สังขิตตสูตร - สมณสูตร - ๐๒ ธ.ค. ๒๕๔๙

 
บ้านธัมมะ
วันที่  30 พ.ย. 2549
หมายเลข  2415
อ่าน  1,654

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส

พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ
ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ

••• ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย •••

ทุกวันเสาร์ ... ขอเชิญร่วมรายการ

สนทนาธรรมที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

พระสูตร ที่นำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ

วันเสาร์ที่ ๒ ธ.ค. ๒๕๔๙

เวลา ๐๙:๐๐ - ๑๒:๐๐น.

สังขิตตสูตร และ สมณสูตร

[เล่มที่ 37] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔

นำการสนทนาโดย..

ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และคณะวิทยากร

ขอเชิญท่านอ่านพระสูตรนี้ได้ในกรอบต่อไป ครับ ...


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 พ.ย. 2549

[เล่มที่ 37] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ หน้า 557

๓. สังขิตตสูตร

[๑๔๓] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ กูฏา คารศาลา ป่ามหาวัน ใกล้พระนครเวสาลี ครั้งนั้นแล พระนางปชาบดีโคตมีเสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วประทับยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมโดยย่อแก่หม่อมฉัน ซึ่งหม่อมฉันได้ฟังแล้ว จะพึงเป็นผู้หลีกออกจากหมู่ อยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยวอยู่เถิด.

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนโคตมี ท่านพึงรู้ธรรมเหล่าใดว่า ธรรมเหล่านี้เป็นไปเพื่อความกำหนด ไม่เป็นไปเพื่อความคลายกำหนัด เป็นไปเพื่อประกอบสัตว์ไว้ ไม่เป็นไปเพื่อ พรากสัตว์ออก เป็นไปเพื่อสั่งสมกิเลส ไม่เป็นไปเพื่อไม่สั่งสมกิเลส เป็นไปเพื่อความเป็นผู้มักมาก ไม่เป็นไปเพื่อความเป็นผู้มักน้อย เป็นไปเพื่อความไม่สันโดษ ไม่เป็นไปเพื่อความสันโดษ เป็นไปเพื่อความคลุกคลีด้วยหมู่คณะ ไม่เป็นไปเพื่อความสงัด เป็นไปเพื่อความเกียจคร้าน ไม่เป็นไปเพื่อปรารภความเพียร เป็นไปเพื่อความเป็นคนเลี้ยงยาก ไม่เป็นไปเพื่อความเป็นคนเลี้ยงง่าย ดูก่อนโคตมี ท่านพึงทรงจำไว้โดยส่วนหนึ่งว่า นี้ไม่ใช่ธรรม ไม่ใช่วินัย ไม่ใช่คำสั่งสอนของพระศาสดา

ดูก่อนโคตมี ท่านพึงรู้ธรรมเหล่าใดว่า ธรรมเหล่านี้เป็นไป เพื่อคลายกำหนัด ไม่เป็นไปเพื่อความกำหนัด เป็นไปเพื่อไม่ประกอบสัตว์ไว้ ไม่เป็นไปเพื่อประกอบสัตว์ไว้ เป็นไปเพื่อไม่ สั่งสมกิเลส ไม่เป็นไปเพื่อสั่งสมกิเลส เป็นไปเพื่อความเป็นผู้มักน้อย ไม่เป็นไปเพื่อความเป็นผู้มักมาก เป็นไปเพื่อสันโดษ ไม่เป็นไปเพื่อไม่สันโดษ เป็นไปเพื่อความสงัด ไม่เป็นไปเพื่อความคลุกคลีด้วยหมู่คณะ เป็นไปเพื่อปรารภความเพียร ไม่เป็นไปเพื่อความเกียจคร้าน เป็นไปเพื่อความเป็นคนเลี้ยงง่าย ไม่เป็นไปเพื่อความเป็นคนเลี้ยงยาก ดูก่อนโคตมี ท่านพึงทรงจำไว้โดยส่วนหนึ่งว่า นี้เป็นธรรมเป็นวินัย เป็นคำสั่งสอนของพระศาสดา

จบ สังขิตตสูตรที่ ๓

อรรถกถาสังขิตตสูตรที่ ๓

สังขิตตสูตรที่ ๓

มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้

บทว่า สราคาย แปลว่า เพื่อความมีความกำหนัด

บทว่า วิราคาย แปลว่า เพื่อความคลายกำหนัด

บทว่า สํโยคาย ได้แก่ เพื่อประกอบสัตว์ไว้ในวัฏฏะ

บทว่า วิสํโยคาย ความว่า เพื่อความไม่ประกอบสัตว์ไว้ในวัฏฏะ

บทว่า อาจยาย ได้แก่ เพื่อ ความขยายวัฏฏะ.

บทว่า โน อปจยาย ได้แก่ ไม่ใช่ เพื่อความขยายวัฏฏะ

บทว่า ทุพฺภรตาย แปลว่า เพื่อความเลี้ยงยาก.

บทว่า โน สุภรตาย แปลว่า ไม่ใช่เพื่อความเลี้ยงง่าย.

ในพระสูตร นี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสวัฏฏะด้วยปฐมวาระ แต่ในทุติยวาระ ตรัสวิวัฏฏะ ก็แลพระนางโคตมีบรรลุพระอรหัต ด้วยพระโอวาท นี้แล

จบ อรรถกถาสังขิตตสูตรที่ ๓

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 พ.ย. 2549

[เล่มที่ 37] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ หน้า 678

๕. สมณสูตร

[๑๙๒] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คำว่า สมณะ เป็นชื่อของ พระตถาคต อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า คำว่า พราหมณ์ คำว่า ผู้ถึงเวท คำว่า ศัลยแพทย์ คำว่า ไม่มีมลทิน คำว่า ผู้ปราศจาก มลทิน คำว่า ผู้มีญาณ คำว่า หลุดพ้น เป็นชื่อของพระตถาคต อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า คุณชาติใด อันเราผู้เป็นสมณะ เป็นพราหมณ์ อยู่จบพรหมจรรย์ พึงกระทำ คุณชาติใด อันเราผู้ถึงเวท ผู้เป็นศัลยแพทย์อย่างยอดเยี่ยม พึงบรรลุ คุณชาติใด อันเราผู้ไม่มีมลทิน ผู้ปราศจากมลทิน อยู่จบพรหมจรรย์ พึงบรรลุ และคุณชาติใด อันเราผู้มีญาณ ผู้หลุดพ้นแล้ว อย่างยอดเยี่ยม พึงบรรลุ คุณชาตินั้นๆ เราบรรลุ แล้ว เรานั้นชนะสงครามแล้ว เป็นผู้หลุดพ้นแล้ว พ้นจากเครื่องผูกคือมาร เราเป็นผู้ประเสริฐ เป็นผู้ฝึกตนชั้นเยี่ยม เป็นเสขบุคคลปรินิพพานแล้ว

จบ สมณสูตรที่ ๕

อรรถกถาสมณสูตรที่ ๕

สมณสูตรที่ ๕ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

สองบทว่า ยํ สมเณน ความว่า คุณชาติใดอันสมณะพึงถึง

บทว่า วุสีมตา ได้แก่ อยู่จบพรหมจรรย์

ข้อว่า มุตฺโต โมเจมิ พนฺธนา ความว่า เราเป็นผู้พ้นจากเครื่องผูกทั้งปวงด้วยตนเองแล้ว ยังทำมหาชนให้พ้นจากเครื่องผูกมีราคะเป็นต้นด้วย

บทว่า ปรมทนฺโต ความว่า เป็นผู้อันใครๆ อื่นไม่ได้ให้ศึกษา ไม่ได้ให้ โอวาท รู้แจ้งสยัมภูญาณ ชื่อว่า เป็นผู้ฝึกแล้วอย่างเยี่ยม เพราะฝึก แล้วด้วยประโยชน์อย่างยิ่ง

บทว่า ปรินิพฺพุโต ได้แก่ ปรินิพพาน แล้วด้วยกิเลสปรินิพพาน

จบ อรรถกถาสมณสูตรที่ ๕

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
pornchai.s
วันที่ 30 พ.ย. 2549

ถ้าเป็นพระไตรปิฎก ของ มหามกุฏฯ ชุด 91 เล่ม ก็จะเป็นเล่มที่ 37 ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
อิสระ
วันที่ 1 ธ.ค. 2549
ขออนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
chatchai.k
วันที่ 17 พ.ย. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ