ชายสามโบสถ์ ...
- ผู้ชายบวชเณรได้กี่ครั้ง บวชพระได้กี่ครั้ง
- ผู้ชายถ้าบวชพระสามครั้งหรือเกินกว่านั้นเขาว่าไม่ดี คบไม่ได้ใช่ไหมครับ
- เพราะเหตุใด ต่อเมื่อสึกแล้วแม้แต่ผู้หญิงถ้ารู้ก็ไม่อยากจะแต่งงานด้วย ...
- มุมมองทางธรรม กับมุมมองทางโลกต่างกันอย่างไร
ขอบคุณครับอาจารย์ ...
ขออบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
- ผู้ชายบวชเณรได้กี่ครั้ง บวชพระได้กี่ครั้ง
เมื่อได้ยินคำอะไร ก็ต้องเข้าใจด้วยว่า คำนั้น หมายถึงอะไร เพราะเหตุว่า การที่จะทำให้เราได้มีความเข้าใจในคำที่ได้ยินได้ฟังนั้น ต้องอาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงเท่านั้น จะหาความละเอียดจากพระธรรมด้วยวิธีอื่นไม่ได้ คิดเอาเองก็ไม่ได้ ต้องฟังต้องศึกษาด้วยความละเอียดรอบคอบจริงๆ ก่อนอื่นก็ต้องเข้าใจก่อนว่า บวชคือ อะไร บวชเป็นภาษาไทยมาจากภาษาบาลีว่า ปวช แปลว่า การเว้นโดยทั่ว กล่าวคือ เว้นจากอกุศล เว้นจากบาปธรรม เว้นจากกิเลสทั้งหลายทั้งปวง เป็นเรื่องของปัญญาที่เห็นโทษเห็นภัยของอกุศล เห็นโทษของการอยู่ครองเรือนว่า เป็นที่หลั่งไหลมาแห่งอกุศลธรรมทั้งหลายทั้งปวง จึงสละเพศคฤหัสถ์ มุ่งสู่เพศที่สูงยิ่งคือ เพศบรรพชิต ด้วยความจริงใจ เพื่อประโยชน์ในการขัดเกลากิเลสของตนเองให้ยิ่งขึ้น จุดประสงค์ของการบวชที่แท้จริงคือ การขัดเกลากิเลส จนกระทั่งถึงสามารถดับกิเลสได้จนหมดสิ้นถึงความเป็นพระอรหันต์ ขึ้นอยู่กับการสะสมของแต่ละบุคคลอย่างแท้จริง
พระอริยบุคคลทั้งหลายในอดีต มีทั้งผู้ที่เป็นบรรพชิต และเป็นคฤหัสถ์ การศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญาขัดเกลากิเลสของตนเอง ไม่ได้จำกัดที่เพศหนึ่งเพศใดโดยเฉพาะ ผู้ที่เห็นประโยชน์ของพระธรรม มีศรัทธาที่จะฟังที่จะศึกษา ก็ย่อมได้ประโยชน์ตามกำลังปัญญาของแต่ละบุคคล ไม่ว่าจะเป็นเพศใดก็ตาม ในทางตรงกันข้าม ถ้าไม่ได้มีความสนใจที่จะฟังพระธรรมและไม่น้อมที่จะประพฤติตามพระธรรมไม่ว่าจะอยู่ในเพศใด ก็เป็นสิ่งที่ไม่สมควรทั้งนั้น
ซึ่งประเด็นคำถามนั้นผู้ชาย สามารถบวชเณรได้ไม่จำกัด ส่วนการบวชพระก็สามารถบวชได้หลายครั้ง แต่มีข้อจำกัดคือ หากสึกออกมา เพราะได้ต้องอาบัติปาราชิกแล้ว ไม่สามารถกลับไปบวชเป็นพระได้อีก แต่สามารถบวชเป็นสามเณรได้
- ผู้ชายถ้าบวชพระสามครั้งหรือเกินกว่านั้นเขาว่าไม่ดี คบไม่ได้ใช่ไหมครับ
การคบได้หรือคบไม่ได้ ไม่ได้หมายถึง การบวชจำนวนครั้งที่มากหรือน้อย เพราะบุคคลที่ควรคบคือ บุคคลที่มีคุณธรรมความดี และบุคคลที่ไม่ควรคบคือ คนพาลที่มากไปด้วยการทำบาป เพราะฉะนั้นแม้จะไม่บวชเลย แต่ทำบาป เป็นคนพาล มีความเห็นผิด ก็ไม่ควรคบ แต่แม้จะบวชหลายครั้ง แต่เพราะกิเลสทำให้สึก แต่ก็ตั้งใจที่จะอบรมปัญญา คุณความดี และรู้ตัวว่าไม่ดี ก็อบรมปัญญา ฟังพระธรรมก็เป็นบุคคลที่ควรคบ เพราะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นบัณฑิตได้ เพราะฉะนั้นสำคัญที่คุณความดีในจิตใจ ไม่ใช่อยู่ที่บวชมากแล้วคบไม่ได้ ครับ
- เพราะเหตุใด ต่อเมื่อสึกแล้วแม้แต่ผู้หญิงถ้ารู้ก็ไม่อยากจะแต่งงานด้วย...
เป็นความเชื่อที่เข้าใจมาในอดีตที่ไม่ถูกต้อง ที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา สึก บวชอยู่บ่อยๆ แสดงถึงความเปลี่ยนแปลงง่าย ที่ไม่มั่นคง แต่แท้ที่จริง สิ่งทืี่เปลี่ยนแปลงและมีกันทุกคนคือ กิเลสที่ไม่แน่นอนคือ สามารถเกิดได้ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นการยินดีในการบวช จึงเป็นสิ่งที่ยากกว่าการบวช และการบวชแล้วประพฤติธรรมได้อย่างถูกต้องยาก ยิ่งกว่านั้น ครับ
สมัยพุทธกาล จึงมีพระภิกษุหลายๆ รูป บวชแล้วสึกบ่อยๆ แต่ก็สามารถบรรลุธรรมได้ เพราะเหตุว่า เหตุที่สำคัญ คือ ได้อบรมปัญญา ศึกษาพระธรรมในอดีตมาในสมัยพระพุทธเจ้าในกาลก่อน ครับ
- มุมมองทางธรรม กับมุมมองทางโลกต่างกันอย่างไร
เมื่อกล่าวถึงมุมมอง ความหมายคือ ความคิดนั่นเองซึ่งเกิดจากการสะสมมาของแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน ต่างจากความคิดที่เกิดจากการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าที่เป็นพระปัญญาที่ทรงแสดงตามความจริงที่เป็นสัจจะ เพราะฉะนั้น มุมมองทางโลกย่อมแตกต่างจากทางธรรมอย่างสิ้นเชิง เพราะเป็นการคิดด้วยกิเลส กับคิดด้วยปัญญาที่ไม่มีกิเลส อย่างเช่นชาวโลกคิดว่า มีเรา มีสัตว์ บุคคล เที่ยง แต่พระพุทธเจ้าทรงแสดงความจริง แย้งกับทางโลกคือ ไม่มีเรา ไม่มีสัตว์ บุคคล มีแต่ธรรม แม้แต่ในประเด็นนี้ การจะเป็นคนดีหรือเป็นคนไม่ดี ไม่ได้อยู่ที่บวช สึก บ่อยๆ แต่อยู่ที่ใจที่ดี ที่ค่อยๆ สะสมปัญญาไปทีละน้อย จะเป็นคนดีแท้จริงคือ ถึงความเป็นพระอรหันต์ แต่จะค่อยๆ ดีขึ้น ละความไม่รู้ด้วยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม เพราะฉะนั้นการอยู่ในเพศบรรพชิตนาน ไม่สึก บวชครั้งเดียวไม่ได้หมายความว่าจะเป็นคนดี แต่คนดีคือ คนที่ประพฤติดีตามพระธรรมวินัย และมีปัญญาเจริญขึ้น ครับ นี่คือมุมมองทางธรรมที่เป็นสัจจะความจริง ไม่เปลี่ยนแปลง
ขออนุโมทนา ครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
- ควรที่จะได้เข้าใจถึงจุดประสงค์ของการบวชว่า เพื่ออะไร ไม่ใช่เพื่ออย่างอื่นแต่เพื่อศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญาขัดเกลาละคลายกิเลสของตนเองในเพศที่สูงยิ่ง โดยที่ไม่ได้มีข้อจำกัดว่า จะต้องบวชและสึกกี่ครั้ง เพราะเป็นไปตามการสะสมของแต่ละคนอย่างแท้จริงในสมัยพุทธกาล พระภิกษุรูปหนึ่ง ชื่อ จิตตหัตถ์ บวชและสึกถึง ๗ ครั้ง แต่ในที่สุดท่านก็ได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงความเป็นพระอรหันต์และไม่สึกอีกเลย
- คนจะดีหรือไม่ดี ไม่ได้อยู่ที่บวชหรือไม่บวช แต่อยู่ที่การสะสมและความประพฤติเป็นไปของบุคคลนั้นว่าเป็นอย่างไร ดีหรือไม่ดี คนดีควรคบ แต่คนไม่ดีไม่ควรคบ เพราะคบคนไม่ดีมีแต่จะทำให้ความไม่ดีเกิดเพิ่มมากขึ้น แต่ถึงอย่างไรก็ตามไม่ว่าจะเป็นอย่างไรก็ไม่เป็นเครื่องกั้นแห่งความเจริญเมตตา ได้มีความเป็นมิตรเป็นเพื่อนกับเขาได้
- การที่จะได้แต่งงานกันก็ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยหลายอย่าง ทั้งเคยเป็นผู้อยู่ด้วยกันในชาติก่อน เคยเกื้อกูลกันในปัจจุบัน ส่วนประเด็นในคำถาม อาจจะสำคัญว่าคนที่บวชและสึกหลายครั้ง เป็นคนโลเลไม่มั่นคง
- ถ้าเข้าใจถูกเห็นถูก ไม่ว่าจะทางโลกหรือทางธรรม ก็ไม่พ้นไปจากธรรม เพราะไม่พ้นไปจากชีวิตประจำวันเลย ครับ
ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ครับ