เหตุใดคนบางคนมีอุปนิสัยเป็นคนคิดมาก เป็นคนเจ้าทุกข์

 
siwa
วันที่  4 ธ.ค. 2549
หมายเลข  2426
อ่าน  29,513

เหตุใดคนบางคนมีอุปนิสัยเป็นคนคิดมาก เป็นคนเจ้าทุกข์


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
study
วันที่ 4 ธ.ค. 2549

เหตุที่คนบางคนมีอุปนิสัยเป็นคนคิดมาก เป็นคนเจ้าทุกข์ ใจดี มีเมตตา เป็นต้น เพราะการสะสมมา อุปนิสัยของทุกคนในชาตินี้เป็นไปอย่างไร ก็เพราะเคยเป็นอย่างนี้มาแต่ปางก่อน อีกอย่างหนึ่งมีเหตุในปัจจุบันย่อมมีส่วนที่ทำให้ คนบางคนเป็นคนเจ้าทุกข์ คิดมาก เพราะขาดปาริหาริกปัญญา คือ ปัญญา เครื่องบริหารในกิจทุกอย่าง ฉะนั้น ผู้ที่มีปัญญาในการดำเนินชีวิต ย่อมไม่เป็นคนเจ้าทุกข์ หรือคิดมากในเรื่องที่ไม่เป็นสาระ ย่อมเป็นผู้มีการเป็นอยู่อย่างมีความสุข และเป็นชีวิตที่ประเสริฐ ดังพระพุทธพจน์ที่ว่า คนที่เป็นอยู่ด้วยปัญญานักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวว่ามีชีวิตประเสริฐ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
study
วันที่ 4 ธ.ค. 2549

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 300

คนที่เป็นอยู่ด้วยปัญญา นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวว่ามีชีวิตประเสริฐ.บทว่า ปญฺญาชีวี ชีวิตมาหุ เสฏฺฐํ แปลว่า คนที่เป็นอยู่ด้วยปัญญา นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวว่ามีชีวิตประเสริฐ ความว่า บุคคลใดเป็นอยู่ด้วยปัญญา เป็นคฤหัสถ์ย่อมดำรงอยู่ในศีล ๕ เริ่มตั้งสลากภัตเป็นต้นจึงชื่อว่าเป็นอยู่ด้วยปัญญา หรือว่าเป็นบรรพชิตเมื่อปัจจัยเกิดขึ้นแล้วโดยธรรม ก็ย่อมพิจารณาสิ่งที่มีอยู่นี้แล้วจึงบริโภค ถือเอากรรมฐาน เริ่มตั้งวิปัสสนา ชื่อว่าเป็นอยู่ด้วยปัญญา เพราะสามารถบรรลุอริยผลได้ ด้วยเหตุนั้น นัก-ปราชญ์ทั้งหลายจึงกล่าวว่า บุคคลผู้เป็นอยู่ด้วยปัญญานั้น มีชีวิตเป็นอยู่ อันประเสริฐดังนี้แล.

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
komgrip
วันที่ 4 ธ.ค. 2549

ผมคิดมากโดยขาดปัญญาและมีทุกข์ บางเรื่องที่คิดไม่ออก เช่น อยากรู้เรื่องราวของธรรมะเกี่ยวกับความตั้งมั่นในฌาน เช่น นิพพิทาญาน ความเบื่อหน่ายไม่น่าจะมีได้ เพราะในเมื่อธรรมะเป็นอนัตตาแล้ว ญานจะคงอยู่ได้อย่างไร ต่อมาก็คิดว่า เป็นเพราะไม่ประจักษ์แจ้งในการเกิดดับ อย่าเพิ่งข้ามขั้นไปศึกษาเรื่องราวอื่นๆ ควรระลึกลักษณะของสติให้ได้ก่อน ความทุกข์ที่คิดไม่ออกก็คลายลง

ลำดับต่อมา ก็คิดเรื่องต่างๆ ไปอีก เช่น ลักษณะสติที่ปรากฏเป็นสติ หรือ เป็นการนึกคิดว่ามีสติแบบให้ลืมตัวตน เมื่อคิดได้ว่าเป็นเพราะเราอยากก้าวหน้า สติจริงๆ เคยเกิดเล็กน้อยบ้างไหม โดนอวิชชาโจมตีให้วนเวียนอยู่อย่างนี้ หลงลืมสติอยู่เรื่อยๆ ทั้งๆ ที่ทราบว่าจะต้องฟังอีกฟังอีก ให้เข้าใจจนกว่าจะมีปัญญาประจักษ์แจ้ง

ขอเรียนถามว่า อุปนิสัยคิดมากฟุ้งซ่านเช่นนี้ ควรแก้ไข หรือ พิจารณาสิ่งใดบ้าง ก่อนหลังเป็นลำดับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
devout
วันที่ 4 ธ.ค. 2549

คนเราทุกคนที่เกิดมา ไม่มีใครที่ไม่คิดมากนะคะ เพียงแต่ว่าจะคิดไปในทางใด.. กุศลบ้าง.. อกุศลบ้าง โดยนัยของอภิธรรม วิตกเจตสิกเกิดกับจิตเกือบทุกดวง ยกเว้นทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ดวงเท่านั้น (คือ จิตเห็น จิตได้ยิน..ฯล ในกามาวจรภูมิ) เพราะฉะนั้น วิตกเจตสิกจึงเป็นเหมือนเท้าของโลก เพราะทำให้โลกก้าวไป คือจิตเป็นไปตามความคิดนั้นๆ คงห้ามความคิดไม่ได้แล้วแต่เหตุปัจจัยที่สะสมมา แต่การฟังธรรม ศึกษาธรรม พิจารณาธรรม จะปรุงแต่งสังขารขันธ์ ให้เกิดโยนิโสมนสิการจิตก็จะน้อมระลึกตรึก (คิด) ไปในทางกุศลเพิ่มมากขึ้น เพราะกุศลเป็นสภาพที่เบาสบาย ไม่ทุกข์ (ใจ) ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
paderm
วันที่ 4 ธ.ค. 2549

คนที่คิดมาก เจ้าทุกข์ เพราะมีความผูกพัน (โลภะ) ในสิ่งนั้นมากครับ สังเกตว่าเราจะไม่คิดมากถึงสิ่งที่ไม่ผูกพัน แต่เราจะคิดมากถึงสิ่งที่เราผูกพัน ทุกข์ถึงสิ่งนั้นมากด้วย และจะคิดถึงเรื่องนั้นบ่อยๆ เช่น ในหนังสือพิมพ์มีคนตาย แต่เราก็ไม่ค่อยเดือดร้อนถึงสิ่งนั้น แต่ถ้าเป็นสิ่งที่เราติดมาก เกิดอะไรขึ้นกับสิ่งที่เราติด เราจะคิดมาก ทุกข์เพราะสิ่งนั้น ดังนั้นคนที่คิดมาก เจ้าทุกข์ เกิดมาจากกิเลสนั่นเองครับ เมื่อบุคคลนั้นคิดมาก ก็สะสมเป็นอุปนิสัยต่อไป ที่ทำให้คิดมากถึงสิ่งที่ติดข้อง จึงเป็นทุกข์ตามมา เพราะเราเป็นทุกข์เพราะคิดนึก ทั้งๆ ที่สภาพธัมมะนั้นดับไปแล้วครับ ทุกๆ คนยังคิดมาก เจ้าทุกข์ เมื่อเหตุปัจจัยพร้อม คือ ติดในสิ่งใดสิ่งหนึ่งมาก เพราะฉะนั้น การคิดมาก ที่คุณกล่าวถึงเป็นไปทางฝ่ายอกุศล (โทสมูลจิต)

ส่วนในทางอภิธรรม เมื่อมีจิตก็ต้องคิด การคิดเป็นไปทางมโนทวาร ดังนั้น ทุกคนคิดมากในชีวิตประจำวัน แต่จะคิดเป็นไปทางฝ่ายกุศลหรืออกุศล ก็แล้วแต่ปัญญาและการสะสมของแต่ละคนครับ ควรฟังธัมมะมากๆ เพื่อให้จิตคิดเป็นไปทางฝ่ายกุศลและมีสติระลึกว่าขณะคิดมาก เป็นเพียงธัมมะอย่างหนึ่งไม่ใช่เราครับ จึงจะเป็นหนทางที่ถูกต้อง

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑- หน้าที่ 288

๔. สัญโญชนสูตร

[๑๘๔] เทวดาทูลถามว่า โลกมีอะไรหนอเป็นเครื่องประกอบไว้ อะไรหนอเป็นเครื่องเที่ยวไปของโลกนั้น เพราะละขาดซึ่งธรรมอะไรจึงเรียกว่านิพพาน.

[๑๘๕] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า โลกมีความเพลิดเพลินเป็นเครื่องประกอบไว้ วิตกเป็นเครื่องเที่ยวไปของโลกนั้น เพราะละตัณหาเสียได้ขาด จึงเรียกว่านิพพาน.

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
คนรักหนัง
วันที่ 5 ธ.ค. 2549

ความคิดมาก ความเครียด ความกังวล ความหงุดหงิด ความรำคาญใจ ความใจร้อน ความเจ้าทุกข์ ความเดือดร้อนใจ.ฯลฯ...เป็นลักษณะของโทสะ ครับ โดยเฉพาะถ้าเกิดบ่อยๆ กับผู้ที่มีจิตใจไม่มั่นคง หรือ เป็นผู้ที่รองรับความเครียดได้ไม่มาก ก็จะทำให้เป็นโรคทางด้านจิตเวช แบบอ่อนๆ ก่อน เมื่อความเครียดและวิตกกังวล เกิดมากขึ้น ก็จะทำให้นอนไม่หลับ เมื่อนอนไม่หลับบ่อยๆ ก็จะเป็นสาเหตุหนึ่งของโรคประสาท ซึ่งคำนี้อาจจะเป็นคำที่ดูรุนแรง แต่จริงๆ แล้ว โรคจิต เป็นอาการที่หนักกว่าโรคประสาทครับ ซึ่งถ้านอนไม่หลับบ่อยๆ ก็ไม่ควรจะไปซื้อยาทานเอง ควรจะปรึกษากับจิตแพทย์โดยตรงจะดีกว่า เพราะยาแผนปัจจุบัน ซึ่งจ่ายให้โดยแพทย์ผู้มีความชำนาญด้านนี้๋ โดยตรงจะได้ผลดีมาก เนื่องจากใน ปัจจุบัน ผู้ที่มีความเครียด ส่วนหนึ่งไม่ยอมรับว่าตัวเองมีความเครียดถึงขั้นต้องปรึกษาจิตแพทย์ จึงไปซึ้อยาระงับประสาททานเอง ซึ่งก็จะทำให้ติดยานั้น และต้องเพิ่มปริมาณมากขึ้นในรายที่เป็นมาก ถ้าเทียบกับในครั้งพุทธกาลแล้ว ปัจจุบันคนเป็นโรคเครียด (ประสาท) กันมากกว่าสมัยก่อน การฆ่าตัวตายในสมัยนี้ ก็มากกว่า สมัยก่อน จึงไม่ควรมองข้ามความเครียดเล็กๆ น้อยๆ จิตแพทย์ ปัจจุบันที่เก่งๆ ก็มีมากครับ เพียงแต่ว่าค่ายา และค่ารักษาจะแพงอยู่สักหน่อย ซึ่งถ้าเป็นผู้ที่มีรายได้น้อย ก็ใช้บริการโรงพยาบาลของรัฐก็ได้

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
JANYAPINPARD
วันที่ 6 ธ.ค. 2549

คนคิดมาก เป็นโลภะหรือโทสะคะ ขอคิดเองว่าคิดมากเนื่องจากมีโลภะความผูกพัน แต่ขณะที่คิดมากเป็นโทสะ สรุปจากความคิดเห็นที่ 5 และ 6 ใช่ไหมคะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
pornchai.s
วันที่ 8 ธ.ค. 2549

ข้อสังเกตระหว่าง โทสะ กับ โลภะ คือ สังเกตที่ความรู้สึก (เวทนา) ถ้าเป็นโทสะ จะเกิดร่วมกับ โทมนัสเวทนา เป็นความรู้สึกทุกข์ใจ ไม่ชอบในลักษณะนั้น ไม่ต้องการในอารมณ์นั้นๆ ไม่อยากให้ความรู้สึกแบบนั้นเกิดกับเรา คงไม่มีใครชอบความคิดมาก ความกังวลใจ แต่ถ้าเป็น โลภะ เท่าไรก็ไม่พอ ยิ่ง เป็นโลภะที่เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา (ความรู้สึกสุขใจ สบายใจ) แล้วละก็ ต้องการให้มันอยู่กับเรานานๆ เพลิดเพลินไปเรื่อยๆ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
เซจาน้อย
วันที่ 23 ม.ค. 2554
ขออนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
chatchai.k
วันที่ 16 ม.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ