ใจเป็นใหญ่ เปลี่ยนจากอกุศลเป็นกุศลเพิ่มขึ้นหรือไม่

 
pirmsombat
วันที่  3 ม.ค. 2557
หมายเลข  24283
อ่าน  1,459

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 52

ใจเป็นใหญ่ในกรรมทุกอย่าง

ดับนั้น พระศาสดาทรงทราใจเป็นใหญ่ในกรรมทุกอย่างบความที่มหาชนนั้นไม่สิ้นความ สงสัย ได้ทรงอธิษฐานว่า "ขอมัฏฐกุณฑลีเทวบุตร จงมาพร้อมด้วย วิมานทีเดียว" เธอมีอัตภาพอันประดับแล้วด้วยเครื่องอาภรณ์ทิพย์ สูง ประมาณ ๓ คาวุตมาแล้ว ลงมาจากวิมาน ถวายบังคมพระศาสดาแล้ว ได้ยืน ณ ที่ควรข้างหนึ่ง.

ลำดับนั้น พระศาสดาเมื่อจะตรัสถามเธอว่า "ท่านทำกรรมสิ่งไร จึงได้สมบัตินี้" ได้ตรัสพระคาถาว่า "เทพดา ท่านมีกายงามยิ่งนัก ยืนทำทิศทั้งสิ้นให้สว่าง เหมือนดาวประจำรุ่ง, เทพผู้มีอานุภาพมาก เราขอถามท่าน (เมื่อ) ท่านเป็นมนุษย์ได้ทำบุญอะไรไว้"

เทพบุตร กราบทูลว่า "พระองค์ผู้เจริญ สมบัตินี้ข้าพระองค์ได้ แล้ว เพราะทำให้ให้เลื่อมใสในพระองค์"

ศ. สมบัตินี้ ท่านได้แล้ว เพราะทำใจให้เลื่อมใสในเราหรือ

ท. พระเจ้าข้า

มหาชนแลดูเทพบุตรแล้ว ได้ประกาศความยินดีว่า "แน่ะพ่อ พุทธคุณน่าอัศจรรย์จริงหนอ บุตรของพราหมณ์ ชื่อว่า อทินนปุพพกะ ไม่ได้ทำบุญอะไรๆ อย่างอื่น ยังใจให้เลื่อมใสพระศาสดาแล้ว ได้สมบัติเห็นปานนี้"

ใจเป็นใหญ่ในกรรมทุกอย่าง

ลำดับนั้น พระศาสดาตรัสแก่พวกชนเหล่านั้นว่า "ในการทำกรรมที่เป็นกุศลและอกุศล ใจเป็นหัวหน้า ใจเป็นใหญ่ เพราะว่า กรรมที่ทำด้วยใจอันผ่องใสแล้ว ย่อมไม่ละบุคคลผู้ไปสู่เทวโลกมนุษยโลกดุจเงาฉะนั้น" ครั้นตรัสเรื่องนี้แล้ว พระองค์ผู้เป็นธรรมราชา ได้ตรัสพระคาถานี้สืบอนุสนธิ ดุจประทับพระราชสาสน์ซึ่งมีดินประจำไว้แล้ว ด้วยพระราชลัญจกรว่า:-

. มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา มโนเสฏฺฐา มโนมยา มนสา เจ ปสนฺเนส ภาสติ วา กโรติ วา ตโต นํ สุขมเนฺวติ ฉายาว อนุปายินี

"ธรรมทั้งหลาย มีใจเป็นหัวหน้า มีใจเป็นใหญ่ สำเร็จแล้วด้วยใจ ถ้าบุคคลมีใจผ่องใสแล้ว พูดอยู่ก็ดี ทำอยู่ก็ดี ความสุขย่อมไปตามเขา เพราะเหตุนั้น เหมือนเงาไปตามตัว" ฉะนั้น.

แก้อรรถ

จิตที่เป็นไปใน ๔๑ ภูมิ แม้ทั้งหมด เรียกว่าใจ ในพระคาถานั้น ก็จริง โดยไม่แปลกกัน, ถึงอย่างนั้น เมื่อนิยม กะ กำหนดลง ในบทนี้ ย่อมได้แก่จิตเป็นกามาพจรกุศล ๘ ดวง; ก็เมื่อกล่าวด้วยสามารถวัตถุ ๑ ภูมิ ๔ คือ กามาวจรภูมิ ๑ รูปาวจรภูมิ ๑ อรูปาวจรภูมิ ๑ โลกุตรภูมิ ๑ ย่อมได้แก่จิตประกอบด้วยญาณ เป็นไปกับด้วยโสมนัสแม้จากกามาพจร กุศลจิต ๔ ดวงเท่านั้น.

บทว่า ปุพฺพงฺคมา ความว่า ประกอบกับใจซึ่งเป็นผู้ไปก่อนนั้น. ขันธ์ ๓ มีเวทนาเป็นต้น ชื่อว่าธรรม. แท้จริง ใจเป็นหัวหน้าของ อรูปขันธ์ทั้ง ๓ มีเวทนาขันธ์เป็นต้นนั้น โดยอรรถคือเป็นปัจจัยเครื่องให้เกิดขึ้น เหตุนั้นขันธ์ทั้ง ๓ ประการนั่น จึงชื่อว่ามีใจเป็นหัวหน้า. เหมือนอย่างว่า เมื่อทายกเป็นอันมาก กำลังทำบุญ มีถวายบาตรและ จีวรเป็นต้น แก่ภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ก็ดี มีบูชาอันยิ่ง และฟังธรรม และ ตามประทีป และทำสักการะด้วยระเบียบดอกไม้เป็นต้นก็ดี ด้วยกัน เมื่อมีผู้กล่าวว่า "ใครเป็นหัวหน้าของทายกเหล่านั้น" ทายกผู้ใดเป็น ปัจจัยของพวกเขา คือพวกเขาอาศัยทายกผู้ใดจึงทำบุญเหล่านั้นได้ ทายกผู้นั้น ชื่อติสสะก็ตาม ชื่อปุสสะก็ตาม ประชุมชนย่อมเรียกว่า "เป็นหัวหน้าของพวกเขา" ฉันใด, คำอุปไมยซึ่งเป็นเครื่องให้เกิด เนื้อความถึงพร้อมนี้ บัณฑิตพึงทราบฉันนั้น. ใจชื่อว่าเป็นหัวหน้าของธรรมเหล่านี้

ด้วยอรรถว่าเป็นปัจจัยเครื่องให้เกิดขึ้นด้วยประการฉะนี้ เหตุนั้น ธรรมเหล่านี้ จึงชื่อว่ามีใจเป็นหัวหน้า. แท้จริง ธรรมเหล่านั้น เมื่อใจไม่เกิดขึ้น ย่อมไม่สามารถจะเกิดขึ้นได้, ส่วนใจ เมื่อเจตสิก บางเหล่าถึงยังไม่เกิดขึ้น ก็เกิดขึ้นได้แท้. และใจชื่อว่าเป็นใหญ่กว่าธรรม เหล่านี้ ด้วยอำนาจเป็นอธิบดี เพราะฉะนั้น ธรรมเหล่านี้ จึงชื่อว่า มีใจเป็นใหญ่.

อนึ่ง สิ่งของทั้งหลายนั้นๆ เสร็จแล้วด้วยวัตถุมีทองคำ เป็นต้น ก็ชื่อว่าสำเร็จแล้วด้วยทองคำเป็นต้น ฉันใด, ถึงธรรมทั้งหลาย นั่นก็ได้ชื่อว่า สำเร็จแล้วด้วยใจ เพราะเป็นของเสร็จมาแต่ใจ ฉันนั้น.

บทว่า ปสนฺเนน ความว่า ผ่องใสแล้ว ด้วยคุณทั้งหลาย มีความไม่เพ่งเล็งเป็นต้น.

สองบทว่า ภาสติ วา กโรติ วา ความว่า บุคคลมีใจเห็นปานนี้ เมื่อจะพูด ย่อมพูดแต่วจีสุจริต ๔ อย่าง เมื่อจะทำ ย่อมทำแต่กายสุจริต ๓ อย่าง เมื่อไม่พูด เมื่อไม่ทำ ย่อมทำแต่มโนสุจริต ๓ อย่างให้เต็มที่ เพราะความที่ตัวเป็นผู้มีใจผ่องใสแล้ว ด้วยคุณทั้งหลาย มีความไม่เพ่งเล็งเป็นต้นนั้น. กุศลกรรมบถ ๑๐ ของเขาย่อมถึงความ เต็มที่ ด้วยประการอย่างนี้.

บาทพระคาถาว่า ตโต นํ สุขมเนฺวติ ความว่า ความสุข ย่อมตามบุคคลนั้นไป เพราะสุจริต ๓ อย่างนั้น. กุศลทั้ง ๓ ภูมิ๑ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประสงค์แล้วในที่นี้, เพราะฉะนั้น บัณฑิตพึง ทราบอธิบายว่า "ความสุขที่เป็นผล ซึ่งเป็นไปในกายและเป็นไปในจิต (โดยบรรยายนี้) ว่า 'ความสุขมีกายเป็นที่ตั้งบ้าง ความสุขมีจิตนอกนี้ เป็นที่ตั้งบ้าง' ย่อมตามไป คือว่า ย่อมไม่ละบุคคลนั้น ผู้เกิดแล้วใน สุคติภพก็ดี ตั้งอยู่แล้วในที่เสวยสุขในสุคติก็ดี เพราะอานุภาพแห่งสุจริต ที่เป็นไปในภูมิ ๓ มีคำถามสอดเข้ามาว่า "เหมือนอะไร" แก้ว่า " เหมือนเงามีปกติไปตามตัว" อธิบายว่า เหมือนอย่างว่า ธรรมดา เงาเป็นของเนื่องกับสรีระ เมื่อสรีระเดินไป มันก็เดินไป, เมื่อสรีระหยุดอยู่ มันก็หยุด, เมื่อสรีระนั่ง มันก็นั่ง, ไม่มีใครสามารถที่จะว่ากล่าวกะมัน ด้วยถ้อยคำอันละเอียดก็ดี ด้วยถ้อยคำอันหยาบก็ดีว่า "เจ้าจงกลับไปเสีย หรือเฆี่ยนตีแล้วจึงให้กลับได้."

ถามว่า "เพราะเหตุไร"

ตอบว่า "เพราะมันเป็นของเนื่องกับสรีระ ฉันใด ความสุขที่เป็นไปในกายและ "เพราะมันเป็นของเนื่องกับสรีระ ฉันใด. ความสุขที่เป็นไปในกายและ เป็นไปในจิต ต่างโดยสุขมีกามาพจรสุขเป็นต้น

มีกุศลแห่งกุศลกรรมบถ ๑๐ เหล่านี้ ที่บุคคลประพฤติมากแล้ว และประพฤติดีแล้ว เป็นรากเหง้า ย่อมไม่ละ (บุคคลนั้น) ในที่แห่งเขาไปแล้วและไปแล้ว เหมือนเงาไปตามตัว ฉันนั้นแล"

ในกาลจบคาถา ความตรัสรู้ธรรม ได้มีแล้วแก่เหล่าสัตว์แปด หมื่นสี่พัน, มัฏฐกุณฑลีเทพบุตร ตั้งอยู่แล้วในพระโสดาปัตติผล อทินนปุพพกพราหมณ์ ก็เหมือนกัน เขาได้หว่านสมบัติใหญ่ถึงเท่านั้น ลงไว้ในพระพุทธศาสนาแล้ว ดังนี้แล.

ข้อความบางตอนจากการบรรยายธรรมโดยท่านอาจารย์ สุจินต์ บริหารวนเขตต์

เปลี่ยนจากอกุศลเป็นกุศลเพิ่มขึ้นหรือไม่

ท่านอาจารย์ ในเมื่อได้ทราบเรื่องของอกุศล 9 กอง ก็จะเห็นได้จริงๆ ว่า ไม่พ้นไป เลยจากอกุศลธรรมนั้นๆ เพราะฉะนั้นเมื่อเข้าใจชีวิตตามความเป็นจริง ก็จะเห็นชัดว่า กำลังก้าวไปสู่อะไร ไปสู่เหว ที่จะตกลงไปลึกๆ จะไปสู่ห้วงน้ำใหญ่ หรือว่าค่อยๆ ขยับ ออกให้พ้นจากทางนั้น แต่ว่าวันหนึ่งๆ จะเห็นได้ว่า ก้าวไปสู่ทางที่จะทำให้มัวเมา มากกว่าการที่จะก้าวไปสู่ทาง ที่สร่างจากความเมา ถ้าไม่มีการฟังพระธรรมเลยทุกวัน จะต้องถูกครอบงำด้วย ความมัวเมาไม่มีวันสร่าง แต่เมื่อใดที่มีความเข้าใจในพระธรรม และพิจารณารู้ความคิดของตนเอง ก็จะเห็นได้ว่า ทางที่ควรจะก้าวไปนั้น ควรจะเป็น ไปในทางกุศล ซึ่งถ้าท่านผู้ฟังจะสังเกตจากชีวิตของท่านเองโดยละเอียดขึ้น ก็จะรู้ได้ ว่า การกระทำทางกายในวันหนึ่งๆ นี้ หรือทางวาจา ซึ่งดูเหมือนกับว่า ก็ไม่ใช่เป็นภัย ร้ายแรง แต่ในขณะใดที่สติสัมปชัญญะเกิดจะรู้ได้ว่าบางขณะ แม้แต่คำพูดนั้นก็พูดไป ตามความคิดที่กำลังโกรธ คือคำพูดนั้นเอง พูดเพื่อให้คนอื่นรู้ว่าท่านกำลังโกรธ แม้ จะไม่ใช้คำที่หยาบคาย เป็นอย่างนี้ไหม เวลาที่โกรธ คิดโกรธ เพราะฉะนั้น วาจาตามความคิด แม้ว่าจะไม่ใช้คำหยาบ แต่ก็ยังเป็นคำพูด ที่ทำให้คนฟังรู้ว่า ท่านกำลังโกรธ วันหนึ่งๆ คือชีวิตประจำวันตามความเป็นจริง ซึ่งแม้ว่าจะสะสมกุศลมาสัก เท่าไร แต่ถ้าไม่ใช่ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน ที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมว่า ไม่ใช่ สัตว์ บุคคล ตัวตนจริงๆ ก็ไม่สามารถที่จะละคลายอกุศลนั้นๆ เพียงแต่ว่าเป็นผู้มีสติ สัมปชัญญะ มีการระลึกได้เร็วกว่า บุคคลซึ่งไม่เคยฟังพระธรรม เพราะทุกคนก็โกรธ แต่ว่าโกรธแล้ว จะระลึกได้ในขณะนั้นไหมว่า ขณะนั้นได้มีการกระทำทางกาย ทาง วาจา ซึ่งเป็นไปตามความคิด หรือความโกรธในขณะนั้น เพราะฉะนั้นผลจากการฟังพระธรม แล้วก็เข้าใจพระธรรม ก็เป็นการที่จะรู้ว่า ความคิดของท่านเอง

ในวันหนึ่งๆ เปลี่ยนจากอกุศล เป็นกุศลเพี่มขึ้นหรือไม่ คือ คิดที่จะละคลาย อกุศลหรือยัง เช่น คิดที่จะไม่ผูกโกรธ เตือนบ่อยๆ เพราะว่าความโกรธนี้ทุกคนมี แล้วมีแล้วบางคนก็ไม่ลืม โกรธนาน

อาจจะโกรธแต่ก่อนนี้ 3 วัน ก็อาจจะลดลงมาบ้างเหลือสัก 2 วัน หรือเหลือสัก ครึ่งวันหรือว่าสักชั่วครู่ แต่เห็นประโยชน์ไหมว่า จาก 3 วันเหลือ 2 วัน เหลือ 1 วัน เหลือครึ่งวัน หรือว่าเหลือเพียงชั่วครู่

นี่คือผลจากการฟังเข้าใจพระธรรมแล้วก็พิจารณาพระธรรม มีการคิดที่จะอภัย และมีการที่จะคิดถึงคนอื่น ด้วยความเมตตา ไม่มีการคิดที่จะแบ่งพรรค แบ่งพวก เพราะว่า สำหรับ ปฏิปทาจริยาของพระโพธิสัตว์ นั้นมี สังคหวัตถุ ในบุคคล ทั้งที่เป็นมิตร และ ที่เป็น ศ้ตรู

เพราะฉะนั้น จริยาคือ ความประพฤติของพระโพธิสัตว์ เกิดจากความคิด อย่าง ละเอียดมาก เห็นประโยชน์ของทุกอย่างที่เป็นกุศล มีสติสัมปชัญญะที่จะพิจารณา การ กระทำทางกาย ทางวาจา หรือแม้แต่ความคิดในขณะนั้น แล้วก็สามารถที่จะมีความมั่นคงที่จะประพฤติปฏิบัติตาม

ในขณะที่ฟังพระธรรม ขณะนี้ หมั่นใส้ใครบ้างหรือเปล่า หรือจริงๆ เลย ขณะที่ฟัง พระธรรมแท้ๆ ยังหมั่นไส้ ยังไม่ได้ปฏิบัติตามพระธรรม ยังไม่ได้ละคลายอกุศล ยังไม่ เลิกคิดที่จะหมั่นใส้ แล้วขณะอื่นซึ่งไม่ได้ฟังพระธรรม จะเป็นยังไง เพราะฉะนั้นจิตใจนี้ เป็นสิ่งซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมที่เป็นอกุศลไว้มาก และที่เป็นกุศลไว้มาก สำหรับอัธยาศัยที่ต่างกัน ผู้ที่มีอัธยาศ้ยอ่อนโยน พระผู้มีพระภาคเจ้าก็จะแสดงพระธรรม ในเรื่องของกุศลทั้งหลาย แต่ผู้ที่มีอุปนิสัยยังดื้อ หรือยังกระด้าง ยังไม่อ่อนโยน ก็ต้อง ทรงแสดงเรื่องของอกุศลไว้มากๆ

ให้เห็นโทษของอกุศล ถ้าจะระลึกได้

เคยโกรธใครไว้ เคยไม่ชอบใคร แล้วในขณะที่ฟังพระธรรมเดี๋ยวนี้คิดอย่างไร ควรที่จะได้พิจารณา แล้วได้ประโยชน์จากการฟังพระธรรม ถ้าขณะนี้คิดไม่ได้ เพียงขณะที่กำลังฟังพระธรรมแท้ๆ ยังไม่ยอม แล้วขณะอื่น จะเป็นอย่างไร

เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าแต่ละชีวิต แม้จะได้เคยฟังพระธรรมมามาก และเจริญ บารมีมาบ้างแล้ว แต่กำลังของกิเลสที่ยังไม่ได้ดับ ก็เป็นปัจจัยที่จะให้เกิดอกุศล ประเภทต่างๆ ขั้นต่างๆ เกิดความคิด บางท่านก็ไม่แน่ใจแม้ว่าสิ่งที่ท่านทำนี้ ถูกต้อง ไหม หรือว่าควรทำไหม แต่ว่าถ้าเป็นผู้ที่พิจารณาเหตุผล ก่อนที่จะกระทำสิ่งหนึ่งสิ่ง ใด แล้วมีความมั่นใจว่า ขณะนั้นท่านมีความหวังดี สิ่งที่ทำเป็นความถูกต้อง ขณะนั้น ก็จะไม่หวั่นไหว ว่าจะเป็นที่รัก หรือจะเป็นที่ชังของใคร เพราะว่าท่านได้พิจารณาแล้ว ว่า สิ่งที่ท่านทำ ทำด้วยความหวังดี


ปกติเห็นภัยในโทษแม้มีประมาณน้อย

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า เธอเป็นผู้มีศีล สำรวมในปาฏิโมกข์ ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจร

ปกติเห็นภัยในโทษแม้มีประมาณน้อย

สมาทานสิกขาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยข้อที่ 4 ย่อมเป็นไปเพื่อได้ปัญญา เพื่อความบริบูรณ์ แห่งปัญญาที่ได้แล้ว เมื่อฟังพระธรรมแล้ว สงบกายและสงบจิต แล้วมีการสำรวมระวังเพี่มขึ้น เพราะว่าเป็นผู้มีปกติเห็นภัยในโทษ แม้มีประมาณน้อย นี่สำหรับผู้ที่ละเอียดมากทีเดียวนะคะ

ที่จะเป็นผู้เห็นภัยในโทษแม้มีประมาณน้อย คิดถึงคนอื่นด้วยอกุศลจิตนิดเดียว สติระลึกได้หรือยัง เห็นหรือยัง ภัยในโทษแม้มีประมาณน้อย คือ แม้เพียงชั่วความคิด ก็ยังเห็นว่าเป็นโทษ แต่ถ้ายังไม่เห็น ปัญญาก็ยากที่จะเจริญได้


  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 3 ม.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

"...ในวันหนึ่งๆ เปลี่ยนจากอกุศล เป็นกุศลเพิ่มขึ้นหรือไม่ คือ คิดที่จะละคลาย อกุศลหรือยัง เช่นคิดที่จะไม่ผูกโกรธ เตือนบ่อยๆ เพราะว่าความโกรธนี้ทุกคนมี แล้วมีแล้วบางคนก็ไม่ลืม โกรธนาน อาจจะโกรธแต่ก่อนนี้ 3 วัน ก็อาจจะลดลงมาบ้างเหลือสัก 2 วัน หรือเหลือสัก ครึ่งวันหรือว่าสักชั่วครู่ แต่เห็นประโยชน์ไหมคะว่า จาก 3 วันเหลือ 2 วัน เหลือ 1 วัน เหลือครึ่งวัน หรือว่าเหลือเพียงชั่วครู่

นี่คือผลจากการฟังเข้าใจพระธรรมแล้วก็พิจารณาพระธรรม มีการคิดที่จะอภัย และมีการที่จะคิดถึงคนอื่น ด้วยความเมตตา ไม่มีการคิดที่จะแบ่งพรรค แบ่งพวก..."

"กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลวิริยะของคุณหมอ เป็นอย่างยิ่ง

และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ"

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 3 ม.ค. 2557

ขอบคุณ และขออนุโมทนาคุณหมอ และอ.คำปั่น ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
pirmsombat
วันที่ 3 ม.ค. 2557

ขอบพระคุณและอนุโมทนาคุณคำปั่นและคุณผเดิม ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
natural
วันที่ 3 ม.ค. 2557

รบกวนเรียนถามเพิ่มเติมว่า ภพ กับ ภูมิ ต่างกันอย่างไร และจากข้อความ จิตที่เป็นไปใน ๔๑ ภูมิ แม้ทั้งหมด เรียกว่า ใจ หมายความว่าอย่างไรคะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
paderm
วันที่ 4 ม.ค. 2557

เรียนความเห็นที่ 5 ครับ

คำว่า ภพ มาจากภาษาบาลีว่า ภว (ว่าโดยศัพท์แล้ว มีหลายความหมาย หมายถึง ความมีความเป็น ความเจริญ ความเกิดขึ้นเป็นไป)

ภพ หมายถึงสถานที่เกิดของหมู่สัตว์ มี ๓๑ ภพภูมิ ได้แก่ อบายภูมิ ๔ มนุษย์ภูมิ ๑ สวรรค์ ๖ ชั้น รูปพรหมภูมิ ๑๖ อรูปพรหมภูมิ ๔ หรือหมายถึงความบังเกิดขึ้นเป็นบุคคล ต่างๆ และ ในบางแห่งเช่น ภพ ในปฏิจจสมุปบาท ภพมี ๒ ความหมายคือ กรรมภพ หมายถึง เจตนาเจตสิก (อกุศลเจตนา โลกิยกุศลเจตนา) และอุปปัตติภพ หมายถึง ผลของเจตนา (โลกิยวิบาก รวมทั้งเจตสิกที่ประกอบ และกัมมชรูป) ด้วย ส่วนภูมิ หมายถึง ระดับชั้น ทั้งที่เป็น ภูมิที่เป็นที่เกิดของสัตว์ เช่น มนุษย์ เป็นต้น และ ภูมิของจิต ที่เรียกว่า ระดับของจิต เช่น กามภูมิ รูปภูมิ เป็นต้น เพราะฉะนั้น ภูมิ จึงมีความหมายกว้างกว่า ภพ โดยนัยนี้ ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
natural
วันที่ 4 ม.ค. 2557

ขอบพระคุณค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
rrebs10576
วันที่ 5 ม.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
napachant
วันที่ 14 ม.ค. 2557

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
chatchai.k
วันที่ 1 ต.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ