อลังการ งดงาม ถ้ำอาจันต้า
14 พฤศจิกายน 2556
เดินทางสู่ ถ้ำอาจันต้า มรดกโลก และ สิ่งมหัศจรรย์ของโลก
สำหรับทริปอินเดีย ปี 2556 ครั้งนี้ จุดประสงค์ เพื่อถวายที่ประดิษฐานที่ปรับปรุงใหม่ทั้ง 3 องค์ คือ ของพระพุทธเจ้า และ พระอัครสาวก ที่พุทธคยา และ ถวายเครื่องบูชา ที่ สารนาถ อันเป็นที่ประดิษฐานของพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าที่พาราณสี และ ได้เรียนปรึกษาท่านอาจารย์ สุจินต์ ก่อนการจะจัดไปครั้งนี้ว่าคณะชมรมบ้านธัมมะ มศพ. ควรไปต่อที่ไหนดี ก็เป็นอันตกลงว่า ไป ถ้ำอาจันต้าซึ่ง ท่านอาจารย์ได้ไปมาแล้ว เมื่อประมาณ สามสิบกว่าปีก่อน ก่อนเดินทางไป ท่านอาจารย์ได้เล่าเรื่อง ถ้ำอาจันต้าได้น่าฟัง ทำให้เกิดศรัทธาเกิด กุศลจิตในการไปครั้งนี้ ที่ไปถ้ำอาจันต้า ที่ไม่ใช่เพียงไปเที่ยว แต่ เป็นการน้อมจิตที่จะระลึกถึง ณ กาลครั้งหนึ่ง เมื่อ สองพันกว่าปีกอ่น ได้เกิด หมู่ถ้ำอันสวยงามอันวิตร ด้วยจิตที่วิจิตร
ท่านอาจารย์ บรรยาย เล่า ให้ฟังก่อนไปอินเดียทริปนี้ กับ สหายธรรมให้ฟังในเรื่องถ้ำอาจันต้าว่า สมัยนั้น ก็ยังมีพระอรหันต์ ที่ประกอบด้วยคุณธรรม ทั้งผู้มีปัญญาดับกิเลสหมดสิ้น และ ผู้เลิศด้วยฤทธิ์ เพราะ ยังเป็นช่วง พันปีแรกเท่านั้นของพระพุทธศาสนา มีพระอรหันต์ ผู้ทรงคุณธรรม และ ฤทธิ์มากมาย และ เมื่อท่านเห็นสถานที่ควรหลีกเร้น มี ถ้ำ ก็พักอาศัย เพื่อ ความผาสุข และ เพื่อหลีกเร้นจากผู้คนมากมาย มีในเมือง เป็นต้น และ ท่านเหล่านั้น ก็ได้สร้างสิ่งที่เป็นการเคารพ ด้วยการบูชาคุณของพระพุทธเจ้า ซึ่งไม่ง่ายเลย ที่คนในยุคนั้น ที่ไม่มีเทคโนโลยีเท่าปัจจุบัน จะสร้างได้ขนาดนี้หากเป็นคนธรรมดา แม้ว่า เทคโนโลยีปัจจุบัน ก็เป็นการยากที่จะสร้างได้ขนาดนี้ที่เจาะถ้ำนับไม่ถ้วน และ มีความอลังการ งดงาม ความเที่ยงตรงทุกอย่าง อย่างอัศจรรย์ แม้แต่ ใน สารคดีของชาวต่างประเทศ ยังยกให้ เป็นสิ่งก่อสร้างที่สร้างจาก มนุษย์ต่างดาว ตามความเชื่อของเขา เพราะ ไม่คิดว่าจะเป็นไปได้ ที่จะสร้างได้อลังการ งดงาม ละเอียดอ่อนช้อย ขนาดนี้ จนคงอยู่ถึงปัจจุบัน
ท่านอาจารย์ บรรยายให้เห็นความจริงว่า ผู้ที่มีคุณ มีพระอรหันต์ เป็นต้น ก็ย่อมเคารพในผู้ที่ทำให้ท่านบรรลุธรรม เคารพด้วยใจ ที่ท่านถึง คุณธรรม และ ระลึกถึงคุณธรรมนั้น และ แสดงออกมาทางวาจา ที่จะกล่าวสรรเสริญในพระคุณ แต่ ไม่เพียงเท่านั้น ท่านก็ยังแสดงออกมาทางกาย ด้วย มีการกราบไหว้ เป็นต้น แต่ไม่เพียงเท่านั้น ก็เป็นการสร้างสิ่งที่จะเป็นที่อยู่อาศัย ในถ้ำ ด้วยการสร้างสิ่งที่จะทำให้ระลึก และ เคารพ คือ รูป ลวดลาย และ พระพุทธรูปต่างๆ เพื่อที่จะน้อมระลึกถึง และ เพื่อประโยชน์กับสัตว์โลกรุ่นหลัง มี พวกเรา เป็นต้น ที่จะได้เกิด กุศลจิตศรัทธา ในการได้เห็น ไม่มาก ก็น้อย จึงเป็นโชคดี ที่มีโอกาสได้มีส่วนในการจัดไปอินเดีย ทริปนี้ และได้ไปในสถานที่ที่ควรจะไปด้วยกัน ขอเชิญชมความอัศจรรย์ และ จิตของผู้ที่มีคุณธรรม อันแสดงออกมาทางกาย ด้วยการสร้างสิ่งอัศจรรย์ และ ขอให้น้อมใจ ที่จะเกิด ศรัทธา ที่จะเห็น และ ระลึกบูชาด้วยใจที่เคารพในพระคุณของพระพุทธเจ้า เมื่อได้เห็นภาพ ครับ
หมู่ถ้ำอาจันต้า ซึ่งที่จริงก็คือวัดในพุทธศาสนา ที่เจาะและแกะสลักเข้าไปในภูเขาอยู่เรียงกันเป็นหมู่รวม 30 ถ้ำ เป็นถ้ำยุคแรก เก่าแก่มาก มีกำเนิดเริ่มแต่ก่อนคริสต์ศักราช ประมาณ 200 หรือ 150 ปี คือราวพ.ศ. 350 หรือ 400 และคาดว่าสร้างมาถึงปี พ.ศ. 1200 และถูกทอดทิ้งกลายเป็นป่ารกชัฏประมาณ 700- 800 ปี จนมาถูกค้นพบอีกครั้งโดยบังเอิญในปี พ.ศ.2362 (ค.ศ.1819) โดยทหารอังกฤษที่มาล่าสัตว์ซึ่งเท่ากับ ได้ค้นพบสิ่งมหัศจรรย์ของโลก หมู่ถ้ำอาจันต้า เป็นถ้ำพุทธศาสนาล้วนๆ
มหาราชา เดินทางสู่ ถ้ำอาจันต้า
ถ้ำอาจันต้าแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นสาย หินยาน หรือ เถรวาท พุทธศาสนาที่ไปสู่เมืองไทย มีอยู่ 6 ถ้ำคือ ถ้ำที่ 8, 9, 10, 12, 13 และ 15 ซึ่งเป็นหมู่ถ้ำที่เก่าแก่ที่สุด ประมาณ พ.ศ. 400-600 ส่วนที่เหลือจากนั้น อีก 24 ถ้ำเป็นสาย มหายานหลายถ้ำก็เป็นแบบผสมคือเป็นของหินยานแต่เดิม แล้วฝ่ายมหายานมาเติมแต่งทีหลัง ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดระหว่าง ถ้ำเถรวาท กับ ถ้ำมหายาน ก็คือ ในพุทธศาสนาเถรวาทยุคแรกนั้นไม่มีพระพุทธรูป มีแต่พระสถูป ต่อมาตอนหลังๆ ก็มีพระพุทธรูปชัดเจนขึ้น ชมความมหัศจรรย์ อลังการ สร้างจากศรัทธาของ ชาวอินเดีย
ภายในถ้ำสลักเสลาเป็นเสาประดับลวดลายอันงดงาม พระพุทธรูป และเจดีย์ศิลาที่สกัด และตบแต่งขึ้น จากหินชิ้นเดียวกับพื้น และผนังถ้ำภาพจิตรกรรมฝาผนังอายุกว่า 1,200 ปี มีความงดงามสมบูรณ์ด้วย เทคนิคการเขียนภาพสามมิติอันน่าอัศจรรย์พระพุทธรูปศิลา ที่แสดงอารมณ์พระพักตร์ต่างกันเมื่อแสงตกสะท้อนจากต่างมุม
สหายธรรม ชมรมบ้านธัมมะ มศพ. เดินทางชมถ้ำอาจันต้า
ลวดลาย ปฏิมากรรม ภาพวาดที่ถ้ำอาจันต้า
ภาพเขียน มีได้ เพราะ อาศัย จิต เพราะ จิตวิจิตร ภาพเขียนจึงวิจิตร ตามจิต
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้าที่ 345
บทว่า จรณํ นาม จิตฺตํ ได้แก่ วิจรณจิต (ภาพเขียน) .พราหมณ์ผู้เป็นเจ้าลัทธิชื่อว่าสังขา มีอยู่ พวกเขาให้สร้างแผ่นผ้าแล้วให้ช่างเขียนภาพแสดงสมบัติ และวิบัตินานัปการ โดยเป็นสวรรค์ เป็นนรก ลงในแผ่นภาพนั้น แสดง (ถึงผลของกรรม) ว่าทำกรรมนี้แล้วจะได้รับผลนี้ ทำกรรมนี้แล้ว จะได้รับผลนี้ ถือเอาจิตรกรรมนั้นเที่ยวไป
บทว่า จิตฺเตเนว จินฺติตํ ความว่า ชื่อว่า อันจิตรกร (ช่างเขียน) ให้สวยงามแล้วด้วยจิต เพราะคิดแล้วจึงเขียน ๒
บทว่า จิตฺตญฺเญว จิตฺตตรํ ความว่า จิตที่แสวงหาอุบายของจิตนั้น วิจิตรกว่าจิตที่ชื่อว่า จรณะแม้นั้น
คำว่า เจดีย์ หมายถึง ควรบูชา ควรสักการะด้วยจิตที่อ่อนโยนนอบน้อม ในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา แสดงเจดีย์ไว้ ๓ อย่าง คือ ปริโภคเจดีย์ (สิ่งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงใช้สอย มี บาตร จีวร เป็นต้น รวมถึงต้นโพธิ์ ซึ่งเป็นต้นไม้เป็นที่พระองค์ทรงตรัสรู้ ด้วย) อุทเทสิกเจดีย์ หรือ อุทิสสิกเจดีย์ (พระพุทธรูปที่ผู้มีศรัทธาสร้างขึ้นเพื่อคารพสักการะบูชาน้อมระลึกถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า) และ ธาตุกเจดีย์ (พระสถูปที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า)
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ ๓๑๓
ในคาถานั้น ชื่อว่า เจติยะ เพราะควรก่อ ท่านอธิบายว่า ควรบูชา ชื่อว่า เจติยะ เพราะวิจิตรแล้ว. เจดีย์นั้นมี ๓ อย่าง คือ บริโภคเจดีย์ อุทิสสกเจดีย์ ธาตุกเจดีย์
บรรดาเจดีย์ทั้ง ๓ นั้น โพธิพฤกษ์ ชื่อว่า บริโภคเจดีย์ พระพุทธปฎิมา ชื่อว่า อุทิสสกเจดีย์ พระสถูปที่มีห้องบรรลุพระธาตุ ชื่อว่า ธาตุก เจดีย์.
ในสมัยครั้งพระพุทธกาล ไม่มีพระพุทธรูป การสร้างพระพุทธรูป มีมาในภายหลังจากที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงปรินิพพาน ที่ผู้มีศรัทธาได้สร้างขึ้นเพื่อประโยชน์เป็นเครื่องเตือนให้น้อมระลึกถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สิ่งสำคัญที่สุดที่ควรจะได้พิจารณา คือ พระพุทธศาสนา ไม่ได้อยู่ที่รูปวัตถุ แต่อยู่ที่พระธรรมคำสอนของพระองค์ที่ทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษา ซึ่งมีความละเีอียดลึกซึ้งเป็นอย่างยิ่ง อันเป็นคำสอนของบุคคลผู้เลิศผู้ประเสริฐที่สุดในโลก ถ้าไม่ฟัง ไม่ศึกษา ย่อมไม่มีทางที่จะเข้าใจเมื่อไม่เข้าใจ ไม่น้อมประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมคำสอน วัตถุรูปต่างๆ ก็ไม่มีความหมาย เพราะถ้าไม่ศึกษาพระธรรม ไม่น้อมประพฤติปฏิบัติตามพระธรรม พระธรรมหรือพระพุทธศาสนา ก็ย่อมจะอันตรธานจากใจของผู้นั้น ไม่สามารถรักษาพระพุทธศาสนาไว้ได้ ดังนั้น จึงควรอย่างยิ่งที่จะได้ฟัง ได้ศึกษาพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงให้เข้าใจแล้วน้อมประพฤติปฏิบัิติตามพระธรรม น้อมไปในทางที่เป็นกุศลยิ่งขึ้นเพื่อขัดเกลากิเลสของตนเอง
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม 3 -หน้า 276
ภ. อย่าเลย วักกลิ ร่างกายอันเปื่อยเน่าที่เธอเห็นนี้ จะมีประโยชน์อะไร
ดูก่อนวักกลิ ผู้ใดแลเห็นธรรม ผู้นั้นชื่อว่าย่อมเห็นเรา ผู้ใดแลเห็นธรรม ผู้นั้นชื่อว่าย่อมเห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นชื่อว่าย่อมเห็นธรรมผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นชื่อว่าย่อมเห็นธรรมวักกลิ เป็นความจริง บุคคลเห็นธรรมก็ย่อมเห็นเรา บุคคลเห็นเรา ก็ย่อมเห็นธรรมเห็นธรรมก็ย่อมเห็นเรา บุคคลเห็นเรา ก็ย่อมเห็นธรรม
เห็น ใครเห็น ไม่มีใครที่เห็น ซึ่ง สภาพธรรม โดยมาก ก็คือ เห็นได้ทางตา อาศัยตาทำให้เห็น แต่เมื่อพูดถึงการเห็นธรรม ธรรมคือ สภาพธรรมที่มีจริงที่เป็น จิต เจตสิก และรูป แต่ ธรรมอะไรที่ควรเห็น ควรรู้ นั่นคือ สภาพธรรมที่ดี ซึ่งเป็น จิต เจตสิกเพราะฉะนั้นการเห็น ตา ไม่สามารถเห็นสิ่งที่เป็นนามธรรมที่เป็น จิต เจตสิกได้ แล้วอะไรที่จะเห็นได้ปัญญานั่นเองที่ทำให้เห็น ที่เรียกว่า ปัญญาจักษุ ตา คือ ปัญญา ที่จะเห็นตามความเป็นจริง เห็น ธรรม และธรรมอะไรที่ ชื่อว่าควรเห็นและเห็น เหมือนที่พระพุทธเจ้า (ตถาคต) เห็น หรือ ประจักษ์เหมือนกัน ธรรมในที่นี้ จึงมุ่งหมายถึง โลกุตตรธรรม ๙ คือ มรรค ๔ ผล ๔ และ พระนิพพาน นี่คือ การเห็นด้วยปัญญาที่ประเสริฐ
การได้อยู่ใกล้พระพุทธเจ้าที่มีพระชนม์อยู่ ได้เห็นด้วยตา ไม่ใช่เป็นการเห็นพระองค์แต่ การเห็นพระองค์ คือ มีปัญญาเข้าใจความจริง จนประจักษ์ พระนิพพานเกิด มรรค ๔ ผล ๔ ถึงการดับกิเลสตามขั้นต่างๆ ชื่อว่า เห็นพระองค์ เพราะเห็นพระปัญญาคุณ เห็นพระบริสุทธิคุณ และ เห็นพระมหากรุณาคุณด้วยปัญาของตนเองเป็นสำคัญซึ่งกว่าจะถึงการเห็นธรรม เห็นตถาคต ก็ด้วยการสะสมปัญญา ด้วยการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมต่อไป
กิเลส ที่เป็นภัยที่แท้จริง เพราะ อาศัยกิเลสจึงทำให้มีการทำอกุศลกรรม จนเป็นปัจจัยให้ได้รับทุกข์ ทุกข์ทางกาย เจ็บ ปวด เป็นโรค เพราะอะไร เพราะ ทำอกุศลกรรมไว้ อันมีกิเลส เป็นเหตุสำคัญ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่าเงินจะเป้นที่พึ่งได้จริงๆ เพราะ มีเงินและทอง ก็ไม่สามารถพ้นจากทุกข์กายได้เลยและ เงินและทองก็ไม่สามารถทำให้พ้นจากความทุกข์ใจประการต่างๆ ได้
ที่พึ่งที่ทำให้ปลอดภัยจาก กิเลส จากอกุศลกรรม คือ ความดี ประการต่างๆ เป็นที่พึ่ง ที่จะทำให้ได้รับสิ่งที่ดีๆ ประการต่างๆ และพ้นจากความทุกข์ใจชั่วขณะนั้น และ พ้นจากการเกในอบาย ตราบเท่าที่กรรมดีให้ผล แต่ ความดีเท่าไหร่ก็ไม่พอ ตราบใดที่ไม่ใช่ความดีที่ประกอบด้วยปัญญา เพราะ ปัญญาเท่านั้น ที่จะเป็นธรรมที่ละกิเลส ละภัยประการต่างๆ ได้อย่างแท้จริง เพราะ สามารถดับกิเลสได้จนหมดสิ้น ไม่มีการเกิดอีก ก็ไม่ต้องได้รัทุกข์ ภัย และไม่ต้องแสวงหาที่พึ่ง อีก เพราะ พ้นภัยประการทั้งปวงแล้ว
การจะมีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง ก็เพราะ มีปัญญา ความเข้าใจพระธรรมเป็นสำคัญ ไม่ใช่อาศัย พระพุทธเจ้าที่ปรินิพพานแล้วมาช่วย แต่เพราะ อาศัยความเลื่อมใส ศรัทธาในพระพุทธเจ้า ย่อม ศึกษาพระธรรม เมื่อมีความเข้าใจพระธรรมอย่างถูกต้อง ขณะนั้นได้ที่พึ่ง คือ ปัญญาแล้ว พ้นจากอกุศลชั่วขณะ ที่เป็นภัย และ เมื่ออบรมปัญญาด้วยการฟัง ศึกษาพระธรรมไปเรื่อยๆ ปัญญาที่เจริญขึ้น ย่อมทำให้ละ บรรเทาที่จะไม่ทำอกุศลกรรม อันจะนำมาซึ่งความเดือดร้อน และ เป็นภัยที่ประสบพบกันอยู่ เพราะ ความทุกข์กาย ความเดือดร้อนประการต่างๆ จะมีไม่ได้เลย หาก ไม่ได้ทำอกุศลกรราม ไว้
พระรัตนตรัย จึงเป็นรัตนที่ประเสริฐ ที่ทำให้สัตว์โลก ผู้ที่มีความเข้าใจพระธรรม มี พระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง พ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้ เงินทอง พ้นจากทุกข์ได้ชั่วคราว แต่ไม่สามารถพ้นจากทุกข์อันเกิดจากกิเลส และพ้นทุกข์ คือ การเกิดในสังสารวัฏฏ์ได้เลย ปัญญาได้จากการศึกษาพระรรม ปัญญานั้นเป็นที่พึ่งอันประเสริฐ และทำให้ถึงพระรัตนตรัยเป้นที่พึ่งได้อย่างถูกต้อง
พระปัจฉิมวาจา
[๑๔๓] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่าดูก่อนภิกษุทั้งหลายบัดนี้ เราขอเตือนพวกเธอว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา พวกเธอจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด นี้เป็นพระปัจฉิมวาจาของพระตถาคต
รูปแกะสลักท่านพระอานนท์ ร้องไห้ ที่พระพุทธเจ้าจะปรินิพพาน
"ดูก่อน อานนท์ เธออย่าเศร้าโศกร่ำไรไปเลยสิ่งใดเกิดแล้ว มีปัจจัยปรุงแต่งแล้วย่อมมีความดับไป เป็นธรรมดาอานนท์ เธอเป็นอุปัฏฐากตถาคต ด้วยกายกรรมวจีกรรม มโนกรรมอันประกอบด้วยเมตตา เป็นประโยชน์เกื้อกูล เป็นความสุขไม่มีสองหาประมาณมิได้มาช้านาน
ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย คนเหล่าใด ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ทั้งพาล และ บัณฑิต ทั้งมั่งมี และ ขัดสนล้วนมีความตายเป็นเบื้องหน้าภาชนะดิน ที่ช่างหม้อปั้น ทั้งเล็กทั้งใหญ่ ทั้งสุกทั้งดิบ ทุกชนิดมีความแตกทำลายในที่สุด ฉันใดชีวิตของสัตว์ทั้งหลาย ก็ฉันนั้น วัยของเรา แก่หง่อมแล้ว ชีวิตของเรา เหลือน้อยแล้วเราจักละพวกเธอไป เราได้ทำที่พึ่งแก่ตนแล้วพวกเธอจงไม่ประมาท มีสติ มีศีลด้วยดีเถิดจงเป็นผู้มีความดำริตั้งมั่นด้วยดี จง ตามรักษาจิตของตน เถิด"
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ 253
โลหิจจสูตร
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ บุรุษผู้หนึ่งพึงฉวยผมบุรุษอีกผู้หนึ่ง ซึ่งกำลังจะตกไปสู่เหวคือนรกไว้ ฉุดขึ้นให้ยืนอยู่บนบกฉันใด ข้าพระองค์กำลังจะตกไปสู่เหวคือ นรก พระโคดมผู้เจริญได้ยกขึ้นให้ยืนอยู่บนบก ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์ไพเราะยิ่งนัก จับใจยิ่งนัก เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืดด้วยคิดว่าคนมีจักษุจักเห็นรูปดังนี้ ฉันใด พระโคดมผู้เจริญก็ทรงประกาศพระธรรมโดย อเนกปริยาย ฉันนั้นเหมือนกัน
การกราบไหว้ สำคัญอยู่ที่สภาพจิตจริงๆ แม้การแสดงออกทางกายอาจจะเหมือนกัน แต่สภาพจิต อาจจะแตกต่างกันก็ได้ เมื่อกล่าวถึงการกราบไหว้ ในทางพระพุทธศาสนา แล้ว ไม่ว่าจะปรากฏในลักษณะใด ก็เพื่อน้อมสักการะบูชาบุคคลผู้ควรแก่การสักการะบูชา มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอริยสงฆ์สาวก มารดาบิดาครูอาจารย์ เป็นต้น เป็นความประพฤติที่ดีงาม ที่มาจากจิตใจที่ดีงาม เป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของกุศลธรรม ขัดเกลากิเลสในชีวิตประจำวัน ครับ
จัณฑาลิวิมาน
ว่าด้วยจัณฑาลิวิมาน
พระมหาโมคคัลลานเถระได้กล่าวคาถาสองคาถาว่า
ดูก่อน นางจัณฑาลี ท่านจงถวายอภิวาทพระบาทยุคลของพระโคดมผู้มีพระเกียรติยศ พระผู้เป็น พระพุทธเจ้าองค์ที่ ๗ ประทับยืนอยู่เพื่อทรงอนุเคราะห์ท่านคนเดียว ท่านจงทำใจให้เลื่อมใสยิ่งในพระพุทธเจ้า ผู้เป็นพระอรหันต์ คงที่แล้ว จงประคองอัญชลีถวายอภิวาทโดยเร็วเถิด ชีวิตของท่านยังน้อยเต็มที
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธธัสสะ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ซึ่งเป็นผู้ไกลจากกิเลส ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง
พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ
ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ