สภาพธรรมที่ปรากฏเกิดตามเหตุปัจจัย
เรียนอาจารย์ทั้งสองท่าน
สภาพธรรมที่ปรากฏเกิดตามเหตุปัจจัย วันหนึ่งๆ เหตุปัจจัยมีให้สภาพธรรมเกิดนับไม่ถ้วน เป็นความคิดที่ผิดหรือถูกอย่างไรครับ ขอความอนุเคราะห์ด้วยครับ
ขออนุโมทนาครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ก่อนอื่นก็จะต้องเข้าใจคำว่า เหตุปัจจัยก่อน ครับ
เมื่อกล่าวถึง ปัจจัย แล้ว มุ่งหมายถึงสิ่งที่อุปการะเกื้อกูลหรือเป็นเหตุให้ผลเกิดขึ้นเป็นไป ซึ่งกว้างขวางมาก ถึง ๒๔ ปัจจัย เหตุ ก็เป็นปัจจัยหนึ่งในปัจจัยเหล่านั้นด้วย ที่เรียกว่า เหตุปัจจัย ได้แก่ เจตสิก ๖ ประเภท คือ โลภะ โทสะ โมหะ และ อโลภะ อโทสะ อโมหะ อันเป็นเหตุให้ผลธรรมเกิดขึ้นเป็นไป ได้แก่ จิต และเจตสิกอื่นๆ ที่เกิดร่วมกัน ตลอดจนถึงรูปที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยนั้น ด้วย
แต่ถ้ากล่าวอย่างกว้างๆ ว่า สภาพธรรมเกิดเพราะเหตุปัจจัย เหตุปัจจัยในที่นี้ก็เป็นการกล่าวโดยรวมให้เข้าใจว่า สภาพธรรมไม่ได้เกิดขึ้นเองลอยๆ แต่ต้องอาศัยเหตุปัจจัยหลายอย่าง ที่จะเป็นเครื่องอุปการะเกื้อกูลให้สภาพธรรมนั้นๆ เกิดขึ้นเป็นไป เช่น ขณะที่เห็นเกิดขึ้น ก็ต้องอาศัย ทั้ง ที่เกิดของจิตเห็น ต้องมีเจตสิกธรรมเกิดร่วมด้วย ต้องมีสีเป็นอารมณ์ ต้องมีกรรมที่ได้กระทำแล้วในอดีตให้ผลทำให้จิตเห็นเกิดขึ้นด้วย
ธรรมะทุกอย่างเป็นไปตามเหตุปัจจัย พูดแล้วก็ดูเหมือนกว้าง และอาจจะทำให้เราคิดว่าสรุปแล้วชีวิตนี้ ทำอะไรไม่ได้เลยหรือ แต่ถ้าเราได้ศึกษาความเป็นปัจจัยของธรรมะในส่วนที่ละเอียดขึ้นแล้ว ก็จะเกิดความเข้าใจว่า ส่วนใหญ่ในชีวิตของผู้ที่เป็นปุถุชน วันหนึ่งๆ เป็นไปตามเหตุปัจจัยของอกุศลเหตุ แทบจะทุกขณะ เกือบตลอดเวลา ยกเว้นเพียงตอนที่จิตเป็นชาติวิบาก กุศล หรือกิริยา เท่านั้น ขณะที่เป็นกรรมก็คือขณะที่เป็นกุศล หรืออกุศลนี้นี่เอง ส่วนขณะที่เป็นวิบาก ก็คือขณะที่เป็นผลของกุศล หรืออกุศล ที่ได้กระทำเสร็จสิ้นแล้วในอดีตสุกงอม จึงให้ผล ขณะที่คิดว่าเป็นเรา ก็เป็นเราโดยไม่รู้ว่า เป็นเพราะอกุศลเหตุ เหตุนี้ การฟังพระธรรมเพื่อให้เข้าใจความจริงว่า ไม่มีเรา ไม่มีใคร จะที่ทำหรือไม่ทำ ปล่อยหรือไม่ปล่อยธรรมะอะไรได้ เมื่อธรรมะใดจะเกิดขึ้น ธรรมะนั้นก็ต้องเกิด ห้ามไม่ได้ แต่ปัญญาเข้าใจได้ ถ้าโลภะเกิด ใครสละสิ่งของหรือการกระทำที่ติดมากๆ ในขณะนั้นได้ซึ่งจากคำกล่าวที่ว่า
สภาพธรรมที่ปรากฏเกิดตามเหตุปัจจัย วันหนึ่งๆ เหตุปัจจัยมีให้สภาพธรรมเกิดนับไม่ถ้วน
เป็นคำกล่าวที่ถูกต้อง ครับ เพราะ สภาพธรรมที่เกิดขึ้นจะต้องอาศัยเหตุปัจจัย ซึ่งปัจจัย มีทั้งหมด ๒๔ ปัจจัย ก็ไม่พ้นจากปัจจัย ๒๔ ปัจจัยนี้ ขณะที่สภาพธรรมเกิด ก็อาศัยเหตุปัจจัยหลายประการ ทำให้เกิด สภาพธรรมขึ้น เช่น จิตเห็น เกิดขึ้นก็อาศัยปัจจัยต่างๆ ที่เป็นเหตุให้เกิด เช่น สหชาตปัจจัย อารมณปัจจัย ปกตูปนิสสยปัจจัย เป็นต้น เพราะฉะนั้น ปัจจัย มี ๒๔ ปัจจัย แต่เป็นเหตุปัจจัยให้เกิดสภาพธรรมนับไม่ถ้วน ครับ
การศึกษาพระธรรมในส่วนของปัจจัย จะช่วยอุปการะเกื้อกูลความเห็นถูกของผู้ศึกษาให้ค่อยๆ มั่นคงขึ้นในความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมทั้งหลาย แต่ก็เป็นส่วนที่ยากที่สุดเช่นกัน ไม่ควรประมาทว่าง่าย เพราะเป็นอภิธรรมส่วนที่ละเอียดยิ่ง เราไม่สามารถคิดเองได้ แต่ค่อยๆ ฟังให้เข้าใจขึ้นได้ตามกำลัง การฟังจะปรุงแต่งให้ปัญญา เห็นความละเอียดของสภาพธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยต่างๆ มากขึ้น การฟังจะช่วยให้ปัญญาเข้าใจความเป็นอนัตตาของสิ่งที่มีจริงในชีวิตปกติประจำวัน เพียงฟังเพื่อเข้าใจว่าเป็นธรรม เมื่อปัญญามากขึ้น ปัญญาก็จะค่อยๆ เห็นถึงความละเอียดลึกซึ้งของธรรมเพิ่มขึ้นตามลำดับ ครับ
ขออนุโมทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ทุกขณะ ไม่พ้นไปจากธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย เป็นความจริงอย่างนั้น ไม่เคยขาดธรรมเลย ทั้งที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม และสภาพธรรมเหล่านี้จะเกิดเองลอยๆ โดยปราศจากเหตุปัจจัยไม่ได้ ต้องเกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย แม้แต่จิตเห็นขณะเดียว ก็ต้องอาศัยตาเป็นที่เกิด จิตเห็นเป็นวิบาก ก็มีกรรมเป็นเหตให้เกิดขึ้น มีเจตสิกธรรมเกิดร่วมด้วย มีสีเป็นอารมณ์ของจิตเห็น
ข้อความบางตอนจากคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ดังนี้
นามและรูปอาศัยกันเกิดขึ้นโดยปัจจัย
ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า สภาพธรรมทั้งหลาย ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน และสภาพธรรม ซึ่ง เป็นปรมัตถธรรม ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมบ้าง รูปธรรมบ้างเท่านั้น แต่ว่าสภาพธรรมที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นนามธรรมหรือไม่ว่าจะเป็นรูปธรรมก็ตาม อาศัยกันและกันเกิดขึ้นโดยปัจจัยใดปัจจัยหนึ่ง สภาพธรรมที่เกิดแล้วจะไม่เป็นปัจจัยให้สภาพธรรมอื่นเกิด ไม่มี และสภาพธรรมใดก็ตามซึ่งเกิดแล้ว จะเกิดโดยปราศจากปัจจัยที่จะทำให้เกิดขึ้น ก็ไม่มี
เพราะฉะนั้น ทั้งนามธรรม และ รูปธรรมเป็นสภาพธรรม ที่ต่างกันก็จริง แต่ว่าอาศัยกันและกันเกิดขึ้นเป็นไปโดยละเอียด โดยสภาพของลักษณะของธรรมนั้นๆ ซึ่งถ้าศึกษาโดยละเอียด ก็จะเห็นได้ว่า ขณะจิตหนึ่งๆ ซึ่งเกิดขึ้น จะมีปัจจัยหลายประการที่ทำให้เกิดขึ้น เช่น เหตุปัจจัย ที่ได้เคยกล่าวถึงแล้ว ได้แก่เจตสิก ๖ ดวง คือ
- อกุศลเจตสิก ๓ ที่เป็นเหตุ ได้แก่ โลภเจตสิก ๑ โทสเจตสิก ๑ โมหเจตสิก ๑
- โสภณเหตุ ๓ คือ อโลภเจตสิก ๑ อโทสเจตสิก ๑ อโมหเจตสิก ๑
ไม่ใช่เกิดขึ้นเฉพาะโลภะเท่านั้น มีเจตสิกอื่นเป็นปัจจัยเกิดร่วมด้วย
นี่ก็แสดงให้เห็นว่า โลภเจตสิกที่เกิดเป็นปัจจัยให้สภาพธรรมอื่นเกิดร่วมด้วย คือเป็นปัจจัยที่ทำให้จิตเป็นโลภมูลจิตเกิด และทำให้อกุศลเจตสิกอื่นๆ เกิดร่วมด้วยเช่น ทำให้ความเห็นผิดเกิดร่วมด้วยก็ได้ ทิฏฐิเจตสิก หรือ ทำให้ความสำคัญตน คือ มานะ เกิดร่วมด้วยก็ได้ นอกจากนั้น เวลาที่โลภเจตสิกเกิดกับโลภมูลจิตและเจตสิกอื่นๆ ซึ่งเป็นสัมปยุตตธรรมเกิดขึ้นพร้อมกันแล้ว ยังเป็นปัจจัยให้รูปเกิดขึ้นด้วย
นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ทั้งนามธรรมและรูปธรรมซึ่งเกิดขึ้นเป็นไปตามปกติในชีวิตประจำวันนี้ แต่ละขณะที่เกิดขึ้นและดับไปอย่างรวดเร็ว ถ้าได้ทราบถึงความละเอียดซึ่ง สภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดจะเกิดขึ้นโดยอาศัยสภาพธรรมใดเป็นปัจจัยแล้ว จะทำให้เห็นความเป็นอนัตตาจริงๆ ซึ่ง แม้จะเป็นสภาพธรรมที่เกิดดับอย่างรวดเร็ว แต่ก็ยังต้องอาศัยความละเอียดของปัจจัยหลายปัจจัย สภาพธรรมนั้นจึงจะเกิดขึ้นได้.
...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง ครับ
ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...