เป็นผู้ว่าง่ายอย่างพระราธะ

 
PEERAPAT65
วันที่  26 พ.ย. 2556
หมายเลข  24084
อ่าน  2,310

[เล่มที่ 41] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 289

ภิกษุควรเป็นผู้ว่าง่ายอย่างพระราธะ

พระศาสดาครั้นตรัสชาดกปรารภพระเถระอย่างนั้นแล้ว ทรง ปรารภพระราธเถระ ตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย ธรรมดาภิกษุควรเป็น ผู้ว่าง่ายเหมือนราธะ, แม้อาจารย์ชี้โทษกล่าวสอนอยู่ ก็ไม่ควรโกรธ อนึ่ง ควรเห็นบุคคลผู้ให้โอวาท เหมือนบุคคลผู้บอกขุมทรัพย์ให้ฉะนั้น ดังนี้แล้ว เมื่อจะทรงสืบอนุสนธิแสดงธรรม ได้ตรัสพระคาถานี้ว่า :-

๑. ข. ชา. ๒๗/ข้อ ๑๖๑. อรรถกถา. ๓/๒๓.

๑. นิธีนํว ปวตฺตารํ ยํ ปสฺเส วชฺชทสฺสินํ นิคฺคยฺหวาทึ เมธาวึ ตาทิสํ ปณฺฑิตํ ภเช ตาทิสํ ภชมานสฺส เสยฺโย โหติ น ปาปิโย

"บุคคลพึงเห็นผู้มีปัญญาใด ซึ่งเป็นผู้กล่าว นิคคหะ ชี้โทษ ว่าเป็นเหมือนผู้บอกขุมทรัพย์ให้, พึงคบผู้มีปัญญาเช่นนั้น ซึ่งเป็นบัณฑิต, (เพราะว่า) เมื่อคบท่านผู้เช่นนั้น มีแต่คุณอย่างประเสริฐ ไม่มีโทษที่ลามก"

แก้อรรถ

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นิธีนํ ได้แก่ หม้อแห่งขุมทรัพย์อัน เต็มด้วยเงินทองเป็นต้น ซึ่งเขาฝังเก็บไว้ในที่นั้นๆ

บทว่า ปวตฺตารํ คือ เหมือนอย่างผู้ทำความอนุเคราะห์คนเข็ญใจ ซึ่งเป็นอยู่โดยฝืดเคือง แล้วชักชวนว่า "ท่านจงมา เราจักชี้อุบาย เลี้ยงชีพโดยสะดวกแก่ท่าน" ดังนี้แล้ว นำไปยังที่ขุมทรัพย์แล้ว เหยียด มือออกบอกว่า "ท่านจงถือเอาทรัพย์นี้เลี้ยงชีพตามสบายเถิด" วินิจฉัยในบทว่า วชฺชทสฺสินํ ภิกษุผู้ชี้โทษมี ๒ จำพวก คือ ภิกษุคอยแส่หาโทษ ด้วยคิดว่า "เราจักข่มภิกษุนั้นด้วยมารยาทอันไม่ สมควร หรือด้วยความพลั้งพลาดอันนี้ในท่ามกลางสงฆ์" ดังนี้ จำพวก ๑ ภิกษุผู้ดำรงอยู่แล้วตามสภาพ ด้วยสามารถแห่งการอุ้มชูด้วยการแลดูโทษ นั้นๆ เพื่อประโยชน์จะให้รู้สิ่งที่ยังไม่รู้ เพื่อต้องการจะได้ตามถือเอาสิ่ง ที่รู้แล้ว เพราะความเป็นผู้ปรารถนาความเจริญแห่งคุณมีศีลเป็นต้นแก่ผู้นั้น จำพวก ๑ ภิกษุจำพวกหลังนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประสงค์ ในบทว่า วชฺชทสฺสินํ นี้. คนเข็ญใจถูกผู้อื่นคุกคามก็ดี ตีก็ดี ชี้ขุมทรัพย์ ให้ว่า "แกจงถือเอาทรัพย์นี้" ย่อมไม่ทำความโกรธ มีแต่ปราโมทย์ อย่างเดียว ฉันใด; เมื่อบุคคลเห็นปานดังนั้น เห็นมารยาทมิบังควรก็ดี ความพลั้งพลาดก็ดี แล้วบอกอยู่. ผู้รับบอกไม่ควรทำความโกรธ ควร เป็นผู้ยินดีอย่างเดียว ฉันนั้น, ควรปวารณาทีเดียวว่า "ท่านเจ้าข้า กรรมอันใหญ่ อันท่านผู้ตั้งอยู่ในฐานะเป็นอาจารย์ เป็นอุปัชฌาย์ ของกระผมแล้ว สั่งสอนอยู่กระทำแล้ว, แม้ต่อไป ท่านพึงโอวาทกระผม" ดังนี้

บทว่า นิคฺคยฺหวาทึ ความว่า ก็อาจารย์บางท่านเห็นมารยาท อันมิบังควรก็ดี ความพลั้งพลาดก็ดี ของพวกศิษย์มีสัทธิวิหาริกเป็นอาทิ แล้ว ไม่อาจเพื่อจะพูด ด้วยเกรงว่า "ศิษย์ผู้นี้อุปัฏฐากเราอยู่ด้วยกิจวัตร มีให้น้ำบ้วนปากเป็นต้น แก่เรา โดยเคารพ; ถ้าเราจักว่าเธอไซร้, เธอจักไม่อุปัฏฐากเรา, ความเสื่อมจักมีแก่เรา ด้วยอาการอย่างนี้" ดังนี้ ย่อมหาชื่อว่าเป็นผู้กล่าวนิคคหะไม่ เธอผู้นั้นชื่อว่าเรี่ยรายหยากเยื่อ, ลงในศาสนานี้. ส่วนอาจารย์ใด เมื่อเห็นโทษปานนั้นแล้ว คุกคาม ประณาม ลงทัณฑกรรม ไล่ออกจากวิหาร ตามสมควรแก่โทษ ให้ศึกษาอยู่. อาจารย์นั้น ชื่อว่าผู้กล่าวนิคคหะ แม้เหมือนอย่างพระสัมมาสัมพุทธเจ้า. สมจริงอย่างนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสคำนี้ไว้ว่า

"ดูก่อนอานนท์เราจักกล่าวข่มๆ ดูก่อนอานนท์ เราจักกล่าวยกย่องๆ ผู้ใดเป็นสาระ, ผู้นั้นจักดำรงอยู่ได้."

บทว่า เมธาวึ คือ ผู้ประกอบด้วยปัญญาอันรุ่งเรืองในธรรม.

บทว่า ตาทิสํ เป็นต้น ความว่า บุคคลพึงคบ คือพึงเข้าไปนั่งใกล้ บัณฑิตเห็นปานนั้น, เพราะเมื่ออันเตวาสิกคบอาจารย์เช่นนั้นอยู่, คุณอย่างประเสริฐย่อมมี โทษที่ลามกย่อมไม่มี คือมีแต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเสีย.

ในที่สุดเทศนา ชนเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผล เป็นต้น ดังนี้แล.

เรื่องพระราธเถระ จบ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 7 มิ.ย. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ