จิตที่เป็นสภาพรู้

 
ผู้มาใหม่
วันที่  17 ธ.ค. 2556
หมายเลข  24188
อ่าน  1,020

ขึ้นชื่อว่า จิต ต้องมีอารมณ์ที่จิตจะไปรู้เสมอ จิตจึงจะเกิด แล้วจิตประเภทที่สั่งสมสันดานเช่น กุศล อกุศลจิตรู้อารมณ์ต่อจากจิตที่รู้อารมณ์ทางทวาร ๖ ไช่ไหมครับ

กราบขอบพระคุณอาจารย์มากครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 17 ธ.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ไม่พ้นไปจากความเกิดขึ้นเป็นไปของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ในชีวิตประจำวันเลย เพราะกล่าวถึงสภาพธรรมที่มีจริงประการหนึ่งคือ จิต จิตเป็นใหญ่เป็นประธานการรู้แจ้งซึ่งอารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นจิตประเภทใด ก็มีลักษณะเดียวคือ มีลักษณะที่รู้แจ้งอารมณ์เท่านั้น จิตหลากหลายประเภท ก็เพราะเจตสิกธรรมที่เกิดร่วมด้วย ที่จะมีการสะสมดีหรือไม่ดีก็ต้องในขณะที่เป็นกุศลกับอกุศล เท่านั้น แต่ว่าอกุศลเกิดแล้ว กุศลเกิดแล้ว ไม่สูญหายแล้วไปไหน สะสมสืบต่อต่ออยู่ในจิตทุกๆ ขณะ จึงทำให้เห็นถึงความแตกต่างกันของแต่ละบุคคลได้ว่า มีความประพฤติเป็นไปอย่างไร ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง นั้นก็เพราะเป็นไปตามการสะสมนั่นเอง เพราะฉะนั้นแล้ว การสะสมที่ดี ที่ประเสริฐ ก็ต้องเป็นการสะสมกุศล สะสมความดี ในชีวิตประจำวัน ในขณะที่ความดีเกิดขึ้นเป็นไปในนั้น จิตก็เป็นจิตที่ดีงาม มีเจตสิกธรรมที่ดีงาม เช่น ศรัทธา สติ หิริ โอตตัปปะ เป็นต้น เกิดร่วมด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ การสะสมความเข้าใจถูกเห็นถูก ด้วยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม เป็นปกติในชีวิตประจำวัน เพราะไม่ขาดการฟังพระธรรม ความเข้าใจก็จะค่อยๆ เจริญขึ้น จิตเป็นสภาพธรรมที่รู้อารมณ์ และสั่งสมสันดานด้วย ซึ่ง ขณะที่กุศลจิต อกุศลจิตเกิด ก็สะสมไปทุกขณะ และขณะนั้นก็รู้อารมณ์ด้วย ซึ่งเกิดได้ทั้งทางปัญจทวาร และมโนทวาร ทั้ง ๖ ทวาร ถูกต้อง ครับ

ขออนุโมทนา

เชิญอ่านคำบรรยายท่านอาจารย์สุจินต์ที่นี่ ครับ

มธุรส อาจารย์ใช้คำว่า “สั่งสมสันดาน” คำว่า “สันดาน” หมายความว่าอะไรคะ

สุ. อันนี้คุณสุภีร์ช่วยอธิบาย

สุภีร์ สันดานคือ การสืบต่อ ภาษาบาลีคือ สันตาน แปลว่า การสืบต่อ

มธุรส คำว่า สันตาน ต้องเป็นเรื่องของจิตอย่างเดียว จะเป็นรูปได้หรือเปล่าคะ เพราะการสืบต่อก็มีรูปด้วย

สุภีร์ ก็มีทั้งนามทั้งรูป ถ้าเป็นขันธสันตาน ก็คือ การสืบต่อของขันธ์ ถ้าเป็นจิตสันตาน ก็เป็นการสืบต่อของจิต ก็คือการเกิดดับสืบต่อกันมาเรื่อยๆ ของขันธ์ทั้งหลาย เรียกว่า

สันตาน ถ้าเป็นในอำนาจของชวนวิถีก็เป็นของจิต

มธุรส สรุปแล้วจิตก็มีการเกิดดับสืบต่อ สั่งสมสันดาน สะสมการสืบต่อ และไปเกี่ยวกับเรื่องของกุศล อกุศลอย่างไรคะ

สุ. จิตเกิดแล้วดับไหมคะ

มธุรส ดับค่ะ

สุ. แล้วไม่มีจิตอื่นเกิดต่อเลย หรือว่าทันทีที่จิตขณะแรกดับ ก็เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิด

มธุรส เป็นค่ะ

สุ. เป็นอนันตรปัจจัย และสมันตรปัจจัย อนันตรปัจจัยหมายความถึง ทันทีที่นามธรรมคือ จิตและเจตสิกดับ ถ้าไม่มีปัจจัยในจิตขณะก่อน จิตขณะต่อไปจะเกิดไม่ได้เลย แต่เพราะจิตก่อนที่ดับไปเป็นอนันตรปัจจัย ให้กับจิตที่เกิดต่อเป็นปัจจุยุปบัน เกิดสืบต่อเป็นผล เพราะฉะนั้นก็จะเข้าใจได้ว่า นี่เป็นปัจจัยหนึ่ง แต่สำหรับสมันตรปัจจัยกำกับไว้เลยว่า เมื่อเป็นปฏิสนธิจิต สภาพของปฏิสนธิจิต นอกจากจะเป็นอนันตรปัจจัยแล้ว ก็เป็นสมันตรปัจจัย หมายความว่า ตัวของเขาเองจะต้องให้จิตตัวที่เกิดต่อ เป็นจิตประเภทไหนด้วยดี หมายความว่าจิตอื่นจะเกิดไม่ได้ หรือว่าเมื่อปัญจทวาราวัชชนจิตทางตา หู จมูก ลิ้น กาย หรือมโนทวาราวัชชนจิตดับไป ตัวอาวัชชนจิตเป็นอนันตรปัจจัยและสมันตรปัจจัยว่า หลังจากที่ปัญจทวาราวัชชนจิตดับแล้ว ต้องเป็นวิญญาณ ๑ ใน ๑๐ ดวง ในทวิปัญจวิญญาณดวงหนึ่งดวงใด เพราะฉะนั้นการเกิดดับสืบต่อของจิตก็เป็นไปตามปัจจัยที่ว่า ไม่ใช่จิตขณะหนึ่งเกิดแล้วดับ แล้วสูญหายไปเลย แต่จะเป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิด แต่จิตเก่าดับไปแล้ว ไม่กลับมาอีกเลย หมดเลย หลังภังคขณะแล้วก็คือ ไม่มีอีก แต่ก็เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิด เว้นจุติจิตของพระอรหันต์เท่านั้นเพราะฉะนั้นการสะสมสืบต่อของจิตต้องมีจากขณะแรกที่เกิดแล้วดับไป ก็เป็นปัจจัยให้ขณะต่อมาสืบต่อทุกอย่างจากจิตขณะแรกที่ดับไป และถ้าศึกษาต่อไปก็จะมีโดยอนันตรูป นิสสยปัจจัย หมายถึง การสืบต่อที่สะสมมามีกำลังที่จะทำให้จิตประเภทไหนเกิดขึ้น ก็เป็นเรื่องที่เราจะต้องค่อยๆ เข้าใจว่า การสะสมสันดาน หรือสันตาน ก็คือ เมื่อจิตเกิดแล้วก็ดับ แล้วก็เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดแล้วก็ดับ เพราะฉะนั้นแต่ละคนก็จะมีสิ่งที่สะสมมาจากชวนวิถีต่างกัน บางคนเป็นอกุศลมากตรงชวนวิถี ก็จะเป็นปัจจัยให้เขามีอกุศลประเภทนั้นๆ ถ้าเป็นคนที่มีโลภะมาก ก็แสดงว่าโลภมูลจิตของเขาเกิดตรงชวนะบ่อย โลภมูลจิตจะไม่เกิดที่อื่นเลย นอกจากทำกิจชวนะ หลังจากที่โวฏฐัพพนะดับไปแล้ว ก็จะเป็นโลภมูลจิต บางคนก็ช่างหงุดหงิด ทุกอย่างก็ดีหมด แต่เขาก็โกรธ นั่นก็หมายความเขาสะสมโทสะมาก

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 17 ธ.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

จิต มีจริงๆ เป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ ทุกขณะไม่เคยขาดจิตเลย มีจิตเกิดดับสืบต่อกันอย่างไม่ขาดสาย จิตขณะหนึ่งเกิดแล้วดับไป เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไป เกิดสืบต่อทันที เป็นอย่างนี้มานานแล้วสังสารวัฏฏ์ และจะเป็นอย่างนี้ต่อไปอีก

ตามความเป็นจริงแล้ว วิถีจิตซึ่งเป็นวิบากจิตที่เกิดทางปัญจทวารนั้น คือ จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ สัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ ไม่ได้สั่งสมสันดาน เป็นแต่เพียงผลของกรรมที่เกิดขึ้นกระทำกิจของตนๆ แล้วก็ดับไป ต่อจากนั้น โวฏฐัพพนจิต ซึ่งได้แก่ มโนทวาราวัชชนจิตนั่นเอง กระทำโวฏฐัพพนกิจทางปัญจทวาร โวฏฐัพพนจิตเป็นกิริยาจิต กระทำโวฏฐัพพนกิจแล้วก็ดับไป ไม่ได้สั่งสมสันดาน เมื่อโวฏฐัพพนจิตดับไปแล้วจิตที่เกิดต่อคือ ชวนวิถีจิต ซึ่งกระทำกิจแล่นไปในอารมณ์โดยเป็นกุศลจิต ชวนวิถีจิตเกิดดับสืบต่อซ้ำกัน ๗ ขณะ จึงเป็นขณะที่สั่งสมสันดานตนเอง ซึ่งก็เป็นในขณะนี้นั่นเอง ชีวิตประจำวันของบุคคลผู้มีกิเลสอยู่ อกุศลจิตก็ย่อมเกิดขึ้นเป็นไป แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะมีแต่อกุศลจิตอย่างเดียว กุศลจิต ก็สามารถเกิดขึ้นเป็นไปได้ ตามการสะสมของแต่ละบุคคล อย่างเช่น ให้ทาน รักษาศีล ตลอดจนถึงฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ ก็เป็นโอกาสแห่งการเกิดขึ้นของกุศลจิต แทรกคั่นกับอกุศลจิตซึ่งเกิดขึ้นเป็นไปมากในชีวิตประจำวัน ครับ

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 17 ธ.ค. 2556

จิตเป็นสภาพธรรมที่สั่งสมทั้งความดี และความไม่ดี เช่น คนที่จะชอบช่วยเหลือ คนมีเมตตา แต่บางคนก็ชอบมักโกรธ ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
chatchai.k
วันที่ 26 ม.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ