เหตุ - ปัจจัย - เหตุปัจจัย และ สมุฏฐาน
เรียนรบกวนช่วยอธิบายคำว่า "เหตุ" "ปัจจัย" "เหตุปัจจัย" และ "สมุฏฐาน" ว่าเหมือนแตกต่าง และเกี่ยวข้องกันอย่างไรคะ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
สำคัญที่ความเข้าใจอย่างถูกต้อง เพราะเหตุว่า ไม่ว่าจะเป็นคำใดก็เพื่อให้เข้าใจอย่างถูกต้อง แม้ดูเหมือนว่าจะเป็นคำที่มีความหมายใกล้เคียงกัน เมื่อได้ศึกษาแล้วจะได้เห็นถึงความละเอียดของคำแต่ละคำ ซึ่งจะเข้าใจอย่างถูกต้องได้นั้น จะขาดการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมไม่ได้เลยทีเดียว
เมื่อว่าโดยศัพท์แล้ว สมุฏฐาน ส่วนใหญ่แล้วใช้กับรูปธรรม หมายถึง ที่ตั้งที่จะทำให้รูปนั้นๆ เกิดขึ้น เช่น จักขุปสาทะ (ตา) เป็นรูปธรรมที่มีจริง เป็นรูปที่เกิดจากกรรม เป็นสมุฏฐาน ที่ตั้งที่จะทำให้รูปธรรมประเภทนี้เกิดขึ้น ไม่ใช่อย่างอื่น แต่เป็นกรรม เท่านั้นที่จะทำให้จักขุปสาทะเกิดขึ้น ดังนั้น กรรม จึงเป็นสมุฏฐานให้จักขุปสาทะเกิดขึ้น สมุฏฐานอื่นๆ ที่ทำให้เกิดรูปอื่นๆ ก็ต้องตามสมควรแก่สมุฏฐาน นั้นๆ
ส่วน ปัจจัย หมายถึง สภาพธรรมที่อุปการะเกื้อกูลให้สภาพธรรมนั้นๆ เกิดขึ้นและดำรงอยู่ มีความหมายกว้างขวางมาก สภาพธรรมหนึ่งๆ ที่เกิดขึ้นนั้น เพราะปัจจัย หลายปัจจัย แสดงให้เห็นถึงความเป็นจริงของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่มีสภาพธรรมใดๆ ที่เกิดขึ้นลอยๆ โดยปราศจากปัจจัย เช่น จิตเห็น (จักขุวิญญาณ) เกิด ขึ้นเพราะปัจจัยหลายอย่าง กล่าวคือ จะต้องมีอารมณ์ จะต้องมีเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย จะต้องมีกรรมเป็นปัจจัยให้จิตเห็นเกิดขึ้น และจะต้องมีที่อาศัยให้จิตเห็นเกิดด้วย
ซึ่งเมื่อดูความหมายทั้ง สมุฏฐานและปัจจัยแล้ว มีความหมายใกล้เคียงกัน คือ เป็นเหตุให้เกิดสภาพธรรมนั้น แต่ความแตกต่างก็คือ คำว่า ปัจจัย มีความหมายที่กว้างกว่า สมุฏฐานมากครับ เพราะปัจจัย ยังแยกเป็นปัจจัยต่างๆ ที่แสดงลักษณะ ความสัมพันธ์ที่ทำให้เกิดสภาพธรรมต่างๆ โดยนัยแตกต่างกันไป ตามลักษณะปัจจัยต่างๆ ที่มี ๒๔ ปัจจัย ปัจจัย จึงมีความหมายที่กว้างกว่า สมุฏฐาน ตามที่กล่าวมาครับ
ประโยชน์ของการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ก็เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกตามความ เป็นจริง ซึ่งจะต้องอาศัยคำหรือพยัญชนะในการสื่อสารเพื่อให้เข้าใจอย่างถูกต้อง ไม่ใช่ให้ไปติดที่คำ แต่เพื่อเข้าใจจริงๆ เมื่อกล่าวถึงคำไหน ก็ต้องเข้าใจในคำนั้นๆ ด้วย ครับ
ขออนุโมทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
เมื่อกล่าวถึง ปัจจัย แล้ว มุ่งหมายถึงสิ่งที่อุปการะเกื้อกูล หรือเป็นเหตุให้ผลเกิดขึ้นเป็นไป ซึ่งกว้างขวางมาก ถึง ๒๔ ปัจจัย เหตุ ก็เป็นปัจจัยหนึ่งในปัจจัยเหล่านั้นด้วย ที่เรียกว่า เหตุปัจจัย ได้แก่ เจตสิก ๖ ประเภท คือ โลภะ โทสะ โมหะ และ อโลภะ อโทสะ อโมหะ อันเป็นเหตุให้ผลธรรมเกิดขึ้นเป็นไป ได้แก่ จิต และเจตสิกอื่นๆ ที่เกิดร่วมกัน ตลอดจนถึงรูปที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยนั้น ด้วย
แต่ถ้ากล่าวอย่างกว้างๆ ว่า สภาพธรรมเกิดเพราะเหตุปัจจัย เหตุปัจจัยในที่นี้ก็เป็นการกล่าวโดยรวมให้เข้าใจว่า สภาพธรรมไม่ได้เกิดขึ้นเองลอยๆ แต่ต้องอาศัยเหตุปัจจัยหลายอย่าง ที่จะเป็นเครื่องอุปการะเกื้อกูลให้สภาพธรรมนั้นๆ เกิดขึ้นเป็นไป เช่น ขณะที่เห็นเกิดขึ้น ก็ต้องอาศัย ทั้ง ที่เกิดของจิตเห็น ต้องมีเจตสิกธรรมเกิดร่วมด้วย ต้องมีสีเป็นอารมณ์ ต้องมีกรรมที่ได้กระทำแล้วในอดีตให้ผลทำให้จิตเห็นเกิดขึ้นด้วย
สำหรับรูปธรรมแล้ว ก็เกิดขึ้นเพราะสมุฏฐาน (ที่ตั้งขึ้น) ต่างๆ ไม่พ้นไปจากเกิดเพราะมีจิตเป็นสมุฏฐาน มีอุตุเป็นสมุฏฐาน มีกรรมเป็นสมุฏฐาน มีอาหารเป็นสมุฏฐาน ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
เหตุปัจจัย คือ การสะสม เช่น ถ้าเราสะสมความดี สะสมปัญญา สะสมกุศล ก็เป็นเหตุปัจจัยให้รับวิบากที่ดีในอนาคต ตรงกันข้าม ถ้าเราสะสมความโกรธ ความโลภ หรือ การล่วงศีล 5 ก็เป็นเหตุให้ได้รับวิบากที่ไม่ดี เช่น เกิดในอบายภูมิ ค่ะ