิริยาอาการก็ต้องเป็นที่น่าเลื่อมใส พระองค์จึงทรงละกิเลสได้พร้อมทั้งวาสนาซึ่งเป็นอาการกิริยาที่ไม่ดี
ส่วนคำถามเรื่องการสะสม มีคำตอบอยู่แล้วในคำบรรยายท่าน
อาจารย์สุจินต์ ดังนี้ครับ
สันดานคืออะไร
มธุรส อาจารย์ใช้คำว่า “สั่งสมสันดาน” คำว่า “สันดาน” หมายความว่าอะไรคะ
สุ. อันนี้คุณสุภีร์ช่วยอธิบาย
สุภีร์ สันดานคือการสืบต่อ ภาษาบาลี คือ สันตาน แปลว่า การสืบต่อ
มธุรส คำว่า สันตาน ต้องเป็นเรื่องของจิตอย่างเดียว จะเป็นรูปได้หรือเปล่าคะ เพราะการสืบต่อก็มีรูปด้วย
สุภีร์ ก็มีทั้งนามทั้งรูป ถ้าเป็นขันธสันตาน ก็คือการสืบต่อของขันธ์ ถ้าเป็นจิตสันตานก็เป็นการสืบต่อของจิต ก็คือการเกิดดับสืบต่อกันมาเรื่อยๆ ของขันธ์ทั้งหลาย เรียกว่าสันตาน ถ้าเป็นในอำนาจของชวนวิถีก็เป็นของจิต
มธุรส สรุปแล้วจิตก็มีการเกิดดับสืบต่อ สั่งสมสันดาน สะสมการสืบต่อ และไปเกี่ยวกับเรื่องของกุศล อกุศลอย่างไรคะ
สุ. จิตเกิดแล้วดับไหมคะ
มธุรส ดับค่ะ
สุ. แล้วไม่มีจิตอื่นเกิดต่อเลยหรือว่าทันทีทีจิตขณะแรกดับ ก็เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิด
มธุรส เป็นค่ะ
สุ. เป็นอนันตรปัจจัยและสมันตรปัจจัย อนันตรปัจจัยหมายความถึงทันทีที่นามธรรม คือจิตและเจตสิกดับ ถ้าไม่มีปัจจัยในจิตขณะก่อน จิตขณะต่อไปจะเกิดไม่ได้เลย แต่เพราะจิตก่อนที่ดับไปเป็นอนันตรปัจจัย ให้กับจิตที่เกิดต่อเป็นปัจจุยุปบัน เกิดสืบต่อเป็นผล เพราะฉะนั้นก็จะเข้าใจได้ว่า นี่เป็นปัจจัยหนึ่ง แต่สำหรับสมันตรปัจจัยกำกับไว้เลยว่า เมื่อเป็นปฏิสนธิจิต สภาพของปฏิสนธิจิต นอกจากจะเป็นอนันตรปัจจัยแล้ว ก็เป็นสมันตรปัจจัย หมายความว่าตัวของเขาเองจะต้องให้จิตตัวที่เกิดต่อ เป็นจิตประเภทไหน ด้วยดี หมายความว่าจิตอื่นจะเกิดไม่ได้ หรือว่าเมื่อปัญจทวาราวัชชนจิตทางตา หู จมูก ลิ้น กาย หรือมโนทวาราวัชชนจิตดับไป ตัวอาวัชชนจิตเป็นอนันตรปัจจัยและสมันตรปัจจัยว่า หลังจากที่ปัญจทวาราวัชชนจิตดับแล้ว ต้องเป็นวิญญาณ ๑ ใน ๑๐ ดวง ในทวิปัญจวิญญาณดวงหนึ่งดวงใด เพราะฉะนั้นการเกิดดับสืบต่อของจิตก็เป็นไปตามปัจจัยที่ว่า ไม่ใช่จิตขณะหนึ่งเกิดแล้วดับ แล้วสูญหายไปเลย แต่จะเป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิด แต่จิตเก่าดับไปแล้ว ไม่กลับมาอีกเลย หมดเลย หลังภังคขณะแล้วก็คือไม่มีอีก แต่ก็เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิด เว้นจุติจิตของพระอรหันต์เท่านั้นเพราะฉะนั้นการสะสมสืบต่อของจิตต้องมี จากขณะแรกที่เกิดแล้วดับไป ก็เป็นปัจจัยให้ขณะต่อมาสืบต่อทุกอย่างจากจิตขณะแรกที่ดับไป และถ้าศึกษาต่อไปก็จะมีโดยอนันตรูปนิสสยปัจจัย หมายถึงการสืบต่อที่สะสมมามีกำลังที่จะทำให้จิตประเภทไหนเกิดขึ้น ก็เป็นเรื่องที่เราจะต้องค่อยๆ เข้าใจว่า การสะสมสันดาน หรือสันตาน ก็คือเมื่อจิตเกิดแล้วก็ดับ แล้วก็เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดแล้วก็ดับ เพราะฉะนั้นแต่ละคนก็จะมีสิ่งที่สะสมมาจากชวนวิถีต่างกัน บางคนเป็นอกุศลมากตรงชวนวิถี ก็จะเป็นปัจจัยให้เขามีอกุศลประเภทนั้นๆ ถ้าเป็นคนที่มีโลภะมาก ก็แสดงว่าโลภมูลจิตของเขาเกิดตรงชวนะบ่อย โลภมูลจิตจะไม่เกิดที่อื่นเลย นอกจากทำกิจชวนะ หลังจากที่โวฏฐัพพนะดับไปแล้ว ก็จะเป็นโลภมูลจิต บางคนก็ช่างหงุดหงิด ทุกอย่างก็ดีหมด แต่เขาก็โกรธ นั่นก็หมายความเขาสะสมโทสะมาก
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ความเป็นจริงของธรรมเป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น สันตานะเป็นความเกิดดับสืบต่อของขันธ์ คือ จิต เจตสิก รูป ซึ่งไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ แต่ถ้ากล่าวถึงวาสนาแล้วก็คือความประพฤติที่เคยชิน ซึ่งไม่พ้นไปจากความเกิดขึ้นเป็นไปของจิต และเจตสิกธรรมที่เกิดร่วมด้วย และเพราะมีจิต เจตสิก เกิดขึ้นจึงทำให้มีความเคลื่อนไหวทางกายและทางวาจาตามควรแก่จิตที่เกิดขึ้นเป็นไปในขณะนั้น ตามความประพฤติเป็นไปของแต่ละคน
ต้องเข้าใจถึงความเป็นจริงของจิตคือ เกิดดับสืบต่อกันอย่างไม่ขาดสาย จิตขณะสุดท้ายในภพนี้ชาตินี้ คือ จุติจิตเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ ซึ่งในขณะที่จุติจิตเกิดขึ้น ก็มีเจตสิกประการต่างๆ เกิดร่วมด้วย เกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกันและรูปที่เกิดเพราะกรรม ก็ดับพร้อมกับจุติจิต ตราบใดก็ตามที่ยังไม่ใช่พระอรหันต์ตายแล้วก็ต้องเกิด สิ่งที่เคยสะสม ไม่สูญหายไปไหน สะสมสืบต่ออยู่ในจิตทุกขณะ ซึ่งเมื่อจุติจิตดับไป ปฏิสนธิจิตก็เกิดสืบต่อทันที มีสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม เกิดขึ้นเป็นไปอีก การสะสมต้องเป็นนามธรรม คือจิตกับเจตสิกเท่านั้น รูปธรรม ไม่ใช่สภาพรู้ จึงสะสมไม่ได้ ครับ
ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ
จิต เจตสิก รูป เกิดดับทุกขณะ จิตดวงหนึ่งดับไปเป็นปัจจัยให้จิตดวงใหม่เกิด เช่น ถ้าสะสมความดีบ่อยๆ เนื่องๆ ก็จะเป็นเหตุให้จิตประเภทนั้นเกิดอีกบ่อยๆ ค่ะ