ฌาน เทียบกับ ระดับของ สมาธิ คือ ขณิกะ อุปจาร และ อัปปนา เทียบได้อย่างไรคะ

 
wkedkaew
วันที่  31 ม.ค. 2557
หมายเลข  24397
อ่าน  88,173

รบกวนด้วยค่ะ

กราบขอบพระคุณค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 31 ม.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ฌาน คือ สภาพธรรมที่เพ่ง หรือ เผา ธรรมฝ่ายตรงกันข้าม ดังนั้นฌานจึงมีทั้งที่เป็นฝ่ายกุศล ที่เป็นการเพ่งหรือเผา ธรรมที่เป็นข้าศึกคือกิเลสในขณะนั้นที่เป็นนิวรณ์ เป็นต้น โดยนัยตรงกันข้าม ฌานที่เป็นอกุศลก็มี ซึ่งขณะนั้นก็เผา กุศล คุณความดี เพราะเป็นอกุศลในขณะนั้นครับ ดังนั้นธรรมเป็นเรื่องละเอียด เมื่อไม่ศึกษาหรือฟังให้เข้าใจก็สำคัญสิ่งที่ทำ คิดว่าเป็นฌานแล้วจะต้องเป็นกุศล ซึ่งไม่เสมอไปหากเริ่มจากความเข้าใจผิดครับ

สมาธิ เป็นความตั้งมั่น เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ทุกขณะที่จิตเกิดขึ้น จะต้องมีสมาธิเกิดร่วมด้วย สมาธิ คือ เอกัคคตาเจตสิก เกิดกับจิตทุกดวง มีความเสมอกันกับจิตที่เกิดร่วมด้วย เป็นไปได้ทั้งกุศล อกุศล วิบาก และกิริยา ตามประเภทของจิตนั้นๆ

ซึ่งสมาธิก็มีระดับความตั้งมั่นของสมาธิเช่นกัน ซึ่ง ขณิกสมาธิ คือ ขณะที่จิตตั้งมั่นเพียงชั่วขณะจิต แต่เมื่อมีความตั้งมั่นที่มีกำลัง ก็จะเพิ่มเป็นอุปจารสมาธิ และ เมื่อถึงความแนบแน่นก็ถึงความเป็นอัปปนาสมาธิ

ขณิกสมาธิ

ขณิก (ชั่วขณะ) + สมาธิ (ความทรงไว้พร้อม ความตั้งมั่น) สมาธิที่เป็นไปชั่วขณะ หมายถึง เอกัคคตาเจตสิกที่เกิดกับจิตที่เป็นไปตามปกติของบุคคลทั่วไป เช่น ขณะที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สัมผัส ขณะที่ยืน เดิน นั่ง นอน ตามปกติก็มีขณิกสมาธิเกิดร่วมด้วย

อุปจารสมาธิ เป็นสมาธิที่สงบจากอกุศล สงบจากนิวรณ์ ใกล้ถึงอัปปนาสมาธิ แต่ยังไม่ใช่ปฐมฌาน

อัปปนาสมาธิ อปฺปนา (ความแนบแน่น) + สมาธิ (ความทรงไว้พร้อม ความตั้งมั่น) สมาธิที่ถึงความแนบแน่น หมายถึง สมาธิที่เกิดกับฌานจิตซึ่งพ้นจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ (พ้นจากกามอารมณ์) สามารถข่มกิเลสนิวรณ์ได้ ตลอดเวลาที่ยังไม่ออกจากฌาน

ดังนั้น จากคำถาม ขณะที่เป็นฌานจิต ขณะนั้น จิตสงบแนบแน่น สงบจากนิวรณ์กิเลส เป็นขณะที่เป็น อัปปนาสมาธิ ตั้งแต่ ปฐมฌาน จนถึง อรูปฌาน ครับ ส่วน ขณะที่เป็นอุปจารสมาธิ ใกล้จะถึง ปฐมฌาน ใกล้ถึง อัปปนาสมาธิ ส่วน ขณิกสมาธิ ก็เป็นสมาธิชั่วขณะ เช่น ขณะนี้ มี เอกัคคตาเจตสิก ที่เป็นสมาธิตั้งมั่นชั่วขณะ ครับ

เพราะฉะนั้น จึงเรียงลำดับความสงบแนบแน่นของจิต เป็น ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ และ อัปปนาสมาธิ เมื่อง อัปปนาสมาธิ ก็ถึง ฌานจิต ครับ

สมถภาวนา เป็นการอบรมเจริญกุศลที่สามารถทำให้นิวรณ์ ซึ่งเป็นอกุศลธรรมทั้งปวงมีโลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้น นั้น สงบระงับ ซึ่งผู้อบรมนั้นจะต้องเป็นผู้มีปัญญาที่รู้ความต่างระหว่างอกุศล กับ กุศล เห็นโทษของอกุศลธรรมประการต่างๆ จึงจะเจริญได้ และในขณะนั้นก็จะต้องมีอารมณ์ของสมถภาวนา ที่จะทำให้จิตสงบจากอกุศลธรรม ซึ่งผู้เจริญจะต้องมีความเข้าใจในเรื่องดังกล่าวนี้ด้วย เมื่ออบรมเจริญกุศลประเภทนี้เพิ่มขึ้นๆ ก็จะเป็นเหตุให้อกุศลจิต ไม่สามารถเกิดแทรกคั่นได้ เมื่ออบรมเจริญความสงบเมื่อจิตสงบมั่นคงขึ้นแล้ว ก็จะสามารถบรรลุถึงอัปปนาสมาธิ ซึ่งเป็นฌานจิตขั้นต่างๆ ที่เป็นรูปฌาน อรูปฌาน แต่การบรรลุฌานจิตนั้นเป็นเรื่องที่ยากมาก แม้ในสมัยพุทธกาลผู้ที่บรรลุเป็นพระอริยบุคคลโดยที่ไม่ได้ฌานมีมากกว่าผู้ที่ได้ฌาน ซึ่งเห็นได้ว่าการเจริญสมถภาวนาทำให้จิตสงบได้ระงับอกุศลได้เพียงชั่วคราว แต่ละอนุสัยกิเลส อันเป็นพืชเชื้อของกิเลสไม่ได้เลย เมื่อใดฌานจิตไม่เกิด โลภะ โทสะ โมหะ ก็เกิดอีกได้ ผู้ที่เจริญสมถภาวนา (โดยที่ไม่ได้อบรมเจริญวิปัสสนา) ไม่สามารถจะละความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน สัตว์ บุคคลได้ และตราบใดที่ยังมีความเห็นผิดว่ามีตัวตนอยู่ ก็จะละกิเลสให้หมดสิ้นไปไม่ได้เลย ถึงแม้จะได้ฌานขั้นต่างๆ แต่ถ้าไม่ได้อบรมเจริญสติปัฏฐาน ก็ไม่สามารถที่รู้ฌานจิตและเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ตามความเป็นจริงได้เลย ซึ่งจะต่างจากผู้ที่ได้อบรมเจริญสติปัฏฐาน ดังนั้น การเจริญสมถภาวนา จนได้ถึงอรูปฌานของผู้ไม่ได้เจริญสติปัฏฐานแม้ว่าจะเป็นสัมมาสมาธิ แต่ก็ไม่ใช่หนทางที่จะเป็นไปเพื่อการดับกิเลส จึงเป็นมิจฉาปฏิปทา การอบรมเจริญสติปัฏฐานหรือวิปัสสนาภาวนาเท่านั้นที่จะเป็นไปเพื่อการดับกิเลสทั้งหลายทั้งปวงไม่เกิดอีกเลย ซึ่งเป็นทางเดียวที่ทำให้สัตว์ดำเนินไปถึงซึ่งการพ้นจากทุกข์ได้จริง เป็นการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังมีกำลังปรากฏตามความเป็นจริง เริ่มที่การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ เป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของปัญญา จนกระทั่งสามารถดับกิเลสทั้งปวงได้อย่างหมดสิ้น ทำให้ผู้ที่อบรมเจริญสามารถดับกิเลสได้ตามลำดับขั้น จนกระทั่งสูงสุดถึงความเป็นพระอรหันต์ พ้นจากทุกข์โดยประการทั้งปวง ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
wkedkaew
วันที่ 31 ม.ค. 2557

กราบขอบพระคุณมากๆ ค่ะ

ขออนุโมทนาค่ะ ท่าน อ.ผเดิม

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 31 ม.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สมาธิที่เป็นไปชั่วขณะ หมายถึง เอกัคคตาเจตสิกที่เกิดกับจิตที่เป็นไปตามปกติ อุปจารสมาธิ เป็นความสงบของจิต ส่วน อัปปนาฌาน หรือ อัปปนาสมาธิ เป็นความสงบของจิต ตั้งแต่ปฐมฌานขึ้นไป

จะเห็นได้ว่า สมาธิที่เป็นไปชั่วขณะ หมายถึง เอกัคคตาเจตสิกที่เกิดกับจิตที่เป็นไปตามปกติของบุคคลทั่วไป เช่น ขณะที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย เป็นต้น ก็มี ขณิกสมาธิ เกิดร่วมด้วย เอกัคคตาเจตสิกหรือสภาพธรรมที่เป็นสมาธินั้น เกิดกับจิตทุกดวง แต่ถ้าอบรมจิตให้มีกำลังจนสงบจากกิเลสมากขึ้น เอกัคคตาเจตสิกที่เกิดพร้อมกับปัญญาจึงได้ชื่อว่า อุปจารสมาธิ และเอกัคคตาเจตสิกที่เกิดกับฌานจิตชื่อว่า อัปปนาสมาธิ

ธรรม เป็นเรื่องที่ละเอียดลึกซึ้งมาก แสดงถึงสิ่งที่มีจริงทุกอย่างทุกประการตามความเป็นจริง ซึ่งถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม ก็จะไม่มีทางรู้เลยว่า เป็นธรรม ดังนั้น การตั้งต้นเป็นสิ่งที่สำคัญ เมื่อกล่าวถึง สมาธิ ก็ควรที่จะได้เข้าใจในคำดังกล่าวนี้ก่อนว่า คือ อะไร สมาธิ มีจริงๆ เป็นธรรม เกิดขึ้นเป็นไปอยู่ทุกขณะ เพราะเป็น เอกัคคตาเจตสิก ที่เกิดกับจิตทุกขณะทุกประเภท ไม่ใช่ว่า พอได้ยินคำว่าสมาธิ จะเป็นธรรมที่ดี เท่านั้น เนื่องจากว่าสมาธิที่เกิดกับจิตที่เป็นอกุศล จะดีไม่ได้ ก็ต้องเป็นอกุศลสมาธิ แต่ถ้าเกิดกับจิตที่เป็นกุศล ก็เป็นกุศล ก็ขึ้นอยู่กับว่าจะเกิดกับจิตประเภทใด

ธรรม ไม่ได้มีเฉพาะสมาธิเท่านั้น มีมากมายทีเดียว ทั้งที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม ทั้งหมดนั้นควรที่จะได้ฟัง ได้ศึกษาสะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย เพราะหนทางแห่งการอบรมเจริญปัญญาเท่านั้น ที่จะเป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
wannee.s
วันที่ 31 ม.ค. 2557

ฌานเป็นสภาพธรรมที่เผา ทั้งสิ่งที่ดีและไม่ดี ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ธนฤทธิ์
วันที่ 1 ก.พ. 2557

ขอบคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
wkedkaew
วันที่ 2 พ.ค. 2557

สาธุ กราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
ํํญาณินทร์
วันที่ 26 ต.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
adisorn2559tt.2514
วันที่ 6 ก.พ. 2560

2 ปีผ่านพึ่งเข้ามาเห็น อ.paderm อธิบายดีมากเลยครับ เพียงแค่อ่านก็เข้าใจง่าย สาธุๆ

ขอโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
narawutt2534
วันที่ 26 มิ.ย. 2560

กราบสาธุๆ ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
ชัยวิชิต
วันที่ 17 ก.พ. 2561

สาธุ สาธุ สาธุ ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
somboonpanjitvutichai
วันที่ 29 ส.ค. 2561

ขอบคุณครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
ลูกหมู
วันที่ 15 พ.ย. 2561

ขอบคุณมากค่ะ☺️ ....

 
  ความคิดเห็นที่ 17  
 
ยายภา
วันที่ 18 ก.ค. 2562

สาธุธรรมคะ พึ่งได้อ่าน. ยินดีมากคะ ในการได้เริ่มรู้

 
  ความคิดเห็นที่ 18  
 
สรณ์ฐชล
วันที่ 10 ม.ค. 2563

ขอบคุณพระคุณค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 19  
 
chatchai.k
วันที่ 2 ต.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 20  
 
สุวพิชญ์
วันที่ 24 ม.ค. 2564

น้อมกราบสาธุเจ้าค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ