อยากทราบว่าจะเกิดสติปัฏฐานเมื่อไหร่

 
ธรรมทัศนะ
วันที่  30 พ.ย. 2549
หมายเลข  2413
อ่าน  1,097

สติปัฏฐาน เป็นมหากุศลที่ประกอบด้วยปัญญา มีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์สติปัฏฐาน เป็นอนัตตา จะบังคับให้เกิดขึ้นตามความต้องการไม่ได้ แต่จะเกิดขึ้นเมื่อมีปัจจัยที่เหมาะสม คือ การศึกษาพระธรรมที่ถูกต้อง และมีความเข้าใจในปรมัตถธรรมพอสมควร เป็นผู้มั่นคงในเหตุผลตามความเป็นจริง มีสัญญาอันมั่นคงในปรมัตถ-ธรรมว่า ทั้งหมดที่กำลังปรากฏเป็นเพียงนามธรรมและรูปธรรม ฯ

เมื่อไหร่ก็เมื่อนั้นนะคะ แต่ขอให้มีความเข้าใจจนเป็นสัจจญาณก่อน แล้วกิจญาณ (เมื่อสติปัฏฐานเกิด) จะมีได้เมื่อเหตุนั้นสมควรแก่ผล ควรศึกษาธรรมเพื่อความเข้าใจอย่างเดียว ความเข้าใจนี่แหละค่ะ คือ ปัญญา ที่จะสะสมเพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ เหมือนกับการจับด้ามมีด ที่ค่อยๆ สึกไป ที่ละน้อย ทีละน้อย


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
pornchai.s
วันที่ 1 ธ.ค. 2549

เบื้องต้นต้องเข้าใจ ความต่างกัน ของ มีสติ กับหลงลืมสติ และความต่างกันของกุศลจิตและอกุศลจิต ก่อน เพราะสติเจตสิก เกิดกับกุศลจิต (สติเจตสิกเป็นเจตสิกฝ่ายดี หรือ โสภณเจตสิก) ไม่เกิดกับอกุศลจิต ดังนั้น ในชีวิตประจำวัน ถ้า แยกความต่างกัน ของ กุศลจิต และ อกุศลจิต ไม่ออก ก็ไม่สามารถอบรมเจริญวิปัสสนา (สติปัฏฐาน) ได้

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
เต้ย
วันที่ 1 ธ.ค. 2549

ข้อความบางตอนจาก นาวาสูตร

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้าที่ 349

[๒๖๒] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย รอยนิ้วมือ หรือรอยหัวแม่มือของช่างไม้หรือลูกมือของช่างไม้ ย่อมปรากฏ ด้ามมีดให้เห็น แด่ว่าช่างไม้ หรือลูกมือของช่างไม้นั้นหารู้ไม่ว่า วันนี้ด้ามมีดของเราสึกไปเท่านี้ วานนี้สึกไปเท่านี้ วานซืนนี้สึกไปเท่านี้ มีความรู้แต่เพียงว่า ด้ามมีดนั้นสึกๆ แม้ฉันใด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบเนืองๆ ซึ่งภาวนานุโยคอยู่ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ถึงแม้จะไม่มีความรู้อย่างนี้ว่าวันนี้ อาสวะทั้งหลายของเราสิ้นไปเท่านี้ วานนี้สิ้นไปเท่านี้ วานซืนนี้สิ้นไปเท่านี้ ก็จริง แต่เธอก็รู้ว่าสิ้นไปแล้วๆ . ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อเรือเดินสมุทร ที่เขาผูกด้วยเชือกผูกคือหวาย แช่อยู่ในน้ำ ๖ เดือน ในฤดูหนาว ลากขึ้นบก เชือกคือหวาย ที่ถูกลมและแดดพัดเผา ถูกเมฆฝนตกชะรด ก็จะเปื่อยผุไป โดยไม่ยากฉันใด ดูก่อนภิกษุทั้งหลายเมื่อภิกษุประกอบเนืองๆ ซึ่งภาวนานุโยคอยู่ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน สัญโญชน์ก็จะเสื่อมสิ้นไปโดยไม่ยากเลย.

ฟังจนเข้าใจ จนสติระลึก นั่นแหละจับด้ามมีด

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ดิน
วันที่ 4 ธ.ค. 2549

ที่ว่าพิจารณากายในกาย พิจารณาเวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรมหมายความว่าอย่างไรครับ

ความรู้เดิมนั้น ศึกษาจากอานาปานสติ (กาย) มัวแต่กำหนดลมหายใจจนทำงานไม่คล่อง รู้สึกอึดอัด แต่วิธีนี้ (อานาปานสติ) พระพุทธเจ้าก็ตรัสไว้ แต่พอได้ฟังเทปของท่านอาจารย์สุจินต์ ให้พิจารณาสภาพธรรมตามความเป็นจริงที่ปรากฎทางตาหู จมูก ลิ้น กาย ใจ (ความคิด) ว่าเป็นรูป ที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป จนรู้ว่ารูปที่เราสัมผัสได้นั้ น ถ้าไม่เอาจิตไปสัมผัสก็จะไม่เกิดอารมณ์ รู้สึกว่าถูกกับจริตกับผม ผมควรจะใช้วิธีไหนดีครับ หรือว่าทั้ง 2 วิธีนี้ ถูก แต่ขึ้นกับจริตของแต่ละคนว่าเหมาะสมกับวิธีไหน

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
paderm
วันที่ 5 ธ.ค. 2549

อย่างแรกต้องเข้าใจคำว่า อนัตตา ก่อนครับ อนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ เพราะไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล สติก็เป็นธัมมะอย่างหนึ่ง เป็นอนัตตาด้วย บังคับบัญชาให้สติเกิดตามใจเราไม่ได้ ต้องมีเหตุปัจจัยพร้อมสติจึงจะเกิด ดังนั้น จึงไม่มีตัวตน เอาสติไประลึกที่สภาพธํมมะนั้นสภาพธัมมะนี้ ถ้าเข้าใจความเป็นอนัตตา แม้ขั้นการฟังถูกต้องก็จะเป็นพื้นฐานของการเจริญสติปัฏฐานที่ถูกต้องด้วยครับ และเหตุปัจจัยที่สติ-ปัฏฐานจะเกิด คือ เข้าใจเสียก่อนว่า ธรรมคืออะไร เมื่อฟังจนเข้าใจแล้ว เมื่อเหตุปัจจัยพร้อม สติปัฏฐานก็สามารถจะเกิดระลึกได้ครับ แต่ที่สำคัญต้องเริ่มจากความเข้าใจเรื่อง อนัตตา และธัมมะคืออะไร ซึ่งฟังได้ทางอินเตอร์เนท หรือวิทยุครับ ค่อยๆ ฟังไปนะครับ ถ้ามีอะไรสงสัยพร้อมที่จะเป็นกัลยาณมิตรครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ดิน
วันที่ 8 ธ.ค. 2549

ขอบคุณครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
saowanee.n
วันที่ 8 ธ.ค. 2549
ที่ว่าพิจารณากายในกาย ในส่วนของอานาปานสติ ไม่ใช่ให้จิตจดจ้องอยู่ที่ลมหายใจ แต่ให้พิจารณาจนเข้าใจว่า แม้แต่ส่วนที่ละเอียดที่สุดของกาย คือลมหายใจก็ไม่ใช่เรา เป็นเพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ขึ้นอยู่กับว่าสติจะระลึกรู้ที่รูปหรือที่นามที่กำลังปรากฎในขณะนั้น

ต้องไม่ลืมว่า สติปัฏฐานมีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ มิฉะนั้น จะไม่มีวันเข้าถึงความเป็นอนัตตาค่ะ

ศึกษาพระธรรมต่อไปนะคะ เพราะพระธรรมเป็นเครื่องลับปัญญา ให้มีความคมกล้ายิ่งขึ้นเรื่อยๆ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
Komsan
วันที่ 5 ม.ค. 2551
ขออนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
chatchai.k
วันที่ 27 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ