มีกระแส เบี่ยงอภิธรรม เป็น สติปัฏฐาน 4 อริยมรรคมีองค์8 และอื่น ๆ ไปเสีย

 
govit2553
วันที่  20 พ.ย. 2556
หมายเลข  24044
อ่าน  1,594

[๔๔] พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เป็นอันว่าพวกเธอมีความดำริในเราอย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคผู้อนุเคราะห์ แสวงหาประโยชน์เกื้อกูล อาศัยความ อนุเคราะห์แสดงธรรม เพราะฉะนั้นแล ธรรมเหล่าใด อันเราแสดงแล้วแก่เธอ ทั้งหลายด้วยความรู้ยิ่ง คือ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ เธอทั้งปวงพึงเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน ยินดีต่อกัน ไม่วิวาทกัน ศึกษาอยู่ในธรรมเหล่านั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อ พวกเธอนั้นพร้อมเพรียงกัน ยินดีต่อกัน ไม่วิวาทกัน ศึกษาอยู่ จะพึงมีภิกษุ ผู้กล่าวต่างกันในธรรมอันยิ่ง เป็นสองรูป ฯ

ในบาลี ในส่วนของ ธรรมอันยิ่ง เขียนว่า ภิกขู อภิธัมเม นานาวาทา การเบี่ยงเบนอภิธรรม เพื่อจะไม่ยอมรับพระอภิธรรมปิฏก จะแก้ปัญหา ตรงนี้อย่างไรครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
govit2553
วันที่ 20 พ.ย. 2556

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการมีว่าสติปัฏฐาน ๔ ดังนี้เป็นต้น ทั้งโลกิยะและโลกุตระทีเดียว

บทว่า ตตฺถ ได้แก่ ในธรรม ๓๗ ประการนั้น

บทว่า สิยุ ํ แปลว่า พึงเป็น

บทว่า อภิธมฺเม ได้แก่ ในธรรมอันวิเศษยิ่ง อธิบายว่า ในโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการเหล่านี้

นี่เป็นส่วน อรรถกถาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 20 พ.ย. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ก่อนอื่นก็ต้องเข้าใจก่อนว่า พระอภิธรรม เป็นธรรมที่มีจริง ละเอียดโดยความเป็นธรรม ที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ใครๆ ก็เปลี่ยนแปลงสภาพธรรมนั้นๆ ไม่ได้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงตรัสรู้สภาพธรรมที่เป็นพระอภิธรรม ตามความเป็นจริง แล้วทรงแสดงให้สัตว์โลกได้เข้าใจตามความเป็นจริง พระอภิธรรม จึงไม่พ้นไปจากชีวิตประจำวัน เป็นธรรมที่มีจริงในขณะนี้ เช่น เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย คิดนึก กุศล อกุศล เป็นต้น นี้แหละคือ พระอภิธรรม เป็นสิ่งที่มีจริงในชีวิตประจำวัน

พระอภิธรรม ก็แสดงเพื่อให้ผู้ฟังได้เข้าใจตามความเป็นจริง ว่ามีแต่ธรรม ไม่ใช่เรา อันเป็นไปเพื่อละกิเลส คือ ความไม่รู้ และ เจริญขึ้นของปัญญา เพราะฉะนั้น เมื่อเป็นดังนี้ พระอภิธรรมก็เป็นพระพุทธพจน์ เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าเช่นกัน ดังเช่นที่พระพุทธองค์ทรงแสดว่า คำสอนใดเป็นไปเพื่อละคลายกิเลส มีความไม่รู้และเจริญขึ้นของกุศลและปัญญา เป็นคำสอนของเรา ดังนั้น การศึกษาธรรมจึงต้องเป็นผู้ละเอียด รอบคอบในการศึกษาพระธรรม จึงจะได้สาระจากพระธรรม คือ ความเห็นถูก และละคลายกิเลส ครับ

เพราะฉะนั้น จากคำถามที่ถามมา โดยยกพระสูตรส่วนอื่นมา กล่าวว่า พระอภิธรรม เป็นสติปัฏฐาน เป็นโพชฌงค์ หาก เป็นผู้เข้าใจถูกแล้ว ไม่มีอะไร พ้นจากพระอภิธรรมเลย เพราะ ไม่พ้นจากความเป็นธรรมที่เป็น จิต เจตสิก รูป สติปัฏฐาน ก็คือ จิต เจตสิก ที่เป็น มหากุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญา เพราะฉะนั้น สติปัฏฐาน ก็เป็นส่วนหนึ่งของอภิธรรม เพราะเป็นสภาพธรรมที่เป็น จิต เจตสิก และ โพชฌงค์ ก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ที่เป็นอภิธรรมเช่นกัน คือ เป็น มหากุศลจิตทีป่ระกอบด้วยปัญญา เป้นต้น ก็เป็น จิต เจตสิก โพชฌงค์ จึงเป็นส่วนหนึ่งของอภิธรรม แต่ไม่ใช่ อภิธรรมทั้งหมด เป็น สติปัฏฐาน และ โพชฌงค์ เพราะฉะนั้น คำว่า อภิธรรม ที่หมายถึง ธรรมที่ยิ่ง คือ ละเอียดยิ่งในตัวของสภาพธรรมเอง ที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงลักษณะได้ เพราะ เป็นสัจจะ ครับ

ดังนั้น ในพระสูตรที่ยก จึงเป็นการแสดงว่า ธรรมที่ละเอียดยิ่ง ที่เป็น โพชฌงค์ และสติปัฏฐาน เป็นอภิธรรม ซึ่ง หากได้อ่านคัมภีร์ พระอภิธรรมโดยละเอียด ในส่วนของคัมภีร์ วิภังค์ เล่ม 78 จะแสดง ทั้ง สติปัฏฐาน และ โพชฌงค์ด้วย อย่างละเอียด เพราะ ทั้ง สติปัฏฐาน และ โพชฌงค์ เป็นอภิธรรมด้วย รวมทั้ง แสดงเรื่อง ขันธ์ ธาตุ อายตนะ อื่นๆ ที่เป็นสภาพธรมที่มีจริง ที่เป็นส่วนของอภิธรรม ครับ เพราะฉะนั้น ผู้ที่ละเอียดในการศึกษา ไม่ใช่เพียงจับส่วนหนึ่งส่วนใดมา โดยไม่ได้เข้าใจความหมายของอภิธรรม และ ไม่ได้ศึกษาอภิธรรมโดยละเอียดก็จะทำให้เข้าใจผิดได้ ครับ เพราะพระอภิธรรมเป็นสภาพธรรมที่มีจริง เพราะฉะนั้น ทุกสิ่งที่เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ก็ไม่พ้นจากอภิธรรม ครับ ดังนั้น การจะปฏิเสธ หรือยอมรับในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง สำคัญ คือ จะต้องศึกษาอย่างละเอียดรอบคอบ จึงจะปฏิเสธ หรือ ยอมรับได้ แม้แต่ มีคนกล่าวว่า 1+1 เป็น 2 สำหรับผู้ที่ยังไม่เคยเรียนคณิตศาสตร์ ก็อาจจะไม่รู้ และไม่ควรยอมรับ หรือปฏิเสธทันที ต่อเมื่อได้ศึกษาแล้ว จึงจะปฏิเสธ หรือ ยอมรับได้ แต่ สำหรับผู้ที่ได้ศึกษาวิชา คณิตศาสตร์ ย่อมรู้ตามความเป็นจริงเช่นนั้นได้ ว่า 1+1 เป็น 2 การจะเข้าใจพระอภิธรรม ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่มีจริงในชีวิตประจำวัน อันเป็นธรรมที่แสดงถึงความละเอียดลึกซึ้งของธรรม อย่างยิ่ง และ มีเหตุปัจจัยให้เกิดอย่างลึกซึ้ง ปัญหา ไม่ได้อยู่ที่ว่า อภิธรรม จะเป็นคำกล่าวของสาวก หรือพระพุทธเจ้า จึงไม่ศึกษา หรือปฏิเสธเพียงแค่นั้น เพราะตนเองยังไม่ศึกษาเหมือนอย่างว่า มีคนบอกว่าวิชาคณิตศาสตร์ ที่จะต้องใช้ในการเรียนตั้งแต่มัธยม มหาวิทยาลัย และ สำหรับประกอบอาชีพ แต่ มีคนบอกว่า 1+1 เท่ากับ 2 ก็ไม่เชื่อ และคิดเอาเองว่า คณิตศาสตร์ เป็นวิชาที่นักวิชาการคนนี้คิด หรือนักวิชาการอีกคนคิด ไม่รู้ว่าเป็นคนไหน สรุปคือ เพราะไม่รู้ว่าเป็นคนไหนคิดจึงปฏิเสธทันทีว่า 1+1 เท่ากับ 2 ไม่จริง และ ทั้งๆ ที่ตนเองก็ยังไม่ได้ศึกษาโดยละเอียดในวิชานั้น และเพียงไม่รู้ว่า วิชาคณิตศาสตร์ ใครเป็นคนคิดขึ้น ก็เลยปฏิเสธและดูหมิ่น วิชาคณิตศาสตร์ จึงไม่ยอมศึกษา และดูหมิ่น ทั้งๆ ที่ตนเองยังไม่ได้ศึกษา ย่อมไม่สมควร ฉันใด พระอภิธรรม หากผู้นั้นยังไม่ได้ศึกษา และไม่รู้ว่า เป็นคำสอนของสาวก หรือพระพุทธเจ้า เพราะ ไม่ได้เกิดจากการศึกษานั่นเอง จะปฏิเสธว่าพระอภิธรรม ไม่จริง และดูหมิ่นจึงไม่ศึกษาสมควรหรือไม่ นั่นก็ไม่เป็นเหตุ เป็นผล

ดังนั้น พระอภิธรรม ควรค่าต่อการศึกษา แต่ไม่ลืมว่า คนที่เห็นคุณค่าคือ คนที่สะสม ศรัทธา และ ปัญญามาในอดีต เพราะ พระธรรมไม่สาธารณะกับทุกคน จึงเป็นธรรมดาที่ความเห็นผิด ย่อมมีมากกว่าความเห็นถูก ดังนั้นจึงไม่สามารถ บังคับ จัดการ กับผู้ที่ไม่มีศรัทธา ในพระธรรมได้ เพราะ บุคคลเหล่านั้น ย่อมหาเหตุผล ที่จะปฏิเสธ โดยที่ไม่ศึกษาก่อนเป็นธรรมดา จึงควรกลับมาที่ตนเองควรจะศึกษาอย่างละเอียดรอบคอบ เพราะพระธรรมทุกคำมีค่า เพราะทำให้เกิดปัญญา อันเกิดจากการศึกษาด้วยตนเองเป็นสำคัญ ครับ

อภิธรรม ก็คือ สิ่งที่มีจริงๆ ในขณะนี้ ที่เราไม่เคยรู้มาก่อนว่าเป็นธรรม ว่าเป็นอภิธรรม ไม่ว่าจะกล่าวถึงเรื่องใดก็ตาม ก็ไม่พ้นไปจากอภิธรรมเลย เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส คิดนึก ความดี ความชั่ว เป็นต้น ล้วนเป็นธรรมที่มีจริง ที่เป็นอภิธรรม ทั้งสิ้น

เพราะฉะนั้น สำคัญที่การเริ่มต้น ด้วยการฟังด้วยการศึกษาพระธรรม เป็นปกติในชีวิตประจำวัน ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูก เห็นถูกไปทีละเล็ก ทีละน้อย เพราะฉะนั้นแล้ว กว่าจะได้เข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริงของสภาพธรรมตรงตามพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดง ก็ต้องเป็นการฟังด้วยการพิจารณาจริงๆ จึงจะสามารถรู้ในพระคุณ ที่ได้ทรงประจักษ์ความจริงของสภาพธรรม ถึงความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงพระธรรม โดยละเอียด โดยนัยประการต่างๆ ตลอด ๔๕ พรรษา ฟังแล้วก็ต้องฟังอีก แล้วก็ต้องมีการพิจารณาไตร่ตรอง ในสิ่งที่ได้ยิน ได้ฟังซึ่งเป็นเรื่องยากมาก การอบรมเจริญปัญญา ต้องเป็นไปตามลำดับ จริงๆ ที่สำคัญที่สุด คือ ไม่ขาดการฟังพระธรรม เป็นปกติในชีวิตประจำวัน ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 20 พ.ย. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ได้ฟังการสนทนาธรรมจากท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ มีตอนหนึ่งน่าพิจารณาทีเดียว ว่า "ไม่อยากศึกษาพระอภิธรรม ก็คือ ไม่อยากศึกษาธรรม"

ตามความเป็นจริงแล้ว พระธรรมคำสอน ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง นั้น เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกโดยตลอด เป็นไปเพื่อเข้าใจสภาพธรรม ที่มีจริงๆ ในขณะนี้ ซึ่งเป็นอภิธรรม ที่เป็นธรรมที่ละเอียดยิ่ง ปฏิเสธความเป็นตัวตนเป็นสัตว์ บุคคลอย่างสิ้นเชิง พระธรรม ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษา นับคำไม่ถ้วน ประมวลเป็นพระสุตตันตปิฎก บ้าง พระวินัยปิฎก บ้าง พระอภิธรรมปิฎก บ้าง ทั้งหมด ก็ไม่พ้นไปจาก เพื่อให้เข้าใจถูกเห็นถูก ในสภาพธรรม ตามความเป็นจริง แม้จะทรงแสดงพระธรรม โดยนัยที่เป็นพระสูตร หรือ พระวินัย ก็ไม่พ้นไปจาก ความเป็นไปของธรรม ที่เป็นอภิธรรม จะประมวลว่า พระพุทธพจน์ทั้งหมด เพื่อให้เข้าใจความเป็นอภิธรรมของสภาพธรรม ก็ได้ ดังนั้น พระอภิธรรม ก็เป็นพระพุทธพจน์ด้วย เป็นพระธรรมคำสอน ที่พระองค์ทรงแสดงเพื่อให้เข้าใจความเป็นจริงของสภาพธรรม ในขณะนี้ ไม่ว่าจะยกธรรมในหมวดใดมาแสดง ก็คือ สิ่งที่มีจริงๆ ทั้งหมด

ส่วนใหญ่เวลาได้ยินคำว่า อภิธรรม แล้วกลัว กลัวว่าจะเรียนไม่ได้ แต่แท้ที่จริงแล้ว อภิธรรม ก็คือ สิ่งที่มีจริงๆ ในขณะนี้ ที่เราไม่เคยรู้มาก่อนว่าเป็นธรรม ว่าเป็นอภิธรรม ไม่ว่าจะกล่าวถึงเรื่องใดก็ตาม ก็ไม่พ้นไปจากอภิธรรมเลย เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส คิดนึก ความดี ความชั่ว เป็นต้น ล้วนเป็นธรรมที่มีจริง ที่เป็นอภิธรรม ทั้งสิ้น

เพราะฉะนั้น สำคัญที่การเริ่มต้น ด้วยการฟังด้วยการศึกษาพระธรรม เป็นปกติในชีวิตประจำวัน ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูก เห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย การศึกษาพระธรรมที่ถูกต้องนั้น ต้องไม่ใช่แบบวิชาการ แต่เป็นไป เพื่อขัดเกลา ละคลายกิเลส มีความเห็นผิด ความไม่รู้ เป็นต้น ซึ่งจะลืมจุดประสงค์นี้ไม่ได้คือ อาศัยพระธรรมคำสอนเพื่อจะได้ขัดเกลาละคลายกิเลส ของตนเอง อบรมเจริญปัญญาสะสมเป็นที่พึ่งต่อไป

พระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงทั้งหมด เป็นเรื่องของการละตั้งแต่ต้น ถ้าคำสอนใดหรือหนทางไหน สอนเพื่อที่จะให้ได้ สอนให้ติดข้อง นั่นเท่ากับว่าเป็นการเพิ่มสมุทัย (เหตุแห่งทุกข์) คือความติดข้องต้องการ ไม่ใช่คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างแน่นอน รวมไปถึงสอนให้กระทำอะไร ด้วยความเห็นผิด ไม่รู้ หลงงมงาย นั่นก็ไม่ใช่คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เช่นเดียวกัน พระธรรมทั้งหมด ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ต้องเป็นไปเพื่อรู้ และขัดเกลา ละคลายกิเลส เท่านั้น

เพราะฉะนั้นแล้ว กว่าจะได้เข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริงของสภาพธรรมตรงตามพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดง ก็ต้องเป็นการฟังด้วยการพิจารณาจริงๆ จึงจะสามารถรู้ในพระคุณ ที่ได้ทรงประจักษ์ความจริงของสภาพธรรม ถึงความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงพระธรรม โดยละเอียด โดยนัยประการต่างๆ ตลอด ๔๕ พรรษา ฟังแล้วก็ต้องฟังอีก แล้วก็ต้องมีการพิจารณาไตร่ตรอง ในสิ่งที่ได้ยิน ได้ฟังซึ่งเป็นเรื่องยากมาก การอบรมเจริญปัญญา ต้องเป็นไปตามลำดับ จริงๆ ที่สำคัญที่สุด คือ ไม่ขาดการฟังพระธรรม เป็นปกติในชีวิตประจำวัน ครับ.

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
wannee.s
วันที่ 20 พ.ย. 2556

พระอภิธรรมเป็นธรรมที่ละเอียดลึกซึ้ง อย่างยิ่ง ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
papon
วันที่ 20 พ.ย. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
natural
วันที่ 20 พ.ย. 2556

พระธรรมไม่สาธารณะกับทุกคน หมายถึง ไม่ได้คิดจะฟังหรือฟังแล้วไม่เข้าใจคะ และถ้าไม่เคยฟังธรรมมาก่อนเลย รวมถึงที่ผ่านมาในอดีตชาติ จะสามารถเริ่มต้นฟังได้หรือไม่ แล้วมีเหตุอะไรบ้างที่จะทำให้เริ่มเกิดความเชื่อในธรรมะได้บ้างคะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
j.jim
วันที่ 21 พ.ย. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
raynu.p
วันที่ 21 พ.ย. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
paderm
วันที่ 21 พ.ย. 2556
อ้างอิงจาก : หัวข้อ 24044 ความคิดเห็นที่ 6 โดย natural

พระธรรมไม่สาธารณะกับทุกคน หมายถึง ไม่ได้คิดจะฟังหรือฟังแล้วไม่เข้าใจคะ และถ้าไม่เคยฟังธรรมมาก่อนเลย รวมถึงที่ผ่านมาในอดีตชาติ จะสามารถเริ่มต้นฟังได้หรือไม่ แล้วมีเหตุอะไรบ้างที่จะทำให้เริ่มเกิดความเชื่อในธรรมะได้บ้างคะ

พระธรรมไม่สาธารณะ หมายถึง เขาไม่ได้สะสมปัญญา ศรัทธามา ทำให้ไม่สนใจ แม้ได้ฟังก็ไม่สนใจ เป็นต้น แต่จะทำให้ มาสนใจได้ อาศัยกัลยาณมิตรเป็นสำคัญ ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
natural
วันที่ 21 พ.ย. 2556

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
pamali
วันที่ 21 พ.ย. 2556

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
เซจาน้อย
วันที่ 21 พ.ย. 2556

"ละเอียดลึกซึ้ง เห็นตามได้ยาก"

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
nopwong
วันที่ 22 พ.ย. 2556

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
peem
วันที่ 22 พ.ย. 2556

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
thilda
วันที่ 30 มี.ค. 2557

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ