การฟังธัมมะ ไม่ใช่ฟังเพื่อสงสัย ฟังเพื่อให้เข้าใจ

 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่  13 ธ.ค. 2556
หมายเลข  24166
อ่าน  803

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธธัสสะ

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ซึ่งเป็นผู้ไกลจากกิเลส ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง

“การฟังธัมมะ ไม่ใช่ฟังเพื่อสงสัย ฟังเพื่อให้เข้าใจ”

จากข้อความข้างต้น ขอคำอธิบายว่า

๑. “ความสงสัย” คือ ธัมมะประการใด

๒. เหตุที่เกิดความสงสัย ได้แก่อะไรบ้าง

๓. เหตุที่จะดับความสงสัย ได้แก่อะไรบ้าง

๔. ฟังเพื่อสงสัย หมายความอย่างไร มีแบบนี้ด้วยหรือ และมีโทษอย่างไร

๕. หากฟังแล้วยังไม่เข้าใจ เกิดความสงสัย เกิดมีคำถาม ควรจะทำอย่างไร

ขอขอบพระคุณและขออนุโมทนาสำหรับคำอธิบายและกุศลทุกประการของทุกๆ ท่านค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 13 ธ.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

๑. ความสงสัยคือ ธัมมะประการใด

คือ วิจิกิจฉา มีลักษณะที่สงสัย ลังเลใจ ตัดสินใจไม่ได้ในเรื่องของสภาพธรรม มีความคิดเห็นเป็น ๒ อย่าง อุปมาเหมือนทาง ๒ แพร่ง เช่น พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มีคุณจริงหรือไม่ นรก สวรรค์ ชาติหน้ามีจริงหรือไม่ บาปบุญมีจริงหรือไม่ และผลของบาปบุญให้ผลได้จริงหรือไม่ วิจิกิจฉาเจตสิกเกิดกับอกุศลจิตประเภทโมหมูลจิต วิจิกิจฉาสัมปยุตต์เพียงดวงเดียวเท่านั้น

วิจิกิจฉา โดยทั่วไป จึงมุ่งหมายถึง ความลังเลสงสัย ในพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ในสิกขา สงสัยในขันธ์ที่เป็นอดีต สงสัยในขันธ์ที่เป็นอนาคต สงสัยในขันธ์ที่เป็นอดีตและอนาคต สงสัยในปฏิจจสมุปบาท ดังนั้น จึงมุ่งหมายถึง ความลังเลสงสัยในเรื่องสภาพธรรมด้วยเป็นสำคัญ แต่ถ้าสงสัยในเรื่องทั่วๆ ไป เช่น เรื่องราวทางโลก ที่ไม่เกี่ยวกับสภาพธรรม เช่น สงสัยว่า ๔ บวก ๕ เป็นเท่าไหร่ ความสงสัยนี้ไม่ใช่วิจิกิจฉาครับ

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ ...

วิจิกิจฉา ๘ อย่าง

๒. เหตุที่เกิดความสงสัย ได้แก่ อะไรบ้าง

คือ ความไม่รู้เป็นหลัก ที่เป็น อวิชชา และอกุศลธรรมประการอื่นๆ ที่เกิดร่วมด้วย ครับ

๓. เหตุที่จะดับความสงสัย ได้แก่ อะไรบ้าง

คือ การอบรมปัญญารู้ความจริงของสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ว่าเป้นแต่เพียงธรรม ไม่ใช่เรา ซึ่งจะต้องเริ่มจาการฟัง ศึกษาพระธรรมเป็นสำคัญ ซึ่งเมื่อถึงความเป็นพระโสดาบัน ย่อมละความสงสัยได้หมดสิ้น ซึ่งก็ด้วยปัญญา และความดีประการต่างๆ ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 13 ธ.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

- ความสงสัยมีจริงๆ ตราบใดก็ตามที่ยังไม่ใช่พระอริยบุคคล ยังไม่พ้นไปจากความสงสัย เมื่อว่าโดยสภาพธรรมแล้วได้แก่ วิจิกิจฉาเจตสิก สงสัยในเรื่องของสภาพธรรม

- เพราะยังไม่มีความเข้าใจถูกเห็นถูกในสิ่งที่มีจริงตามความเป็นจริง จึงสงสัย แต่เมื่อได้เข้าใจอย่างถูกต้องตรงตามความเป็นจริงแล้ว ก็ย่อมไม่สงสัยในสภาพธรรมนั้นๆ

- หนทางแห่งการดับกิเลสไม่ว่าจะเป็นกิเลสประเภทใดๆ ก็ตาม ก็ต้องเป็นหนทางแห่งการอบรมเจริญปัญญาเท่านั้น หนทางอื่นไม่มี ควรอย่างยิ่งที่จะได้ฟังได้ศึกษาพระธรรม สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย

- ฟังพระธรรม เพื่อเข้าใจ จุดประสงค์ของการศึกษาพระธรรมต้องตรง เราไม่สามารถจะเข้าใจข้อความในพระไตรปิฎกได้ทั้งหมด เข้าใจแค่ไหนก็แค่นั้น ตามกำลังปัญญาของแต่ละคน ซึ่งเมื่อไม่ขาดการฟัง การศึกษา ความเข้าใจก็จะค่อยๆ เจริญขึ้นไปทีละเล็กทีละน้อย

- เมื่อสงสัย ก็ถาม เพราะจะให้เข้าใจโดยตลอด ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ การซักถาม เป็นไปเพื่อประโยชน์ คือ เข้าใจแจ่มแจ้งขึ้น นอกจากจะเป็นประโยชน์สำหรับตนเองแล้ว ยังจะเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ผู้อื่นได้ด้วย เพราะไม่ว่าจะฟัง อ่าน สนทนา สอบถาม ก็เพื่อจุดประสงค์เดียว คือ ความเข้าใจถูกเห็นถูก เท่านั้น ครับ

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 13 ธ.ค. 2556

สงสัย เป็นอกุศล บังคับไม่ได้ ค่อยๆ ฟังไป ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
chatchai.k
วันที่ 25 ต.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ