เหมือนไฟไหม้บนศีรษะ
เหมือนไฟไหม้บนศีรษะ คำนี้ หมายความว่าอย่างไรครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ ๑๒๓
สัตติสูตร
ผู้ปฏิบัติควรทำตัวเหมือนถูกหอก
[๕๖] เทวดานั้น ครั้งยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กล่าว คาถานี้ ในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ภิกษุพึงมีสติ เว้นรอบเพื่อการละกาม ราคะ เหมือนบุรุษที่ถูกประหารด้วยหอก มุ่งถอนเสีย และเหมือนบุรุษที่ถูกไฟไหม้บนศีรษะ มุ่งดับไฟ ฉะนั้น
[๕๗] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสพระคาถาว่า ภิกษุพึงมีสติ เว้นรอบเพื่ออันละสักกายทิฏฐิ เหมือนบุรุษถูกประหารด้วยหอก และเหมือนบุรุษที่ถูกไฟไหม้บนศีรษะ
[เล่มที่ 38] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕- หน้า๑๖๘
สจิตตวรรคที่ ๑
๑. สจิตตสูตร
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุคคลผู้มีผ้าอันไฟไหม้ หรือ มีศีรษะอันไฟไหม้ พึงทำความพอใจ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความ ขะมักเขม้น ความไม่ท้อถอย สติและสัมปชัญญะ ให้มีประมาณยิ่ง เพื่อดับไฟไหม้ผ้าหรือไฟไหม้ศีรษะนั้น ฉันใด ภิกษุนั้น ก็พึงทำความพอใจ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความขะมักเขม้น ความไม่ท้อถอย สติและสัมปชัญญะ ให้มีประมาณยิ่ง เพื่อละธรรมทั้งหลายที่เป็นบาปอกุศลเหล่านั้น ฉันนั้นเหมือนกัน
ขออนุญาตยกข้อความบรรยายจากท่านอาจารย์สุจินต์ดังนี้
บางท่าน อาจจะเคยได้ยินเรื่องของการควร ที่จะมีความเพียร อบรมเจริญปัญญา "ในขณะนี้ เหมือนบุคคล ที่กำลังมีไฟไหม้อยู่บนศรีษะ" หมายถึง "ขณะนี้" (ไฟกำลังไหม้อยู่) ใน "ขณะที่ สติไม่เกิด" ไม่ใช่ว่าจะรอไปจนถึงสถานที่หนึ่ง สถานที่ใดเพื่อที่จะไป "ดับไฟ" ถ้า "ไฟ" กำลังไหม้อยู่ ก็คือขณะที่ "สติ" ไม่เกิด ขณะใด "ขณะนั้น" คือ ไฟกำลังไหม้อยู่ เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญปัญญาจึงเป็น "ขณะนี้ เดี๋ยวนี้"
ขออนุโมทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขออนุญาตแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม ครับ
[เล่มที่ 25] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ หน้า ๒๖
พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสว่า
“อายุ ของมนุษย์ทั้งหลาย น้อย, คนดีควรดูหมิ่นอายุนั้นเสีย ควรประพฤติดุจคนที่ถูกไฟไหม้ศีรษะ ฉะนั้น การที่มัจจุ (ความตาย) จะไม่มาถึงนั้น จะไม่มีเลย”
(จาก ... พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค ปฐมอายุสูตร)
บุคคลผู้เกิดมาแล้ว ย่อมหลีกหนีความตายไปไม่พ้น และไม่มีใครสามารถทราบได้ว่าเมื่อละจากโลกนี้ไปแล้วจะไปเกิดในภพภูมิใด ถ้าหากไปเกิดในอบายภูมิ ย่อมหมดโอกาสที่จะได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม พิจารณาพระธรรม ไม่มีโอกาสที่จะอบรมเจริญปัญญาเพื่อรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ ฉะนั้นแล้ว ทุกๆ วันจึงเป็นโอกาสที่ดี ที่จะทำชีวิตที่ยังเหลืออยู่นี้ ให้เป็นชีวิตที่มีค่ามากที่สุด เพราะขณะนี้ ทุกคนยังเต็มไปด้วยกิเลส และนับวันมีแต่จะสะสมกิเลสเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงควรอย่างยิ่งที่จะเป็นผู้ไม่ประมาท ถึงเวลาแล้วที่จะฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญาเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกในสิ่งที่มีอยู่จริงที่กำลังปรากฏในขณะนี้ เพื่อละความไม่รู้ เมื่อปัญญาค่อยๆ เจริญขึ้น ย่อมจะมีความละอาย มีความเกรงกลัวต่ออกุศลกรรม ค่อยๆ ขัดเกลากิเลสที่มีอยู่อย่างมากมาย และไม่ประมาทที่จะอบรมเจริญกุศลทุกประการก่อนที่วันนั้น (วันตาย) จะมาถึง ท่านจึงเปรียบให้เห็นอย่างชัดเจนว่า พึงมีความเพียร เริ่มสะสมกุศลตั้งแต่เดี๋ยวนี้ เหมือนกับบุคคลผู้ถูกไหม้ศีรษะอยู่ มีความเพียร มีความอุตสาหะ เพื่อที่จะดับไฟ ฉะนั้น, ถ้ายังประมาทอยู่ ยังคงเพลิดเพลินมัวเมาอยู่ สังสารวัฎฎ์ก็ย่อมยึดยาวต่อไปอีก, ที่สำคัญที่สุดขณะนี้จึงประมาทไม่ได้เลยทีเดียว เพราะเหตุว่าชีวิตนี้ สั้นแสนสั้น พึงรีบสะสมกุศล พร้อมทั้งอบรมเจริญปัญญา เพื่อขัดเกลากิเลสของตนเอง ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ไฟไหม้บนศีรษะ คือ ให้เป็นผู้ไม่ประมาทในการเจริญสติปัฏฐานทุกเมื่อ ค่ะ
"ขณะอย่าได้ล่วงเลยท่านทั้งหลายไปเสีย"
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ