เรื่องเกี่ยวกับภิกษุณี

 
จิตและเจตสิก
วันที่  27 ม.ค. 2557
หมายเลข  24384
อ่าน  2,422

หากความสงสัยเกิดขึ้นกับบุคคลในสมัยนี้ว่า ในครั้งพุทธกาลนั้น ทำไมดูเหมือนพระพุทธองค์ไม่ทรงมีพระประสงค์อย่างเต็มที่ ที่จะให้มาตุคาม (ผู้หญิง) บวชเป็นภิกษุณีในพระพุทธศาสนา ดังนี้ฯ จะบอกเหตุผลแก่บุคคลนั้นอย่างไร?


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 27 ม.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

มาตุคาม เป็นเพศที่เป็นข้าศึกต่อ การประพฤติพรหมจรรย์ ของเพศชาย และความโลเล ไม่หนักแน่นเท่าเพศชาย เพราะฉะนั้น พระพุทธองค์ จึงทรงพยายามปฏิเสธในตอนแรก เพื่อให้เห็นถึงความสำคัญว่า การบวชชองผู้หญิงเป็นของยากและหนัก แต่หากรับ ครุธรรม ๘ ประการ ที่มาตุคาม เมื่อบวชแล้ว จะต้องประพฤติตลอดไป ก็อนุญาตได้ พระองค์จึงไม่ได้กีดกันโดยทีเดียว แต่ทรงห้าม เพื่อให้ผู้ที่จะบวช ที่เป็นผู้หญิง เห็นถึงความยาก และความสำคัญกว่าจะได้เป็นภิกษุณี ครับ

พระพุทธเจ้า ทรงบัญญัติ การบวชของผู้หญิง ให้เป็นของยาก เพื่อความดำรงอยู่ของพระพุทธศาสนาให้ยืนยาว โดยวางกฎไว้ ดังนี้

- ต้องบวชกับคณะสงฆ์ ๒ ฝ่าย คือ ฝ่ายภิกษุสงฆ์ ๑ ฝ่ายภิกษุณีสงฆ์ ๑

- ต้องถือครุธรรม ๘ ประการตลอดชีวิต

- สำหรับสตรีที่จะไปขอบวช ต้องเป็นนางสิกขมานา รักษาศีล ๖ ข้อ ไม่ขาดเลย ๒ ปี จึงจะบวชเป็นพระภิกษุณีได้ ถ้าขาดข้อใดข้อหนึ่งต้องเริ่มนับใหม่ให้ได้ ๒ ปี จึงจะบวชได้ครับ ศีล ๖ ข้อที่ต้องถือห้ามขาด ตลอด ๒ ปี คือ

1. งดเว้นจากปาณาติบาต

2. งดเว้นจากอทินนาทาน

3. งดเว้นจากอพรหมจรรย์ อันมีการเสพเมถุน เป็นต้น

4. งดเว้นจากมุสาวาท

5. งดเว้นจากการดื่มสุราเมรัย

6. งดเว้นจากบริโภคอาหารในเวลาวิกาลคือหลังเที่ยง

จะเห็นถึงความยาก ในข้อวัตร ปฏฺบัติ แต่ เป็นไปเพื่อความเจริญ และ ยืนยาวของพระพุทธศาสนา แต่เป็นที่น่าพิจารณาว่า การเจริญขึ้นของกุศลธรรมและปัญญา ไม่ได้จำกัดว่าจะต้องบวชเท่านั้นถึงจะเจริญได้ แม้ไม่ได้บวช ก็สามาถเจริญได้เช่นเดียวกัน ขึ้นอยู่กับว่าผู้นั้นจะเห็นประโยชน์ของกุศลและการได้เข้าใจความจริงของสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ มากน้อยแค่ไหน ผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงความเป็นพระอริยบุคคลในเพศคฤหัสถ์ก็มีมากทีเดียว เป็นเรื่องการสะสมของแต่ละบุคคลอย่างแท้จริง ครับ

ที่สำคัญ ไม่ได้อยู่ที่จะเกิดเป็นเพศอะไร แต่สำคัญที่การกระทำ และใจ เป็นสำคัญ เพราะ ความดี ความชั่ว ไม่ได้อยู่ที่การเกิดเป็นเพศอะไร แต่อยู่ที่ใจ และ การกระทำของแต่ละบุคคลเป็นสำคัญ ปัญญา คุณความดี สามารถเกิดขึ้นได้โดยไม่เลือกเพศ โดยนัยตรงกันข้าม อวิชชา ความไม่รู้ และความชั่ว ก็สามารถเกิดได้ โดยไม่ได้เลือกเพศเช่นกัน ทุกคนเคยเกิดมาเป็นเพศชาย เพศหญิงมาหมดแล้วนับชาติไม่ถ้วน สำคัญ คือ ขณะนี้ ปัจจุบัน ที่ควรจะสะสมปัญญา สะสมคุณความดี เพื่อที่จะสั่งสมสิ่งที่ดี เพื่อที่จะละกิเลสที่เป็นสิ่งที่ไม่ดีในอนาคต ครับ

ปัญญา จึงเกิดได้ทุกเพศ ตราบใดที่ผู้นั้น ศึกษา ฟังพระธรรมด้วยความเคารพและ แยบคาย ครับ

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ 88

โสมาสูตร

ความเป็นสตรีจะทำอะไรได้ เมื่อจิต ตั้งมั่นดีแล้ว เมื่อญาณเป็นไปแก่ผู้เห็นธรรมอยู่โดยชอบ ผู้ใดพึงมีความคิดเห็นแน่อย่างนี้ว่า เราเป็นสตรี หรือว่าเราเป็นบุรุษ หรือจะยังมีความเกาะเกี่ยวว่า เรามีอยู่ มารควรจะกล่าวกะผู้นั้น.

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรีคาถาเล่ม ๒ ภาค ๔ - หน้าที่ 178

สตรีก็เป็นบัณฑิตได้ มิใช่แต่บุรุษจะเป็นบัณฑิตได้ในที่ทุกสถาน แม้สตรีมีปัญญาเห็นประจักษ์ก็เป็นบัณฑิตได้ในที่นั้นๆ มิใช่บุรุษจะเป็นบัณฑิตได้ในที่ทุกสถาน แม้สตรีที่คิดความได้รวดเร็ว ก็เป็นบัณฑิตได้

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 28 ม.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เมื่อเป็นสิ่งที่ได้อย่างยากแสนยาก ก็จะเห็นคุณค่ามีความจริงใจที่จะน้อมประพฤติตามพระธรรมวินัยอย่างแท้จริง เมื่อไม่มีภิกษุณีแล้ว ก็ไม่มีสตรีท่านใดสามารถที่จะบวชเป็นภิกษุณีได้ เพราะการบวชเป็นภิกษุณี ต้องบวชจากสงฆ์สองฝ่าย แม้ในยุคนี้สมัยนี้จะมีผู้หญิงบวช นั่นก็ไม่ใช่ ภิกษุณี ไม่ใช่บรรพชิตในพระพุทธศาสนา ไม่ถูกต้องตามพระธรรมวินัย และเป็นที่น่าพิจารณาว่า การเจริญขึ้นของกุศลธรรมและปัญญา ไม่ได้จำกัดว่าจะ ต้องบวชเท่านั้นถึงจะเจริญได้ แม้ไม่ได้บวชก็สามาถเจริญได้เช่นเดียวกัน ขึ้นอยู่กับว่าผู้นั้นจะเห็นประโยชน์ของกุศล และการได้เข้าใจความจริงของสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ มากน้อยแค่ไหน ผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงความเป็นพระอริยบุคคล ในเพศคฤหัสถ์ก็มีมากทีเดียว เป็นเรื่องการสะสมของแต่ละบุคคลอย่างแท้จริง ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 28 ม.ค. 2557

ผู้หญิงบวชเข้ามา ทำให้พระพุทธศาสนาอยู่ไม่นาน พระพุทธเจ้าทรงตั้งกฎ ครุธรรม ๘ ประการ และเป็น สิกขมนา ๒ ปี เพื่อทำให้พระพุทธศาสนา มีอายุ ๕๐๐๐ ปี

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
จิตและเจตสิก
วันที่ 29 ม.ค. 2557

ขออนุโมทนาในมหากุศลจิตของทุกๆ ท่าน ที่ให้ความกระจ่างแจ้งในเรื่องนี้ฯ

"ขอจงเจริญในพระสัทธรรม"

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
จิตและเจตสิก
วันที่ 29 ม.ค. 2557

คัดความจากเรื่อง ครุธรรม ๘ ประการ

ที่เขียนโดยคุณ pornpaon

[เล่มที่ 9] พระวินัยปิฎก จุลวรรค เล่ม ๗ ภาค ๒ - หน้าที่ 444

ครุธรรม ๘ ประการ

[๕๑๖] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามว่า ดูก่อนอานนท์ ถ้าพระนางมหาปชาบดีโคตมี ยอมรับครุธรรม ๘ ประการ ข้อนั้นแหละ จงเป็นอุปสัมปทาของพระนาง คือ:-

๑. ภิกษุณีอุปสมบทแล้ว ๑๐๐ ปี ต้องกราบไหว้ ลุกรับ ทำอัญชลีกรรม สามีจิกรรม แก่ภิกษุที่อุปสมบทในวันนั้น ธรรมแม้นี้ ภิกษุณีต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ละเมิดตลอดชีวิต.

๒. ภิกษุณีไม่พึงอยู่จำพรรษาในอาวาสที่ไม่มีภิกษุ ธรรมแม้นี้ ภิกษุณีต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ละเมิดตลอดชีวิต.

๓. ภิกษุณีต้องหวังธรรม ๒ ประการ คือ ถามวันอุโบสถ ๑ เข้าไปฟังคำสั่งสอน ๑ จากภิกษุสงฆ์ทุกกึ่งเดือน ธรรมแม้นี้ ภิกษุณีต้องสักการะเคารพ นับถือ บูชา ไม่ละเมิดตลอดชีวิต.

๔. ภิกษุณีอยู่จำพรรษาแล้ว ต้องปวารณาในสงฆ์สองฝ่าย โดยสถานทั้ง ๓ คือ โดยได้เห็น โดยได้ยิน หรือโดยรังเกียจ ธรรมแม้นี้ ภิกษุณีต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ละเมิดตลอดชีวิต

๕. ภิกษุณีต้องธรรมที่หนักแล้ว ต้องประพฤติปักขมานัตในสงฆ์ ๒ ฝ่าย ธรรมแม้นี้ ภิกษุณีต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ละเมิดตลอดชีวิต.

๖. ภิกษุณีต้องแสวงหาอุปสัมปทาในสงฆ์ ๒ ฝ่าย เพื่อสิกขมานาผู้มีสิกขาอันศึกษาแล้วในธรรม ๖ ประการครบ ๒ ปีแล้ว ธรรมแม้นี้ ภิกษุณีต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ละเมิดตลอดชีวิต

๗. ภิกษุณีไม่พึงด่า บริภาษภิกษุ โดยปริยายอย่างใดอย่างหนึ่งธรรมแม้นี้ ภิกษุณีต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ละเมิดตลอดชีวิต

๘. ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ปิดทางไม่ให้ภิกษุณีทั้งหลายสอนภิกษุเปิดทางให้ภิกษุทั้งหลายสอนภิกษุณี ธรรมแม้นี้ ภิกษุณีต้องสักการะ เคารพนับถือ บูชา ไม่ละเมิดตลอดชีวิต

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
guy
วันที่ 30 ม.ค. 2557

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
chatchai.k
วันที่ 9 ม.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ