การวิจารณ์การเมืองเป็นการพูดเพ้อเจ้อหรือไม่

 
papon
วันที่  17 ธ.ค. 2556
หมายเลข  24193
อ่าน  1,707

การวิจารณ์การเมืองเป็นการพูดเพ้อเจ้อหรือไม่ครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 18 ธ.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

การพูดเพ้อเจ้อที่เป็นการพูดเดรัจฉานกถา ก็ไม่พ้นจากอกุศลจิต ดังนั้น ไม่ว่าพูดเรื่องอะไรก็ล้วนแล้วแต่เป็นอกุศล ถ้าจิตเป็นอกุศล และเรื่องนั้นไม่เป็นประโยชน์ ครับ

ติรัจฉานกถาหรือเดรัจฉานกถาคือ คำพูดอันเป็นเครื่องปิดกั้นทางไปสวรรค์ และทางแห่งความหลุดพ้น ปิดกั้นการบรรลุนิพพาน

[เล่มที่ 38] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้าที่ ๒๑๗

อรรถกถาปฐมวัตถุกถาสูตรที่ ๙

บทว่า ติรจฺฉานกถ ได้แก่ เรื่องที่ขัดขวางทางสวรรค์และนิพาน เพราะเป็นเรื่องที่ไม่นำสัตว์ออกจากทุกข์ เพราะเหตุว่า ขณะที่พูดเรื่องราวด้วยจิตเป็นอกุศล จิตที่เป็นอกุศลนั้นไม่ใช่ทางที่จะให้ผลไปสวรรค์ และให้ผลด้วยการบรรลุธรรมได้เลย เพราะจิตเป็นอกุศล ครับ

เดรัจฉานกถา เมื่อไหร่เป็นเดรัจฉานกถา

เดรัจฉานกถาคือ คำพูดที่เป็นไปในเรื่องราวต่างๆ มีเรื่องราวของชาวบ้าน เรื่องราวของสิ่งต่างๆ ด้วยเจตนาที่เป็นอกุศลเจตนา อันมีความประสงค์จะพูดเรื่องราวที่ไม่มีประโยชน์ ดังนั้น เมื่อไหร่ที่มีเจตนา ต้องย้ำว่ามีเจตนานะครับ มีเจตนาที่เป็นอกุศลด้วยโลภะ เป็นต้น พูดเรื่องราวที่เป็นบุคคลต่างๆ สิ่งต่างๆ ด้วยจิตอกุศลไม่ใช่กุศล ขณะนั้นเป็นเดรัจฉานกถา คำพูดที่กั้นสวรรค์ มรรคผลนิพพาน

จะเป็นเดรัจฉานกถาเพราะเรื่องราวที่พูดหรือไม่

จะเป็นกุศลหรืออกุศลจิตนั้นสำคัญที่จิตและสำคัญที่เจตนาครับ ดังนั้นคำพูดใดเป็นเดรัจฉานกถาก็สำคัญที่เจตนา ไม่ใช่เรื่องที่จะพูด สำคัญที่จิตครับ เช่น แม้จะพูดเรื่องราวของบุคคลอื่น เช่น เรื่องข้าว เรื่องน้ำ เรื่องโจร แต่พูดด้วยจิตที่เห็นถึงความไม่เที่ยงว่า แม้โจรคนนี้จะเก่งเพียงใดก็ต้องตาย มีความไม่เที่ยงเป็นที่สุด แม้ข้าว น้ำที่มีมากเพียงใด ข้าวและน้ำนั้นก็ต้องถึงความสิ้น เสื่อมไปเป็นธรรมดา คำพูดนี้ไม่ใช่เดรัจฉานกถา แม้จะกล่าวเรื่องของโจร เรื่องของข้าว เรื่องของน้ำ เพราะเจตนากล่าวด้วยจิตที่เป็นกุศล ด้วยจิตที่เห็นตามความเป็นจริงของสภาพธรรมที่ไม่เที่ยงโดยปรารภเรื่องราวในชีวิตประจำวัน แต่จิตขณะนั้นเป็นความเห็นถูก หากจิตเป็นกุศลแล้ว เรื่องราวที่พูดจะเป็นเดรัจฉานกถาไม่ได้เลยครับ

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ...

คำพูดที่ไม่เป็นเดรัจฉานกถา [ปฐมวัตถุกถาสูตร]

อีกอย่างหนึ่ง แม้การถามสาระทุกข์ เมื่อพบปะกันก็ด้วยจิตที่เป็นกุศลได้ อกุศลก็ได้ เรื่องราวเดียวกัน แต่จิตต่างกัน ทักทายกันเพราะโลภะก็ได้ แม้จะคำพูดเดียวกัน แต่อีกบุคคลพูดด้วยจิตที่ดีงามเป็นกุศลหรือกิริยาจิตก็ได้ครับ ดังเช่น พระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ย่อมมีธรรมเนียมที่ปฏิบัติกันคือ ย่อมถามถึงสาระทุกข์ ถามถึงความเป็นไปของภิกษุผู้อาคันตุกะที่มาถึง ว่าเธอพออดทนได้หรือ ถามถึงความเป็นไปต่างๆ ด้วยจิตที่ดี ดังนั้นเรื่องราวที่พูดจึงไม่ใช่การตัดสินว่าเป็นเดรัจฉานกถาครับ สำคัญที่จิตและเจตนาเป็นสำคัญครับ

ดังนั้น การพูดเพ้อเจ้อมีเรื่องเดรัจฉานกถา ๓๒ ประการ สำคัญที่จิตเป็นสำคัญตามที่กล่าวมา แม้พูดเรื่องทั่วไปในชีวิตประจำวัน แต่พูดด้วยความหวังดี ถามสุขทุกข์ด้วยความเป็นมิตรด้วยจิตกุศล แม้จะเป็นเรื่องราวที่ไม่ใช่ธรรม แต่ก็เป็นจิตที่เป็นกุศล เมื่อเป็นกุศลแล้วจะกล่าวว่า เป็นการพูดเพ้อเจ้อไม่ไ่ด้เลยครับ โดยนัยตรงกันข้าม แม้จะพูดเรื่องราวธรรม แต่พูดด้วยความไม่เข้าใจ ไม่ถูกต้อง และไม่ใช่เจตนาที่เป็นกุศล ข้อความในพระไตรปิฎกก็แสดงว่า แม้พูดธรรมแต่ก็เป็นการพูดบ่นเพ้อไป เพราะพูดในเรื่องที่ไม่เข้าใจ ไม่ถูกต้อง หรือด้วยเจตนาที่เป็นอกุศลครับ เป็นผู้พูดบ่นเพ้อธรรมจึงแสดงให้เห็นว่าจิตเป็นสำคัญด้วยครับ ในการจะพูดเพ้อเจ้อหรือพูดไม่เพ้อเจ้อครับ

ที่สำคัญควรเข้าใจความจริงว่า ปุถุชนเป็นผู้หนาด้วยกิเลส จึงเป็นธรรมดาที่อกุศลย่อมเกิดได้ง่าย ดังนั้นในชีวิตประจำวันก็มีการพูด แต่การพูดนั้นก็ย่อมเป็นไปในอกุศลมากกว่าจิตที่เป็นกุศล มีการพูดเพ้อเจ้อเรื่องที่ไม่เป็นประโยชน์ ด้วยจิตที่เป็นอกุศลครับ จึงเป็นผู้ตรงว่าเป็นธรรมดาที่จะต้องมีการพูดเพ้อเจ้อ ไม่มากก็น้อย ซึ่งผู้ที่จะไม่พูดเพ้อเจ้ออีกเลยคือ พระอรหันต์ครับ ส่วนในองค์ของศีลห้า นั้น ไม่มีเรื่องการพูดเพ้อเจ้อ มีแต่เพียงการพูดเท็จ ดังนั้นศีลห้า ไม่ขาด เพราะเหตุแห่งการพูดเพ้อเจ้อครับ แต่ที่สำคัญเมื่อปัญญาค่อยๆ เจริญขึ้น ก็ย่อมค่อยๆ ขัดเกลากิเลสทีละน้อย ค่อยๆ เห็นโทษแม้การพูดในเรื่องที่จะไม่เป็นประโยชน์กับตนเองและผู้อื่นครับ แม้จะยังละไมไ่ด้เพราะไม่ใช่ฐานะ แต่เริ่มที่จะเห็นโทษแม้ด้วยใจบ้างหรือยังเท่านั้นครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 18 ธ.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษา นั้น เป็นไปเพื่ออุปการะเกื้อกูลแก่ผู้ที่ได้ฟัง ได้ศึกษา และมีความเข้าใจไปตามลำดับอย่างแท้จริง แม้แต่ในเรื่องของกิเลส ซึ่งเป็นอกุศลธรรม นั้น พระองค์ก็ทรงแสดงไว้เป็นอันมากทีเดียว เพื่อให้พุทธบริษัทได้เห็นโทษเห็นภัยของกิเลส ถ้าไม่ทรงแสดงไว้ ก็ไม่สามารถที่จะระลึกถึงกิเลสของตนเองเพื่อการขัดเกลาได้เลย ถึงแม้ว่าพระองค์จะทรงแสดงไว้อย่างนี้หรือมากยิ่งกว่านี้ แต่ผู้ที่มีกิเลสก็ไม่สามารถที่จะดับหรือละกิเลสนั้นได้ ถ้าปัญญาไม่เจริญขึ้นจนสามารถที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงแล้วดับกิเลสได้เป็นขั้นๆ ตามลำดับ นอกจากนั้น กุศลธรรม ความดีทุกๆ ประการ พระองค์ก็ทรงแสดง เพื่อประโยชน์ในการน้อมประพฤติตาม ซึ่งขึ้นอยู่กับการสะสมของแต่ละบุคคลว่าจะเป็นไป น้อมไปในทางใด ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น

แม้แต่ในเรื่องของการพูด พระธรรมก็จะอุปการะให้พูดในสิ่งที่เป็นประโยชน์เว้นคำพูดที่ทำให้อกุศลเกิดมากขึ้น แท้ที่จริงแล้วคนสัตว์ไม่มี มีแต่สภาพธรรมเกิดขึ้นเป็นไปเท่านั้น อกุศล เป็นสิ่งที่ไม่ดี ให้ผลเป็นทุกข์ ส่วนกุศลเป็นความดี ให้ผลเป็นสุข การที่มีความประพฤติไม่ดี ก็เพราะอกุศลธรรม เพราะถ้าโลภะเกิดหรือถ้าโทสะเกิดแล้วจะให้กายวาจาเป็นกุศล ก็ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เนื่องจากว่าอกุศลเป็นสภาพธรรมที่ทำให้ประพฤติในสิ่งที่ไม่สมควรต่างๆ มากมาย ซึ่งผู้ที่มีความประพฤติที่ไม่สมควรต่างๆ นั้น ก็เพราะว่า ไม่ได้คล้อยตามพระพุทธพจน์ ไม่ได้น้อมประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมนั่นเอง แต่ถ้าเป็นผู้ได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ ความประพฤติในสิ่งที่ถูกต้องดีงาม ก็จะค่อยๆ เจริญขึ้นตามระดับขั้นของปัญญา เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว สิ่งที่ถูกต้องไม่ว่าจะเป็นในยุคใด สมัยใด ก็เป็นสิ่งที่ถูกต้อง นั่นก็คือ กุศลธรรม ซึ่งเป็นสภาพธรรมฝ่ายดีที่ควรอย่างยิ่งจะอบรมเจริญให้มีขึ้นในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นใคร เพศใด ฐานะใด ตำแหน่งใด หรือแม้ไม่มีตำแหน่งใดๆ เลย ถ้าประกอบด้วยกุศลธรรม ก็ย่อมจะดีทั้งหมด เพราะดีด้วยกุศลธรรม

บุคคลผู้ที่ทำกรรมชั่วคือ ทำทุจริตกรรม กรรมชั่วยังไม่ให้ผล แต่เขายังมีความสุข มีทรัพย์สินเงินทอง มียศถาบรรดาศักดิ์ เป็นต้น นั่นเป็นเพราะกรรมดีที่เขาเคยได้กระทำมาแล้วให้ผล เมื่อกรรมชั่วให้ผลเมื่อไหร่ เมื่อนั้นเขาย่อมจะรู้ได้ว่า ทำกรรมชั่ว ได้รับผลชั่วจริงๆ ในทางตรงกันข้าม ผู้ที่ทำกรรมดีคือ ทำสุจริตกรรม กรรมดียังไม่ให้ผล เขาจึงประสบกับความทุกข์ยาก ได้รับความเดือดร้อนประการต่างๆ ที่เป็นเช่นนั้น ก็เพราะกรรมชั่วที่เขาเคยได้กระทำมาแล้ว ถึงคราวที่จะให้ผล แต่เมื่อกรรมดีให้ผลเมื่อไหร่ เมื่อนั้นเขาย่อมจะรู้ได้ว่าทำกรรมดี ได้รับผลดีจริงๆ

การกระทำกรรมดีและกรรมชั่วนั้น เป็นการสร้างเหตุใหม่ เมื่อกรรมถึงคราวที่จะให้ผล ผลก็ย่อมเกิดขึ้น ถ้าเป็นผลของกรรมดี ย่อมทำให้ได้รับในสิ่งที่น่าปรารถนา น่าใคร่น่าพอใจ ถ้าเป็นผลของกรรมชั่ว ย่อมทำให้ได้รับในสิ่งที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ เหตุสมควรแก่ผล

แต่ละคน เป็นแต่ละหนึ่ง มีความประพฤติเป็นไปตามการสะสม สิ่งที่ควรกระทำที่สุดสำหรับตนเองซึ่งได้เกิดมาเป็นมนุษย์ คือ สะสมกุศล ขวนขวายในความดีทุกอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา น้อมไปในทางที่เป็นกุศลยิ่งขึ้น เพราะกุศลเท่านั้นที่จะเป็นที่พึ่งได้ ส่วนอกุศลพึ่งไม่ได้เลย เมื่อมีความเข้าใจอย่างถูกต้องแล้ว ก็สามารถที่จะเกื้อกูลให้ข้อคิดเตือนใจแนะนำในสิ่งที่ถูกต้องให้กับบุคคลอื่นได้ ตามกำลังปัญญาของตนเอง เครื่องเตือนใจที่ดีที่สุดก็คือ พระธรรม ครับ

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 18 ธ.ค. 2556

เพ้อเจ้อเป็นอกุศล ทำให้คนไม่เชื่อถือ เพราะพูดเพ้อเจ้อ ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
เสขะบุรุษ
วันที่ 23 ธ.ค. 2556

หนทางในการดับทุกข์คือ มรรคมีองค์แปด คือ เห็นชอบ ดำริชอบ วาจาชอบ การงานชอบ เลี้ยงชีพชอบ เพียรชอบ สติชอบ สมาธิชอบ ผู้ใดมีความเห็นผิด ย่อมดำริผิด วาจาผิด การงานผิด เลี้ยงชีพผิด ขาดสติ ขาดสมาธิ และ ขาดปัญญา ทำให้บาป อกุศลกรรมเจริญขึ้น กุศลกรรมเสื่อมลง

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
chatchai.k
วันที่ 21 ม.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ