ศีล สมาธิ ปัญญา มีความสอดคล้องกับ อริยมรรคมีองค์ 8 อย่างไรครับ

 
papon
วันที่  21 ธ.ค. 2556
หมายเลข  24212
อ่าน  82,427

เรียน อาจารย์ทั้งสองท่าน

ศีล สมาธิ ปัญญา มีความสอดคล้องกับ อริยมรรคมีองค์ ๘ อย่างไรครับ ขอความอนุเคราะห์ด้วยครับ

ขออนุโมทนาครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 21 ธ.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมเป็นเรื่องละเอียดลึกซึ้ง โดยเฉพาะหนทางการดับกิเลส ดังนั้น ในเรื่องของศีล สมาธิ และปัญญา ก็ต้องเข้าใจว่า คืออะไร

ศีล มีหลายอย่าง หลายระดับ ทั้ง ศีลที่เรามักเข้าใจกันทั่วไป คือ การงดเว้นจากการทำบาป ทางกาย วาจา เป็นต้น แต่มีศีลที่ละเอียดยิ่งไปกว่านั้น ที่เป็นศีล ที่เรียกว่า อธิศีล อันเป็นศีลที่เกิดพร้อมกับ สมาธิและปัญญา

สมาธิ โดยทั่วไป ก็เข้าใจกันว่า คือ การนั่งสมาธิให้สงบ แต่ในทางพระพุทธศาสนาจะใช้คำว่า อธิจิตสิกขา หรือ บางครั้งใช้คำว่า สัมมาสมาธิ ที่มุ่งหมายถึง การเจริญสมถภาวนา และ สมาธิที่เกิดพร้อมกับปัญญาในปัญญาขั้นวิปัสสนา

ปัญญา ปัญญาในพระพุทธศาสนา ก็มีหลายระดับ แต่ คือ ความเห็นถูกเช่น เชื่อกรรมและผลของกรรม ปัญญาขั้นการฟังการศึกษา ปัญญาขั้นสมถภาวนา และปัญญาขั้นวิปัสสนาภาวนา

เมื่อพูดถึงหนทางการดับกิเลส จะใช้คำว่า การอบรม ไตรสิกขา คือ อธิศีลสิกขา อธิจิตสิกขา และ อธิปัญญาสิกขา ดังนั้น ศีลโดยทั่วไป ที่งดเว้นจากบาป ศาสนาอื่นๆ ก็มี ไม่ใช่ หนทางที่จะดับกิเลส ไม่ใช่ อธิศีลสิกขา สมาธิ ที่เป็นการเจริญสมถภาวนาจนได้ฌาน แม้ก่อนพุทธศาสนาจะบังเกิดขึ้น ก็มีการเจริญสมถภาวนา แต่ สมาธินั้นไม่ใช่ อธิจิตสิกขา ส่วนปัญญา ที่จะเป็นไตรสิกขา อันเป็นหนทางการดับกิเลส ก็จะต้องเป็นปัญญาระดับวิปัสสนาภาวนา ครับ ดังนั้น เมื่อว่าโดยความละเอียดแล้ว ไม่ได้หมายความว่า การจะเจริญหนทางการดับกิเลส ที่เรียกว่าไตรสิกขา จะต้องรักษาศีลก่อน แล้วค่อยอบรมสมาธิ และจึงจะไปเจริญวิปัสสนาได้ที่เป็นปัญญาครับ ต้องเข้าใจพื้นฐานก่อนว่า จิตเมื่อเกิดขึ้น จะมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยหลายดวง แม้ขณะที่เป็นสติปัฏฐานหรือวิปัสสนา ขณะนั้นก็เป็นจิตที่เป็นกุศลประกอบด้วยปัญญา มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยหลายดวง ขณะที่ สติปัฏฐานเกิด ขณะนั้นมี สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ ทั้ง 2 นี้ เป็น (อธิปัญญา) และมีสัมมาวิริยะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ (เป็นอธิจิต หรือสมาธิ) และมีเอกัคคตาเจตสิกที่เกิดพร้อมกับสติปัฏฐาน ที่เป็นองค์ของสมาธิ ด้วยและมีศีลด้วยในขณะที่สติปัฏฐานเกิด คือ อินทรียสังวรศีล ศีลที่เป็นการสำรวมทางตาหู จมูก ลิ้น กายและใจ ในขณะนั้น ครับ เป็นอธิศีล หรือ สัมมากัมมันตะ และสัมมาอาชีวะ ซึ่งเป็นอธิศีล ก็เกิดพร้อมกับ สมาธิและปัญญาในขณะที่อริยมรรคเกิด

อริยมรรค

มรรค หมายถึง หนทาง ซึ่งมีทั้งทางถูกกับทางผิด ถ้าเป็นหนทางที่ถูกต้องเป็นไปเพื่อการอบรมเจริญปัญญา ถ้าเป็นกล่าวมรรค อันประกอบด้วยองค์ ๘ แล้ว ย่อมเป็นหนทางถูก เป็นหนทางที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นไปเพื่อกำจัดกิเลส เป็นหนทางที่เป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์ หมดจดแห่งสัตว์ทั้งหลาย

อริยมรรค หนทางของผู้ไกลจากกิเลส หนทางอย่างประเสริฐ หมายถึง มรรคมีองค์ ๘ อันเป็นหนทางอย่างประเสริฐ เพราะทำให้ผู้อบรมบรรลุถึงความเป็นพระอริยเจ้า พ้นจากความเป็นปุถุชน และพ้นจากการเกิดในอบายภูมิโดยเด็ดขาดซึ่ง ประกอบด้วย อริยมรรค 8 ประการดังนี้ ครับ

สัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูก ความเห็นชอบ ได้แก่ ปัญญาเจตสิก ซึ่งมีลักษณะที่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง สัมมาทิฎฐิมีหลายระดับ ตั้งแต่กัมมสกตาสัมมาทิฏฐิ (ความเห็นถูกเรื่องความมีกรรมเป็นของๆ ตน) ฌานสัมมาทิฏฐิ (ความเห็นถูกที่เกิดกับฌานจิต) วิปัสสนาสัมมาทิฏฐิ (ความเห็นถูกที่เกิดกับวิปัสสนา ซึ่งขณะที่เป็นสติปัฏฐานก็เป็นมรรคมีองค์ ๕ แต่ขณะที่มรรคจิตเกิดขึ้นประหาณกิเลสเป็นสมุจเฉทก็เป็นมรรคมีองค์ ๘ เป็นต้น

สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ หมายถึง วิตกเจตสิกที่ตรึกที่ลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรมที่กำลังปรากฏ เพื่อสติจะได้ระลึก ปัญญาจะได้ศึกษาในลักษณะของนามรูป สัมมาสังกัปปะมีอาการ ๓ อย่าง คือ

๑. ดำริในการออกจากกาม

๒. ดำริในการไม่พยาบาท

๓. ดำริในการไม่เบียดเบียน

สัมมาวาจา คำพูดชอบ หมายถึง วิรตีเจตสิกดวงหนึ่งที่ทำกิจให้เกิดการงดเว้นจากวจีทุจริต ๔ อย่าง คือ

๑. งดเว้นจากการพูดปด

๒. งดเว้นจากการพูดส่อเสียด

๓. งดเว้นจากการพูดคำหยาบ

๔. งดเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ

สัมมากัมมันตะ การงานชอบ หมายถึง วิรตีเจตสิกดวงหนึ่งที่ทำกิจให้เกิดการงดเว้นจากกายทุจริต ๓ อย่าง คือ

๑. งดเว้นจากการฆ่าสัตว์

๒. งดเว้นจากการลักทรัพย์

๓. งดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม

สัมมาอาชีวะ การเลี้ยงชีพชอบ หมายถึง วิรตีเจตสิกดวงหนึ่งที่ทำกิจให้เกิดการงดเว้นจากมิจฉาชีพซึ่งเป็นไปทางกายหรือวาจาที่ทุจริต

สัมมาวายามะ ความเพียรชอบ หมายถึง วิริยเจตสิกที่เกิดกับกุศลจิตที่เป็นไปพร้อมกับสติปัฏฐาน และวิปัสสนาญาณ เป็นความเพียรที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง

สัมมาสติ การระลึกชอบ หมายถึง สติเจตสิกที่ระลึกที่ลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรม จนปัญญามีกำลังประจักษ์แจ้งสภาพธรรมไปตามลำดับ และเมื่อมัคคจิตเกิดขึ้น สัมมาสติก็ระลึกที่ลักษณะของนิพพาน

สัมมาสมาธิ ความตั้งมั่นชอบ หมายถึง เอกัคคตาเจตสิกที่เกิดกับกุศลจิต ในขณะที่สติปัฏฐานและวิปัสสนาญาณเกิด สัมมาสมาธิทำจิตและเจตสิกอื่นให้ตั้งมั่นในอารมณ์คือนามธรรมหรือรูปธรรมที่กำลังปรากฏ เพื่อที่ปัญญาจะได้รู้ชัดลักษณะของนามรูปนั้นๆ และเมื่อมัคคจิตเกิดขึ้นสัมมาสมาธิก็ทำให้จิต และเจตสิกอื่นตั้งมั่นในอารมณ์คือนิพพาน

เพราะฉะนั้น จากคำถาม ศีล สมาธิ ปัญญา สอดคล้องกับ อริยมรรคอย่างไรในความเป็นจริง ศีล สมาธิ ปัญญา ก็คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ นั่นเอง เพราะ ศีลก็คือ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ และ สัมมาอาชีวะ ส่วน สมาธิ คือ สัมมาวายามะ สัมมมาสติ และ สัมมาสมาธิ และ ปัญญา คือ สัมมาทิฏฐิ และ สัมมาสังกัปปะ เมื่ออริยมรรคมีองค์ ๘ เกิดขึ้น ก็มี ศีล สมาธิ และ ปัญญาด้วย ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 21 ธ.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ผู้ที่ได้ฟังได้ศึกษาโดยตลอด ทุกคำเป็นคำจริง เป็นคำอนุเคราะห์ให้ได้มีความเข้าใจถูกเห็นถูกในธรรมตามความเป็นจริง ไม่ว่าจะกล่าวถึงทาน ศีล ภาวนา หรือ ศีล สมาธิ ปัญญา ก็ไม่พ้นไปจากคุณความดีในพระพุทธศาสนา ที่เป็นไปเพื่่อการข้ดเกลาละคลายกิเลส จนกว่าจะดับได้อย่างหมดสิ้นในที่สุด

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมตามอัธยาศัยของผู้ฟัง ในบางแห่ง แสดงกับคฤหัสถ์ แสดงกุศล ๓ ระดับ ทาน (การสละวัตถุสิ่งของเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น) ศีล (การงดเว้นจากทุจริตกรรมประการต่างๆ แล้วน้อมประพฤติในสิ่งที่ดีงาม) ภาวนา (การอบรมเจริญความสงบของจิตและการอบรมเจริญปัญญา) แต่ถ้าแสดงกับบรรพชิต ส่วนใหญ่ไม่กล่าวถึงกุศลขั้นทาน เพราะท่านออกบวช สละวัตถุกามแล้ว จึงทรงแสดงกุศลที่ยิ่งขึ้นไป ศีล สมาธิปัญญา ซึ่งก็คือไตรสิกขา หรือมรรคมีองค์ ๘ ไม่พ้นไปจากหนทางแห่งการอบรมเจริญปัญญาเลย แต่ก็ไม่ได้จำกัดเฉพาะเพศหนึ่งเพศใดโดยเฉพาะ เพราะเหตุว่า ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตามที่ดำเนินตามหนทางอันประเสริฐ คือ หนทางแห่งการอบรมเจริญปัญญา ประโยชน์ย่อมเกิดมีแก่ผู้นั้น ตั้งแต่ขั้นต้น จนถึงสามารถดับกิเลสได้ ตามลำดับ

การศึกษาอบรมเจริญปัญญา ควรเป็นไปตามลำดับ ที่ขาดไม่ได้เลยนั้น คือการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ และเมื่อมีความเข้าใจถูกเห็นถูกแล้ว ก็จะอุปการะเกื้อกูลให้คุณความดีประการต่างๆ เจริญขึ้นด้วย ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 21 ธ.ค. 2556

ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นหนทางการอบรมปัญญา ดับกิเลส ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
papon
วันที่ 21 ธ.ค. 2556

เรียน อาจารย์ทั้งสองท่าน

กุศลต่างๆ ของคฤหัสถ์ ทั้งทาน ศีล เป็นกุศลจิตที่เกิดขึ้นเพียงไม่กี่นานกระผมคิดว่าพระพุทธองค์ทรงสอนให้เกิดกุศลจิตเนืองๆ เพราะฉะนั้นจึงมีแต่ภาวนาที่จะเกื้อกูลให้มีกุศลบ่อยที่สุด เพราะเมื่อไรว่างกุศล อกุศลก็เบียดเบียนทันที ดังนั้นการเจริญกุศลด้วยการอบรมปัญญาจึงควรเจริญยิ่งๆ ขึ้น จนกว่าปัญญาจะมีกำลังถึงขั้นเจริญสติปัฏฐานในอนาคต ขอความชี้แนะต่อด้วย ครับ

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
nopwong
วันที่ 24 ธ.ค. 2556

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
Chalee
วันที่ 23 มิ.ย. 2557

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
peem
วันที่ 22 ส.ค. 2561

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
chatchai.k
วันที่ 2 ต.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
เฉลิมพร
วันที่ 22 พ.ค. 2564

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ