ปล่อยจิตไปตามอารมณ์
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธธัสสะ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ซึ่งเป็นผู้ไกลจากกิเลส ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง
เรียนขอคำอธิบายรายละเอียดแบบครบถ้วนกระบวนธรรม พิจารณาจากข้อความและรูปภาพด้านล่างนี้ นะคะ ปล่อยจิตไปตามอารมณ์ เป็นธัมมะอย่างไร ควรหรือไม่ เพราะเหตุใด ที่ถูกที่ควร เป็นอย่างไร
“ปล่อยจิตไปตามอารมณ์ สำหรับท่านที่เห็นว่าแมวน่ารักน่าเอ็นดู”
ขอขอบพระคุณและขออนุโมทนากุศลทุกประการของทุกๆ ท่านค่ะ
ด้วยความเคารพยิ่ง จาก ธิดารัตน์ เดื่อมขันมณี (ใหญ่ราชบุรี)
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
พระธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดลึกซึ้ง แม้แต่คำว่า ปล่อยจิต ปล่อยจิตไปตามอารมณ์ ซึ่งก่อนอื่นก็จะต้องเข้าใจพื้นฐานเบื้องต้น กับความเป็นจริงของสัจจะ ในสภาพธรรมว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา คือ ไม่สามารถบังคับบัญชาได้เลย เพราะ เป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา เมื่อไม่ใช่เรา จึงไม่มีใครจะบังคับสภาพธรรมใด แต่สภาพธรรมเป็นไปตามเหตุปัจจัย เพราะฉะนั้น แม้แต่คำว่า ปล่อยจิตไปตามอารมณ์ ก็ไม่มีตัวตนที่จะปล่อยจิต หรือ ไม่ปล่อย ไม่มีใครจะบังคับได้เลย เพราะ จิตก็เป็นเพียงสภาพธรรมและ มีเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยกับจิต เจตสิกก็เป็นธรรม ไม่สามารถบังคับได้อีกเช่นกัน หากแต่ว่า คำว่า ปล่อยจิต เป็นการอุปมาของ สภาพธรรมอย่างหนึ่งที่เรียกว่า ความประมาท ที่เป็นขณะที่อกุศลจิตเกิด ไม่มีสติ อันเป็นการอุปมาว่า ปล่อยจิตให้เป็นไปในอกุศลนั่นเอง ที่เป็นไปในอารมณ์ต่างๆ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ
เพราะฉะนั้น ขณะใดที่เกิด อกุศลจิต ซึ่งไม่มีใครจะบังคับได้เลย เมื่อเกิดอกุศลจิต ชื่อว่า ประมาท ชื่อว่า ปล่อยจิตให้เป็นอกุศล ในอารมณ์ต่างๆ เช่น ขณะที่เห็นรูปแมวหรือ รูปอะไรก็ตาม เกิด อกุศลแล้ว มีความยินดีพอใจ ที่เป็นสี และ บัญญัติที่สมมติว่าเป็นรูปแมว ขณะนั้น ปล่อยจิตไปในอารมณ์ทางตา เพราะ เกิดอกุศล ปล่อยจิตเป็นไปในอกุศลในขณะนั้น ครับ นี่คือความละเอียดของคำว่า ปล่อยจิต ที่เกิดขึ้นเป็นอกุศลจิต ทางตา จมูก ลิ้น กายและใจ ที่ไม่สามารถบังคับให้ปล่อย หรือ ไม่ปล่อยเมื่อกระทบอารมณ์ใด แต่เมื่อใด อกุศลจิตเกิด ขณะนั้นชื่อว่า ปล่อยจิตเป็นไปในอารมณ์ทั้งหลาย ครับ
หนทางการเจริญอบรมปัญญาที่ถูกต้องในพระพุทธศาสนา จึงไม่ใช่การบังคับไม่ให้อกุศล ไม่เกิด พยายามจะปล่อย ไม่ปล่อย ด้วยความเป็นตัวตน แต่ หนทางที่ถูก คือเข้าใจความจริงที่เกิดแล้ว แม้อกุศลที่เกิดขึ้นว่าเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา ซึ่ง ไม่ต้องไปพยายามไปนั่ง ไปปฏิบัติ แต่อาศัยการฟัง ศึกษาพระธรรม ปัญญาจะค่อยๆ เจริญขึ้น จนในที่สุด ก็จะรู้ความจริงของสภาพธรรมที่กำลังเกิด ที่มีในชีวิตประจำวัน ขณะนั้นชื่อว่า ปฏิบัติธรรม และ เป็นหนทางการอบรมปัญญาที่ถูกต้อง ครับ
ขออนุโมทนา สาธุ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
จิต เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ ทุกขณะในชีวิตไม่เคยขาดจิต มีจิตเกิดดับสืบต่อกันอย่างไม่ขาดสาย จิตขณะหนึ่งเกิดแล้วดับไปก็เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดสืบต่อทันที เป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะสิ้นสุดสังสารวัฏฏ์ ซึ่งเป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่มีใครบังคับบัญชาให้เกิดขึ้นได้เลย ตัวอย่างขณะจิต เช่น ขณะเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัน กุศล อกุศล หรือแม้แต่ในขณะที่หลับสนิทก็มีจิตเกิดขึ้น
แสดงถึงถึงเป็นจริงของธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่มีตัวตนที่จะปล่อย หรือ ไม่ปล่อย เพราะธรรมไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น เมื่อมีเหตุปัจจัยให้อกุศลเกิด อกุศลก็เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ ด้วยโลภะ บ้าง ด้วยโทสะ บ้าง เป็นต้น ขณะนั้น ก็เกิดขึ้นเป็นไปแล้ว ซึ่งก็คือ สภาพธรรมที่มีจริงๆ ในขณะนี้ ไม่ได้นอกเหนือไปจากชีวิตประจำวันเลย เมื่อมีโอกาสได้ฟังพระธรรมศึกษาพระธรรม สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย ก็จะเริ่มเข้าใจว่า เป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย อกุศล เป็น อกุศล ไม่หลงผิดว่า อกุศลเป็นสิ่งที่ดี ไม่เดือดร้อนกับอกุศลที่เกิดขึ้น เพราะได้เข้าใจอย่างถูกต้อง ว่า เป็นธรรม ไม่ใช่เรา
หนทางแห่งการอบรมเจริญปัญญาเท่านั้น ที่จะทำให้ขัดเกลาความไม่รู้ ความติดข้อง ความเห็นผิด ตลอดจนถึงกิเลสอกุศลธรรมทั้งหลาย ซึ่งจะขาดการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมไม่ได้เลยทีเดียว ครับ
... ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ ...
ขอบพระคุณสำหรับคำถามและคำตอบ ได้ประโยชน์มากค่ะเตือนใจให้ไม่ประมาทในการศึกษาพระธรรมและไต่ร่ตรองสภาพธรรมเพื่อการสะสมความเห็นถูก
ขออนุโมทนา