อารักขโคจร
เรียน อาจารย์ทั้งสองท่าน
ท่านอาจารย์บรรยายว่า "อารักขโคจร" ประมาณตอนที่ 595 หมายความว่าอย่างไร ครับ ขอความกรุณาช่วยอนุเคราะห์ด้วยครับ
ขออนุโมทนาครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
โคจร หมายถึง การเที่ยวไป เมื่อว่าโดยละเอียดแล้ว แม้แต่คำว่า เที่ยวไป ก็ต้องพิจารณาให้ละเอียดครับว่า มุ่งหมายถึงอะไรและมีนัยอะไรบ้างครับ เที่ยวไป ในความเป็นจริง ไม่พ้นจากสภาพธรรมที่มีจริง คือ จิต เจตสิกและรูปที่เกิดขึ้นและดับไป ดังนั้น เมื่อพูดถึง คำว่า เที่ยวไป ที่เป็นโคจร โดยทั่วไป เราเข้าใจว่า เป็นการเที่ยวไปของสัตว์ บุคคล เช่น ภิกษุ ไปสถานที่ เที่ยวไป เป็นต้น แต่ในความเป็นจริง หากไม่มีจิต เจตสิก ก็ไม่มีการเที่ยวไปได้เลย เพราะฉะนั้นอีกนัยหนึ่งการเที่ยวไป คือ การเที่ยวไปของจิต เจตสิก จิต เจตสิกที่เกิดขึ้นแต่ละขณะ เป็นการเที่ยวไปของจิตและเจตสิก
โคจรมี ๓ อย่าง คือ อุปนิสัยโคจร ๑ อารักขโคจร ๑ อุปนิพันธโคจร ๑ ใน ๓ อย่างนั้น ภิกษุใด ประกอบด้วยคุณ คือ กถาวัตถุ ๑๐ มีมิตรดีงาม มีลักษณะดังกล่าวแล้ว ซึ่งอาศัยแล้ว ย่อมได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง ย่อมทำสิ่งที่เคย ฟังแล้วให้ผ่องแผ้ว ตัดความสงสัยเสียได้ ทำความเห็นให้ตรง ทำจิตให้เลื่อมใส ซึ่งเมื่อศึกษาตาม ย่อมเจริญด้วยศรัทธา ด้วยศีล ด้วยสุตะ ด้วยจาคะ และด้วยปัญญา นี้ท่านเรียกว่า อุปนิสัยโคจร
ภิกษุใด เข้าไปสู่ละแวกบ้าน เดินไปตามถนน มีตาทอดลงแลดูชั่วแอก เดินสำรวมจักขุนทรีย์ไป ไม่เดินแลพลช้าง ไม่เดินแลพลม้า ไม่เดินแลพลรถ ไม่เดินแล พลราบ ไม่เดินแลหญิง ไม่เดินแลชาย ไม่แหงนดู ไม่ก้มดู ไม่เดินเหลียวแลดู ตามทิศน้อยใหญ่ นี้ ท่านเรียกว่า อารักขโคจร
ส่วน อุปนิพันธโคจร ได้แก่ สติปัฏฐาน ๔ อันเป็นที่ซึ่ง ภิกษุเข้าไปผูกจิตของตนไว้สมจริงดังที่ พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็อะไร เป็นโคจร คือเป็นอารมณ์ อันเป็นของบิดาของตนของภิกษุ คือ สติปัฏฐาน ๔ ในโคจร ๓ อย่างนั้น เพราะอุปนิสัยโคจรท่านกล่าวไว้ก่อนแล้ว ในที่นี้พึงทราบ โคจร ๒ อย่าง นอกนั้น ภิกษุนั้นชื่อว่า ผู้สมบูรณ์ด้วยอาจาระ และโคจร เพราะประกอบด้วยอาจารสมบัติตามที่กล่าวแล้ว และโคจรสมบัตินี้ ด้วยประการฉะนี้
(จาก..ปรมัตถทีปนี อรรถกถา พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เมฆิยสูตร เล่มที่ ๔๔ หน้าที่ ๓๙๕
คำแปลโดยศัพท์ อุปนิสัยโคจร หรือ อุปนิสยโคจร หมายถึง อารมณ์เป็นที่ท่องเที่ยวไปของจิต อันเป็นเหตุทำให้ได้ที่พึ่งที่มีกำลัง (ซึ่งหมายถึง การคบกัลยาณมิตรจึงได้ที่พึ่งที่อาศัยที่มีกำลัง เพราะจะทำให้เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ และปัญญา เมื่อศึกษาตามกัลยาณมิตร นั้น)
แปลโดยศัพท์ อารักขโคจร หมายถึง อารมณ์เป็นที่ท่องเที่ยวไปของจิต อันเป็นเหตุทำให้มีการรักษา (ไม่ให้อกุศลจิตเกิดขึ้น)
แปลโดยศัพท์ อุปนิพันธโคจร หมายถึง อารมณ์เป็นที่ท่องเที่ยวไปของจิต อันเป็นเหตุทำให้สติเข้าไปผูกพันไว้ (ซึ่งหมายถึง สติปัฏฐาน ๔ อันเป็นที่ซึ่งภิกษุเข้าไปผูกพันจิตไว้ กล่าว คือ เป็นผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐาน ระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และที่สำคัญ สติปัฏฐาน ๔ นี้ พระอริยเจ้าทั้งหลาย มีพระพุทธเจ้า เป็นต้น ทรงอบรมเจริญมาแล้ว) .
อารักขโคจรเกิดได้เพราะอาศัยอุปนิสสยโคจรเป็นปัจจัย กุศลจิตที่เกิดขึ้นเป็นผลจากอุปนิสสยโคจรที่ได้ฟังธรรม เป็นขั้น อารักขโคจร คือ แทนที่จะเป็นอกุศล ขณะนั้นธรรมที่ฟังแล้วเป็นปัจจัยให้อารักขาจิตไม่ให้เป็นอกุศล ถ้าไม่ได้ฟังธรรม ก็เป็นอกุศลไปแล้ว ด้วยเหตุนี้จาก อุปนิสสยโคจรก็เป็นอนัตตา ถึงอารักขโคจรก็เป็นอนัตตา ใครฟังธรรมแล้วกุศลจะเกิดขณะไหน ก็มาจากการฟังเข้าใจ
สิ่งสำคัญก็คือฟังให้เข้าใจสิ่งที่ได้ฟัง การฟังพระธรรมบ่อยๆ จนเป็นนิสัย เป็นเหตุให้มีความเข้าใจในพระธรรมเป็นอารมณ์ เป็นอุปนิสสยโคจร (อุป = มีกำลัง นิสสย = เป็นที่อาศัย โคจร = อารมณ์) เมื่อมีความเข้าใจในธรรมที่ได้ฟัง ค่อยๆ มีความเข้าใจธรรมเพิ่มขึ้นซึ่งจะเป็นปัจจัยให้กุศลธรรมเกิดขึ้น ขณะนั้นอกุศลจิตย่อมไม่เกิด จึงเป็น อารักขโคจร (อารักข = รักษา โคจร = อารมณ์) จนกว่ามีความเข้าใจที่มั่นคงขึ้น สติ และปัญญามีกำลังค่อยๆ ใกล้ที่จะรู้ความจริง ต้องใช้เวลาในการอบรมยาวนานมากเป็นจิรกาลภาวนา.. ไม่ใช่รู้ความจริงได้โดยรวดเร็ว เพราะเราสะสมความไม่รู้มานานในสังสารวัฏฏ์ที่ผ่านมา พระธรรมนั้นลึกซึ้ง ละเอียด รู้ตามได้ยาก เมื่อสติปัญญามีกำลังรู้ตรงลักษณะสภาพธรรมเป็น อุปนิพันธโคจร ซึ่งหมายถึงขณะนั้นสติปัฏฐานเกิด
ขออนุโมทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
เพราะอาศัยพระธรรมคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง จึงจะมีเครื่องอารักขาที่ดี จากที่มากไปด้วยอกุศล มากไปด้วยความไม่รู้ เต็มไปด้วยอกุศลในชีวิตประจำวัน ก็ค่อยๆ เป็นกุศลยิ่งขึ้น ขัดเกลาอกุศล ในขณะที่กุศลเกิดขึ้นก็รักษาจิตไม่ให้เป็นอกุศลแล้วในขณะนั้น เพราะฉะนั้น เครื่องอารักขาป้องกันจิตไม่ให้เป็นอกุศลก็คือ กุศลธรรม นั่นเอง ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...