ผัสสเจตสิก ตามปฎิจจสมุปบาท

 
ผู้มาใหม่
วันที่  17 ธ.ค. 2556
หมายเลข  24189
อ่าน  4,047

๑. ผัสสะตามปฎิจจสมุปบาทเป็นผัสสเจตสิกหรือเป็นความหมายอื่นครับ

๒. ถ้าตามข้อ ๑. เป็นผัสสเจตสิกซึ่งจะเกิดกับจิตทุกดวง สมมติว่าผมเห็นรูปที่น่าพอใจเกิดผัสสะแล้วต่อด้วยเวทนา ผัสสะตอนนี้เกิดพร้อมจักษุวิญญาณจิตไช่ไหม ครับ

กราบขอบพระคุณอาจารย์มากครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 17 ธ.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

๑. ผัสสะ ตามปฎิจจสมุปบาทเป็นผัสสเจตสิกหรือเป็นความหมายอื่นครับ ก่อนอื่นก็จะต้องเข้าใจ คำว่า ปฏิจจสมุปบาท ก่อนครับว่า คืออะไร ปฏิจจสมุปบาท เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นด้วยดี คือเป็นไปตามลำดับโดยอาศัยปัจจั หมายถึง สภาพธรรมที่เป็นเหตุเป็นผลที่ทำให้เกิดสังสารวัฏฏ์ เป็นการแสดงเรื่องของปัจจัย (เหตุ) และปัจจยุบบัน (ผล)

ปฏิจจสมุปบาทมีองค์ ๑๒ คือ

๑. อวิชชา ๒. สังขาร ๓. วิญญาณ ๔. นามรูป ๕. สฬายตนะ ๖. ผัสสะ ๗. เวทนา ๘. ตัณหา ๙. อุปาทาน ๑๐. ภพ ๑๑. ชาติ ๑๒. ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส

ความเป็นปัจจัยของปฏิจจสมุปบาท คือ

๑. อวิชชา เป็นปัจจัยให้เกิด สังขาร

๒. สังขาร เป็นปัจจัยให้เกิด วิญญาณ

๓. วิญญาณ เป็นปัจจัยให้เกิด นามรูป

๔. นามรูป เป็นปัจจัยให้เกิด สฬายตนะ

๕. สฬายตนะ เป็นปัจจัยให้เกิด ผัสสะ

๖. ผัสสะ เป็นปัจจัยให้เกิด เวทนา

๗. เวทนา เป็นปัจจัยให้เกิด ตัณหา

๘. ตัณหา เป็นปัจจัยให้เกิด อุปาทาน

๙. อุปาทาน เป็นปัจจัยให้เกิด ภพ

๑๐. ภพ เป็นปัจจัยให้เกิด ชาติ

๑๑. ชาติ เป็นปัจจัยให้เกิด ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส

ผัสสะ เป็นสภาพธรรมที่กระทบ ซึ่งในปฏิจจสมุปบาท ก็เป็น ผัสสเจตสิก ครับ

๒. ถ้าตามข้อ ๑. เป็นผัสสเจตสิก ซึ่งจะเกิดกับจิตทุกดวง สมมติว่า ผมเห็นรูปที่น่าพอใจ เกิดผัสสะแล้ว ต่อด้วยเวทนา ผัสสะตอนนี้เกิดพร้อมจักษุวิญญาณจิตไช่ไหมครับ

ความเป็นจริงของธรรม เป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น ธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไปนั้น ต้องอาศัยเหตุปัจจัยหลายอย่าง ไม่ได้เกิดขึ้นมาเองลอยๆ แสดงถึงความเป็นจริงของธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล อย่างสิ้นเชิง ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น แม้แต่ในขณะที่เห็นขณะหนึ่งในขณะที่จักขุวิญญาณเกิดขึ้นนั้น ต้องมีสภาพธรรมที่ประชุมพร้อมกันในขณะนั้น ยังมีอยู่ ยังไม่ดับไป ได้แก่ มีจักขุปสาทะ อันเป็นที่เกิดของจักขุุวิญญาณ มีรูปารมณ์ คือ สี มีจักขุวิญญาณ เกิดขึ้นทำกิจเห็น และในขณะที่จักขุวิญญาณเกิดขึ้นนั้น ไม่ใชว่าจะมีเฉพาะจิตอย่างเดียวจะต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๗ ประเภท เกิดพร้อมกันกับจิต ดับพร้อมกับจิต รู้อารมณ์เดียวกันกับจิต และอาศัยที่เกิดที่เดียวกันกับจิต ในขณะที่จักขุวิญญาณเกิดขึ้นจะขาดเจตสิกหนึ่งเจตสิกใดใน ๗ ประเภท ไม่ได้ เช่น ถ้าไม่มีผัสสะกระทบกับสี จิตเห็นก็เกิดขึ้นไม่ได้ เป็นต้น แสดงให้เห็นถึงความเป็นจริงของธรรมที่จะต้องอาศัยกันและกัน นี้คือ ความจริงที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้และทรงแสดง เพราะฉะนั้น ผัสสเจตสิก เกิดกับ จักขุวิญญาณจิตด้วย ครับ

เชิญอ่านคำบรรยายท่านอาจารย์สุจินต์ได้ที่นี่ ครับ

ผัสสเจตสิกเกิดกับจิตและเจตสิกทุกดวง

เพราะฉะนั้นท่านผู้ฟังก็ควรที่จะศึกษาสภาพธรรมที่เป็นจิตปรมัตถ์ เจตสิกปรมัตถ์ รูปปรมัตถ์ โดยละเอียดยิ่งขึ้น ซึ่งท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า แม้จะกล่าวถึงสภาพธรรมหนึ่ง สภาพธรรมใดเพียงสภาพธรรมเดียว เช่น ผัสสเจตสิกก็รวมไปถึงจิตทุกดวงได้เพราะเหตุว่า ผัสสเจตสิกเกิดกับจิตทุกดวง แล้วยังรวมไปถึงเจตสิกทุกดวงได้ เพราะเหตุว่าผัสสเจตสิกเกิดกับจิตทุกดวงและเกิดกับเจตสิกทุกดวงและยังรวมไปถึงรูปทุกชนิดได้ เพราะเหตุว่าเมื่อผัสสะเกิดกับจิตและเจตสิกทุกดวงก็เป็นปัจจัยให้รูปทุกชนิดเกิดขึ้นได้ด้วย

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 17 ธ.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ความเป็นจริงของธรรม เป็นจริงอย่างไรก็เป็นจริงอย่างนั้น และธรรมก็หลากหลายมาก ไม่พ้นไปจากจิต เจตสิก รูป และพระนิพพาน สิ่งที่มีจริงๆ ไม่พ้นไปจากธรรมเหล่านี้เลย เมื่อกล่าวถึงผัสสเจตสิก ก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ เป็นเจตสิกธรรมที่เกิดกับจิตทุกขณะ ทุกประเภท ไม่มีเว้นเลย ไม่ว่าจะเป็นจิตประเภทใดก็ตาม จะไม่ปราศจากผัสสเจตสิกเลย เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่กระทบกับอารมณ์ กล่าวคือ ถ้าจิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ใด ผัสสะก็กระทบอารมณ์นั้นๆ ที่จิตรู้ ขณะที่เห็น ก็มีผัสสะเกิดร่วมกับจิตเห็น เป็นชาติวิบาก คือ เป็นผลของกรรม และถ้าเกิดความติดข้องยินดีพอใจ ขณะนั้นก็มีผัสสะเกิดร่วมกับอกุศลจิตที่มีโลภะเกิดร่วมด้วย ผัสสะในขณะนั้น ก็เป็นชาติอกุศล ครับ

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 17 ธ.ค. 2556

ผัสสเจตสิก หมายถึง การกระทบ เกิดกับจิตทุกประเภท ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
napachant
วันที่ 20 ธ.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
chatchai.k
วันที่ 26 ม.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
Thawat
วันที่ 5 ม.ค. 2565

ขอบคุณครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ