สภาพธรรมที่แตกต่างกัน

 
natural
วันที่  20 ม.ค. 2557
หมายเลข  24348
อ่าน  2,166

ขอความกรุณาอธิบาย :

1. นันทิ ราคะ โลภะ อุปธิ อุปาทาน เป็นสภาพธรรมที่แตกต่างกันอย่างไร และในพระไตรปิฎก คำที่เขียนต่างกันความหมายจะต่างกันโดยสภาพธรรมด้วยหรือไม่ หรือแตกต่างกันในความละเอียดของสภาพธรรมเท่านั้น

2. จากที่เคยฟังเคยอ่านลักขณาทิจตุกะของเจตสิกธรรมบางประเภท จึงอยากทราบว่าลักขณาทิจตุกะบอกถึงความแตกต่างเฉพาะลักษณะของสภาพเจตสิกธรรมใช่หรือไม่คะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 20 ม.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ฉันทะ ราคะ นันทิ ตัณหา เป็นชื่อของโลภะ ความติดข้อง ซึ่งโลภะสามารถติดข้องได้เกือบทุกอย่าง ยกเว้น โลกุตตรธรรม 9 ที่เป็น มรรค 4 ผล 4 และพระนิพพาน เพราะฉะนั้น โลภะ ตัณหา ติดข้องในขันธ์ 5 คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณด้วย

ราคะเป็นสภาพธรรมที่มีจริง คือ โลภเจตสิก ที่ทำหน้าที่ติดข้อง ยินดีพอใจ ซึ่งในความเป็นจริงของสภาพธรรม ในแต่ละสภาพธรรม มีความแตกต่างกัน ตามกำลัง หรือ ระดับของสภาพธรรมที่แตกต่างกันด้วย แม้แต่ ระดับของโลภะ คือ ความติดข้อง ก็มีความแตกต่างกันไป ตามกำลังของความติดข้อง อย่างเช่น การที่เกิดความติดข้อง โลภะขึ้นมาครั้งเดียว ไม่มีกำลัง ก็เรียกว่า ความเพลิดเพลิน ที่เป็น นันทิ แต่ เมื่อโลภะเกิดขึ้นบ่อยๆ ในอารมณ์นั้น กล่าวง่ายๆ คือ ติดข้องมากๆ ในสิ่งใด ก็เป็นโลภะที่มีกำลังก็เรียกว่า นันทิราคะ ความกำหนัด ด้วยความเพลิดเพลิน

คำว่า ราคะ จึงหมายถึง ความกำหนัด ติดข้องที่มีกำลังมาก แต่ไม่ได้หมายถึง ราคะ ที่จะต้องเป็นไปในเรื่องของกาม อย่างชาวโลกเข้าใจ แต่ราคะ สามารถใช้ได้กับสิ่งใดก็ตามที่ติดข้องในสิ่งนั้นมากๆ บ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นดอกไม้ สัตว์ต่างๆ ที่ติดข้องมากๆ เกิดติดข้องในอารมณ์นั้นบ่อยๆ ก็ชื่อว่าเกิด ราคะในสิ่งนั้น ครับ

เชิญคลิกอ่านที่นี่ ครับ

โลภะ ตัณหา ราคะ [ธรรมสังคณี]


อุปธิ แปลว่า สภาพซึ่งทรงไว้ซึ่งทุกข์ คือ ทุกอย่างที่เกิดแล้วดับ เป็นสภาพทรงไว้ซึ่งทุกข์ เป็นอุปธิได้แก่กามูปธิ กามเป็นอุปธิ เพราะเมื่อพอใจในกาม จึงแสวงหา ก็นำมาซึ่งทุกข์ขันธูปธิ ขันธ์เป็นอุปธิ เพราะจิต เจตสิก รูป เป็นที่ตั้งแห่งทุกข์ เช่น เจ็บ ป่วยแก่ ตาย เป็นต้น

กิเลสูปธิ กิเลสเป็นอุปธิ เพราะมีกิเลส จึงทำอกุศลกรรมได้ เมื่อผลเกิดก็นำมาซึ่งทุกข์ คือ ภพภูมิไม่ดี และ ความเดือดร้อนอภิสังขารูปธิ อภิสังขารเป็นอุปธิ หมายถึง เจตนาที่เกิดร่วมกับกุศลและอกุศลจิตทั้งหลายที่นำไปสู่ทุกข์ คือ วัฏฏทุกข์.

สำหรับอุปธิ จะกินความกว้างขวาง ไม่ได้หมายเฉพาะ กิเลส สภาพธรรมที่ไม่ดีเท่านั้นที่เป็นอุปธิ แม้แต่สภาพธรรมที่เกิดขึ้นและดับไปทั้งหมด ทั้งรูป ทั้งกุศลจิต ทั้ง เจตสิกที่ดี ที่เกิดขึ้นและดับไป เป็นทุกข์ทั้งหมด เป็นอุปธิ จึงกินความกว้างขวางกว่ากิเลส และ อื่นๆ ครับ


อุปาทาน โดยศัพท์ หมายถึง การยึดมั่น ถือมั่น ซึ่ง อุปาทาน มี 4 อย่าง

1. กามุปาทาน (ความติดข้อง)

2. ทิฏฐุปาทาน (ความเห็นผิด)

3. สีลัพพตุปาทาน (ข้อประพฤติปฏิบัติที่ผิด)

4. อัตตวาทุปาทาน (ความยึดถือว่าเป็นตัวตน)

กามุปาทาน (ความติดข้อง) คือ โลภะที่ยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส สิ่งที่กระทบสัมผัส เป็นต้น ยกตัวอย่างเช่น ขณะที่ยินดีพอใจ ในรูปที่สวยมากๆ ขณะนั้นก็เป็นการยึดมั่นด้วยโลภะ คือ กามุปาทานแล้วครับ หรือ ขณะที่ชอบอาหารประเภทนี้มากๆ ก็มีความยึดมั่นด้วยโลภะ ที่พอใจในรสอาหารประเภทนั้น แต่ไม่ได้มีความเห็นผิด

ทิฏฐุปาทาน (ความเห็นผิด) คือ ขณะที่มีความเห็นผิด เกิดขึ้นประการต่างๆ เช่น มีความเห็นผิดว่า กรรมไม่มี ผลของกรรมไม่มี หรือ ตายแล้วไม่เกิดอีก หรือ ตายแล้วก็เที่ยงแน่นอน ไปอยู่ในสถานที่เที่ยงแน่นอน เป็นต้น ขณะนั้นก็เป็น การยึดถือด้วยความเห็นผิด ที่เป็น ทิฏฐุปาทาน

สีลัพพตุปาทาน คือ ข้อประพฤติปฏิบัติที่ผิด อันเกิดจากความเห็นผิด อันสำคัญว่าการกระทำเช่นนี้จะทำให้บรรลุ ยกตัวอย่างเช่น การเดินกระโหย่งดังเช่นฤาษี คิดว่าเป็นหนทางบรรลุ การนอนบนตะปู ทรมานตน สำคัญว่าเป็นหนทางบรรลุ การอาบน้ำ ล้างบาป เป็นต้น ครับ

อัตตวาทุปาทาน คือ ความเห็นผิดที่สำคัญว่ามีสัตว์ บุคคล ตัวตนจริงๆ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเกิดความคิดขึ้นมาว่า มีเราจริงๆ ในขณะนี้ ขณะนั้นก็ยึดถือด้วยความเป็นเราด้วยความเห็นผิด ครับ ที่เป็น การยึดมั่นด้วยความเป็นเรา คือ อัตตวาทุปาทาน ครับ

ดังนั้น อุปาทาน 4 จึงเป็นสภาพธรรมที่เป็นโลภะ ความยินดีติดข้อง และทิฏฐิ ที่เป็นความเห็นผิด 2 อย่างนี้ ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เป็นเจตสิก คือ โลภเจตสิก และ ทิฏฐิเจตสิก


ส่วน ลักขณาทิจตุกะ คือ ลักษณะของสภาพธรรม 4 อย่าง ซึ่ง รวมปรมัตถธรรม 4 เลย คือ จิต เจตสิก รูป และ นิพพาน ครับ ก่อนอื่นก็ขออธิบายเบื้องต้นให้เข้าใจดังนี้

วิเสสลักษณะ คือ ลักษณะเฉพาะตัวของสภาพธรรม ที่แตกต่างกันไปตามลักษณะของสภาพธรรมที่แตกต่างกัน อย่างเช่น จิตเห็น ก็มี ลักษณะเฉพาะตัว คือ รู้สีเท่านั้น จะไปรู้เสียงก็ไม่ได้ หรือ จะมีลักษณะร้อนก็ไม่ได้ ธาตุดิน ก็มีลักษณะเฉพาะตัว คือแข็ง จะร้อนก็ไม่ได้ เพราะเป็นลักษณะเฉพาะตัวของธาตุไฟ เท่านั้น ครับ

วิเสสลักษณะนี้มี ๔ ประการ คือ ลักษณะ รสะ ปัจจุปัฏฐาน และ ปทัฏฐาน เรียกว่า ลักขณาทิตจุกะ คือ ธรรมที่มีองค์ ๔ อันมีลักษณะ

- ลักษณะ (เครื่องแสดง)

- รสะ (กิจหน้าที่ของธรรม)

- ปัจจุปัฏฐาน (อาการปรากฏ)

- ปทัฏฐาน (เหตุใกล้ให้เกิด)

เพราะเหตุว่า วิเสสลักษณะนี้มี ๔ ประการดังกล่าวมาแล้วนี้ จึงได้ชื่อว่า ลักขณาทิจตุกะ แปลว่า ธรรมที่มีองค์ ๔ อันมีลักษณะ เป็นต้น

ปัจจุปัฏฐาน หมายถึง อาการที่ปรากฏ แสดงออกมาของสภาพธรรมนั้น ยกตัวอย่างเช่น ศีล มีอาการที่ปรากฏ คือ ความสะอาดทางกาย วาจา เพราะผู้มีศีลก็ย่อมมีการแสดงออกมาทางกาย วาจา ใจที่ดี ที่สะอาด พูดก็ดี กระทำทางกายก็ดี เป็นต้น นี่คือ อาการปรากฏให้รู้ได้ ของ ศีล ที่เป็น ปัจจุปัฏฐาน ครับ

ส่วน ปทัฏฐาน คือ เหตุใกล้ให้เกิด

ซึ่งการใช้ชื่อสภาพธรรมที่ต่างกัน ความหมาย และ ความละเอียดก็แตกต่างกัน เพื่อความเข้าใจของสัตว์โลกที่สะสมมาแตกต่างกัน ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 20 ม.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สภาพธรรมมีจริงๆ เป็นจริงอย่างไรก็เป็นจริงอย่างนั้น ชื่อ ที่ได้ยินไดัฟังล้วนแล้วแต่ส่องให้เข้าใจถึงตัวจริงของสภาพธรรมซึ่งมีจริงๆ

นันทิ เป็นความเพลิดเพลิน เป็นสภาพธรรมที่ติดข้องยินดีพอใจนั่นเอง คงจะเคยเพลิดเพลินในสิ่งหนึ่งสิ่งใด นั่นเป็นความเป็นไปของโลภะ ที่ติดข้องเพลิดเพลินไป

ราคะ ก็เป็นอีกชื่อหนึ่งของความติดข้อง ความยินดี จะเห็นได้ว่า สิ่งใดที่มีราคามาก สิ่งนั้นก็เป็นเครื่องวัด ราคะ ความยินดีว่ามีมากแค่ไหน

โลภะเป็นความติดข้อง ต้องการ ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่มีจริงในชีวิตประจำวัน ยากที่จะพ้นไปได้ ติดข้องตั้งแต่ในระดับที่บางเบา ถ้าสะสมมีกำลังมากขึ้น ก็สามารถล่วงเป็นทุจริตกรรมประการต่างๆ ได้

เมื่อว่าโดยเจตสิกแล้ว ทั้งนันทิ ราคะ โลภะ ก็คือ โลภเจตสิก นั่นเอง

อุปธิ เป็นสภาพธรรมที่ทรงไว้ซึ่งทุกข์ กล่าวถึงสิ่งที่มีจริงที่เกิดขึ้นเป็นไปทั้งหมด จำแนกเป็น ๔ อย่าง คือ ขันธ์ ก็เป็นอุปธิ (ขันธูปธิ) สิ่งที่เป็นที่ตั้งให้เกิดความติดข้องยินดีพอใจ ก็เป็นอุปธิ (กามูปธิ) กิเลสประการต่างๆ เป็นเครื่องเศร้าหมองของจิต ก็เป็นอุปธิ นำมาซึ่งทุกข์มากมายถึงกับเป็นเหตุให้เกิดในอบายภูมิ ได้ ก็เป็นอุปธิ (กิเลสูปธิ) และเจตนาที่เป็นกุศลเจตนาและอกุศลเจตนา ที่เป็นเหตุให้มีการเกิดในภพใหม่ ก็เป็นอภิสังขารูปธิ ทั้งหมด นั้นล้วนเป็นธรรมที่เกิดดับทั้งหมด เป็นทุกข์ ไม่เที่ยง และไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน

อุปาทาน เป็นความยึดมั่นถือมั่น ว่าโดยสภาพธรรมแล้ว ไม่พ้นไปจากโลภะ กับ ความเห็นผิด โดยจำแนกเป็น

กามุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

ทิฏฐิปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นในความเห็นผิด

สีลัพพตุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นในข้อวัตรปฏิบัติที่ผิด

อัตตวาทุปาทาน ความยึดมั่นความเห็นว่าเป็นตัวตน

-ลักขณาทิจตุกกะ แปลว่า หมวดสี่แห่งสภาพธรรม มีลักษณะ เป็นต้น แสดงถึงความเป็นจริงของสภาพธรรมที่มีจริงๆ คือ ลักษณะ กิจ อาการปรากฏ และเหตุใกล้ให้เกิด เช่น ลักขณาทิจตุกะ ของโลภะ

มีการยึดอารมณ์เป็นลักษณะ

มีความติดข้องเป็นกิจ

มีการไม่สละเป็นอาการปรากฏ

มีความชอบใจในสิ่งที่เป็นที่ตั้งแห่งความชอบใจ เป็นเหตุใกล้ให้เกิด ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
natural
วันที่ 20 ม.ค. 2557

ขอบพระคุณและขออนุโทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
panasda
วันที่ 22 ม.ค. 2557

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
สิริพรรณ
วันที่ 4 ก.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
peem
วันที่ 21 พ.ค. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ