กิเลส 10 ในอกุศลธรรม 9 กอง

 
natural
วันที่  12 ธ.ค. 2556
หมายเลข  24163
อ่าน  5,152

จากการฟังอกุศลธรรม 9 กอง ข้อความตอนหนึ่งกล่าวว่า ... ธรรมที่ไม่เศร้าหมองแต่เป็นอารมณ์ของกิเลสได้ไหม ได้คืออะไรคะ กามาวจรกุศล รูปาวจรกุศล อรูปาวจรกุศล กามาวจรวิบาก รูปาวจรวิบาก อรูปาวจรวิบาก กามาวจรกิริยา รูปาวจรกิริยา อรูปาวจรกิริยา และรูปทั้งหมด สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่าธรรมไม่เศร้าหมอง แต่เป็นอารมณ์ของสังกิเลส กิเลสพอใจในกิเลสและในสิ่งที่ไม่ใช่กิเลส อยากเป็นรูปพรหมไหม อยากเป็นเทวดาไหม อยากมีกุศลจิตไหม ...

เรียนรบกวนช่วยอธิบายเพิ่มเติมว่า เป็นอารมณ์ของกิเลสเป็นอย่างไรคะ

และ ...กิเลส 10 เป็นสภาพธรรมที่เศร้าหมอง ส่วนอกุศลธรรมอื่นที่เกิดร่วมด้วย เศร้าหมองเพราะกิเลส คำว่า "เกิดร่วมด้วย" เป็นอย่างไร ถ้าเกิดความสำคัญตนว่าด้อยกว่า อิจฉาจะเกิดร่วมด้วยหรือไม่ หรือเกิดเฉพาะบางสภาพธรรมคะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 13 ธ.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กิเลส เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นอกุศลธรรม เป็นเครื่องเศร้าหมองของจิต พระอริยบุคคลเท่านั้นที่จะดับกิเลสได้ตามลำดับมรรค เมื่อว่าโดยจำนวนแล้ว กิเลสไม่พ้นจากอกุศลธรรม ๑๐ ประการ คือ โลภะ (ความติดข้องยินดีพอใจ) โทสะ (ความโกรธ ความขุ่นเคืองใจ) โมหะ (ความหลง ความไม่รู้) มานะ (ความสำคัญตน) ทิฏฐิ (ความเห็นผิด) วิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัยในสภาพธรรม) อหิริกะ (ความไม่ละอายต่ออกุสลธรรม) อโนตตัปปะ (ความไม่เกรงกลัวต่ออกุศลธรรม) อุทธัจจะ (ความฟุ้งซ่าน) และถีนะ (ความท้อแท้ท้อถอย หดหู่) พระโสดาบันดับ ความเห็นผิด และความลังเลสงสัยได้อย่างเด็ดขาด พระอนาคามีดับโทสะได้อย่างเด็ดขาด พระอรหันต์ดับโลภะ โมหะ มานะ อหิริกะ อโนตตัปปะ อุทธัจจะ และถีนะได้อย่างเด็ดขาด เมื่อกล่าวโดยสูงสุดแล้ว พระอรหันต์ เป็นผู้ห่างไกลจากกิเลสโดยประการทั้งปวง

กิเลส จึงเป็นสภาพธรรมที่เป็นเครื่องเศร้าหมองของจิต เมื่อกิเลสเกิดขึ้นย่อมทำให้จิตเศร้าหมอง ซึ่งคำว่าเกิดร่วมด้วย หมายถึง จิตเมื่อเกิดขึ้น ยอมมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเสมอ กิเลสเป็นเจตสิกธรรม เช่น โลภเจตสิก เมื่อโลภเจตสิกเกิดขึ้น ย่อมเกิดร่วมด้วยกับจิตนั้น ทำให้สภาพธรรมที่เกดร่วมด้วย คือ จิต เศร้าหมองไปด้วย เพราะ อาศัยกิเลสที่เกิดร่วมด้วย ทำให้เมื่อโลภเจตสิกเกิดร่วมกับจิต จึงเรียกว่า โลภมูลจิต จิตนั้นก็เศร้าหมอง เป็นอกุศลจิต เพราะกิเลสเจตสิกที่เศร้าหมองเกิดร่วมด้วยนั่นเอง ครับ

ส่วนขณะที่สำคัญว่าด้อยกว่า ขณะนั้นเป็นการเปรียบเทียบ ก็มีมานะเจตสิกเกิดขึ้นเป็นอกุศลเจตสิก เป็นกิเลสที่เศร้าหมอง ซึ่งเกิดร่วมด้วยกับอกุศลเจตสิกประเภทอื่นๆ มีโลภเจตสิก และโมหเจตสิก เป็นต้น และก็เกิดร่วมกับจิตเสมอ ทำให้จิตเศร้าหมอง เพราะ มานะเจตสิกที่เป็นกิเลส ที่เกิดร่วมกับจิตนั้น ครับ ขณะที่อิจฉา ริษยา ก็เป็น อกุศลเจตสิก ที่เกิดกับโทสเจตสิก และ เกิดร่วมด้วยกับจิต ทำให้จิตเศร้าหมอง เป็นโทสมูลจิต ครับ

ซึ่งจากที่กล่าวมา กิเลส สิบประการ ก็เกิดบางประการ ไม่เกิดทั้งหมด พร้อมๆ กัน แล้วแต่อกุศลเจตสิก อะไรจะเกิด ก็เกิดพร้อมกันบางประเภท เช่น มานะเจตสิก ก็จะไม่เกิดกับโทสเจตสิก ไม่เกิดกับจิตที่เป็นโทสะ แต่เกิดกับจิตที่เป็นโลภะเท่านั้น เกิดร่วมกับโลภะเจตสิกเท่านั้นรับ ส่วนโมหเจตสิก เกิดกับ จิตที่เป็นอกุศลเจิต และ อกุศลเจตสิกทุกๆ ประเภท ครับ รวมทั้ง อหิริกะเจตสิก อโนตตัปปะ อุทัจจะเจตสิกเกิดร่วมกับอกุศลจิต และอกุศลเจตสิกทุกประเภทเช่นกัน ครับ แต่ไม่เกิดพร้อมกันทั้ง กิเลส สิบประการ ครับ

ส่วนคำถามที่ว่า ธรรมที่ไม่เศร้าหมอง แต่เป็นอารมณ์ของกิเลสได้ ธรรมที่ไม่เศร้าหมอง ก็ คือ ธรรมที่ไม่ใช่อกุศลธรรม คือ ธรรมที่ไม่ใช่อกุศลเจตสิก และอกุศลจิต เพราะฉะนั้น กุศลธรรมทุกประการ วิบากจิต และ กิริยาจิต และ รูปธรรมเหล่านี้ เป็นธรรมที่ไม่เศร้าหมอง แต่กิเลส มีโลภะ เป็นต้น ก็สามารถติดข้องในรูป เช่น ติดข้องในสีที่เห็น ติดข้องในวิบาก เช่น อยากที่จะเห็นบ่อยๆ ติดข้องในกุศลธรรม เช่น อยากเกิดกุศลอีกบ่อยๆ ติดข้องที่อยากเกิดในภพภูมิที่ดี ก็ติดข้องในวิบาก รวมความว่า ธรรมที่ไม่เศร้าหมอง เป็นอารมณ์ของกิเลสได้ แทบทุกอย่าง ยกเว้นแต่โลกุตตรธรรม คือ มรรคจิตผลจิต และ นิพพานเท่านั้นที่ กิเลส ที่เป็นธรรมเศร้าหมอง มีอารมณ์เป็นโลกุตตรธรรมเก้าไม่ได้ ครับ

ประโยชน์สูงสุดของการศึกษาพระธรรมในเรื่องของกิเลส ซึ่งเป็นอกุศลธรรมนั้นไม่ใช่ให้ไปติดที่จำนวน แต่เพื่อให้เข้าใจว่า กิเลสไม่ได้อยู่ในตำรา แต่เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เกิดขึ้นเป็นไปในชีวิตประจำวัน พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงจึงเป็นเครื่องเตือนใจที่ดีเป็นอย่างยิ่ง ทำให้ผู้ฟัง ผู้ศึกษาได้พิจารณาขัดเกลากิเลสของตนเองได้อย่างละเอียด เพราะเหตุว่า ทรงชี้ให้เห็นกิเลสและโทษของกิเลสตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากที่จะเห็นได้ ถ้าไม่มีการฟัง การศึกษาเลย ความรู้ความเข้าใจก็จะเกิดขึ้นไม่ได้ ดังนั้น การฟัง การศึกษาพระธรรมในชีวิตประจำวัน จึงเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ชีวิตอย่างแท้จริง เป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูก ไปตามลำดับ และปัญญานี้เอง ที่ค่อยๆ เจริญขึ้นไปตามลำดับเมื่อเจริญสมบูรณ์พร้อมก็จะสามารถดับกิเลสได้ในที่สุด ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 13 ธ.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอยกคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ เพื่อทบทวนอีกครั้งหนึ่ง ดังนี้

"กิเลส ๑๐ ได้แก่ โลภะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ วิจิกิจฉา ถีนะ อุทธัจจะ อหิริกะ อโนตตัปปะ"

ธรรมที่เป็นกิเลส เป็นธรรมที่เศร้าหมอง แต่ว่าสภาพธรรมที่เป็นกิเลสก็จะต้องเกิดร่วมกับสภาพธรรมอื่นๆ ด้วย เพราะฉะนั้น สำหรับสภาพธรรมที่เป็นกิเลส ๑๐ เป็นสภาพธรรมที่เศร้าหมอง ส่วนอกุศลธรรมอื่นที่เกิดร่วมด้วยนั้นเศร้าหมองเพราะกิเลส เหมือนปลาร้ากับใบคาใช่ไหมคะ อะไรที่มีกลิ่นเหม็น และก็อะไรเหม็นเพราะกลิ่นนั้น เพราะฉะนั้น อกุศลธรรมที่เป็นกิเลส ๑๐ เป็นธรรมที่เศร้าหมอง ส่วนอกุศลธรรมอื่นๆ ที่เกิดร่วมด้วยนั้นเศร้าหมองเพราะกิเลสที่เกิดร่วมกันธรรมที่เศร้าหมองเป็นอารมณ์ของกิเลสได้ไหมคะ ธรรมที่เศร้าหมองเป็นอารมณ์ของกิเลสได้ไหม ธรรมอะไรคะที่เศร้าหมอง ที่เป็นอารมณ์ของกิเลส อกุศลจิต สภาพธรรมเหล่านี้ชื่อว่า ธรรมเศร้าหมอง และเป็นอารมณ์ของสังกิเลส ธรรมที่ไม่เศร้าหมองแต่เป็นอารมณ์ของกิเลสได้ไหม ได้ คืออะไรคะ กามาวจรกุศล รูปาวจรกุศล อรูปาวจรกุศล กามาวจรจิต รูปาวจรจิต อรูปาวจรจิต กามาวจรวิบาก รูปาวจรวิบาก อรูปาวจรวิบาก กามาวจรกิริยา รูปาวจรกิริยา อรูปาวจรกิริยา และรูปทั้งหมด สภาวธรรมเหล่านี้ ชื่อว่า ธรรมไม่เศร้าหมอง แต่เป็นอารมณ์ของสังกิเลส กิเลสพอใจในกิเลสและในสิ่งที่ไม่ใช่กิเลส อยากเป็นรูปพรหมไหม อยากเป็นเทวดาไหม อยากมีกุศลจิตไหม

จากประเด็นคำถาม ที่ว่า อารมณ์ของกิเลสเป็นอย่างไร หมายความว่ากิเลสเป็นนามธรรม เป็นธาตุรู้ สภาพรู้ เมื่อเกิดขึ้นก็ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ คือ มีอารมณ์ นั่นเอง ยกเว้นสภาพธรรมที่เป็นโลกุตตรธรรม ๙ (มรรคจิต ๔ ผลจิต ๔ และพระนิพพาน) เท่านั้น ที่ไม่เป็นที่ตั้งของกิเลส นอกนั้น เป็นอารมณ์ของกิเลสได้ทั้งหมด

เกิดร่วมด้วย แสดงถึงความเป็นจริงของสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไปในขณะนั้น ได้แก่ จิต และ เจตสิก จะเห็นได้ว่า ขณะที่กิเลสเกิดขึ้น ยกตัวอย่าง โลภะความติดข้องต้องการ เมื่อโลภะเกิดขึ้นไม่ได้เกิดเพียงโลภะ เท่านั้น จะต้องเกิดร่วมกับจิต (จิตนั้นก็เป็นอกุศลจิต ประเภทที่มีโลภะเกิดร่วมด้วย) และ เกิดร่วมกับเจตสิกประเภทอื่นๆ ด้วย มี ผัสสะ เวทนา สัญญา เจตนา เป็นต้น และที่ขาดไม่ได้เลย คืออกุศลเจตสิก ตามควรแก่อกุศลจิต นั้นๆ

จากคำถามที่ว่า ถ้าเกิดความสำคัญตนว่าด้อยกว่า อิจฉาจะเกิดร่วมด้วยหรือไม่หรือเกิดเฉพาะบางสภาพธรรมคะ

ตามความเป็นจริงของธรรม มานะ จะเกิดร่วมกับอกุศลจิตประเภทโลภมูลจิตที่ไม่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วยเท่านั้น และขณะที่โลภมูลจิตเกิดขึ้น ความริษยา ไม่เกิดในขณะนั้น เพราะความริษยาเกิดร่วมกับอกุศลจิตประเภทที่มีโทสะเกิดร่วมด้วย แต่ธรรม ก็เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัยจริงๆ เพราะมีความริษยา จึงเป็นเหตุให้เกิดอกุศลจิตประเภทความสำคัญตนในภายหลังได้ แต่จะไม่เกิดพร้อมกันจะไม่เกิดในขณะเดียวกัน ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 13 ธ.ค. 2556

กิเลส ทำให้เร่าร้อน กระวนกระวาย ทำให้กลุ้มใจ ทำให้จิตเศร้าหมอง ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
natural
วันที่ 13 ธ.ค. 2556

จาก โลภะความติดข้องต้องการ เมื่อโลภะเกิดขึ้นไม่ได้เกิดเพียงโลภะ เท่านั้น จะต้องเกิดร่วมกับจิต (จิตนั้นก็เป็นอกุศลจิต ประเภทที่มีโลภะเกิดร่วมด้วย) และ เกิดร่วมกับเจตสิกประเภทอื่นๆ ด้วย มี ผัสสะ เวทนา สัญญา เจตนา เป็นต้น และที่ขาดไม่ได้เลย คืออกุศลเจตสิก ตามควรแก่อกุศลจิต นั้นๆ

เรียนถามเพิ่มเติมว่าอกุศลเจตสิกและเจตสิกประเภทอื่นๆ ทั้งหมด จะเกิดร่วมกับจิตในหนึ่งขณะจิต แล้วดับ แล้วสืบต่อตามเหตุปัจจัย ใช่หรือไม่คะ นอกจากนี้สืบต่อแล้วสะสม หมายถึง สะสมให้มีกำลังมากขึ้น คือ ไม่หายไปไหน มีแต่จะมากขึ้นเท่านั้นหรืออย่างไรคะ และเหตุปัจจัยก็ดำเนินแบบนี้เรื่อยไปโดยที่ไม่สามารถรู้ได้ อย่างนี้ถ้าสะสมมากๆ แล้วจะมีผลอย่างไรได้บ้างคะ

ขอบพระคุณทุกท่านที่ช่วยให้เข้าใจมากขึ้น และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
paderm
วันที่ 13 ธ.ค. 2556

เรียน ความเห็นที่ 4 ครับ

อกุศลเจตสิก และ เจตสิกอื่นๆ ที่เกิดร่วมกัน เกิดพร้อมกัน และ ก็ดับพร้อมกัน ตามเหตุปัจจัย ถูกต้องครับ และ ก็มีจิตอื่นเกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย ซึ่ง เมื่อเป็นอกุศลจิตแล้วก็สะสม สะสมสืบต่อไปในจิตต่อไป ซึ่งเมื่อสะสมแล้วก็ต้องสะสมเพิ่มขึ้นมากขึ้น เช่น เมื่อโกรธเกิดขึ้น ก็สะสมไป ที่จะมีความโกรธเพิ่มขึ้น และ เมื่อสะสมมากจนมีกำลังก็จะทำให้ สามารถททำทุจริตทางกาย วาจาได้ เพราะ อาศัยความโกรธที่มีกำลังมีการฆ่าผู้อื่น หรื พูดวาจาไม่ดี ว่าคนอื่นเพราะ ความโกรธที่สะสมจนมีกำลังมาก ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
kinder
วันที่ 14 ธ.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
chatchai.k
วันที่ 26 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ