ขันธสูตร ว่าด้วยอริยสัจ ๔
[เล่มที่ 31] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้าที่ 429
๓. ขันธสูตร
ว่าด้วยอริยสัจ ๔
[๑๖๗๘] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสัจ ๔ เหล่านี้ อริยสัจ ๔ เป็นไฉน คือ ทุกขอริยสัจ ทุกขสมุทยอริยสัจ ทุกขนิโรธอริยสัจ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ.
[๑๖๗๙] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ทุกขอริยสัจเป็นไฉน ควรจะกล่าวได้ว่าอุปาทานขันธ์ ๕ อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นไฉน ได้แก่ อุปาทานขันธ์คือรูป อุปาทานขันธ์คือเวทนา อุปาทานขันธ์คือสัญญา อุปาทานขันธ์คือสังขาร อุปาทานขันธ์คือวิญญาณ นี้เรียกว่าทุกขอริยสัจ. [๑๖๘๐] ก็ทุกขสมุทยอริยสัจเป็นไฉน ตัณหาอันทำให้มีภพใหม่ประกอบด้วยความกำหนัด ด้วยอำนาจความพอใจ เพลิดเพลินยิ่งนักในอารมณ์นั้นๆ ได้แก่กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา นี้ เรียกว่า ทุกขสมุทยอริยสัจ
[๑๖๘๑] ก็ทุกขนิโรธอริยสัจเป็นไฉน ความดับด้วยการสำรอกโดยไม่เหลือแห่งตัณหานั้นแหละ ความสละ ความวาง ความปล่อย ความไม่อาลัยตัณหานั้น นี้เรียกว่า ทุกขนิโรธอริยสัจ
[๑๖๘๒] ก็ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจเป็นไฉน อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ นี้แหละ คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ นี้เรียกว่า ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ
[๑๖๘๓] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสัจ ๔ เหล่านี้แล เพราะเหตุนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงกระทำความเพียรเพื่อรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา
จบขันธสูตรที่ ๓