สุญญาคารวัตร
คือ จริงๆ แล้ว ข้อความที่เป็นข้อความเต็มๆ เนี่ยคือ "ให้วัตรแห่งผู้อยู่สุญญาคารทั้งหลาย เจริญงอกงามเถิด" น่ะครับ ส่วนคำแปลที่มีผู้บอกมา คือ เป็นผู้อยู่โคนไม้ อยู่เรือนว่าง ปลีกวิเวก อยากทราบว่า ทางมูลนิธิมีคำตอบอย่างไรจากคำๆ นี้ / หัวข้อเรื่องนี้ครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
คำว่า สุญญาคาร หมายถึง เรือนว่าง ซึ่ง พระพุทธเจ้าทรงตรัสให้ ภิกษุ ไปสู่โคนไม้เรือนว่าง (สุญญาคาร) ด้วยเหตุที่ เป็นสถานที่สงบ เหมาะกับ ผู้ที่เจริญสมถภาวนา และ มีอัธยาศัยที่จะอยู่ป่าได้ แต่ พระองค์ ไม่ได้ให้ภิกษุทุกรูป คฤหัสถ์ทุกคนจะต้องทำตามอย่างนั้น เพราะ ต้องเป็นอัธยาศัยที่อยู่ป่า เรือนว่างได้ ที่สำคัญ ต้องเป็นผู้เข้าใจธรรม และ มีอัธยาศัย ในการเจริญสมถภาวนาได้ ไม่เช่นนั้น ไปอยู่เรือนว่าง สุญญาคารที่เงียบสงัด แต่ไม่มีความเข้าใจพระธรรม ก็ไม่สามารถอบรมปัญญาได้ มีแต่ ฟุ้งซ่าน หรือ นิ่ง โดยที่ปัญญาไม่เกิดรู้อะไร ครับ
[เล่มที่ 17] พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 517
คำว่า สุญญาคาร (เรือนร้าง) นี้ ทรงแสดงถึงสถานที่ๆ สงัดจากคน อีกอย่างหนึ่ง ด้วยคำทั้ง ๒ นี้ ทรงบอกเสนาสนะที่เหมาะสมกับความเพียร คือทรงมอบความเป็นทายาทให้. คำว่า เธอทั้งหลายจงเพ่ง หมายความว่า จงเข้าไปเพ่งอารมณ์ ๓๘ ประการ ด้วยอารัมมณูปนิชฌาน (การเพ่งอารมณ์) และเพ่งขันธ์และอายตนะเป็นต้นโดยความไม่เที่ยงเป็นต้น ด้วยลักขณูปนิชฌาน (การเพ่งลักษณะ) มีคำอธิบายว่า เจริญสมถะและวิปัสสนา.
หากขาดความเข้าใจเบื้องต้นในขั้นการฟังแล้ว ว่าธรรมคืออะไรอยู่ในขณะไหน ธรรมเป็นอนัตตาบังคับบัญชาไม่ได้ หากขาดความเข้าใจเบื้องต้น (ปริยัติ) แล้ว ปฏิบัติหรือสติและปัญญาจะเกิดได้ไหม ไม่ว่าสถานที่ใดก็ตาม หากขาดความเข้าใจเบื้องต้น แต่เมื่อมองมุมกลับ คนที่เริ่มมีความเข้าใจธรรมเบื้องต้น ขั้นการฟังว่า ทุกอย่างเป็นธรรม อยู่ในขณะนี้ ไม่ต้องไปหาธรรม สติและปัญญาเป็นธรรมและเป็นอนัตตาบังคับบัญชาไมได้ เมื่อมีความเข้าใจมั่นคงขึ้น ไม่ว่าอยู่สถานที่ใด ถ้าสติและปัญญาเกิด ก็ธรรมปฏิบัติหน้าที่ สถานที่ที่สติและปัญญาเกิด (สติปัฏฐาน) ที่ๆ นั้นเองก็เป็นสัปปายะของบุคคลนั้นเพราะกุศลเกิด (กุศลขั้นสติปัฏฐาน) แต่ถ้าขาดความเข้าใจเบื้องต้นแล้ว ที่ไหนจะเป็นสัปปายะได้เพราะไม่มีปัญญาที่จะเป็นปัจจัยให้สติและปัญญาเกิด ครับ
จากข้อความในพระไตรปิฎก กล่าวว่า ไปแล้วสู่ป่า ไปสู่เรือนว่าง (สุญญาคาร) คือเมื่อไปแล้วสติและปัญญาก็เกิดได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องไปสู่ป่าทุกรูป แต่เป็นคำกล่าวที่ว่า "ไปแล้วสู่ป่า ไปสู่เรือนว่าง (สุญญาคาร) " เพราะฉะนั้น คฤหัสถ์หรือบรรพชิต ไม่ว่าไปที่ไหน ที่สำคัญไปแล้ว คงห้ามไมได้ เมื่อมีเหตุปัจจัยที่ต้องไป แต่ไปแล้วมีสภาพธรรมไหม ไม่พ้นจากสภาพธรรมเลย หากไม่มีความเข้าใจในเรื่องสติปัฏฐาน แม้ไปสู่ป่า เรือนว่าง (สุญยาคาร) ที่เงียบสงัด สติจะเกิดได้ไหม เป็นไปไม่ได้ และแม้ไปในสถานที่ชุมชน ถ้าความเข้าใจในเรื่องสติปัฏฐานยังไม่มั่นคง สติจะเกิดได้ไหม ก็ไม่ได้ ดังนั้น ประการที่สำคัญที่สุดคือปัญญาที่เข้าใจเรื่องสติปัฏฐาน ครับ
ขออนุโมทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก ไม่ได้ทรงแสดงให้ใครไปทำอะไร ด้วยความไม่รู้ ทั้งหมดเป็นเรื่องของความเข้าใจถูกเห็นถูก แม้แต่ในเรื่องของสุญญาคาร ก็ต้องรู้จุดประสงค์ว่า เพื่ออะไรตามอัธยาศัยของแต่ละบุคคล สิ่งสำคัญจะต้องตั้งต้นว่า ธรรม คือ สิ่งที่มีจริงๆ ในขณะนี้ เมื่อเป็นธรรม ก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่มีใครบังคับ ให้สภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้นได้ แต่ต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัยจริงๆ
ทุกขณะ เป็นธรรม ไม่พ้นไปจากธรรมเลย เพราะมีสภาพธรรมที่มีจริงเกิดขึ้นเป็นไปอยู่ตลอด ไม่ว่างเว้นจากธรรมเลย และที่สำคัญ ธรรมเป็นเรื่องของตัวเองทั้งหมด ตั้งแต่ตื่นจนหลับ ตั้งแต่เกิดจนตาย พระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธทรงแสดงเท่านั้น ที่จะทำให้ผู้ที่ได้ฟัง ได้ศึกษา มีความเข้าใจอย่างถูกต้อง เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังมีกำลังปรากฏในขณะนี้ ไม่่ว่าจะอยู่ในฐานะไหน ทำอะไรอยู่ก็ตาม ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ด้วยครับ...